ทุกช่วงชีวิตของเรา ได้มีการตัดสินใจที่ส่งผลอย่างมากต่อตัวเราในอนาคต และเมื่อโอกาสนั้นมาถึง เรามักไม่มีความสุขกับสิ่งที่เราได้ตัดสินใจไป ทำไมหลายคนที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในชีวิต มีงานที่ดี ใช้ชีวิตในอพาร์ทเมนต์สุดหรู กลับไม่มีความสุขเลย? ความสำเร็จนำมาซึ่งความสุขจริงหรือ? สุดท้ายแล้วเราควรตามล่าหาความสุขไหม? การมีชีวิตที่มีความหมายทำให้รู้สึกเติมเต็มมากกว่าชีวิตที่มีความสุขหรือเปล่า?
ในยุคนี้คนต่างตามหาความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต เนื่องจากสิ่งที่ AI เข้าช่วยมนุษย์ไม่ได้คือการตามหาความหมายของชีวิต ดังนั้นเราจึงเป็นคนที่ต้องตามหามันด้วยตัวเอง
Master Skill 4.0 “ ที่คนยุค Digital ต้องมี และ AI แทนไม่ได้ ” เป็น Workshop ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง AIS The StartUp และ Techsauce ที่มองเห็นถึงทักษะที่เป็น Soft Skill ที่มีความสำคัญกับทุกๆคน สำหรับ Master Skill 4.0 ในครั้งที่ 2 นี้เป็นเรื่องของ “ikigai ความสุขสร้างได้” ซึ่งเป็นการค้นหาคุณค่าในตัวเอง หรือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และคุณค่าเหล่านี้จะมาประยุกต์เชื่อมโยงกับองค์กรอย่างไร โดยมีผู้ให้การบรรยายและแชร์ประสบการณ์หลายท่านทั้ง คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล (ไวท์) CEO บริษัท Fire One One จำกัด, คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder and CEO Techsauce Global และ ดร.ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp
คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล (ไวท์) CEO บริษัท Fire One One จำกัด ได้ให้ข้อคิดจากหนังสือ IKIGAI ว่ากันด้วยเรื่องของความสุข เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ว่าแท้ที่จริงแล้ว คำตอบที่ทุกคนต่างตามหาคืออะไร โดยการยกตัวอย่างบุคคลที่ได้ทำงานที่พวกเขาหลงใหล ตั้งแต่คนเปิดร้านซูชิเล็กๆ ในญี่ปุ่นไปจนถึงเชฟร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกในประเทศสเปน
คุณไวท์ได้ยกตัวอย่าง ร้าน El Bulli แหล่งผลิตเชฟระดับโลก เป็นร้านอาหารเดียวที่ได้เปิดใน National Park ที่สเปน ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อีกทั้งถูกยกให้เป็น The World Best Restaurant ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก จัดโดย Restaurant Magazine ได้รับรางวัล 4 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2006 – 2009 โดยมี Ferran Adria เชฟ ของร้านก็ได้รับรางวัล 'Chef of the Decade 2010' เชฟแห่งศตวรรษ โดย Restaurant Magazine
ร้านนี้ได้ Michelin 3-Star Restaurant ร้านอาหารเกียรติ 3 ดาว จากมิเชอลิน และยังครอง 3 ดาวอันเป็นมาตรฐานสูงสุดของ “มิเชอลิน” มาโดยตลอด แต่ไม่ว่าคิวร้านอาหารจะยาวหรือจะได้รับรางวัลมากแค่ไหน ร้านนี้ก็ได้ปิดกิจการเมื่อปี 2011 โดย Ferran ได้ให้เห็นผลว่า “ผมไม่เคยมีความคิดอยากจะเป็นเชฟ”
Zermatt เมืองสวรรค์แห่งกีฬาสกีในสวิสเซอร์แลนด์ มีคนนิยมไปปีนเขาจำนวนมาก มีอุบัติเหตุทุกปี มันน่าสนใจจน Netflix เข้าไปทำสารคดีกู้ภัยในชื่อ "The Horn" บันทึกภาพภารกิจเสี่ยงภัยทุกอย่างของบริษัทกู้ภัยบนเฮลิคอปเตอร์ Air Zermatt
Beat H.Perren (อายุ 88 ปี) เป็นเจ้าของ เขาก่อตั้งบริษัทมา 50 ปี พ่อและปู่ของเขาเป็นไกด์ภูเขาและเสียชีวิตบนภูเขา เขารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ครอบครัวมอบให้คือภาระและหน้าที่ ไม่ยอมให้ใครมาเสียชีวิตบนสิ่งนี้ หากดูสารคดีจะพบว่า คนเหล่านี้ต่างมีความสุขในการทำงานแม้จะได้ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มเสี่ยงชีวิตเลย
จะเห็นได้ว่าไม่มีความสำเร็จไหนที่จะการันตีได้ว่าสามารถทำให้คนมีความสุข เชฟ Ferran ไม่ได้สนใจว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำเงินได้มหาศาลหรือจะไต่ขึ้นไปยังจุดสูงสุดของการเป็นเชฟอย่างไร เขาล้มเลิกกิจการร้านอาหาร และยอมแม้กระทั่งเงินที่น้อยกว่าในการไปเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร เพราะว่าความสำเร็จในความหมายของเขาคือการที่เขาได้ใช้ทักษะทั้งหมดลงแรงทำงานที่มีคุณค่าและความหมายทั้งต่อตัวเขาเองและต่อสังคม
คุณเป็นคนหนึ่งที่พยายามถ่ายรูปมุมเดียวให้เหมือนกับ influencers บนโลกโซเชียลฯ และให้ค่าและความสำคัญของตัวเองที่ยอดไลค์หรือเปล่า ถามว่าท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่มีอินเตอร์เน็ตคุณจะเหลืออะไร? การที่ต้องถ่ายทอดตัวเองอยู่ตลอดเวลาและไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงนั้นมันทำให้คุณพึงพอใจจริงๆ เหรอ?
คนมักจะรู้จัก IKIGAI ผ่านวงกลม 4 วงนี้ การที่สามารถหาจุด intersect ตรงกลางได้นั่นคือเราได้หาจุดสมดุลของตัวเองเจอแล้ว จะว่าไป นี่คือสิ่งที่เราต่างต้องตามหา แต่ไม่ควรนำวงกลมของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะความสมดุลของแต่ละคนไม่เท่ากัน หากเรามีความเข้าใจ เราจะพาตัวเองไปยังจุดที่สมดุลได้ เมื่อนั้นเราถึงจะพึงพอใจและจะมีความสุข
เพราะฉะนั้นคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง แม้จะทำได้ไม่ดี แต่ถ้าชอบทำและสามารถพัฒนามันได้ เขียนมันออกมา อยากได้อะไร อยากเป็นคนแบบไหน เขียนมันออกมา มีคนอื่นที่เราเห็นเป็นต้นแบบบ้างหรือไม่ และย้อนกลับมาถามตัวเองว่า หากเราเป็นแบบนั้น เราจะพอใจไหมกับชีวิต?
'งานที่มีความหมาย' นั้นต่างก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ไม่ใช่สิ่งที่เจ้านาย พ่อแม่ หรือเพื่อนในโลกโซเชียลคิดว่ามีความหมาย เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และเริ่มลงมือทำสิ่งที่คิดว่ามีความหมายต่อตัว 'คุณ'
เพราะว่าแม้แต่เชฟ Ferran ที่ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จในสายตาของสังคม เขาเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำงานไล่ตามอะไรด้วยซ้ำ ดังนั้นแทนที่จะไปคิดแทนคนอื่น เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือไล่ตามอาชีพที่สังคมยอมรับและยกย่อง ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการหรือไม่ ทำไมไม่มาสร้างอาชีพและทำในสิ่งที่มีความหมายที่มีค่าต่อตัวของคุณ?
ชีวิตก็เหมือนการดู Netflix เราต่างเลื่อนหาหนังไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดูจริงๆ จังๆ สักเรื่อง
คุณชาคริต ได้ยกตัวอย่างวิดีโอของ Pete Davis What Netflix Taught Me About Life เปรียบเทียบชีวิตเหมือนกับการดูหนังออนไลน์บน Netflix ได้อย่างน่าสนใจ ประโยคที่แสดงถึง 'Choice Overload’ ข้างต้นเป็นคาแร็คเตอร์ของคนเจเนอเรชันนี้ การที่พวกเขามีตัวเลือกมากเกินไป เลยเลือกไม่ได้ว่าจะเดินไปทางไหน เพราะไม่ได้โดนบังคับ แน่นอนว่าคนเราต่างชอบเก็บตัวเลือกให้ตัวเองเยอะๆ การมีตัวเลือกมากดีกว่าไม่มีเลย แต่การมีตัวเลือกเยอะนั้นเป็นเรื่องที่ดีเสมอไปหรือเปล่า?
ชีวิตก็เหมือนอยู่ในห้องโถงตรงกลาง มีประตูรายล้อมให้เลือกเปิดหลายบานจำนวนมาก พอไม่มีใครรู้ว่าข้างหลังบานประตูเป็นอะไร มันก็เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าห้องไหนดี ลองผิดลองถูกทีละห้อง พอเจออะไรที่ไม่เหมาะกับตัวเอง เลยถอยกลับมายังห้องโถงแล้วเริ่มต้นใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การที่เรามีตัวเลือกจำนวนมาก และมีข้อแก้ตัวต่างๆ ว่าสิ่งไหนไม่เหมาะกับเรา ทำให้เราไม่มี commitment ในการทำอะไรสักอย่าง และไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงๆ ความรู้ยังไม่ทันจะได้ตกผลึก ความชำนาญยังไม่ทันจะได้เกิด เมื่อเจออุปสรรคก็ยอมแพ้ก่อนซะแล้ว
คงจะดีไม่น้อยถ้าชีวิตสามารถย้อนเวลาได้เหมือนกับการกู้คืนสิ่งที่ลบไปในมือถือ คนเรามักจะเก็บ 'ตัวเลือก' ไว้ให้ตัวเองเยอะๆ พวกเขาต่างรอเวลาที่เหมาะสมกว่าจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ผัดผ่อนเวลาในการลงมือทำนานขึ้นตามตัวเลือกที่ได้สะสมไว้เพื่อหลีกเลี่ยง commitment ที่ต้องเจอ เพราะเมื่อได้ลงมือทำแล้วก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะย้อนกลับไปแก้อะไรได้อีก
แน่นอนว่าคนเราต่างไล่ตามความสำเร็จ และพยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองเสมอ แต่การเก็บตัวเลือกไว้ให้ตัวเองมากๆ นั้นเป็นเรื่องดีหรือ?
รายงานใน Journal of Experimental Social Psychology พบว่า การเก็บตัวเลือกไว้ให้ตัวเองจำนวนมากจะทำให้ความพึงพอใจในการทำอะไรน้อยลง คนเราจะมีความสุขน้อยลงเมื่อเลือกในสิ่งที่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเหมือนกับการซื้อของแล้วสามารถนำกลับไปเปลี่ยนได้ภายใน 30 วัน จะทำให้มีความสุขน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อเสื้อผ้าแล้วไม่สามารถเปลี่ยนคืนได้
Dan Gilbert นักจิตวิทยาของ Harvard ให้เหตุผลว่า มนุษย์เมื่อตัดสินใจเลือกอะไรไป หากมีข้อบังคับว่าสามารถตัดสินใจเลือกได้เพียงครั้งเดียว สมองจะมีสิ่งที่เรียกว่า Psychological immune system หรือภูมิคุ้มกันความผิดหวังเริ่มทำงานอัตโนมัติ จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง ตัดตัวเลือกที่ไม่จำเป็นตั้งหลายออกไป และมันจะดูไร้ค่าทันทีเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ตัดสินใจเลือก
ในทางกลับกันหากเราเปิดให้มีตัวเลือกเผื่อไว้จำนวนมาก เราก็จะอดนึกถึงด้าน Downside ของมันไม่ได้ ว่าสิ่งที่คุณเลือกนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณแล้วหรือยัง ทำให้เราถอดใจในการทำอะไรต่างๆ อย่างง่ายดาย เป็นสาเหตุอธิบายว่าทำไมคนในปัจจุบันถึงมีความอดทนต่ำ ในครั้งนี้ภูมิคุ้มกันความผิดหวังจะไม่ทำงาน และคุณจะมีความสุขน้อยลงกับตัวเลือกที่กำลังจะเลือก อีกทั้งทำแบบนี้ไม่เพียงขโมยความสุขของคุณเท่านั้น แต่มันยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอีกด้วย
คุณเป็นนักวิ่งที่ไม่ได้วิ่งเข้าหาความสำเร็จ แต่วิ่งหนีปัญหาหรือเปล่า?
บางครั้งเมื่อทำอะไรผิดก็จำเป็นที่จะต้องกล้ำกลืนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปให้ได้ การสร้างตัวเลือกให้ตัวเองจำนวนมากนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก การมีความแน่วแน่การการตัดสินใจในการเลือกบางอย่างและให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นจริงๆ จะทำให้มีความสุขและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า สิ่งที่ต้องลงมือทำคือการเริ่มทำสิ่งเล็กๆ ก่อน ทำความเข้าใจกับมัน อดทน กล้ำกลืน ให้โอกาสตัวเองสักนิดและอย่าเพิ่งยอมแพ้
โฟกัสเฉพาะในสิ่งที่ต้องทำ ผลักปัญหาและอุปสรรคออกไป แน่นอนว่าทุกคนมีปัญหากันทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต่างกันคือวิธีการรับมือกับปัญหา เราสามารถเลือกได้ว่าเวลาไหนควรจะแก้ปัญหา เวลาไหนที่จำเป็นต้องโฟกัสกับงาน เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะทำได้ แต่ก็ไม่ควรทำ
สุดท้ายแล้ว IKIGAI ของแต่ละคนจะเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตและอยู่ที่ว่าให้ค่ากับอะไร
ลองถามตัวเองว่า ทำไมคุณถึงเกิดมาบนโลกนี้ คุณสามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง คุณสามารถใช้ทักษะพิเศษที่คุณมีอันเป็นของคุณคนเดียวนั้น สร้างงานที่มีความหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้อย่างไร
ประเด็นของการบรรยายในครั้งนี้ ไม่ใช่ให้ลาออกจากงานแล้วไปตามหาอิคิไกทันที แต่ให้ดูว่าคุณมีความหลงใหลในการทำอะไร งานที่ทำในปัจจุบันนั้นมีสกิลอะไรบ้างที่จะช่วยเสริมสิ่งที่คุณหลงใหลและพัฒนามันจนกลายเป็นความชำนาญ เมื่อคุณรู้ว่าอยากทำอะไร อย่าคิดมากเกินไป เลือกสักอย่างแล้วเริ่มลงมือทำเป็นบ้าเป็นหลังพร้อมตั้งรับปัญหาทุกอย่างที่จะเข้ามา
ปิดท้ายเวิร์คช็อปในครั้งนี้กับ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder and CEO Techsauce Global และ ดร.ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp ที่ได้มาแชร์เรื่องของคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และคุณค่าเหล่านี้จะมาประยุกต์เชื่อมโยงกับองค์กรอย่างไร
คุณชาคริต: IKIGAI เป็นแค่แผนที่ อย่าไปตั้งเป้าว่าในระหว่างทางนั้นจะไม่มีปัญหาอุปสรรค หรือเอามันบั่นทอนพลังงาน จัดการกับสิ่งเหล่านั้นให้ถูกที่ ถูกเวลา อย่านำมันเข้ามาในเวลาที่เรากำลังโฟกัสอยู่กับงาน
คุณอรนุช: ในชีวิตแต่ละคนมีช่วงเวลาที่เจอสิ่งที่ให้ความสุขในชีวิตไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ จะเป็นคนที่รักในการเรียนรู้ แม้จะมีสิ่งที่เคยตัดสินใจผิดพลาด แต่สิ่งที่ทำไปแม้จะกลับไปแก้ไม่ได้ ให้มองว่าเราได้บทเรียนอะไรจากตรงนั้น การช่วยเหลือคนอื่นทำให้รู้สึกมีความสุข ในแง่ของการเติมเต็มทางจิตใจ
หากลงมือทำอะไร ต้องมีความกล้าเสี่ยงและต้องมีแผนสำรอง คนเราจะไม่มีทางรู้ว่าอะไรถูกจนกว่าจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ให้เร็ว ไปต่อ คิดได้แต่อย่าคิดมาก อย่ากังวลกับมันจนเกินไป ในเรื่องของความสัมพันธ์ คนเรามีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นควรให้เวลากับคนรอบข้างมากขึ้น ความสัมพันธ์ชีวิตคู่คือความสม่ำเสมอ การปฏิสัมพันธ์กันทุกวัน ส่วนในที่ทำงานคือการมีความจริงใจต่อกัน
เมื่อจะลงมือทำอะไร ต้องมีความกล้าเสี่ยงและต้องมีแผนสำรอง คนเราจะไม่มีทางรู้ว่าอะไรถูกจนกว่าจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ให้เร็ว ไปต่อ คิดได้แต่อย่าคิดมาก อย่ากังวลกับมันจนเกินไป
ดร.ศรีหทัย: งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต เราไม่สามารถบังคับให้ทุกอย่างเป็นแบบที่เราหวังได้และควบคุมทุกอย่างได้ เมื่อเราสามารถจัดการไม่ให้ตัวเองทุกข์ได้ ความสุขจะเกิดขึ้นเอง
หากเราคิดได้ว่า นี่คือโอกาสในการจัดลำดับความสำคัญของเรา ไม่ใช่การคิดว่าทำไมงานเยอะจัง ในแง่ของผู้บริหาร คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนนั้นสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น อย่างมีความสุข มองว่าเพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนร่วมโลก สิ่งที่เราทำนั้นก็คือผลประโยชน์ของคนอื่นด้วย เมื่อเราคิดได้แบบนี้ เราก็จะมีความภูมิใจและมีความสุขไปด้วย อย่าไปเจาะจงว่าจะต้องมองหาความสุขในการทำงาน มองหาความสุขในการใช้ชีวิตดีกว่า
ในเรื่องของความสัมพันธ์ บางครั้งเราอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจุดสีดำให้คนอื่นได้ สิ่งที่สามารถทำให้มันกลายเป็นสีเทาได้คือการกล่าวคำขอโทษ หากเรามีแรงบันดาลใจในการมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ ในแต่ละวัน มองชีวิตทุกวันว่าคือการมาใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำงาน ได้พัฒนาการของลูกน้องแต่ละคนที่พวกเขามีส่วนในทำงานของตัวเอง ทำให้เรามีความสุขขึ้น ลองคิดว่าคนที่เรามีชีวิตร่วมในแต่ละวัน เราจะทำอะไรให้คนรอบข้างมีความสุขได้บ้าง
การตื่นขึ้นมาทุกเช้าคือโอกาสใหม่ของชีวิต เมื่อเรามีความรู้สึกขอบคุณที่ได้ตื่นขึ้นมาจะใช้ชีวิตในโอกาสใหม่ที่ได้รับอย่างไร? จะทำอะไรให้คนรอบข้างมีความสุขได้บ้าง?
ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตาม อย่าพยายามแก้ทุกอย่าง สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี อย่าไปคิดว่าจะมีความสุขได้ยังไง แต่จะให้คิดว่าจะรับมือกับสิ่งที่ทำให้ทุกข์อย่างไร
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด