วิธีสร้างเครือข่ายแบบ Super Networker จาก Silicon Valley | Techsauce

วิธีสร้างเครือข่ายแบบ Super Networker จาก Silicon Valley

การมี connection สามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง ถ้าตอบแบบง่ายที่สุดก็คือ ทำเงิน 

โดยเฉพาะถ้างานของคุณคือการออกไปพูดบนเวทีตามงานต่างๆ ยิ่งคุณมี connection มาก คุณก็จะน่าดึงดูดมาก และตามมาด้วยค่าจ้างที่สูงมากๆ 

Gary Vaynerchuk และ Bill Clinton ก็หารายได้ด้วยวิธีนี้

Gary Vaynerchuk เป็นนักธุรกิจชื่อดังที่มักถูกเชิญไปพูดในงานต่างๆ ครั้งหนึ่งเขาไปพูดในงานที่มีคนประมาณ 400 คนและตอนจบเขาทำให้คนในห้องเกิดความโกลาหล 

เขาบอกคนในห้องว่าจะประมูลเวลาให้คำปรึกษา ผู้ชนะจะได้โอกาสพูดคุยปรึกษากับเขาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ทำให้ห้องโกลาหลไม่ใช่เพราะเขาบอกว่าจะให้คำปรึกษา แต่เป็นประโยคที่ว่า 

“นี่ไม่ใช่แค่ชั่วโมงปรึกษา มันคือความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงเครือข่ายของผม แล้วผมก็รู้จักกับคนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกด้วยนะ”

เขาเปิดประมูลที่ 500 ปอนด์ แต่ผู้คนแย่งกันยกมือราคาก็ขึ้นไป 1,000 ปอนด์อย่างรวดเร็ว 

จากนั้นเมื่อราคาทะลุ 3,000 ปอนด์ก็เหลือผู้ประมูลกัน 2 คน ทั้งสองประมูลขึ้นไปคราวละ 100 ปอนด์ พอถึง 3,900 ปอนด์ก็ยังไม่มีท่าว่าใครจะยอมใคร Vaynerchuk เริ่มเห็นคนอื่นๆในห้องเริ่มเหนื่อยล้าจึงพูดขึ้นว่า 

“ถ้าคุณสองคนยอมจ่ายคนละ 4,000 ปอนด์ แล้วผมจะให้ชั่วโมงปรึกษากันตัวต่อตัวคนละ 1 ชั่วโมง พวกคุณจะตกลงไหม”

พวกเขาตอบตกลง ค้อนทุบหยุดที่ราคาตรงนั้น  Vaynerchuk สามารถระดมทุนได้ 8,000 ปอนด์ โดยมอบเวลา 2 ชั่วโมงให้คำปรึกษากับผู้ชนะสองคนนั้น และเงินส่วนนั้นให้เป็นการกุศล 

ส่วน Bill Clinton ก็มักถูกเชิญไปพูดเช่นกัน น่าแปลกนิดหน่อยตรงที่ตอนเป็นประธานาธิบดี ไม่ค่อยมีใครอยากฟัง แต่จู่ๆพอลงจากตำแหน่ง คนก็อยากฟังขึ้นมาเฉย

และปรากฎว่าการเป็น “อดีตประธานาธิบดี” ทำให้เขาร่ำรวยกว่าตอนเป็นประธานาธิบดีเสียอีก 

Ken Fisher ผู้จัดการกองทุนเขียนเอาไว้ในหนังสือ The Ten Roads to Riches ว่าตอนที่ Clinton อยู่ในตำแหน่ง เขาได้รับเงินเดือนปีละ 200,000 เหรียญ แต่ระหว่างนั้นก็ต้องเสียเงินไปกับมรสุมที่เจอมากมาย ทั้งเรื่องการถอดถอน ปัญหาผู้หญิงที่มาพัวพันเรื่อยๆ กรณีที่ดิน Whitewater 

ตอนที่ลงจากตำแหน่งก็ยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายทางกฎหมายอีก 12 ล้านเหรียญ แต่หลังจากนั้นกลับมีความมั่งคั่งถึง 110 ล้านเหรียญ แล้วเงินนี้มาจากไหน

Fisher บอกว่าเงินพวกนี้ส่วนหนึ่งมาจากค่าลิขสิทธิ์หนังสือและค่าจ้างไปพูดตามที่ต่างๆนับตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งค่าจ้างแต่ละครั้งก็สูงถึง 150,000 เหรียญ ที่ค่าจ้างสูงขนาดนี้เพราะเขามีสิ่งที่คนอื่นไม่มีนั่นคือ connection ระดับสูง 

“การจ้างอดีตประธานาธิบดีก็เหมือนจ้างผู้มีอิทธิพลมาช่วยล็อบบี้งานแบบแอบๆ เพราะไม่มีใครจะมี connection ที่ดีเท่ากับอดีตประธานาธิบดีอีกแล้ว” Fisher กล่าว 

=====

แต่การทำเงินก็ไม่ใช่เป้าหมายของคนที่มุ่งสร้าง connection กันทุกคน เพราะผู้ที่ได้ฉายา The Best Networker อย่าง Adam Rifkin มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนได้มากขึ้น 

Adam Rifkin เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และเป็น Co-founder ที่ PandaWhale และ 106 Miles 

เขาและ Joyce Park ร่วมกันสร้าง PandaWhale โดยมีเป้าหมายที่จะจัดทำบันทึกสาธารณะแบบเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้คนแลกเปลี่ยนกัน 

ส่วน 106 Miles ก็เป็นเครือข่ายสังคมที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านการสนทนา ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 9,000 คน มีการพบปะกันเดือนละ 2 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และคำแนะนำที่จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ 

ปี 2011 Rifkin มีสายสัมพันธ์ใน LinkedIn กับผู้ทรงอิทธิพล 640 คนของนิตยสาร Fortune จนได้ฉายาว่า The Best Networker และแน่นอนว่าฉายานี้ไม่ได้มาจากการกด “ทำความรู้จัก” เฉยๆ สิ่งที่เขาทำด้วยคือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คน “เล็กๆน้อยๆอย่างสม่ำเสมอ”

“ผมมีหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งอาจไม่ได้ดีเท่าคำแนะนำที่พวกเขาต้องแลกด้วยเงิน แต่ผมชอบช่วยเหลือคนอื่นครับ” Rifkin กล่าว 

Rifkin ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งถ้าดูจากการที่เขาช่วยเหลือคนอื่นแล้ว ก็พูดได้ยากว่าเขาคาดหวังจะให้คนอื่นตอบแทนในอนาคต 

อย่างเช่น ปี 1994 เขารู้จักกับ Graham Spencer ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Excite ด้วยการช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีพังค์ร็อกที่ Spencer ชื่นชอบ หลังจากนั้นห่างหายไปประมาณ 5 ปี Rifkin ก็อีเมล์ไปหา Spencer ที่สร้าง Excite จนประสบความสำเร็จเพื่อนัดเจอกันเพื่อขอคำแนะนำในการสร้างธุรกิจ 

หรือตอนปี 2001 ก็เริ่มทำความรู้จักกับ Ev Williams ตอนนั้น Williams กำลังบริหาร Blogger ซึ่งเป็นเว็บบล็อกในยุคแรกๆ และมีปัญหาเรื่องเงินทุนอยู่

Rifkin เป็นแฟนตัวยงของ Blogger และอยากให้มันอยู่ต่อ เขาจึงจ้างให้ Blogger ทำงานบางอย่างให้กับบริษัทของเขา และเงินก้อนนั้นก็ทำให้ Williams สามารถดำเนิน Blogger ต่อไปได้

พอปี 2006 Rifkin ก็ติดต่อขอให้ Williams ช่วยมาเป็นผู้บรรยายในงานประชุมของ 106 Miles แม้ตอนนั้น Williams จะเป็นคนดังและมีงานรัดตัวหลังจากเปิดตัว Twitter เขาก็ยังตอบตกลง 

คนเราส่วนใหญ่มักจะรู้สึกแปลกๆเมื่อต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนที่ไม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ Rifkin เชื่อใน “ความสัมพันธ์แบบผิวเผิน” ที่แม้ไม่ได้สร้างความแนบแน่นกับอีกฝ่าย แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ทำหน้าที่เป็นสะพาน 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Stanford อธิบายว่า สายสัมพันธ์ของคนเรามี 2 แบบคือ แบบแนบแน่นหมายถึงเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานที่สนิท หรือคนที่ไว้ใจได้ อีกแบบคือแบบผิวเผิน หมายถึงคนที่เรารู้จักแค่ผิวเผิน  

คนจำนวนมากเชื่อว่าคนเราจะได้รับความช่วยเหลือจากสายสัมพันธ์แบบแนบแน่นมากที่สุด แต่งานวิจัยเผยว่า ผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนงานจำนวนเกือบ 17% ได้ข่าวเรื่องงานใหม่ผ่านสายสัมพันธ์แบบแนบแน่น โดยเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานที่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นคนบอกตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ 

แต่ปรากฎว่าคนเรามีแนวโน้มได้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์แบบผิวเผินมากกว่า เพราะผู้คนเกือบ 28% ได้ข่าวเรื่องงานใหม่ผ่านสายสัมพันธ์แบบนี้ 

สาเหตุเพราะคนที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นมักเป็นคนที่อยู่ในวงสังคมเดียวกับเราและได้รับรู้สิ่งเดียวกัน แต่คนที่มีสายสัมพันธ์แบบผิวเผินมักอยู่คนละสังคมกับเรา จึงมีแนวโน้มที่จะเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงเครือข่ายและข้อมูลที่ใหม่กว่า 

แล้วเราจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์แบบผิวเผินด้วยวิธีไหนกันดีล่ะ 

แบบง่ายที่สุดคือใช้ Social media ซึ่งคุณจะใช้แพลตฟอร์มไหนก็ขึ้นอยู่กับความชอบของคุณ พฤติกรรมและลักษณะของผู้ใช้แต่ละแพลตฟอร์มมีความต่างกัน สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการทำงาน LinkedIn ถือเป็นตัวเลือกที่มีความนิยม 

สังคมใน LinkedIn มักจะพูดคุยกันแบบเป็นทางการมากกว่า Facebook ที่นี่จึงให้ผู้ใช้สามารถสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการเขียนคำแนะนำ 

คุณสามารถเขียนคำแนะนำให้กับอีกฝ่ายได้ เช่น พวกเขามีความสามารถอะไรบ้าง นิสัยดียังไง จากนั้นคุณอาจจะขอให้เขาเขียนคำแนะนำตอบกลับมาบ้าง ซึ่ง Rifkin เองก็ทำแบบนั้นเช่นกัน

มีคน 48 คนที่เขียนแนะนำเกี่ยวกับ Rifkin โดยส่วนใหญ่บอกว่าคุณสมบัติที่เด่นที่สุดของเขาคือการเป็นผู้ให้ และ Rifkin ก็ตอบแทนด้วยการเขียนคำแนะนำกลับไป แต่เขาไม่ได้เขียนตอบกลับไปแค่ 48 คน เขาเขียนคำแนะนำอย่างละเอียดให้คนอื่นอีก รวมทั้งหมด 249 คน เป็นการให้มากกว่า 5 เท่า

การเขียนคำแนะนำให้ผู้อื่นเป็นการทำตามกฎง่ายๆของ Rifkin ที่เรียกว่าความช่วยเหลือ 5 นาที “คุณควรเต็มใจช่วยเหลือใครก็ตามที่จะทำให้คุณเสียเวลาไม่เกิน 5 นาที” Rifkin กล่าว คุณอาจจะให้ feedback กับคนในกลุ่ม แชร์ไอเดียให้กับคนที่เจอในงาน event หรือแม้แต่ Like&Share ก็ถือว่าเป็นความช่วยเหลือ 5 นาทีเช่นกัน 

Rifkin ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนในเครือข่ายของเขาเป็นผู้ให้ ในเครือข่าย 106 Miles มีสมาชิก 9,000 คน แต่การให้ของ Rifkin เพียงคนเดียวก็เพียงพอที่จะสร้างบรรทัดฐานของการให้ เมื่อมีคนมานั่งคุยกับเขาเพื่อพูดถึงปัญหาที่เจอ เขาก็ตั้งใจฟังโดยไม่ขัดจังหวะแล้วคิดไปด้วยว่าควรแนะนำใครที่แก้ปัญหานั้นได้ และถ้ามีคนมาขอร่วมวงเพิ่ม เขาก็จะทำแบบเดียวกัน 

ส่วนเวลาที่เขาขอความช่วยเหลือ เขาก็มักจะนำความช่วยเหลือนั้นไปช่วยคนอื่นต่ออีกทอดหนึ่ง การกระทำดังกล่าวช่วยให้ผู้คนหันมาเพิ่มคุณค่าให้กันและกันซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากคนที่พวกเขาไม่เคยช่วยเหลือหรือพบเจอกันมาก่อน 

อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่ผู้ให้มักเจอคือ การช่วยเหลือคนอื่นจนไม่มีเวลาไปทำงานตัวเอง แต่ Rifkin หลีกเลี่ยงผลกระทบในเรื่องนี้ด้วยการให้ที่มากขึ้น 

มีการศึกษาพบว่าวิศวกรจะได้รับผลกระทบจากการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นก็ต่อเมื่อพวกเขาให้ไม่บ่อยนัก ในบรรดาวิศวกรทั้งหมด คนที่ทำผลงานได้มากที่สุดคือฝ่ายให้อยู่บ่อยๆ และให้มากกว่าที่ตัวเองได้รับเสียด้วย คนเหล่านี้ทำผลงานได้มากที่สุด ได้รับความนับถือจากเพื่อนร่วมงานมากที่สุด และได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานทุกคน 

แสดงว่าเมื่อคุณ “ให้” เป็น คุณก็ต้อง “รับ” เป็นด้วย 

=====

Rifkin โชคดีตรงที่เขาอยู่ในยุคที่สังคมออนไลน์ถือกำเนิด เพราะถ้าเป็นยุคก่อนนั้นเขาอาจจะต้องตรากตรำโดยที่ไม่มีใครรู้จักเขาเลย 

และตอนนี้เราก็อยู่ในยุคเดียวกับเขา ถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นเหมือนที่ Rifkin ทำ เราก็สามารถสร้างเครือข่ายได้เหมือนกับเขาเช่นกัน ถึง Rifkin จะเริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางออนไลน์ แต่เขาสนับสนุนให้ผู้คนมาพบปะกันเหมือนที่เขาทำที่ 106 Miles ส่วนเราก็มีทางเลือกอื่นเช่นไปงานสัมมนา งานประชุม (เช่น Techsauce Global Summit ที่จะจัดในปีนี้ เป็นต้น :D) 

การที่ Rifkin ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หวังผลตอบแทนทำให้ชื่อเสียงของเขาในฐานะผู้ให้แพรกระจายอย่างรวดเร็ว 

และผลคือเขาแทบไม่ต้องใช้เวลาในการระดมทุนเพื่อก่อตั้งบริษัทของตัวเอง เพราะชื่อเสียงของเขาทำให้ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นคนดี ที่ใครๆก็อยากช่วยเหลือ 

=====

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือ Give and Take by Adam Grant

https://www.linkedin.com/in/adamrifkin/

https://www.bakadesuyo.com/2013/02/interview-silicon-valleys-networker-teaches-secrets-making-connections/


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...