ในภูมิทัศน์โลกใหม่ตอนนี้ไม่ได้มีเพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสังคมต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ภาวะโลกร้อน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้กระทั่งเรื่องพื้นฐานอย่างการเข้าถึงการศึกษาที่เสียหายไปจากช่วงการล็อคดาวน์ ทำให้ธุรกิจทั้งหลายที่หลายเมื่อ 2-3 ปีก่อนต่างก็ถูกเปลี่ยนหรือแม้กระทั่งปิดตัวลง
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างมาก ตั้งแต่การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่งหรือส่งมอบสินค้า การตลาดและการขายสู่ผู้บริโภค ไปจนถึงการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภคเองก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การสร้างของเสียและมลพิษ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงไปหลังยุคโควิด-19 อย่างสิ้นเชิงนี้ต่างก็ซับซ้อนมากขึ้นและไม่มีทางกลับไปเหมือนก่อน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมหรือการปรับตัวสู่ความยั่งยืน เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ
เมื่อเราพูดถึงการทำธุรกิจเพื่อสังคมเรามักจะได้ยินโมเดลหลากหลายรูปแบบเช่น การทำ CSR การเป็น SE การทำเพื่อการกุศลหรืออื่นๆ ซึ่งครั้งนี้จะมาทำความรู้จักสองโมเดลที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้คือ
ความต่างของสองสิ่งนี้จะอยู่ที่อัตราการนำผลของกำไร โดย พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ระบุว่ากิจการที่จะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นต้องนำกำไรไม่น้อยกว่า 70% เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม รวมถึงต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% มาจากการขายสินค้าหรือบริการ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็น Social Enterprise ทั้งสิ้น 255 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศถือเป็นแนวทางธุรกิจที่มีการจดทะเบียนรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับข้อกำหนดที่มีแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้รับ จากข้อมูลของกรมสรรพากรมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกว่า 62 ราย อีกทั้งสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ออกมาตราการเพื่อสนับสนุนบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว สามารถระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็น บริษัทมหาชนจำกัด และไม่มีเพดานจำกัดจำนวนผู้ลงทุน รวมถึงยอดของการระดมทุน รวมทั้งในการดำเนินการ ไม่ต้องแจ้งต่อ กลต. แต่ในหนังสือชี้ชวนต้องระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดตามกฎหมายของการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น หากจดทะเบียนเป็นประเภทไม่ปันผลกำไร หรือปันผลกำไรได้ไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิ จะต้องแจ้งข้อจำกัดในการปันผลกำไรดังกล่าว ซึ่งผู้สนับสนุนยังได้รับสิทธิทางภาษีอีกด้วย
ในส่วนของการเผชิญปัญหาเนื่องจากเป้าหมายในการแก้ปัญหาเพื่อสังคมครอบคลุมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ชุมชน การลดมลภาวะ หรือรีไซเคิลขยะ จึงทำให้แต่ละกิจการมีความท้าทายจากวิกฤติค่าเงินและโรคระบาดแตกต่างกันไป เช่นในกรณีของอภัยภูเบศที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากโควิด-19 ตรงข้ามกับหลายกิจการที่ต้องปิดตัวหรือหยุดกิจการไป
ผู้ประกอบการหลายเจ้าหรือแม้กระทั้งมูลนิธิหลายแห่งต่างก็กลายมาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ถือเป็นการสร้าง “คุณค่าร่วมกัน” ระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และผู้บริโภคเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน แต่ในตอนนี้โลกเผชิญการถดถอยทางเศรษฐกิจและโรคระบาด วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจที่ขยายตัวเองมาลงทุนด้านความยั่งยืนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงไม่ได้ตั้งเป้าที่ผลกำไรยิ่งทำให้เจอกับการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ความคาดหวังเรื่องความช่วยเหลื่อจากสังคมก็ยิ่งมากขึ้นเนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจระยะยาวส่งผลให้เกิดการว่างงานมากขึ้น จึงกลายเป็นว่ามีภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านการปรับตัวและการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งต่างจากการทำ CSR ที่สามารถปรับหรือลดกิจกรรมได้หากไม่มีผลกำไร โดยที่การจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนมีปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญได้แก่
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของผู้ที่เริ่มกิจการเพื่อสังคมคือการเข้าถึงการระดมทุน เนื่องจากตัวธุรกิจเองที่ไม่ได้หวังกำไรสูงสุดแต่ต้องพึ่งพิงสินค้าหรือบริการตัวเองให้อยู่รอดได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะระดมเงินทุนให้เพียงพอในตอนเริ่มต้นเมื่อเทียบกับกกิจการที่มุ่งหวังผลกำไรตั้งแต่ต้น ความเข้าใจผิดพื้นฐานที่ว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยสังคมไม่สามารถทำกำไรได้ และมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องว่าเงินที่ให้ยืมจะได้รับคืนหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการเพื่อสังคมส่วนมากจึงเริ่มจากทุนของตัวเอง
ปัญหาของ Social Enterprise เมื่อดำเนินการไปสักระยะคือการขาดความสามารถในการขยายตัวสู่อีกระดับหนึ่ง ในหลาย ๆ ประเทศเผชิญเรื่องนี้เนื่องจากขาดการสนับสนุนรวมถึงนโยบายการทำเพื่อสังคมที่แต่ละประเทศมีความต่างกันรวมถึงโมเดลการแก้ปัญหาสังคมที่ต่างกันออกไปทำให้ซึ่งแต่ละกิจการมีรูปแบบและวัตถุประสงค์ต่างกันออกไปทำให้การขยายขนาดเป็นเรื่องยาก
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมต่างต้องการที่จะสร้างคุณค่าทางสังคมโดยจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม อย่างไรก็ตาม ยังต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถตั้งเป้าที่จะทำกำไรผ่านโมเดลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ได้เช่นกัน แต่มุมมองของคนส่วนมากยังมองว่าเป็นการทำเพื่อการกุศล มุมมองนี้เองเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกิจการเพื่อสังคม ผู้ประกอบการทางสังคมบางรายหารายได้จากการระดมทุนโดยพิจารณาว่านี่เป็นวิธีการทำธุรกิจที่มีจริยธรรม บางคนทำสิ่งนี้ด้วยภารกิจเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม และบางคนพยายามสร้างคุณค่าทางสังคมผ่านรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าอัตลักษณ์ของกิจการเพื่อสังคมมีความคลุมเครือมากขึ้นเนื่องจากปัญหาที่ต้องการแก้มีความหลากหลายมากขึ้น
การขาดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมจะทำให้สินค้าและบริการไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ การสนใจเรื่องของการแก้ปัญหาสังคมโดยละเลยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองนอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อแข่งขันในตลาด เนื่องจากกิจการเพื่อสังคมจำนวนมากแข่งขันกับวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ การขาดทักษะของผู้ประกอบการก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ ดังนั้น การบริหารประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนและเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้เสียในระบบห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดในการจะอยู่รอดได้นั้นต้องสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ
การคำนึงถึงทุกภาคส่วนทั้งด้านของผู้บริโภคและตัวของเป้าหมายที่กิจการเพื่อสังคมจะแก้ปัญหาเป็นสองสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปตลอด ซึ่งขั้นแรกสามารถทำได้โดยวางรากฐานความยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายที่ยั่งยืนไม่เพียงเฉพาะการทำธุรกิจระยะยาวแต่ยังรวมถึงการส่งมอบผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป การกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมเช่น ลดการปล่อยของเสียและมลพิษในทุก ๆ ปีหรือการลดการใช้พลาสติกหรือพลังงาน ในแง่หนึ่งจะเป็นการทั้งการลดต้นทุนและสร้างการรับรู้ให้กับตัวธุรกิจเองได้
พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันทีเปลี่ยนไปกับการเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น ตอนนี้ผู้บริโภคจำนวนมากรู้แล้วว่าสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือพลาสติก เพราะเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยาก และสิ่งต่อไปที่ผู้บริโภคนึกถึงคือมลพิษที่เพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อม โดยผู้บริโภคคิดว่าการคมนาคมและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นตัวการสำคัญ ดังนั้นการประกอบธุรกิจที่ดีโดยมีแนวคิดและการกระทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจจริง เป็นอีกส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามอง
ในหนังสือชื่อ The Most Good You Can Do โดย ปีเตอร์ ซิงเกอร์ศาสราจารย์ด้านชีวจริยธรรม แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่วถึง "การทำเพื่อผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ" ไว้อย่างน่าสนใจและมีมุมมองที่สามารถนำมาใช้กับการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายคนมองว่าการทำเงินได้มากที่สุดจะเป็นเรื่องตรงข้ามกับการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่ในความจริงแล้วกำไรที่สูงในธุรกิจหมายถึงโอกาสเพื่อนำไปใช้ให้กับสังคมที่มากขึ้น นอจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังเปรียบเทียบพฤติกรรมผู้สนับสนุนการกุศล สำหรับหลายองค์กรที่ต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจากการลงทุนหรือการบริจาค ยิ่งต้องแสดงออกถึงความโปร่งใส มีพันธกิจที่ชัดเจนจะยิ่งได้รับการสนับสนุนที่มากกว่าและยั่งยืนกว่าเปรียบเทียบกับการลงทุนจำนวนน้อยและกระจายไปยังหลายองค์กร ดังนั้นกิจการเพื่อสังคมที่ต้องการทุนสนับสนุนจึงควรสร้างตัวตนและทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในกิจการ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอีกอย่างคือ การสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าของการซื้อสินค้าหรือบริการ ที่จะนำไปช่วยเหลือสังคมต่อไปและแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการใช้เงินเพื่อพัฒนาสังคม ดังนั้นการสื่อสารกับผู้ลงทุน ผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ยังช่วยให้เกิดการมองภาพเดียวกัน เกิดความเชื่อมั่นในกิจการ
การสร้าง Ecosystem สำหรับสนับสนุน SE ไม่ได้มีเพียงแค่ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ภาครัฐ และผู้บริโภค แต่ยังครอบคลุมไปถึงกรอบกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามาลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงเข้าถึงง่ายขึ้น กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมมีการปรับตัวเพื่อการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้มีกลุ่ม SE ที่ใช้ระบบ Finance Cloud Funding โดยการเข้าถึงทุนผ่านเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทเทใจดอทคอม ที่ใช้ระบบ Cloud Funding ให้ผู้สนใจโครงการต่าง ๆ สามารถสนับสนุนทุนเพื่อให้องค์กรหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีโครงการแต่ต้องการทุนสนับสนุนสามารถระดมทุนได้ โดยในตอนนี้มีมากกว่าร้อยโครงการ ซึ่งผู้บริจาคจะได้สิทธิลดหย่อนทางภาษี ทางผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็จะลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม
วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมการพัฒนาสังคมในมิติต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน และมีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมได้ง่ายขึ้นผ่านการสนับสนุนทางเทคโนโลยี โดยที่มีการนำมาปรับใช้ในหลายรูปแบบทั้งเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม การแก้ปัญหาทางธุรกิจ รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจการเติบโตได้และจะยิ่งเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้อีก ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจได้เห็นการนำเทคโนโลยีที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมเช่น Cryptocurrency หรือ Blockchain เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโมเดลด้านความยั่งยืนแบบใหม่ได้เช่นกัน
Reference
https://newstartup.rd.go.th/wSocial/report.jsp
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด