พัฒนาทักษะผู้นำไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป…ผู้นำองค์กรระดับโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีที่เรียบง่ายอย่างการอ่านหรือการเขียน ช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานของผู้นำได้เกือบครบทุกด้าน บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal
การเขียน Journal คือ การบันทึกเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และแนวคิดต่างๆ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ต่างจากไดอารี่ตรงที่ Journal อาจจะไม่ใช่การบันทึกเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน แต่มุ่งเน้นไปที่การสะท้อนความคิดและความรู้สึกของผู้เขียนมากกว่า
เมื่อการเขียน Journal มุ่งเน้นไปที่การสะท้อนความคิดและความรู้สึก มันจึงเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ผู้เขียนสามารถใช้เวลาพูดคุยกับตัวเองมากที่สุด คล้ายกับการตกตะกอนทางความคิด จึงมีศักยภาพมากพอที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผู้นำด้วย 5 แนวทางเหล่านี้
แนวทางนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยจัดระเบียบสมอง เพราะผู้นำหลายๆ คน ใน 1 วันต้องเจอเรื่องราวมากมาย หากปล่อยให้เรื่องเหล่านั้นตีกันอยู่ในหัว คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งที่คุณต้องทำและให้ความสำคัญมากที่สุดคืออะไร
ดังนั้น จดทุกสิ่งที่รบกวนจิตใจของคุณอยู่ ไม่ว่าจะงาน ประชุม หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัวลงบนกระดาษจะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของสิ่งต่าง ๆ จากนั้นค่อยมานั่งทบทวนอีกครั้งว่ามีอะไรที่ลืมเขียนหรือพลาดไป เพื่อที่จะนำมาจัดลำดับความสำคัญในขั้นสุดท้าย
แนวทางนี้คล้ายกับการทำบันทึก Lesson Learn ผ่านการจดบันทึกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่, ข้อมูลและทางเลือกที่เรามีในตอนนี้, วิธีการคิดและตัดสินใจที่เราใช้, และเหตุผลที่เราเลือกวิธีเหล่านั้น และผลลัพธ์ที่คาดหวัง
เมื่อเวลาผ่านไปให้ลองย้อนกลับมาอ่านบันทึกเหล่านี้ และลองเปรียบเทียบดูว่ากระบวนการคิดและการตัดสินใจในตอนนั้น ให้ผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวังหรือไม่ หากไม่ก็ให้ลองหาจุดที่ทำพลาดไป เพื่อเรียนรู้จากการตัดสินใจในอดีตและนำมาปรับปรุงอนาคต
บางครั้งการนั่งจินตนาการถึงอนาคตอันสวยงาม หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อาจไม่ทำให้คุณเห็นภาพของมันชัดเจนมากขนาดนั้น แนวทางนี้จึงเป็นวิธีที่ช่วยขยายภาพในหัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการบันทึกถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และอธิบายวิธีการที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมายนั้น
การทำแบบนี้นอกจากภาพในหัวจะชัดเจนขึ้น อาจช่วยให้คุณมองเห็นความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเจอได้แต่เนิ่น ๆ และสามารถเตรียมตัวรับมือกับมันได้ทัน
แนวทางนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้คุณเข้าใจตัวเองและรู้เท่าทันความรู้สึก ด้วยการบันทึกถึงเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิต และในตอนนั้นคุณรู้สึกกับมันอย่างไร หลังจากนั้นลองไตร่ตรองดูอีกทีจากมุมมองในปัจจุบัน
เหมือนกับการถอยกลับไปมองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกลางมากขึ้น เพื่อที่จะรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และสามารถรับมือกับมันได้ดีกว่าเดิม
ในช่วงเวลาที่เหนื่อยล้ามาก ๆ เราอาจจะไม่มีแม้แต่แรงที่ใช้คิดว่าเราเหนื่อยกับเรื่องอะไร แนวทางนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยเอาความคิดทั้งหมดที่วนเวียนอยู่ในหัวมาไว้ในกระดาษแทน
วิธีการเขียนก็ง่าย ๆ เริ่มเขียนจากสิ่งไหนก็ได้ที่อยู่ในหัวตอนนั้น ระบายมันลงไปเรื่อย ๆ เรื่องบางเรื่องที่เขียนลงไปอาจจะไม่ปะติดปะต่อกันก็ไม่เป็นไร แค่ปล่อยให้มันไหลลื่นไปจะช่วยให้จิตใจของคุณว่างจากเรื่องราวมากมายที่อัดแน่นอยู่ในหัว
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจำนวนมากเขียนบันทึกทุกวันจนเป็นแหล่งสะสมข้อมูลเป็นร้อยเป็นพันรายการ จึงอยากแนะนำว่าหากใครต้องการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำควรฝึกการเขียนบันทึกให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
อ้างอิง: inc
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด