Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้วยมูลค่ากว่า 85 พันล้านดอลลาร์ Chesky ได้นำเสนอแนวทางนี้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของการบริหารแบบดั้งเดิม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริหารกับองค์กร เพื่อผลักดันให้บริษัทเดินไปในทิศทางที่มั่นคงและชัดเจน
แนวคิด Founder Mode เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อ Paul Graham, ผู้ร่วมก่อตั้ง Y Combinator, เขียนถึงแนวทางนี้ในบล็อกส่วนตัวของเขาหลังได้ฟังการบรรยายของ Chesky ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา Chesky ได้เล่าประสบการณ์ตรงในช่วงที่ Airbnb ต้องเผชิญความซับซ้อนในการดำเนินงานและการเติบโตที่หยุดชะงัก เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการทำงานต่างๆ
Chesky นิยาม Founder Mode ว่าเป็นการบริหารแบบ "ลงมือปฏิบัติ" ซึ่ง CEO จะทำหน้าที่เหมือนบรรณาธิการหรือที่ปรึกษา คอยดูแลรายละเอียดและกำกับให้ทีมเดินไปในทิศทางเดียวกัน แนวทางนี้ช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพ การสื่อสารในองค์กรราบรื่น และเป้าหมายของบริษัทสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารได้อย่างตรงจุด
“บริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุด ตั้งแต่ยุคของ Steve Jobs, Walt Disney จนถึง Jensen Huang และ Elon Musk ต่างมีผู้นำที่ใส่ใจรายละเอียดเป็นหัวใจสำคัญ”
ในบทสัมภาษณ์กับ Fortune Magazine, Chesky เล่าว่าการนำ Founder Mode มาใช้เกิดขึ้นเมื่อ Airbnb เริ่มเผชิญปัญหาในการขยายธุรกิจ (scale up) ทั้งในเรื่องระบบการทำงานที่ซับซ้อน วัฒนธรรมองค์กรที่เฉื่อยชา และความพึงพอใจของพนักงานที่ลดลง ปัญหาเหล่านี้ผลักดันให้ Chesky กลับมาทบทวนวิธีการบริหารแบบเดิมๆ
แน่นอนว่า Manager Mode ที่ให้อิสระแก่ทีมงานอย่างเต็มที่ กลับส่งผลลบหลายประการ เช่น:
หลังปรับใช้ Founder Mode, Chesky พบว่าธุรกิจเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น พนักงานมีส่วนร่วมและความผูกพันที่เพิ่มขึ้น อัตราการลาออกลดลง และองค์กรสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้อีกครั้ง
“ผู้นำที่ดีต้องมีตัวตน (Presence) ภายในองค์กร”
Chesky มองว่าผู้บริหารแบบ Founder ควรมีลักษณะดังนี้
1. มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
Chesky เชื่อว่า CEO ควรทำงานใกล้ชิดกับทีมและผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไม่ใช่แค่คอยดูอยู่ห่างๆ เขาเปรียบตัวเองเหมือนบรรณาธิการของ Airbnb ที่ตรวจสอบทุกงานให้มั่นใจว่าทุกอย่างได้มาตรฐานที่ตั้งไว้
2. ให้อิสระที่มีขอบเขต
ในขณะที่การบริหารแบบ Manager Mode มักให้อิสระเต็มที่แก่พนักงาน Chesky เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องเกิดจากทีมที่แข็งแกร่งและมีเป้าหมายร่วมกัน เขามองว่าอิสระไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่สิ่งที่พนักงานต้องการจริงๆ คือความคล่องตัวในการทำงาน และอำนาจในการตัดสินใจที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้า
3. ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
Chesky เปรียบวิธีการบริหารของเขาเหมือนครูสอนกอล์ฟที่ให้คำแนะนำทีละนิด ค่อยๆ ช่วยให้พนักงานทำงานเองจนมั่นใจว่าเข้าใจและทำได้ดีพอตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้
4. ลงลึกในทุกขั้นตอน
Chesky เชื่อว่าผู้บริหารควรเข้าไปดูงานในทุกระดับด้วยตัวเอง เพราะข้อมูลจากหัวหน้าอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เขาจึงสนับสนุนให้ผู้บริหารลงไปพูดคุยกับพนักงาน เพื่อเข้าใจปัญหาและภาพรวมได้ชัดเจนกว่า
5. สื่อสารให้ชัดเจน
Chesky ชอบการประชุมเล็กๆ ที่มุ่งเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญ มีเป้าหมายชัดเจน และมีคนที่ตัดสินใจได้อยู่ในที่ประชุม เขาไม่สนับสนุนการประชุมที่ไม่มีทิศทาง เพราะเชื่อว่าการประชุมที่ดีควรได้ข้อสรุปที่เร็วและมีประสิทธิภาพ
“จุดประสงค์หลักของบริษัทคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วทำไม CEO ถึงไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ล่ะ?”
การบริหารแบบ Founder อาจต้องใช้ความทุ่มเทและใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าปกติ แต่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วยให้เราเห็นว่าผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่ปล่อยให้พนักงานทำงานเองทั้งหมด แต่ต้องมีส่วนร่วม ให้คำแนะนำ และช่วยกำหนดทิศทางของบริษัท แม้ว่าบริษัทจะขยายใหญ่ขึ้นจนต้องพึ่งพาทีมงานที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแล แต่การที่ผู้บริหารยังคงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในทีมได้
“เรามักจะคิดว่าตนเองต้องการอิสระมากๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่า อิสระนั้นอาจนำไปสู่ภาวะไร้อำนาจ จากกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนที่เราไม่สามารถควบคุมได้”
อ้างอิง: youtube
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด