จากนิตยสารอาหารสู่เว็บออนไลน์: กรณีศึกษาการเปิดตัวเว็บไซต์ KRUA.CO | Techsauce

จากนิตยสารอาหารสู่เว็บออนไลน์: กรณีศึกษาการเปิดตัวเว็บไซต์ KRUA.CO

จากการต่อสู้ในสนามสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร แน่นอนว่าในอดีตต้องมีนิตยสาร "ครัว" อยู่ในสมรภูมินี้ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การรับรู้เนื้อหาสาระและความบันเทิงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทำให้นิตยสาร "ครัว" เปลี่ยนตัวเองมาเป็น KRUA.CO แบบเต็มตัว

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉบับพิมพ์ทยอยปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็มีนิตยสาร "ครัว" จากบริษัท แสงแดด มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ที่ประกาศตีพิมพ์นิตยสารเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นฉบับสุดท้าย ปิดตำนานนิตยสารเกี่ยวอาหารรายเดือนที่อยู่คู่แผงหนังสือไทยมากว่า 25 ปี แต่ก็ยังตีพิมพ์ตำราอาหารขายอยู่

โดยหลังจากปิดตัวนิตยสาร “ครัว” ไป ทายาทรุ่นที่สองของสำนักพิมพ์แสงแดดและแสงแดดมีเดีย อย่างคุณน่าน หงษ์วิวัฒน์ และคุณวรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ ตัดสินใจก้าวสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเต็มตัว เปิดตัวเว็บไซต์ “KRUA.CO” (ครัวดอทโค) เว็บคอนเทนต์สำหรับคนรักอาหารและการกินเป็นชีวิตจิตใจ โดยเปิดตัวเว็บไซต์ไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

ดึงจุดแข็งในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารกว่า 30 ปีจากการทำสำนักพิมพ์แสงแดด ผู้ผลิตตำราอาหาร และนิตยสารรายเดือน “ครัว” โดยรังสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ตอบโจทย์คนรักอาหารผ่านช่องทางบนโลกออนไลน์

เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัลและตอบสนองความต้องการของผู้ชมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางเว็บไซต์ KRUA.CO ระบุว่าจะเน้นนำเสนอเรื่องอาหารท้องถิ่นและวัฒนธรรมการกินในเชิงลึก การลงพื้นที่เพื่อเสาะหาข้อมูลอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของ KRUA.CO ซึ่งมีสโลแกนว่า “Food Is A Big Deal” หรือ “เพราะอาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก”

คุณน่าน หงษ์วิวัฒน์ และคุณวรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่สองของสำนักพิมพ์แสงแดดและแสงแดดมีเดีย

คุณน่าน หงษ์วิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทสำนักพิมพ์แสงแดด และ แสงแดด มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เผยว่า “เป้าหมายของเราคือต้องการโฟกัสเรื่องอาหารเป็นหลัก แต่ยิ่งไปกว่านั้น เราอยากรังสรรค์คอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับอาหารให้คงอยู่กับคนไทยไปนานๆ เพราะเราอยากถ่ายทอดความภาคภูมิใจในอาหารและวัฒนธรรมการกินอยู่ของไทยสู่โลกออนไลน์นั่นเอง โดยเว็บไซต์ KRUA.CO ประกอบไปด้วยคอนเทนต์ในหมวดหมู่ต่างๆ และฟีเจอร์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเรามั่นใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้อย่างแน่นอน”

ภายในเว็บไซต์ KRUA.CO แบ่งคอนเทนต์ออกหลายหมวด เช่น Cooking, Food Story และ Video โดยเฉพาะคอนเทนต์ในหมวด Video เพิ่มความเป็นแชลแนลออนไลน์ยิ่งขึ้น มีรายการวิดีโออาหารซึ่งให้ทั้งความรู้และชวนหิว ซึ่งได้ทีม Spoonful Production ซึ่งเป็น In House Production ภายในองค์กรซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตวิดีโอและรายการเกี่ยวกับอาหารมาดูแล

และ KRUA.CO ยังมี ฟีเจอร์ “Recipe Search” ที่รวบรวมสูตรอาหารมากมายจากตำราของสำนักพิมพ์แสงแดดหลายร้อยเล่ม กลายมาเป็นสูตรนับพันให้ค้นหา และเพิ่มฟังก์ชั่น Advance Search ในกรณีนึกเมนูไม่ออกก็สามารถกดเลือกข้อมูลต่างๆ ในหน้าเสิร์ชได้เลย และยังระบุความยากง่ายของสูตรที่ต้องการได้อีกด้วย

“ในอนาคตเราหวังว่า KRUA.CO จะกลายเป็นแหล่งคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการทำอาหารและรู้สึกว่าเรื่องอาหารเป็นเรื่องราวที่น่าค้นหาและสนุกไปกับมัน” คุณวรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ KRUA.CO กล่าว

ความเห็นกองบรรณาธิการ

จุดแข็งในการสร้างสื่อใหม่ ผู้บริหารต้องเป็นคนรุ่นใหม่ หรือเป็นคนรุ่นเก่าก็ได้แต่ต้องมี Mindset ที่ทันต่อยุค Digital มากพอ

จากการต่อสู้ในสนามสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร แน่นอนว่าในอดีตต้องมีนิตยสาร "ครัว" อยู่ในสมรภูมินี้ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การรับรู้เนื้อหาสาระและความบันเทิงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

จาก หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ทีวี เปลี่ยนผ่านการรับรู้ผ่านอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ก็สามารถรับรู้ทุกอย่างได้แทบทุกวินาทีแบบไม่ต้องเสียเงิน หรือถ้าต้องเสียเงินก็ไม่จำเป็นเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายในราคาที่ไม่แพง

ทำให้นิตยสารหลายฉบับที่เปิดขึ้นมา ต่อมาก็แข่งขันกับรายอื่นๆ ก็ต้องทยอยปิดตัวลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนิตยสาร "ครัว" ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร ถึงแม้ก็รู้ดีว่าก็ต้องมาแข่งกับสื่อออนไลน์ด้านอาหารที่มีอยู่ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยความนิยมของคอนเทนต์ประเภทนี้ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่มนุษย์ไม่อาจขาดไปได้ ทำให้ "อาหาร" ยังอยู่ในความสนใจของผู้คนมาทุกยุคทุกสมัย

หากสังเกตการเปิดตัวของ KRUA.CO จะพบว่ามีความพยายามในการสร้างแบรนด์เป็น "KRUA.CO" ไปเลย โดยมีการใช้ชื่อแบรนด์เป็นการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนโลโก้ให้ดูทันสมัยไปเลย

อีกอย่างที่เราพบ คือความน่าสนใจของเว็บไซต์ KRUA.CO ที่สามารถการเก็บเอาบรรยากาศในการอ่านนิตยสารครัวในอดีต ให้เข้ามาอยู่ในคอนเทนต์สมัยใหม่ของ KRUA.CO ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่ายังคงการเน้นด้าน Food Insight ได้เหมือนสมัยที่ทำนิตยสารอยู่ก็ไม่ผิดนัก

เราขอพาไปดูมุมมองของคนทำนิตยสารสองยุคมาเทียบกันให้เห็น

คุณวรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ KRUA.CO กล่าวว่า “เว็บไซต์ KRUA.CO เป็นรูปแบบใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจของนิตยสารครัว ซึ่งปรับโฉมใหม่ให้เข้ากับยุค 4G โดยที่ยังคงเจตนารมณ์เดิม คือ เป็นเพื่อนคู่ใจของคนรักการทำอาหารและสนใจใคร่รู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับอาหาร เพราะเราเชื่อว่าอาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก”

ด้านคุณดำรง พุฒตาล เจ้าของและผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่งของรายการ มองรอบด้านสุดสัปดาห์ ออกอากาศทางช่อง TNN24 ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์เขากล่าวว่า “ในเรื่องของดวง ระยะหลังดวงถูกคัดลอกลงโซเชียลโดยที่เราไม่ยินยอม ทำให้ผู้อ่านหันไปอ่านในโซเชี่ยลแทนที่จะซื้อหนังสือ ทำให้เราสูญเสียผู้อ่าน”

“เราเจอแบบนี้ทำให้เราต้องเลิก นับเป็นเหตุผลเดียวกับนิตยสารที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้” คุณดำรง พุฒตาล กล่าว

ส่วนคุณวิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์ ทายายรุ่นที่ 3 ของนิตยสารกุลสตรี ซึ่งนั่งเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสารฯ ที่ยังขายนิตยสารแบบเล่มและเปิดช่องทางออนไลน์อยู่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา โดยกล่าวว่า

แม้นิตยสารจะปิดตัวไป แต่คนทำหนังสือยังผลิตคอนเทนต์ลงสื่อต่าง ๆ อยู่ ผมเชื่อว่า คอนเทนต์ไม่มีวันตาย แต่ขึ้นอยู่กับว่า จะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเล่มหรือออนไลน์ ทุกอย่างทำได้หมด

ทายายรุ่นที่ 3 ของนิตยสารกุลสตรียังกล่าวต่อว่าทุกครั้งที่มีการนำเนื้อหาในนิตยสารไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์จะได้รับการอ้างอิงที่มาตลอด อย่างไรก็ตาม ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายมากนัก

สองมุมมองของคนผลิตนิตยสารที่ผมยกมาให้เห็นข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด (LINE Thailand) พูดในงาน Thailand ICT Management Forum 2018 ว่า ผู้บริหารต้องเข้าใจในพื้นฐานของเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เข้าใจในเรื่องดิจิทัลในภาพกว้างอีกต่อไป เพราะถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐานในส่วนดังกล่าว จะคิดบริการไม่ทัน รวมถึงตามคู่แข่งไม่ทันอีกด้วย

สุดท้ายนี้เรามองว่า... จุดแข็งในการสร้างสื่อใหม่ ผู้บริหารต้องเป็นคนรุ่นใหม่ หรือเป็นคนรุ่นเก่าก็ได้แต่ต้องมี Mindset ที่ทันต่อยุค Digital มากพอ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...