จะนำองค์กรร้อยปีปรับตัวอย่างไร? และ Work-Life Balance ฉบับผู้บริหาร จาก IBM | Techsauce

จะนำองค์กรร้อยปีปรับตัวอย่างไร? และ Work-Life Balance ฉบับผู้บริหาร จาก IBM

  • องค์กรยักษ์ใหญ่และมีธุรกิจหลากหลายอย่าง IBM สามารถผ่านยุค Disruption มาได้อย่างไร
  • วิสัยทัศน์เรื่อง Blockchain ที่สามารถเป็นเหมือน Chain เชื่อมต่อสร้างประโยชน์ร่วมกันได้แทบทุกธุรกิจ
  • ในยุคดิจิทัลข้อมูลเหมือนขุมทอง สกิลที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • การเป็นผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่พร้อมๆ กับการใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันได้ หัวใจสำคัญคือการจัด Priority ในแต่ละวัน

การขึ้นมาเป็น MD ของบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปีอย่าง IBM ของคุณปฐมา จันทรักษ์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัย Disruption ที่ IBM ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมหาศาล เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีธุรกิจค่อนข้างหลากหลาย โดยเป้าหมายในการขยายธุรกิจไปยังอินโดจีนคือภารกิจหลักที่คุณปฐมา จะนำ IBM Thailand มุ่งไปในอนาคตอันใกล้

หลังจากเพิ่งได้รับรางวัล Stevie Awards 3 สาขา ประกอบด้วยสาขา Female Executive of the Year (Business Services - More Than 2,500 Employees) สาขา Mentor or Coach of the Year (Business) และสาขา Women Helping Women (Business) ถือได้ว่าคุณปฐมาเป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงที่น่าศึกษาถึงวิธีคิดในการบริหารงาน ขณะเดียวกันด้านชีวิตส่วนตัวก็ถือว่าเป็นผู้บริหารที่มีวิธีคิดและมีการจัดการคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้บริหารที่นำองค์กรใหญ่ไปสู่อนาคตของความเปลี่ยนแปลง และบทบาทของผู้บริหารที่สามารถใช้เวลาอย่างมีคุณภาพให้กับตัวเองและครอบครัวได้ เป็นสมดุลของชีวิตที่น้อยคนนักจะทำได้ บทสัมภาษณ์นี้จะพาผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการทั้งเรื่องงานและชีวิตให้ประสบความสำเร็จของคุณปฐมา

อยากจะให้ช่วยแนะนำตัวคร่าวๆ ก่อนหน้าที่จะมาเป็น MD อยู่ที่ IBM

จบมาก็เริ่มงานอยู่ในโรงงานเลย ตอนนั้นเป็น System Engineer อยู่ 4 ปี แล้วก็เปลี่ยนจากฝั่ง Engineer เข้ามาอยู่ในฝั่งของธุรกิจมากขึ้น โดยการมาร่วมงานกับบริษัทที่ร่วมทุนระหว่าง Singtel กับ ชินวัตร อยู่ปีครึ่ง จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา แล้วก็ไปร่วมงานกับ Microsoft ตั้งแต่ปี 1995 ในช่วง 22 ปีครึ่ง ที่อยู่ที่ Microsoft ดูธุรกิจในส่วน Global Business อยู่ 16 ปี ก็คิดว่าได้เวลาที่จะกลับมาเมืองไทยแล้ว IBM จึงเป็นบริษัทที่ 4 ที่มาทำงาน

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้องค์กรที่มีอายุร้อยกว่าปีอย่าง IBM สามารถผ่านยุค Disruption มาได้

จุดหนึ่งมันเป็นเรื่องของการปรับตัวและการเปิดมุมมอง จะเห็นว่าองค์กรที่ล้มหายตายจากไปเป็นเพราะว่าเขาปรับไม่ได้ ต่อให้เป็นผู้คิดค้นอะไรขึ้นมาสักอย่าง แต่ถ้ายึดติดกับการขายแบบเดิม การทำงานแบบเดิม อันนี้เปลี่ยนยาก แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ วันนี้ IBM มีจุดแข็งค่อนข้างมาก เรามี 20 Industries ไม่มีใครทำตลาดที่กว้างถึงขนาดนี้และมีความสำเร็จที่พิสูจน์ได้ ตรงนี้คือความภาคภูมิใจขององค์กรที่ไม่ได้มองว่าอายุร้อยกว่าปีแล้วเราไม่ปรับ เราปรับ เราคิดว่าทำยังไงถึงจะรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้

ด้วยองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ การที่เรามายืนอยู่จุดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รับผลกระทบ อย่างในวันที่ทุกคนพูดถึง Cloud ก็จะเกิดคำถามว่าทำไม IBM ไม่พูดถึง Cloud เรามีหรือป่าว เรามี แต่เราอาจจะไม่ได้ขยับเร็วเท่ากับเจ้าอื่นที่เขาทำเฉพาะทาง แต่เราจะออกมาพูดยังไงว่าวันนี้เราออกมาสร้าง Platform ที่เป็น Multi Cloud หรือ Hybrid Cloud ได้ อันนี้ก็เป็นความภูมิใจ เราอาจจะขยับช้ากว่าคนอื่น ไซส์ขององค์กรกว่าสามแสนชีวิต แล้วมีธุรกิจตั้งแต่ Hardware, Software, Solution, Service มันไม่มีใครมีแบบนี้ มันคือความยากขององค์กรไซส์ขนาดนี้ว่าต้องทำยังไงถึงจะปรับ แล้วยังจะสามารถครองความเป็นอันดับต้นๆ ได้

IBM มี Solution Services มานานแล้ว เรามีทีมที่ทำเป็น Outsource ให้กับองค์กรที่ไม่ได้พร้อมที่จะลงทุนในเรื่องของคนหรือเทคโนโลยี ตอนนี้คนอื่นก็เริ่มเข้ามาจับตรงนี้ เราก็มีข้อดีที่คนอื่นพยายามที่จะเข้ามาทำให้เหมือน ขณะเดียวกันเราก็ต้องออกไปดูดูธุรกิจอื่นเพื่อทำและปรับให้เราเป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าด้วยเหมือนกัน

ต่อให้เป็นผู้คิดค้นอะไรขึ้นมาสักอย่าง แต่ถ้ายึดติดกับการขายแบบเดิม การทำงานแบบเดิม อันนี้เปลี่ยนยาก แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้

เราเห็น IBM มีการนำ Blockchain มาใช้กับ Bank Retail มีธุรกิจไหนอีกบ้างที่เราจะได้เห็นการนำ Blockchain ไปใช้

ภาพที่มองคือ Blockchain มันไม่ใช่ภาคธุรกิจใดภาคหนึ่ง Blockchain มันสามารถเอา Chain ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน ถ้าเราไปเริ่มคิดใหญ่ๆ กว่ามันจะเกิดก็ยาก เริ่มจากสร้างจุดเชื่อมต่อเล็กๆ แต่มันต้องมีทางออกไปเชื่อมต่อกับจุดอื่น ๆ ได้ คิดดูสิว่าถ้าคนมาเที่ยวประเทศเรา รัฐบาลให้วีซ่า มี Face Recognition ที่ตรวจให้เห็นเลยว่าคนนี้หนีข้ามชาติมาหรือป่าว หรือมีระบบที่เตือนว่าคนนี้อยู่นานเกินที่กำหนด พวกนี้ก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย พอเข้ามาจะเข้าพักที่ไหนก็มีข้อมูลที่ Track ได้ พอเขาไปที่พัก แทนที่จะต้องมานั่งค้นหาร้านอาหารดังว่าอยู่ที่ไหนก็ส่งข้อมูลให้ไปเลย นี่คือ User Experience ที่คนอาจมองว่าต้องเป็นใครทำ จริงๆ แล้วมันก็คืออีก Chain หนึ่งที่เกิดขึ้นได้

สิ่งที่เราเอาดิจิทัลมาช่วย เช่นเรื่อง Digital Smart City ถ้าวันนี้มันเป็นดิจิทัล ข้อมูลมันมีเยอะมาก Smart City มันไม่ใช่แค่เรื่องของการทำจราจร มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น คิดว่ามันเป็นตัวที่ผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ประเทศที่ขอวีซ่าไม่ยาก เข้ามาแล้วเที่ยวง่ายๆ มีการรักษาความปลอดภัยอยู่ข้างหลัง รู้ว่าเราชอบอะไร คิดว่าอะไรแบบนี้น่าทำ

อีกเรื่องอย่างประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม เราจะทำยังไงกับน้ำที่ท่วมทุกปี แล้วก็เรื่องของควงามแห้งแล้ง ทำยังไงที่เราจะเข้าข้อมูลมาช่วยในการคาดการณ์วิเคราะห์ว่าฝนตกเท่านี้ ปริมาณเท่านี้ มันจะทำให้เกิดน้ำท่วมในอีกกี่วัน มันจะช่วยป้องกันได้ไหม มันทำให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันมากกว่าที่จะเอาธุรกิจมาใช้กับการค้า มีอีกหลายอย่างที่ทำได้

Blockchain มันไม่ใช่ภาคธุรกิจใดภาคหนึ่ง Blockchain มันสามารถเอา Chain ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน ถ้าเราไปเริ่มคิดใหญ่ๆ กว่ามันจะเกิดก็ยาก เริ่มจากสร้างจุดเชื่อมต่อเล็กๆ แต่มันต้องมีทางออกไปเชื่อมต่อกับจุดอื่น ๆ ได้

ในอนาคตที่จะเป็นยุคดิจิทัลเต็มตัว เราควรจะมีสกิลอะไรบ้าง

สิ่งสำคัญคือข้อมูล วันนี้ความสำเร็จขององค์กรคือการที่จะเอาข้อมูลมาใช้ยังไง มันมีข้อมูลมหาศาลเลยแต่วิเคราะห์ไม่ได้ ข้อมูลมันมาทุกแบบ ทั้งภาพทั้งเสียง เราจะย่อยมันยังไง มันเป็นเทรนด์ที่วันนี้คนที่เอาข้อมูลมาทำให้เป็นประโยชน์ให้กับองค์กร หน้าที่ตรงนี้สำคัญมากเลย วันนี้คนที่เป็น CIO ไม่ใช่แค่ทำงานหลังบ้าน CIO ต้องมาทำงานหน้าบ้านและบอกว่าธุรกิจวันนี้ เราจะเอาเทคโนโลยีมา Lead ได้ยังไง วันนี้ทุกอย่างดิจิทัลหมด วันนี้สกิลที่ต้องการคือคนที่เข้าใจเทคโนโลยี และสามารถตีความการใช้ประโยชน์จากขุมทรัพย์ข้อมูลมหาศาลที่เรานั่งทับอยู่ได้

วันนี้สกิลที่ต้องการคือคนที่เข้าใจเทคโนโลยี และสามารถตีความการใช้ประโยชน์จากขุมทรัพย์ข้อมูลมหาศาลที่เรานั่งทับอยู่ได้

ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นผู้หญิงที่อยู่ในระดับผู้บริหารมากนัก คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค มีมีคำแนะนำอะไรที่จะฝากสำหรับผู้หญิงในวงการ

จริงๆ วันนี้มีผู้หญิงจำนวนมากที่อยู่แนวหน้าเยอะแยะเลย และเป็นต้นแบบที่พี่เองก็มอง เอาแค่ IBM ประเทศไทยพี่ก็ไม่ใช่ผู้หญิงคนแรก มีผู้หญิงหลายคนที่เป็นแนวหน้าที่นำพาองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า หรือจะเป็นบริษัทอื่นๆ ก็มีผู้หญิงไทยอีกหลายคนที่เก่ง วันนี้มองว่าตัวเองโชคดีกว่าคนอื่น คือพี่มีโอกาส เชื่อว่าถ้าเรามีโอกาส อย่าปล่อยให้โอกาสนั้นมันหลุดออกไป พี่เป็นคนใต้ โตที่ต่างจังหวัด ถึงแม้จะมีโอกาสดีกว่าคนอื่นที่ได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่บังเอิญได้มาเห็นและได้มาใช้ชีวิตที่เมืองนอก ได้เดินทางไปทั่วโลกแม้จะเป็นประเทศที่ไม่คิดว่าผู้หญิงจะไป เป็นการที่ให้โอกาสกับตัวเองให้ไปทดลอง และดูว่าตัวเองสามารถทำได้ไหม บางทีก็มีล้มลุกคลุกคลาน แต่ต้องกลับขึ้นมา ลุกขึ้นมา ข้อที่เป็นจุดแข็งของผู้หญิงไทยคือเราขยันมาก ผู้หญิงไทยทำงานหนักมากไม่แพ้ผู้ชาย

พี่ได้เขียนเรื่องความสำเร็จ ความล้มเหลว ความผิดพลาดในการทำธุรกิจ จะเขียนบันทึกตลอด ถ้าเข้า Linked in จะเห็นว่ามีบทความ อยากจะให้ลองเข้าไปดู พี่ให้ข้อคิดมุมมองกับคนรุ่นหลัง เพราะพี่คิดว่าสิ่งที่ได้มามันมีคุณค่ามากเลย เพราะมันคือการแลกมาด้วยกับการที่ต้องไปใช้ชีวิตตรงนั้น ไปเห็นประสบการณ์จริง

สิ่งที่คนไทยมีคือคำว่าเกรงใจ คำๆ นี้ข้อดีก็มี ข้อเสียก็มี เพราะด้วยความเกรงใจของเราทำให้เราไม่กล้าที่จะขัดคำสั่งผู้ใหญ่ ไม่กล้าที่จะเข้าไปและบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้ คือเวลาที่เราทำงานร่วมกัน จุดที่เป็นจุดแข็งที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้คือความแตกต่างนี่แหละ ความคิดที่ดีที่สุดมาจากการที่ทุกๆ คน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเป็นเพราะอะไร ไม่มีความเกรงใจ แต่จบตรงนี้คือจบเพราะเป็นแค่เรื่องงาน เถียงกันในห้องประชุมได้ ออกไปข้างนอกเราคือเพื่อนกัน เราสามารถทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้ในองค์กร ถึงได้มีการพบปะพนักงานทุกวันอังคาร, พฤหัส ตอนเช้าๆ เลี้ยงข้าวพนักงาน ได้เรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สิ่งที่พยายามทำคือการแชร์ความผิดพลาด เพื่อที่คนอื่นจะไม่ได้ผิดแบบเราอีก

ให้โอกาสกับตัวเองให้ไปทดลอง และดูว่าตัวเองสามารถทำได้ไหม บางทีก็มีล้มลุกคลุกคลาน แต่ต้องกลับขึ้นมา ลุกขึ้นมา ข้อที่เป็นจุดแข็งของผู้หญิงไทยคือเราขยันมาก ผู้หญิงไทยทำงานหนักมากไม่แพ้ผู้ชาย

การที่เป็นคนทำงานหนัก ทั้งยังต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ มีวิธีบริหาร Work-Life Balance ยังไง

เสาร์ อาทิตย์ คือวันของคุณพ่อคุณแม่ เหนื่อยแค่ไหนก็ตามก็ต้องพาไปกินกุ้งอยุธยา ขับรถพาไปบางแสนเพื่อพาไปกินอาหารทะเลแล้วก็ขับกลับ จะจัดตารางเวลาว่าอันไหนคือเวลาที่จะใช้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือบางอาทิตย์ที่ต้องใช้เวลาเดินทางเยอะๆ ก็พยายามกลับไปทานอาหารที่บ้านสักวันหนึ่งหรือสองวันต่ออาทิตย์ เวลาที่อยู่กับเขาคืออยู่กับเขาจริงๆ ใช้เวลากับเขาเยอะ เพราะเชื่ออย่างหนึ่งว่าเวลาที่เราใช้เวลาด้วยกันตอนที่ยังอยู่ด้วยกันจะทำให้เราไม่ต้องเสียใจตอนเขาไม่อยู่ ตั้งแต่จบมาสัญญากับคุณพ่อคุณแม่ว่าทุกปีจะพาเขาเที่ยวอย่างน้อยสองสามทริปต่อปี ตั้งแต่อายุยี่สิบจนทุกวันนี้ห้าสิบไม่เคยพลาดสัญญาเลยแม้แต่ปีเดียว นั่นคือการใช้เวลา บางครั้งไม่ต้องเยอะ แต่เป็นการใช้เวลาที่มีคุณภาพ นั่นคือสิ่งที่พยายามจะทำ

คิดว่าอะไรคือ Secret Sauce ของความสำเร็จ

เรียนรู้ตรงนี้มาจากคุณแม่ คุณแม่เป็น Working Woman บอกว่าเวลาที่บริหารจัดการงานตรงนี้เราจะพยายามที่จะแบกรับทุกอย่าง พยายามจะเป็นภรรยาที่ดี เป็นแม่ที่ดี เป็นพี่ที่ดี เป็นทุกอย่างที่ดีหมดเลย แต่เราจะมีการบริหารจัดการยังไงกับตัวเอง มองว่าภาระหน้าที่ของเรา เราไม่สามารถเป็นที่สุดของทุกอย่างได้ แต่เรา Prioritize มันยังไง อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ณ วันนี้ ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ที่เหลือเอาไว้ก่อน แต่ถ้าวันไหนมีเวลาเหลือก็จะมีเวลาของตัวเอง เราต้องบริหารจัดการ แต่ถ้าถามว่าเราต้องมีตัวช่วยไหม ก็ต้องมี การที่เรามีทีมที่แข็งแกร่ง มีผู้ช่วยที่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าการที่เราจะเป็นคนที่ดีที่สุดในทุกอย่างมันไม่มีหรอก เราต้องเลือกว่าวันนี้โฟกัสของเราคืออะไร

ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าการที่เราจะเป็นคนที่ดีที่สุดในทุกอย่างมันไม่มีหรอก เราต้องเลือกว่าวันนี้โฟกัสของเราคืออะไร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...