Broker จะตกงานหรือไม่ในยุค Fintech มาแรง สมาคม บล. มีคำตอบ | Techsauce

Broker จะตกงานหรือไม่ในยุค Fintech มาแรง สมาคม บล. มีคำตอบ

Fintech ที่ติดตั้งสมองกลช่วยวางหมากด้านการลงทุนที่ชาญฉลาด กำลังรุกคืบสู่แวดวงตลาดหุ้นเมืองไทย แต่ไม่อาจช่วงชิงงานจาก Broker ได้ถ้าผู้ให้คำปรึกษาเหล่านั้นปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ Digital Technology ให้เป็นอาวุธลับ ช่วยนักลงทุนให้ค้าหุ้นได้ง่ายขึ้น จากคำบอกเล่าของ ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

Fintech-ASCO

บทบาทของ Digital Technology ต่อภาพรวมการลงทุนของตลาดเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วย Digital Technology ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Fin Tech หรือ AI ต่างก็ทำให้นักลงทุนทำธุรกรรมได้สะดวกสบายมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่การลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 6 ของชีวิตแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจไม่ได้แล้ว ทั้งนี้เมื่อลูกค้า/นักลงทุนคาดหวังในสิ่งที่ควรจะได้ ฝั่งบริษัทหลักทรัพย์หรือบล. ที่เป็น ก็ต้องสามารถตอบโจทย์

Broker มีพัฒนาการต่อ Digital Disruption เป็นอย่างไร

จริง ๆ บริษัทหลักทรัพย์เริ่มมีพัฒนาการในเรื่อง Fintech มาก่อนนี้สักระยะแล้ว ที่เริ่มจากเรื่อง Internet Trading หรือการให้ซื้อขายหุ้นผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ต่อมาก็พัฒนาให้สามารถค้าหุ้นได้ง่ายขึ้นแต่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นอย่างถ่องแท้ก่อน ด้วยเหตุนี้ บล. จึงพยายามดิ้นรนที่จะพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ กระท้่งเกิด Fintech ที่มาตอบโจทย์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามในช่วงแรก แม้ บล. ทั้งหลายจะเริ่มจากทำตัวเองให้เป็น Fintech กระทั่งมี Fintech Startup เกิดขึ้น ที่ถือว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะเป็นสถานการณ์ที่มาสะท้อนมุมมองใหม่ให้ผู้เล่นที่เป็นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ดังเดิมหรือโบรกเกอร์หุ้น (stockbroker) ในตลาดได้เข้าใจกระแสการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจาก Digital Technology ได้ชัดเจนขึ้น

“การที่เริ่มมองมุมใหม่ที่ piratical ขึ้น ด้วยการนำ Fintech มาเสริมจะช่วยให้บริการของโบรกเกอร์ฯ ดียิ่งขึ้น”

Fintech และบริษัทหลักทรัพย์ ทำงานร่วมกันเช่นไร

มองว่าถ้าเกิด win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงนำไปสู่พัฒนาการที่เร็วขึ้นและตอบโจทย์ลูกค้า (นักลงทุน) ได้ดีขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นจุดหลักที่สำคัญมาก

Digital Disruption ส่งผลกระทบกับวงการโบรกเกอร์ในแง่มุมใดบ้าง

เริ่มที่ระบบการซื้อขายหุ้นก่อน ที่ใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองหุ้น เช่น หุ้นตัวไหนที่ P/E Ratio ยังถูกอยู่ (P/E Ratio คืออัตราส่วนทางการเงินที่เทียบกันระหว่าง Price/Earning Per Share หรือ ราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น) หรือหุ้นตัวไหนมีแนวโน้มที่กำไรจะเติบโตกว่า 20% ในอนาคต หรือใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาจับตามองเรื่องสัญญาณต่าง ๆ แต่ตอนนี้ไปไกลถึงเรื่องวางกลยุทธ์การลงทุนโดยมาช่วยจัดพอร์ตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

ปัจจุบันดิจิทัลเข้าไปมีส่วนในระบบการซื้อขายหุ้นตั้งแต่หน้าบ้านถึงหลังบ้าน เริ่มตั้งแต่การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นแบบดิจิทัลทั้งกระบวนการ ครอบคลุมไปถึงการติดตามพอร์ตได้ตลอดเวลาผ่านทาง App รวมถีงสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำด้านการลงทุนได้ตามที่นักลงทุนต้องการ

ลูกค้าได้รับบริการดีขึ้นมากจากการที่เรานำ Digital Technology มาใช้

สุดท้ายแล้วนวัตกรรมจะทำให้โบรกเกอร์ฯ ตกงานหรือไม่

เทคโนโลยีมีบทบาทนานแล้ว ซึ่งแน่นอนเรามีความจำเป็นต้องใช้คนน้อยลงแต่ไม่ใช่ไม่ต้องการเลย ดังนั้น “คนจึงไม่ตกงาน แต่อัตราการจ้างงานน้อยลง” หรือเรียกว่ามูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมสูงขึ้นสวนทางกับอัตราการเพิ่มของจำนวนบุคลากรที่ลดลง แปลว่าประสิทธิภาพของการทำงานในภาพรวมดีขึ้น

“ไม่กังวลเรื่องคนตกงาน แต่การยกระดับคนให้พัฒนาทันเทคโนโลยีเป็นโจทย์ที่สำคัญกว่า โดยที่คนต้องทำงานร่วมกับ Fintech ให้ได้”

บทบาทของสมาคมฯ ที่สนับสนุนให้คนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเป็นอย่างไรบ้าง

จัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมตั้งแต่ระดับผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานทั่วไปให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ เพื่อให้ตามทันแนวทางของนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Fintech Digital Asset เป็นต้น รวมถึงมีการวางกฎกติการ่วมกันเพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการลงทุน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาแข่งขันกันแต่การพัฒนาต่อยอดได้เร็วก็จะช่วยให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ภายในสมาคมบล. จะมีคณะทำงานที่อยู่ภายใต้ชมรมต่าง ๆ เพื่อช่วยกันพัฒนาคนแต่ละกลุ่มในอุตาสากรรม ซึ่งที่ผ่านมานับว่าทำได้มีประสิทธิภาพดี

นอกจากนี้ สมาคมบล. ยังต้องมีบทบาทเป็นตัวแทนในการประสานงานกับทางการทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ ฯ) เพื่อวางกฎเกณฑ์ที่รองรับกับเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption

อะไรคือลำดับความสำคัญต้น ๆ ที่ธุรกิจตลาดทุนต้องปรับเปลี่ยน

มองว่าน่าจะเป็นระบบ Information Technology ที่สนับสนุนการทำงานหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กันมานานหลายสิบปี ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนยังเป็นโทรทัศน์ที่ใช้ระบบสัญญาณแอนะล็อกอยู่ แต่เมื่อการทำธุรกิจในอนาคตต้องนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ระบบ data mining หรือแม้แต่ AI หากระบบหลังบ้านยังจำแนกข้อมูลออกมาไม่ได้ย่อมทำให้การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นเรื่องยาก ซึ่งเป็นความท้าทายที่กำลังประสบอยู่และเป็นอุปสรรคใหญ่ที่อุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยน และยังต้องใช้งบลงทุนสูงด้วย เพราะเป็น major change

ให้คะแนนความพร้อมในการปรับตัวของบริษัทหลักทรัพย์เท่าไร

ถ้าจากคะแนนเต็ม 10 ก็น่าจะอยู่ที่ 7 ถึง 8 คะแนนขึ้นอยู่กับรูปแบบของแต่ละบริษัท ที่ให้คะแนนสูงเพราะธุรกิจหลักทรัพย์อยู่ในโลกของการปรับตัวสูงอยู่แล้ว ด้วยภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นทุกวัน จึงเป็นธุรกิจที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว

รวมถึงด้วยแรงกดดันจากเรื่องค่าคอมมิชชั่น (Commission Fee) หรือ ค่านายหน้าที่มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ จึงเป็นตัวผลักดันที่บริษัทโบรกเกอร์ต้องหาเครื่องมือมาช่วย ซึ่งเทคโนโลยีจึงมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้และสามารถเกิดการพัฒนาได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

เทคโนโลยีส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุนไทยอย่างไร

มีหลายด้านที่เปลี่ยนไป จะมีนักลงทุนที่จัดเป็นกลุ่มขาใหญ่ลดลง หรือเปลี่ยนจากเคยซื้อขายรายวันเป็นกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า VI หรือ Value Investor มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้ก็จะเปลี่ยนจาก VI เป็น Robot ขณะที่ทางการก็ต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น

นอกจากนี้ฝั่งบริษัทโบรกเกอร์เองก็ต้องปรับในด้านการให้คำแนะนำ ที่ไม่ใช่เพียงบอกนักลงทุนว่าวันนี้ควรซื้อขายหุ้นตัวไหน แต่ต้องเป็นลักษณะจัดกลยุทธ์การลงทุนที่ช่วยดูแลตั้งแต่เงินฝาก เงินสด หรือทรัพย์สินที่ไม่เสี่ยงมาก ประหนึ่งให้บริการด้าน Wealth Management ที่ไม่ได้มีไว้แค่สำหรับคนรวยมาก ๆ เท่านั้น ซึ่งในวันนี้ Fintech สามารถมาตอบโจทย์พวกนี้ได้แล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่คนเป็นผู้วางกลยุทธ์การลงทุนให้ ซึ่งย่อมคิดค่าบริการสูง

"เทคโนโลยีจะช่วยจัดพอร์ตให้สำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นหรือระดับกลาง แต่คนที่รวยมาก ๆ ก็อาจจำเป็นต้องมีเพื่อนคู่คิดอยู่"

อย่างไรก็ตาม ต้องเปลี่ยนทัศนคติของนักลงทุนรุ่นใหม่ให้ถูกต้องก่อน นั่นคือ ไม่ควรคาดหวังว่าการเล่นหุ้นสามารถทำให้ร่ำรวยได้ทันที แต่ความจริงแล้วจะไปถึงจุดนั้นได้ต่อเมื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินก่อน ซึ่งมีรากฐานจากการเก็บออมและการลงทุนที่ถูกต้อง ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ดีควรเริ่มจากทัศนคติที่ดีก่อน

Fintech Startup ช่วงชิงฐานนักลงทุนไปมากหรือไม่

จริง ๆ ในตอนแรกน่าจะเป็นอย่างนั้น (แย่งลูกค้า) แต่การทำธุรกิจหลักทรัพย์มีอะไรที่มากกว่าแค่การซื้อขายหุ้น นั่นคือแม้ว่า Fintech จะเป็นเครื่องมือและพัฒนาการที่ดีก็ตาม แต่การค้าหลักทรัพย์ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น การชำระราคา การเก็บรักษาทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งฝั่ง Fintech อาจไม่ชำนาญและการพัฒนาระบบหลังบ้านก็ต้องใช้เงินทุนสูง

กระนั้น การที่ทั้งฝ่ายโบรกเกอร์และ Fintech Startup ต่างกลัวว่าจะมาแย่งชิงธุรกิจกันเป็นทัศนคติที่ผิด เพราะในที่สุดเราคือ Ecosystem เดียวกัน จึงควรทำงานร่วมกัน นั่นคืออะไรที่ บล. เคยทำไม่ได้ ก็น่าจะแบ่งปันทรัพยากรเพื่อพัฒนาสิ่งเหล่านั้นด้วยกัน ขณะที่ Fintech Startup ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าของบริษัทโบรกเกอร์ได้โดยไม่ต้องมาเริ่มทำตลาด ไปเสนอขาย หรือหาลูกค้าเอง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้หลายรายไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเหนื่อยกว่าจะได้ฐานลูกค้ามาได้

Fintech Startup ที่ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถทำงานร่วมกับ Ecosystem ปัจจุบัน ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาและขจัดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะล้มเหลว จึงเห็นว่ามีหลายรายเติบโตได้ดีด้วยการเชื่อมต่อกับบริษัหลักทรัพย์

บริษัทหลักทรัพย์จะยอมแบ่งเค้กให้ผู้เล่นใหม่ได้จริง ๆ

ทุกอย่างล้วนมีเหตุผล ถ้าหากอยู่ในจุดที่ต้องพึ่งพากันก็ต้องแลกเปลี่ยนกันด้วย นั่นคือโบรกเกอร์ก็ไม่ต้องพัฒนาบางเรื่องด้วยตัวเองแต่ก็มีเครื่องมือใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้ใช้บริการ ซึ่งการใช้งานของลูกค้าก็ย่อมเป็นรายได้้ของผู้พัฒนา Fintech

“แนวโน้มการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทโบรกเกอร์กับ Fintech Startup ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งด้วย Digital Asset ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้มีคนใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอีก”

สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จะส่งผลต่อตลาดทุนในอนาคตอย่างไรบ้าง

Digital Asset เป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุน เพราะไม่จำเป็นต้องเสนอขายหุ้นแล้วนำไปสู่การสร้างภาระผูกพันที่จะตามมา แต่เลือกออก token ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้เงินจริง ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ขนาดกิจการไม่ใหญ่มาก ส่วนการซื้อขายเป็นระบบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงในระยะอันใกล้นี้ Digital Asset จะมาเปลี่ยนพฤติกรรมนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันอัตราการซื้อขายหุ้นผ่านระบบ Online เติบโตแค่ไหน

เชื่อหรือไม่ว่าลูกค้ารายบุคคลถึง 70% ที่ซื้อขายหุ้นผ่านระบบ Online ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นจำนวนที่เติบโตสูงมาก เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่อาจแยกได้ว่าเป็นธุรกรรมผ่าน App และทาง website ในอัตราเท่าไร แต่ต่อไปย่อมขยายการทำธุรกรรมไปสู่ช่างทางใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งนี้มองว่าการซื้อขายหุ้นผ่าน website น่าจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เพราะคนใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ mobility อื่น ๆ มากขึ้น

นักลงทุนไทยยังติดกับการพูดคุยหรือปรึกษากับเจ้าหน้าที่ marketing มากน้อยเพียงใด

กลุ่มคนที่มีเงินมาก ๆ ก็ยังชอบคุยกับเจ้าหน้าที่ marketing อยู่ เพราะแม้จะมีเครื่องมือต่าง ๆ มาให้ข้อมูลแล้ว บางคนก็ยังอดไม่ได้ที่จะสอบถามหรือโทรคุยเพื่อขอความเห็นจากคนอื่นเป็นเหมือน second opinion มาช่วยตัดสินใจ เป็นแหล่งข้อมูลใหม่ หรือนำเสนอสินค้าใหม่ ดังนั้นคนที่เป็น Broker จึงยังคงมีคุณค่า แต่ต้องพัฒนาไปตามกาลเวลา อีกทั้งธุรกิจค้าหลักทรัพย์ยังเติบโตอยู่จึงยังมีความต้องการบุคลากรมาเพิ่มในอนาคต โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาด้าน Wealth Management

ยืนยันว่าไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน เพียงแต่ผู้แนะนำการลงทุนนั้น ๆ ต้องรู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์กับลูกค้า

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...