GoodbyeTwitter จาก Free Speech สู่ การเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดีย | Techsauce

GoodbyeTwitter จาก Free Speech สู่ การเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดีย

อีลอน มัสก์ หนึ่งในผู้ใช้งาน Twitter ตัวยงที่มักเคลื่อนไหวตอบโต้วงสนทนากับผู้คนอย่างสม่ำเสมอไม่แพ้ใคร หากย้อนกลับไปช่วงท้ายปี 2021 หนึ่งในทวิตที่กลายเป็นเรื่องร้อนในสังคมโซเชียลสหรัฐฯ คงหนีไม่พ้นการเปิดประเด็นเรื่อง 'อิสระในการแสดงความคิดเห็นบน Twitter' โดย Elon Musk ที่คิดว่าการควบคุมหัวข้อสนทนาและการกีดกันบางบัญชีนั้นไม่เป็นไปตามศักยภาพในฐานะ Platform for Free Speech 

การเปิดประเด็นครั้งนั้นนำไปสู่การตั้งคำถามที่ดูติดตลกของมัสก์ที่ว่า “Should I Buy Twitter?” แต่ใครจะรู้ว่าการเข้าซื้อกิจการ Twitter นั้นจะเกิดขึ้นจริง บทความนี้พาย้อนเรื่องราวมหากาพย์และพาผู้อ่านฉุกคิดตามทัศนะของผู้เขียนไปพร้อมกัน

Twitter พื้นที่เสรีในนิยามของ Elon Musk จากแนวคิด Free Speech สู่ การเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดีย จาก “ไอเดีย Free Speech” สู่ “การเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมีเดีย”

มัสก์เริ่มต้นติดต่อกับบอร์ด Twitter เป็นการส่วนตัว รวมถึงเพื่อนของเขาและ แจ๊ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter พอต้นปี 2022 มัสก์เริ่มเข้าซื้อหุ้นเป็นงวดๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน หลังจากเข้าซื้อหุ้น 9% หรือ 73.5 ล้านหุ้นหรือประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์

และเป็นไปตามคาดหมาย เมื่อความจริงจังต่อการแปรรูป Twitter นั้นเกิดเป็นดีลเข้าซื้อ Twitter ในมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท ภายหลังที่ดีลถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ มัสก์ และTwitter กลายเป็นจุดสนใจของทั้งโลก เรียกได้ว่าเป็น “ดีลประวัติศาสตร์” เลยก็ว่าได้ 

ถึงแม้ช่วงระหว่างการเจรจาจะมีปัญหากระทบกระทั่งต่อซีอีโอและบอร์ดบริษัทในขณะนั้น ทำให้ดีลยืดเยื้อ ไม่ว่าจะเป็นการขู่ยุติข้อตกลงโดยกล่าวหาว่า Twitter ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่เขาขอเกี่ยวกับบัญชีบอท ทาง Twitter เอง ตอบโต้ด้วยการฟ้องกลับ เพื่อบังคับข้อตกลงให้ผ่านการเจรจาร่วมกันโดยศาลและผู้พิพากษาเดลาแวร์ ยืนยันให้มัสก์เลิกเล่นตุกติก โดยให้เวลาทั้งสองฝ่ายจนถึง 28 ตุลาคม เพื่อปิดข้อตกลง

26 ตุลาคม มัสก์แสดงสัญญะของบทสรุปโดยการโพสต์วิดีโอตนเองยกอ่างล้างจานกำลังเดินเข้าสู่สำนักงานใหญ่ Twitter ตามด้วยการปลดซีอีโอพร้อมบอร์ดบริหารในวันถัดมา พร้อมประกาศกร้าวแผนการลดขนาดองค์กรที่สร้างความกังวลแก่พนักงาน Twitter ถ้วนทั่วกัน 

 “The Bird is Freed”

พื้นที่เสรี ตัวตนบนโลก Twitter 

Twitter หนึ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ทรงอิทธิพลทางสังคมทั่วโลก ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่าย กฎเกณฑ์การใช้งานค่อนข้างเปิดอิสระ ทำให้ผู้ใช้สามารถสมัครบัญชีได้อย่างง่ายดายเพียงการยืนยันข้อมูลไม่กี่ขั้นตอน และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างโปรไฟล์ 

Twitter จึงเป็นพื้นที่ของผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เต็มไปด้วยกลุ่มคนคอเดียวกัน พูดคุยกันจากทุกทิศทาง เป็นที่นิยมสำหรับการพูดคุยอย่างดุเดือดและติดขอบสนามเหตุการณ์บ้านเมืองมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ 

Twitter เป็นเหมือนจัตุรัสกลางเมือง เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทุกคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีภายใต้กฎหมาย - มัสก์

หากมองในมุมการใช้งานเชิงสังคมและการเมือง Twitter ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสรีนิยม ทำให้ในขณะเดียวกัน Twitter ถูกกล่าวหาว่าเซ็นเซอร์มุมมองอนุรักษ์นิยมมากเกินไป ปิดกั้นเนื้อหาทางการเมือง แนวคิดการเมืองสุดโต่ง หรือล่าสุดที่แบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัล ทรัมป์ เนื่องจากการทวิตข้อความที่ Twitter กล่าวว่ามีเนื้อหาจุดประกายความขัดแย้งในสังคม  

จุดนี้ทำให้ มัสก์ หนักแน่นกับความคิดว่า Twitter ควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี (ที่แท้จริง) โดยไม่ถูกกีดกัน โดยมัสก์เองถือเป็น Active User ตัวจริง ที่มักแสดงความเห็นทางเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานความเห็นส่วนอย่างเปิดเผย ซึ่งเขาคิดว่าไม่ควรมีใครถูกแบนเพียงเพราะเป็นความเห็นทางการเมืองแบบสุดโต่ง

ภายหลังการปิดดีล เขาก็เริ่มต้นทวิตถึงการจัดตั้งสภาควบคุมเนื้อหา (Content moderation council) ที่จะทำหน้าที่ชั่งน้ำหนักเนื้อหาในประเด็นต่างๆ ที่อ่อนไหวหรือก่อนจะหยุดสถานะใช้งานของบัญชีใคร นอกจากนี้ ‘บัญชีบอทและโพสต์ที่มีเนื้อหาสแปม’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มัสก์หมกมุ่นตั้งแต่ช่วงการเจรจา มัสก์วิจารณ์กระบวนการยืนยันตัวตนภายในของ Twitter มาโดยตลอดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดบัญชีบอท 

“เพื่อพยายามช่วยเหลือมนุษยชาติที่ผมรัก Twitter จะต้องกลายกลายเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องที่สุด นั่นคือภารกิจของเรา” หนึ่งในทวิตของมัสก์ที่เปิดการถกเถียงจากสาธารณชนไม่ใช่น้อยว่า ถูกต้องสำหรับใคร และต่างอย่างไรกับกระบวนการเดิม  

Twitter จะเป็นอย่างไรต่อไป ? 

ภายใต้การนำของมัสก์ ตามที่ได้พูดไว้ เบื้องต้นจะมีกฎเกณฑ์ในการลดเนื้อหาที่เป็นอันตรายและให้ผู้คนสามารถเลือกประเภทของโพสต์ที่ต้องการดู  ตามด้วยแนวทางการอัพเดท Twitter Blue เวอร์ชันใหม่ ที่จะมาพร้อมกับการตรวจสอบบัญชีและมอบเครื่องหมายถูกสีฟ้า ในราคา 8 เหรียญต่อเดือน 

cr. The Verge- Everyone knows you paid to be verified on Twitter 

การจับโมเดล Subscription หรือ Twitter Blue คือ จุดสนใจหลักของมัสก์มาก เพราะเป็นบริการที่สร้างรายได้ให้กับ Twitter ในช่วงไตรมาสแรกๆ หลังจากเปิดให้บริการ เป็นเป้าหมายที่มัสก์เองต้องการให้แพลตฟอร์มพึ่งพาผู้โฆษณาน้อยลงและปั้นให้เป็นส่วนที่สร้างรายได้แก่บริษัท 

อย่างไรก็ตามหลายคนห่วงว่า เป้าหมายสร้างพื้นที่ Free Speech ที่แท้จริงตามอุดมคติของมัสก์อาจนำไปสู่ Toxic Content และการส่งต่อข้อมูลผิดๆ ที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ หรือร้ายแรงกว่านั้นอาจกระตุ้นความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ นอกจากนี้การเรียกค่าใช้จ่ายต่อเดือนอาจไม่ได้ผลตามที่มัสก์คาด แต่กลับกีดกันให้ผู้ใช้งานเบื่อหน่ายและหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ หรือ Twitter อาจจุดประกายให้เทรนด์ของการยืนยันตัวตนด้วยการชำระเงินก็อาจเป็นได้

ดูเหมือนว่า’ดีลประวัติศาสตร์’ จะยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มัสก์และพนักงานหลายชีวิต ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ที่เข้มงวดและการสั่งการที่เด็ดขาดให้พนักงานทำงานหนัก ภายหลังการปลดผู้บริหารและพนักงานไปเกือบครึ่ง มัสก์ยังเดินหน้าปรับขนาดองค์กร ให้พนักงานเลือกระหว่างทุ่มเทสร้าง Twitter โฉมใหม่หรือรับเงินและลาออกไป ซึ่งผลที่ตาม คือ พนักงานมากกว่าครึ่งเลือกอย่างหลัง ตามการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุล่าสุดว่า ปัจจุบันเหลือพนักงานราว 3,000 คนหรือต่ำกว่านั้น จากเดิมที่มีราว 7,500 คน 

ผู้ใช้เริ่มตั้งคำาถามว่า Twitter จะดำเนินการต่อได้อย่างไรหลังจากที่ลดจำนวนพนักงานลงอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้นและกระทบโดยตรงกับทีมเทคโนโลยีของบริษัท เกิดกระแส #RIPTwitter #GoodbyeTwitter ผู้ใช้เริ่มพูดกันถึงการย้ายไปยังแอปฯ ต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงที่หวังไว้อาจไม่ง่ายเหมือนการเข้าซื้อบริษัท แผนการปรับปรุงสู่ Twitter 2.0 ตามอุดมคติของมัสก์ยังค่อนข้างคลุมเครือ Twitter หลังจากจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะยังเป็น Twitter ที่เรารู้จักอยู่หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป



อ้างอิงข้อมูลจาก

Two Weeks of Chaos: Inside Elon Musk’s Takeover of Twitter

Twitter safety head suggests further ‘identity verification’ beyond paid verification may later be required Head of Trust & Safety Yoel Roth

Twitter verification is the line between order and chaos

Elon Musk’s Twitter Blue with verification is now live

Musk’s ‘Hardcore’ Ultimatum Sparks Exodus, Leaving Twitter at Risk



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...