งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง? | Techsauce

งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง?

เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล ข้อดีคือความเร็ว การติดต่อสื่อสารสะดวก แต่ความสะดวกนี้กลายเป็นทำลายเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน  เพราะงานไม่เคยจบแค่ในที่ทำงาน แต่ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ บทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวม

 “How to ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพมาไว้ให้คุณแล้ว”

How to ทิ้ง : ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพ

“หลังเลิกงานคือเวลาของเรา” เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้งานมาครอบงำเวลาส่วนตัวของคุณ แม้งานบางประเภทจะไม่สามารถตัดขาดจากมันได้ 100% แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดสรรเวลา เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณได้เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละช่วงเวลาแล้ว ยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานเคารพเวลาของคุณอีกด้วย โดยมี 4 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

Step 1: กำหนดเวลาเลิกงาน

ในปัจจุบันรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก บริษัทส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวให้มีการทำงานแบบ Hybrid Working หรือ Flexible Hours ซึ่งดูเหมือนจะให้อิสระพนักงานได้ออกแบบชั่วโมงการทำงานของตนเอง แต่ก็เป็นดาบ 2 คมที่ทำหลาย ๆ คนไม่สามารถตัดขาดจากงานได้เพราะเวลาเลิกงานไม่ชัดเจน

สำหรับคนที่ทำงานแบบ 9 to 5 หรือใช้รูปแบบชั่วโมงการทำงานทั่วไปที่เข้างาน 9:00 เลิกงาน 17:00 อาจมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้วคำว่า ‘กำหนดเวลาเลิกงาน’ หมายถึง การกำหนดให้ตนเองและเพื่อนร่วมงานรู้ว่าช่วงเวลาไหนคือช่วงเวลาที่เราจะหยุดพูดคุยเรื่องงาน

Step 2: จัดตารางงานให้ชัดเจน

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนส่วนมากตัดขาดจากงานไม่ได้นั้นมาจาก ‘ความวิตกกังวล’ เช่น กลัวว่าจะลืมตอบอีเมลสำคัญ หรือทำงานบางอย่างตกหล่นไป ส่งผลให้ในหัวยังคงคิดถึงแต่เรื่องงานอยู่ตลอด แม้นั่นจะเป็นเวลาพักผ่อนแล้วก็ตาม

ดังนั้น การจัดตารางงานให้ชัดเจนจะช่วยให้ตัวเรารับรู้ว่าในแต่ละวันต้องจัดการอะไรบ้าง เมื่อเห็นสิ่งที่ต้องทำเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลและยังช่วยให้สามารถวางแผนการทำงานให้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งก่อนเลิกงานคุณก็สามารถกลับทบทวนตารางงานเพื่อตรวจสอบว่ามีรายการไหนตกหล่นหรือไม่

Step 3: สื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน

งานจบ แต่คนไม่จบ หลายๆ ครั้งปัญหาก็มาจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคารพเวลาส่วนตัวของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นโทรหรือแชทมาคุยงานทั้งที่รู้ว่านั่นคือเวลาเลิกงานแล้ว และแม้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเพื่อร่วมงานได้ แต่เราสามารถสื่อสารกับพวกเขาถึง ‘ขอบเขตเวลา’ ที่ชัดเจนได้

ตัวอย่างเช่น เราอาจแจ้งเขาว่า “ปกติแล้วเวลาเลิกงานคือ 18:00 หากติดต่อมาหลังช่วงเวลานั้นจะได้รับการตอบกลับอีกทีคือหลัง 9:00 ของวันพรุ่งนี้นะ” หรือถ้าไม่สะดวกใจที่จะพูดออกไป ก็แสดงออกด้วยการกระทำแทน เช่น การไม่ตอบกลับหรือโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงานเลยตั้งแต่ 18:00-9:00 ของวันรุ่งขึ้น

หรือหากมีงานที่ต้องติดต่อพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะกำหนดแนวทางในการติดต่อที่ไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไป เช่น “หลัง 18:00 สามารถติดต่อมาได้นะ แต่ให้ส่งเป็นอีเมลแทน เว้นแต่จะมีเรื่องด่วนจริงๆ ค่อยโทรหรือแชทส่วนตัวมา” แนวทางเหล่านี้ช่วยให้เพื่อนร่วมงานรับรู้และเคารพเวลาส่วนตัวของคุณมากขึ้น

Step 4: ทำงานในเวลางาน

ให้มันจบที่ออฟฟิศ! หลาย ๆ คนชอบทำงานหลังเลิกงานหรือตอนกลางคืนมากกว่า เพราะเป็นเวลาที่รู้สึกสงบและไม่มีใครรบกวน แต่การทำแบบนี้ก็อาจทำให้คุณใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่กับงานและไม่มีเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนเลย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการพยายามทำงานให้เสร็จในเวลางาน โดยแนวทางข้อนี้สามารถทำร่วมกับการจัดตารางงานให้ชัดเจนได้ (Step 2) เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมของงานที่ต้องทำในแตละวัน

แต่หากมีงานที่จำเป็นจะต้องทำหลังเลิกงานจริง ๆ สิ่งที่ควรทำก็คือการกำหนดระยะเวลาที่คุณจะใช้ทำงาน เช่น คุณให้เวลาตัวเองทำงานได้ตั้งแต่ 20:00-21:00 น. เท่านั้น หลังจากเวลานั้นจะเป็นเวลาพักผ่อนของคุณ เมื่อทำแบบนี้การทำงานก็จะมีขอบเขตมากขึ้นและไม่กินเวลาส่วนตัวของคุณในตอนคืนมากเกินไป

แม้ในปัจจุบันมีกระแสมากมายที่บอกว่าคนจะประสบความสำเร็จจะไม่มี Work Life Balance แต่อีกมุมหนึ่งอยากให้มองว่า ‘เวลาและสุขภาพ’ คือสิ่งเดียวที่ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากมายแค่ไหนก็ซื้อมันคืนมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนและใช้เวลากับคนสำคัญในครอบครัวด้วย

อ้างอิง: hbr.org

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...