ถกเรื่องความเป็น "พลเมืองโลก" ความหวังและอุปสรรคของการไปสู่โลกไร้พรมแดน | Techsauce

ถกเรื่องความเป็น "พลเมืองโลก" ความหวังและอุปสรรคของการไปสู่โลกไร้พรมแดน

ยุคที่เทคโนโลยี ไอเดีย นวัตกรรมสามารถแพร่ขยายข้ามเขตแดนจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกหลายๆ ประเทศได้รวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีสามารถเชื่อมคนที่มาจากทุกมุมโลกซึ่งยึดถือคุณค่าเดียวกันให้สามารถทำบางสิ่งร่วมกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติใด สีผิวไหน ศาสนาใด สิ่งเหล่านี้ทำให้ความหมายของคำว่าเขตแดนแบ่งประเทศเปลี่ยนไปอย่างไร นิยามของคำว่าพลเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร และอะไรคือการเกิดขึ้นมาของคำว่า "พลเมืองโลก" ในแง่หนึ่งเราก็เห็นแนวโน้มของการพยายามปิดกั้นพรมแดนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาผู้อพยพ แล้วกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั่วมุมโลกผู้มีอุดมการณ์อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจะขยาย community ของพวกเขาท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร

อ่านการถกประเด็นแห่งโลกอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยคำถามมากมายนี้จากเวทีงาน Techsauce Global Summit 2019 ในหัวข้อ Bridges over boundaries: Are we in an era of Global Citizenship? ร่วมพูดคุยโดยสามสปีคเกอร์ผู้เชี่ยวชาญ Yoseph Ayele, Co-Founder and CEO of Edmund Hillary Fellowship (EHF) Arnaud Castaignet, Head of International Public Relations of e-Residency, Government of Estonia และ Gita Wirjawan, Founder and Chairman of Ancora Group ดำเนินรายการโดย คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวและบรรณาธิการข่าวอาเซียนของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นิยามของความเป็น "พลเมืองโลก"

"การเป็นพลเมืองโลกไม่ใช่เรื่องของโลกาภิวัฒน์ ธุรกิจ หรือเรื่องการเงิน แต่คือเรื่องของการแบ่งปันความรับผิดชอบ คุณค่า และเคารพซึ่งกันและกัน" - Arnaud Castaignet

การเป็นพลเมืองโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน แต่คือการสร้างเครือข่ายและความเชื่อมโยง สร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นในทางที่ดีหรือไม่ดี ทุกการกระทำของเราย่อมส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ทั่วโลก หัวใจหลักของการเป็นพลเมืองโลกคือเราจะสร้างความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันได้อย่างไร ปัญหาสำคัญคือเมื่อทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายและเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ด้วยกัน

Yoseph Ayele, Co-Founder and CEO of Edmund Hillary Fellowship (EHF)

Yoseph ให้ความเห็นว่าหลายครั้งการที่คนอยากจะสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มากมักจะถูกจำกัดด้วยความเป็นเขตแดน เขายกตัวอย่างที่ดีของประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีลักษณะของความเป็น Agile มีความยืดหยุ่นสูง และมีพื้นที่สำหรับทดลองทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นบริบทที่เหมาะสมมากในการสร้างผลกระทบเชิงบวกไปสู่ประเทศอื่นๆ

Arnaud เล่าถึงโปรแกรมที่รัฐบาลเอสโตเนียมีความพยายามที่จะเปิดให้คนจากทั่วโลกสามารถมีโอกาสเข้าถึงบริการจากรัฐเอสโตเนีย สามารถเข้ามาสร้างธุรกิจและร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเทคโนโลยี โปรแกรมที่ชื่อ e-Residency เกิดขึ้นจากความต้องการของภาครัฐที่จะทำ Digital ID ให้กับทุกคนทั่วโลกสามารถเป็น "พลเมืองเสมือน" ของเอสโตเนีย มีสิทธิเข้าถึงบริการต่างๆ จากรัฐและสร้างธุรกิจในเอสโตเนีย เชื่อมพวกเขาให้เข้ากับตลาดในยุโรป โปรแกรมนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2014 จนถึงตอนนี้มีคนเข้ามาร่วมเป็นพลเมืองในโครงการกว่า 60,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก

Arnaud Castaignet, Head of International Public Relations of e-Residency, Government of Estonia

อะไรคือตัวฉุดรั้งไม่ให้เราสามารถไปถึงความเป็นพลเมืองโลก

สำหรับ Gita ปัญหาความไม่เท่าเทียม การเข้าถึงโอกาสอันจำกัด รวมถึงปัญหาด้านการศึกษา เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการไปให้ถึงความเป็นพลเมืองโลก ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างอินโดนีเซียจะมีภาวะของการแบ่งแยกกันค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือประเด็นถกเถียงในสังคมที่มีหลายประเด็นของท้องถิ่นถูกปัดตกลงไป และปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการแบ่งแยกคือความไม่เท่าเทียม ซึ่งต่อไปนี้รัฐบาลจะยังคงสวมบทเป็นตัวหลักในการกำหนดอนาคตของชาติ แต่อย่างน้อยที่สุดเราสามารถให้ความรู้ผู้คนในการที่จะให้พวกเขาเปิดใจกว้างขึ้น รวมถึงการสนับสนุน Talents ในท้องถิ่น มันอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าหลายปีในการสร้างรากฐานสำคัญเพื่อจัดเตรียมพลเมืองในชาติเองให้พร้อมในการที่จะสามารถเป็นพลเมืองโลกได้

Gita Wirjawan, Founder and Chairman of Ancora Group

พลเมืองชาติ vs พลเมืองโลก vs พลเมืองดี

คนจำนวนมากเชื่อว่าอัตลักษ์ของคนถูกกำหนดด้วยเชื้อชาติ ซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ที่จริงแล้วสิ่งที่นิยามบุคคลนั้นคืออัตลักษ์อันหลากหลายที่ไม่ถูกจำกัดกรอบเพียงแค่เรื่องเชื้อชาติ เมื่อเราพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมต่างๆ ไปจนถึงเรื่องของแฟชั่น สิ่งเหล่านี้คือปรากฎการณ์ที่พ้นเลยกรอบของเชื้อชาติไป เพราะล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวไปทั่วโลกอย่างไร้พรมแดน

ในการจะรับมือกับปัญหาของโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดความร่วมมือในเชิงลึกจากผู้คนทุกภาคส่วนของโลก เราต้องเชื่อมต่อกับผู้คนที่มีประสบการณ์แตกต่างจากเรา หากเราทำเช่นนั้นได้เขาก็เขยิบเข้าใกล้ความร่วมมือกันสร้างสิ่งที่เราต้องการ เพราะในความเป็นจริงแล้ว Silicon Valley ไม่ได้แก้ปัญหาของเรา เพราะสิ่งที่เกิดจากที่นั่นมักคือการผูกขาด แต่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือการร่วมมือกันแก้ปัญหาที่มีความหลากหลายและทั่วถึง

สำหรับ Yoseph พลเมืองโลกเป็นเรื่องของการอุทิศตนเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกที่ร่วมกันทำภารกิจ เป็นเรื่องของการรวมคนที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมกันทำสิ่งที่คนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้

คนจำนวนมากเชื่อว่าอัตลักษ์ของคนถูกกำหนดด้วยเชื้อชาติ ซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ที่จริงแล้วสิ่งที่นิยามบุคคลนั้นคืออัตลักษ์อันหลากหลายที่ไม่ถูกจำกัดกรอบเพียงแค่เรื่องเชื้อชาติ

จัดเตรียมคนรุ่นอนาคตสู่ความเป็นพลเมืองโลก

ที่ผ่านมาเราเคยมีการตกลงความร่วมมือกันในระดับนานาชาติ ผ่านการตั้งองค์กรหรือการประชุมต่างๆ เช่น WTO, APAC หรือความตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปารีส แต่ก็ยังมีความแตกต่างและการถูกแบ่งแยกโดยเฉพาะประเด็นในระดับท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงการแก้ไขปัญหาในความร่วมมือระดับโลก

วิธีลดการแบ่งแยกระหว่างคนคือต้องให้คนมีโอกาสด้านการศึกษาซึ่งจะนำมาสู่การได้งานอย่างทั่วถึง กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในระดับมหภาคซึ่งก็เคยเกิดขึ้นที่จีน การสร้างประชากรแห่งอนาคตคือการให้โอกาสด้านการศึกษามากเท่าที่จะทำได้เพื่อรวมพวกเขาเข้ามา การทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตยคือกุญแจสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือความเป็นประชาธิปไตยมักถูกนิยามใช้อย่างไม่ทั่วถึงคนทุกคนจริงๆ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุของปัญหาความไม่เท่าเทียม

พลเมืองโลกเป็นเรื่องของการอุทิศตนเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกที่ร่วมกันทำภารกิจ เป็นเรื่องของการรวมคนที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมกันทำสิ่งที่คนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดลิสต์ 9 หนังสือเล่มโปรด ของ Sam Altman ที่แนะนำให้ทุกคนอ่าน

บทความนี้รวบรวม 9 หนังสือเล่มโปรดที่ Sam Altman แนะนำ ที่เต็มไปด้วยมุมมองและแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากหนังสือเหล่านี้ ที่จะช่วยให้คุณมองโลกได้กว้างขึ้น พร้อมตั้งคำถามที่ท้าทายความค...

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...