เป็น Introvert ชีวิตก็ Work ได้ รู้จัก 5 วิธีพัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อน เพื่อก้าวหน้าในอาชีพสไตล์ Introvert | Techsauce

เป็น Introvert ชีวิตก็ Work ได้ รู้จัก 5 วิธีพัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อน เพื่อก้าวหน้าในอาชีพสไตล์ Introvert

Introvert จะทำงานแบบนี้ได้หรอ … หลายครั้งสังคมมักมีความคิดแบบเหมารวมต่อ Introvert ว่าขาดคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการทำงาน เช่น พูดน้อย ไม่เข้าสังคม เฉื่อยชา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้ Introvert ต้องเผชิญกับคำครหาและหลายครั้งไม่ได้รับโอกาสที่สมควรได้

บทความนี้จะพาไปดูว่า จริงๆ แล้ว Introvert ในที่ทำงานเป็นยังไง และชาว Introvert จะมีวิธีใช้จุดแข็งของตัวเองเพื่อพัฒนาและก้าวหน้าในอาชีพได้ยังไงบ้าง 

แบบไหนเรียกว่าเป็น Introvert หรือ Extrovert 

Introvert คือนิยามของบุคคลที่มีลักษณะนิสัยแบบเก็บตัว รู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่กับตัวเองหรือกลุ่มคนเล็กๆ มากกว่าอยู่กับกลุ่มคนจำนวนมาก และชอบสภาพแวดล้อมที่สงบ ฯลฯ

คำว่า Introvert และ Extrovert เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 โดยนักจิตวิทยาชาวสวิสชื่อ คาร์ล ยุง (Carl Jung) เขาใช้สองคำดังกล่าวเพื่อแยกคนออกเป็นสองประเภท ตามวิธีที่คนเหล่านั้นจะใช้หรือได้รับพลังงาน กล่าวคือ กลุ่ม Introvert จะหันไปสนใจความคิดของตัวเองเพื่อชาร์จพลัง ในขณะที่แหล่งพลังงานของ Extrovert คือการอยู่กับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่การนิยามและแบ่งลักษณะนิสัยของคนสองกลุ่มนี้ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เช่น เป็น Introvert ต้องอยู่คนเดียวเสมอ เกลียดการเข้าสังคม ไม่ชอบพูด หรือเป็น Extrovert ต้องพูดเก่ง เข้ากับทุกคนได้ดี มั่นใจในตัวเองตลอดเวลา

ความเข้าใจผิดเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้หลายคนต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ และบางคนไม่ได้รับโอกาสที่สมควรได้รับ 

เลิกเข้าใจ Introvert ผิดสักที 

ชาว Introvert มักถูกกังขาเวลาทำงาน ด้วยความเข้าใจผิดๆ เช่น เป็น Introvert ต้องเป็นคนสื่อสารไม่เก่ง ไม่เปิดรับปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ไม่เป็น Team Player ที่ดี ตัดสินใจช้า ฯลฯ

ความเข้าใจผิดเหล่านี้ทำให้สังคม รวมถึงตัวชาว Introvert เอง พยายามบอกให้ตัวเองเป็น Extrovert มากขึ้น เพื่อโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็น การพยายามออกไปรู้จักคนใหม่ๆ พูดให้มากขึ้น หรือสร้าง Connection มากขึ้น และอีกหลายอย่าง

มันน่าอึดอัดใจและเหมือนเดินชนทางตัน เมื่อมีคนพยายามบอกให้เราต้องเป็นคนที่เราไม่ได้เป็น เพื่อจะได้มีโอกาสดีๆ เข้ามา มนุษย์ Introvert หลายคนอาจเคยรู้สึกถอดใจว่าชีวิตนี้คงไม่ได้เติบโตไปไหน แต่แท้จริงแล้วเราสามารถเติบโตไปในวิถีทางที่เราเป็นได้ และสิ่งที่สังคมเข้าใจ Introvert ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นไปซะทั้งหมด เช่น 

  • Introvert ไม่ได้ต่อต้านสังคม : มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่า ทั้ง Introvert และ Extrovert ก็ต่างใช้เวลากับผู้อื่นเท่ากัน และมีความสุขเหมือนกันด้วย ต่างแค่ตรงที่ Introvert นั้น เมื่อต้องใช้เวลาและพลังงานไปกับการเข้าสังคมมากๆ การได้กลับมาใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ถือเป็นถังพลังงานชั้นยอด 
  • เป็นผู้นำก็ทำได้ : ทั้ง Introvert และ Extrovert ต่างก็เป็นผู้นำที่ดีได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ตามด้วย โดย Extrovert จะทำได้ดีหากได้ดูแลทีมที่มีความเฉื่อยๆ เรื่อยๆ แต่กลับทำได้ไม่ดีเมื่อเจอผู้ตามที่พลังงานเยอะเหมือนกัน 
  • อีกการศึกษาหนึ่งที่สำรวจ CEO 900 คน พบว่าผู้นำ Introvert ทำผลงานได้ดีเกินกว่าที่นักลงทุนคาดหวังไว้ และแม้ว่า  Extrovert จะมีโอกาสได้งานระดับสูงมากกว่า ถึง 25% แต่ Introvert จะเป็นผู้นำที่ดีกว่า จากลักษณะนิสัยของพวกเขาเองที่ ยืดหยุ่น รับฟัง เข้าใจ และเก่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่น 

แม้จะถูกครหาว่ามีนิสัยหลายอย่างไม่เหมาะกับการทำงาน แต่บุคคลสำคัญหลายคนในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ขึ้นชื่อว่า ‘เปลี่ยนโลก’ หลายคนก็บอกว่าตัวเองเป็น Introvert เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, บิล เกตส์, เซอร์ ไอแซก นิวตัน, มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก, วอร์เรน บัฟเฟต์, อีลอน มัสก์ และอีกมากมาย

นั่นแปลว่า Introvert ก็มีที่ยืนของตัวเองในหน้าประวัติศาสตร์ และสามารถทำอะไรหลายอย่างได้สำเร็จในแบบวิถึทาง ‘Introvert Way’ เช่นกัน

เติบโตในหน้าที่การงานสไตล์ Introvert Way 

สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเอง และเรียนรู้ที่จะใช้จุดแข็งของเราให้เกิดประโยชน์ 

เป็นผู้ฟังที่ดี  

Introvert เป็นผู้ฟังที่ดี เก่งในการเก็บรายละเอียด และการฟังก็สำคัญกับการสื่อสารไม่น้อยไปกว่าการพูด เมื่อรู้แบบนี้แล้วเราก็ใช้ข้อดีของเราในการพยายามฟังและเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาวิธีการสื่อสารของตัวเอง และเลือกพูดในจังหวะที่เหมาะสม

ถนัดสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

แม้จะไม่เก่งเมื่อต้องเจอคนเยอะๆ แต่ Introvert ถนัดถ้าต้องสร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เพราะเข้าอกเข้าใจคนรอบข้างได้ดี และคิดก่อนพูดเสมอ ซึ่งช่วยให้เข้าใจผู้คนและสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ กลายเป็นแต้มต่อในการสร้างปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า

สมมติอยู่ในงาน Networking หากคุณยังไม่พร้อมจะทำความรู้จักคนทีละมากๆ ให้ลองเริ่มตั้งเป้าหมายเล็กๆ ก่อน อย่าพึ่งปิดกั้นว่าเราทำไม่ได้ บางครั้งอาจจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิม แต่คุณจะค่อยๆ สบายใจและกล้ามากขึ้นเมื่อได้เริ่มบทสนทนากับคนใหม่ๆ หรือหากไม่สะดวกที่จะพูดคุยในงานก็สามารถติดต่อกันทางอีเมลก็ได้ ลองเลือกวิธีสื่อสารที่เราสบายใจที่สุด

เข้าใจ ใส่ใจในรายละเอียด

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Motor Behavior เมื่อปี 2008 พบว่า Introvert มักใช้เวลาประมวลผลข้อมูลนานกว่า Extrovert ซึ่งหมายความว่าพวกเขารอบคอบและพยายามเข้าใจผู้คนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ส่งผลให้การตัดสินใจทำได้อย่างเฉียบคมมากขึ้น 

เป็นผู้นำที่ดีได้ 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้ง Introvert และ Extrovert ต่างเป็นผู้นำที่ดีได้ในแบบของตัวเอง สำหรับ Introvert ซูซาน เคน ผู้เขียนหนังสือ ‘พลังของคนเงียบในโลกที่ไม่เคยหยุดพูด’ ให้ความเห็นไว้ว่า คนกลุ่มนี้ถ้าเป็นผู้นำจะมีทักษะการสื่อสารที่ดีกว่า มีโอกาสสื่อสารผิดพลาดน้อยกว่า และตอบสนองความต้องการในจิตใจของลูกทีมได้เป็นอย่างดี 

ความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ 

เพราะชอบใช้เวลาอยู่กับความคิดและความรู้สึกตัวเอง ชาว Introvert ถึงไม่น้อยหน้าใครเมื่อต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเมื่อได้ใช้เวลาค่อยๆ คิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ นักจิตวิทยาชี้ว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศมักเป็น Introvert เพราะมีความรักสันโดษเป็นพื้นฐานสำคัญ 

Introvert มักถูกมองข้ามในสังคม ตั้งแต่โรงเรียน มหาลัย หรือที่ทำงาน เพราะถูกเข้าใจผิดๆ ว่าไม่มีทักษะการเข้าสังคมที่เหมาะสม แต่ได้โปรดอย่าคิดและเชื่อแบบนั้น คุณสามารถเรียนรู้ข้อดีของตัวเอง และพยายามแสดงมันออกมาในที่ทำงานได้ และอย่าลืมสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือการเป็นตัวเอง

อ้างอิง : psychologytoday , Harvard Business Review , iveyexec

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...