ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย | Techsauce

ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีคนย้ายถิ่นออก (emigration) น้อยกว่าการย้ายถิ่นเข้าประเทศ (immigration) ในปี 2562 มีคนไทยย้ายถิ่นออกไปทำงานมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่มีจำนวนเพียงประมาณ 113,801 คน แตกต่างจากจำนวนย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 3,005,376 คน ในปีดังกล่าวทำให้จำนวนย้ายถิ่นสุทธิของไทยติดลบจำนวน 2,891,575 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูงมากนัก (ตารางที่ 1)

รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 จากจำนวนไม่ถึงแสนคนในปีดังกล่าว ปัจจุบันนี้มีแรงงานกลุ่มนี้มากกว่า 3 ล้านคนทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัด (ภาพที่ 1)

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาการระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งพบผู้ป่วยเป็นรายแรก ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 ผ่านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นหลัก มาตรการต่างๆตั้งแต่ประกาศสั่งปิดกิจการและสถานที่เสี่ยงชั่วคราว ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วประเทศในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. และประกาศห้ามทุกสายการบินเดินทางมาประเทศไทย เป็นต้น 

จากมาตรการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภทและห้ามสายการบินเข้าประเทศส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการและการจ้างงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง หลายหน่วยงานประเมินว่าแรงงานไทยสุ่มเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่า 8 ล้านคนภายในปี 2563 นี้ แต่ยังไม่มีข้อมูลแสดงผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวจากการสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงได้ศึกษาเรื่องนี้

จากตารางที่ 2 จะพบว่าแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคนเมื่อปลายปี 2562 เปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 ลดลงไปมากกว่า 5 แสนคนหรือร้อยละ 18 โดยจำนวนที่หายไปเป็นแรงงานเข้ามาทำงานตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 รวมกันเพียงประมาณ 73,924 คน แต่ที่ลดลงมากคือแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติและประเภทนำเข้าตาม MoU รวมกันลดลง 447,536 คน ส่วนนี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่าพวกเขายังอยู่ในประเทศไทยเพื่อรอเจ้าหน้าที่ในประเทศของเขามาพิสูจน์สัญชาติให้หรือเดินทางกลับไปประเทศก่อน แต่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ (spreader)

ตารางที่ 3 เป็นการเปรียบเทียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชาช่วง 6 เดือนก่อนและหลังเกิดการระบาดของ Covid-19 (ช่วงกรกฎาคมถึงธันวาคม 2562 กับช่วงมกราคมถึง มิถุนายน 2563) ในช่วงภาวะปกติ 6 เดือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด จำนวนแรงงาน 3 สัญชาติเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังเกิดการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงมกราคมจนถึงมิถุนายน 2563 

จากการเปรียบเทียบจำนวนแรงงานต่างด้าวระหว่าง 6 เดือนก่อนและหลังเริ่มมีการแพร่ระบาด พบว่าค่าเฉลี่ยจำนวนแรงงาน 3 สัญชาติ 6 เดือนหลังเกิดการแพร่ระบาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกถึง 310,016 คน แต่ถ้าวัดความแตกต่างระหว่างเดือนที่เพิ่งเริ่มเกิดการระบาดของ Covid-19 กับเดือนที่ระบาดหนัก คือมกราคมกับ มิถุนายน 2563 จะพบว่าแรงงานต่างด้าวลดลง 453,872 คนหรือ ลดลงร้อยละ 16.7 ซึ่งไม่แตกต่างจากอัตราส่วนที่ลดลงของแรงงานต่างด้าวในตารางที่ 2 มากนัก

ที่น่ากังวลคือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียนของกระทรวงแรงงานจะยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ จากภาพที่ 1 พบว่าแรงงานต่างด้าวที่ลดลงนั้นมีอยู่ทุกจังหวัดในประเทศไทย ถ้าพิจารณาในมิติของกฎหมาย แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีนายจ้าง และถ้าจะกลับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากหลายจังหวัดอยู่ไกลจากชายแดนมาก และถ้าจะกลับจริงๆ ต้องผ่านมาตรการตรวจสอบและป้องกันการแพร่ระบาดตามแนวชายแดน ซึ่งประกอบด้วยการตรวจยืนยันว่าปลอดโรค Covid-19 และกักตัวอีก 14 วันเมื่อข้ามกลับมาใหม่

จากจำนวนแรงงานต่างด้าวลดลง 4-5 แสนคน คาดว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้ และยังมีประเด็นที่น่ากังวลอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

1. นายจ้างปิดกิจการหรือลดขนาดการจ้างงาน หลังจาก ศบค. เห็นชอบในการผ่อนปรนให้ทุกประเภทกิจการเปิดตัวได้ จะมีบางส่วนของแรงงานต่างด้าวได้ทำงานต่อในไทย แต่ถ้านายจ้างเดิมปิดกิจการหรือกลับมาจ้างงานจำนวนน้อยลง แรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะถูกเลิกจ้าง จะต้องมีมาตรการรองรับแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร

2. แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มยังคงอยู่ในประเทศเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมาใหม่สูงมาก

3. แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายมีแนวโน้มตัดสินใจกลับบ้านเพื่อกลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้อง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง

4. แรงงานที่ตกค้างจากมติ ครม. เมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 จะสามารถอยู่ในประเทศต่อไปอีก 2 ปี แต่จำเป็นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานที่ตกค้างอยู่มากกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน มีแนวโน้มไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งจากค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการย้ายมาอยู่รวมกันจำนวนมากจนกว่าจะได้กลับมาทำงานตามปกติ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อหรือแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสูงขึ้น อาจทำให้เกิดการระบาดระลอก 2 ได้

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 ได้ตกลงผ่อนผันแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย 4 กลุ่มให้ทำงานต่อไปในประเทศไทยได้คือ

1. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งครบวาระจ้างงาน 4 ปี

2.    ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ที่มีใบอนุญาตทำงาน และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดช่วง 30 ก.ย. 2562 ถึง 30 มิ.ย. 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อ 20 ส.ค. 2562

3. ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50 มาตรา 53 และมาตรา 55 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

4. คนต่างด้าวที่ใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับตามฤดูกาลตามมาตรา 64 แรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มจะได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปในประเทศไทยได้โดยจะไปสิ้นสุดที่เวลาเดียวกันคือวันที่ 31 มีนาคม 2565 

ขั้นตอนในการต่ออายุและการขออนุญาตทำงาน

แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 – 3 

  • จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
  • ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ และขอตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa) 
  • ทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 

แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 4 

  • ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 
  • ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ 

โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 เช่นเดียวกัน 

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามาเพิ่มเติมสำหรับแรงงานที่มีเอกสารบางส่วนและผู้ที่นายจ้างแจ้งความจำนงที่จะนำเข้ามาใหม่ โดยแรงงานต่างด้าวที่ ศบค. เห็นชอบต่ำกว่าความต้องการมาก

นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 1,266,351 คน (ปี 2562-2563, ข้อมูล ณ 15 มิ.ย. 2563) 

  • ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมา 1,002,309 คน กัมพูชา 213,461 คน ลาว 50,581 คน 
  • ได้จัดทำใบอนุญาตให้แล้ว 774,983 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 491,368 คน โดยสามารถดำเนินการได้ถึง 30 พ.ย. 2563

การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกประเทศไทย

  • ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เฟสต่อไปและอนุญาตให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานตามระบบ MoU
  • มาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องให้ตรวจหาเชื้อ Covid-19 และกักตัว 14 วันก่อนออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน ตามประเภทกลุ่มและประเภทกิจการ

มาตรการใช้สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

มาตรการใช้สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และ กัมพูชา) ที่ศบค. เห็นชอบ 22 กรกฎาคม 2563 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มี และไม่มีใบอนุญาตทำงาน

แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา จำนวน 69,235 คน 

1. การนำเข้าเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ผ่านกระบวนการ MoU เท่านั้น

2. ช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือ จ.สระแก้ว สัญชาติลาว คือ จ.หนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือ จ.ตาก และ จ.ระนอง 

3. แรงงานต่างด้าวต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ และมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Travel)

4. ตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตเข้าประเทศและตรวจลงตราวีซ่า

5. ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี (กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม) 

6. แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ทันที ณ ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ) 

7. นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวม 13,200-19,300 บาทต่อคน

8. อนุญาตให้ทำงาน 2 ปี (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565)

แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานที่นายจ้างยื่นขอนำเข้าใหม่ มีขั้นตอนดังนี้

1. ช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือ จ.สระแก้ว สัญชาติลาว คือ จ.หนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือ จ.ตาก และ จ.ระนอง 

2. ด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ Covid-19 และตรวจสุขภาพ 6 โรค

3. ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี (กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม) 

4. เข้ารับการกักตัว 14 วัน ในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ)

5. ขณะที่อยู่ในสถานที่กักกันฯ จะมีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎ ระเบียบ และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยแก่คนต่างด้าวก่อนเข้าทำงาน ตามขั้นตอนการนำเข้าฯ

6. เมื่อครบกำหนด 14 วัน จะได้รับการตรวจลงตราวีซ่าจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และได้รับใบอนุญาตทำงานจากศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้าง

7. นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน

8. อนุญาตให้ทำงาน 2 ปี

ข้อเสนอที่ให้รัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใช้ตัวแบบจาก Chinese Taipei หรือไต้หวันโมเดล ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเหมือนกับประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศนี้หลายหมื่นคน เมื่อแรงงานได้รับการตรวจ Covid-19 จากประเทศผู้ส่งออกแรงงาน เมื่อทุกคน Fit to Fly ก็จะเดินทางมายังไต้หวันเมื่อมาถึงทางการไต้หวันจะทำการกักตัวแรงงานนำเข้าทุกคนรวม 14 วัน โดยรัฐชดเชยให้ 2 ใน 3 จากค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุข 14 วัน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 1,500 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อวัน ค่าใช้จ่ายนี้ประกอบด้วยค่าที่พัก ค่าอาหาร 3 มื้อ และค่าดูแลสุขภาพ 14 วัน เป็นเงิน 21,000 เหรียญ เงินก้อนนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

2. หลังจากแรงงานต่างชาติกักตัว 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือถึงนายจ้างเพื่อให้ไปชำระเงิน โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้

3. หลังพ้นการกักตัว 14 วัน สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวันรวมเวลา 14 วัน รวมเป็นเงิน 14,000 เหรียญ ภาระค่าใช้จ่ายจริงของนายจ้างประมาณ 7,000 เหรียญ (นายจ้างรับภาระเหลือ 1 ใน 3 จากค่าใช้จ่ายรวม)

4. ในเรื่องสถานกักตัว 14 วัน (พักห้องละ 1 คน) มีเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง และค่าอุปกรณ์ค่าเชื้ออื่นๆ โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากลูกจ้างไม่ได้

ข้อเสนอการกักตัวสำหรับประเทศไทย

ควรปรับให้เหมาะสมตามความสะดวก โดยให้หาพื้นที่กักตัวของนายจ้างหรือ Organization Quarantine (OQ) โดยกำหนดข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

1. การกักตัวแยกจะทำที่ไหน ควรมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง และใครเป็นผู้ดูแลอนุญาต 

2. สามารถรองรับจำนวนคนที่พอเหมาะต่อเวลาและสถานที่ เช่น ภายในปีนี้ เข้ามาหลายแสนคน จะเตรียม OQ กันอย่างไร เช่น ต้องเพิ่มเติม Local Quarantine (LQ) ที่ไหนจำนวนเท่าไร

3. ปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวให้ต่ำลง จาก 1,500 ต่อคนต่อวันให้เหลือ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน

4. พิจารณาตามหลักการป้องกันเชิงสุขภาพควบคู่ด้วย เช่น สามารถให้กักตัวแบบ อยู่สองคน (เหมือนสามีภรรยา มี distancing) ถ้าทำได้ค่าใช้จ่ายต่อคนน่าจะไม่ถึง 1,000 บาท

สรุปประเด็นปัญหาที่ต้องจับตามอง

1. แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 3 ถือเป็นแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะมีสถานะผิดกฎหมาย/หรือไม่มีนายจ้างไประยะหนึ่งในช่วงที่ Covid-19 ระบาดอย่างหนักและทางรัฐบาลใช้นโยบายปิดกิจการสถานบริการในภาคบริการโดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการ

1.1. ธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก (ทำงานห้าง) ซึ่งได้รับผลกระทบจากลูกค้านักท่องเที่ยวที่ลดลง/และลูกค้าคนไทยลดลง) และสินค้าอาหารและบริการเสริมสวย ตัดผม บริการนวด และความงามต่างๆ ต้องปิดตัว และเพิ่งมาเริ่มเปิดตัวเมื่อการผ่อนผันระยะที่ 3 ซึ่งแรงงานต่างด้าวในภาคบริการถูกกระทบทันทีจำนวนกว่า 16,000 คน (จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ลดลงระหว่างมีนาคมและพฤษภาคม 2563 รายภาคธุรกิจ จากสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร โดยกรมการจัดหางาน)

1.2. อีกกลุ่มหนึ่งเป็นลูกจ้างต่างด้าวที่ทำงานในกิจการต่อเนื่องประมงทะเลกว่า 12,000 คน และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำกว่า 10,000 คน

1.3. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดคือ กลุ่มโรงแรมภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่าร้อยละ 80 กระทบกิจการร้านค้า ร้านอาหารและภัตตาคาร และสถานเสริมสวยความงาม นวด สปา wellness และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการที่อยู่ในย่านนักท่องเที่ยว สถานบันเทิง สถานอาบอบนวด ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการได้ในการผ่อนผันของ สบค. ในระยะที่ 5 

2. ถ้าจะนับเวลาจากเดือนมีนาคม-กรกฎาคม เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 ช่วง ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ช่วงนี้ยังอยู่ในระยะเยียวยา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ระยะเวลาดังกล่าวนี้แรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากรัฐบาล 

3. แรงงานเหล่านี้ต้องพึ่งเงินออมของตัวเองและได้รับคำยืนยันจากนายจ้างว่าให้รองานเมื่อ ศบค. ผ่อนผันให้เปิดกิจการ โดยกลุ่มที่เปราะบางที่สุดเป็นกลุ่มที่ 2 และ 3 ที่ส่วนมากเป็นลูกจ้างรายวัน ไม่มีสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการจึงต้องอยู่ด้วยตัวเองอย่างประหยัด 

ประเมินรายการค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างด้าวได้ดังนี้

ดังนั้น แรงงานต่างด้าวจะต้องมีเงินอย่างน้อย 15,000-21,000 บาท เพื่อให้อยู่ได้พอสมควรในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่านายหน้า เงินที่จะส่งกลับบ้าน เป็นต้น

4. ช่วงเวลาเดือนมิถุนายนถึง สิงหาคม เป็นช่วงสุดท้ายของเงินเยียวยา สำหรับแรงงานไทยและสถานประกอบการไทยเริ่มเปิดตัวได้ทุกประเภทจากการผ่อนผันของ ศบค. อยู่ในระยะที่ 5 ถึง 6 แต่ยังมีเงื่อนไขของ social distancing และการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอยู่ ทำให้สถานประกอบการเปิดให้บริการได้ไม่เต็มที่ อาจจะเปิดได้ร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 70 แต่สำหรับแรงงานต่างด้าวยังต้องเผชิญกับปัญหาส่วนหนึ่งกลายสภาพเป็นแรงงานไร้นายจ้าง เนื่องจากสถานประกอบการยังไม่เปิด  เปิดได้บางส่วน หรือปิดกิจการ 

5. แรงงานเหล่านี้ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงระยะเวลาผ่อนผันการจดทะเบียนยังไม่สิ้นสุด (สิ้นสุดราวมกราคม 2564) ถึงจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ แต่ถ้าไม่มีนายจ้างก็จะกลายเป็นคน “ไร้ราก” สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และถ้าหานายจ้างใหม่ยังไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายยังไม่ผ่อนผันให้เปลี่ยนนายจ้าง (จะเปลี่ยนได้ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤติ คือถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และ/หรือนายจ้างใหม่ยินยอมรับ แต่ต้องใช้หนี้ให้นายจ้างเก่าให้หมดก่อน เป็นต้น) 

6. แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ตกอยู่ในกลุ่มที่ 2-3 และหากไม่มีเงินออม อาจจะต้องลดค่าใช้จ่าย ย้ายมาอยู่ด้วยกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้ว่าทางกระทรวงแรงงาน โดย สบค. จะเปิดโอกาสให้จดทะเบียนใหม่ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาข้างต้นอยู่ดี

ข้อเสนอแนะ

1. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างเพื่อให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถหานายจ้างได้ใหม่อย่างถูกกฎหมาย นอกจากความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาดที่ต่ำกว่าแรงงานที่นำเข้ามาใหม่ โดยหลักการแล้วแรงงานกลุ่มนี้ยังเป็นแรงงานที่นายจ้างรับภาระต้นทุนต่ำกว่าแรงงานที่นำเข้ามาใหม่เพราะ (1) ไม่ต้องเสียค่านายหน้าคนละ 25,000-30,000 บาท (2) ไม่ต้องเสียค่ากักตัว 13,200-19,300 บาท/คน เพียงแต่จะต้องเสียค่าซื้อตัวคือ ชำระหนี้กับนายจ้างเดิม หรืออาจจะไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ถ้านายจ้างเดิมไม่ต้องการพวกเขาเนื่องจากกิจการปิดตัวไปแล้ว ค่าใช้จ่ายจะเหลือแต่ค่าจดทะเบียน ค่าตรวจสุขภาพ และค่าต่ออายุเอกสารสำคัญในการอยู่ในประเทศไทยจนถึงมีนาคม 2565 (เสียค่าใช้จ่ายนี้ปีละครั้ง)

โดยการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสามารถทำได้โดยมีขั้นตอนดังนี้

1) สำนักบริหารแรงงงานต่างด้าว ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายตามทะเบียนของกรมการจัดหางานเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายแจ้งความจำนงที่จะหานายจ้างใหม่

2) อนุญาตให้แรงงานกลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง และกลุ่มที่ชำระหนี้ครบถ้วนแล้วสามารถแจ้งลงทะเบียนกับนายจ้างใหม่ได้ทันที

3) สำหรับกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราวโดยมีกำหนดชัดเจน ให้แจ้งลงทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงนายจ้างชั่วคราว

4) สำหรับกลุ่มที่ถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด หรือที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ให้ดำเนินการแจ้งความจำนงที่จะหานายจ้างใหม่เพื่อติดตามสถานะหนี้ระหว่างนายจ้างเดิม และแจ้งลงทะเบียนกับนายจ้างใหม่ได้ทันที

*หมายเหตุ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอาจกำหนดเวลาเพียงชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

2. สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับห้องพัก และกำหนดจำนวนผู้อยู่อาศัยให้เหมาะสมโดยเฉพาะห้องพักราคาถูก และเพื่อลดความแออัดของผู้อยู่อาศัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด สามารถดำเนินการตรวจสอบตามรายชื่อใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

3. ฝ่ายความมั่นคงต้องเพิ่มความเข้มงวดในพื้นที่ชายแดน สกัดการลักลอบเข้าประเทศจากปัจจุบันจนถึงครบกำหนดการต่ออายุใบอนุญาตทำงานต้นปี 2564 เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในประเทศไทย จากการที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบต่อไปอยู่ในขณะนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทุกคนที่ประสงค์จะอยู่ในประทศไทยได้ลงทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่ยังมีประเด็นของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่รับรู้ว่าประเทศไทยกำลังต่ออายุแรงงานต่างด้าวไปอีกเกือบ 2 ปีจึงเป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทั้งที่เคยมาทำงานในประเทศไทยมาก่อนและรู้จักช่องทางเข้ามาในประเทศไทย (อาจจะรู้จักนายจ้างหรือนายหน้าเก่า) แอบลักลอบเข้าไทยตามช่องทางด่านธรรมชาติโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจโรค Covid-19 ตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นที่มาของการแพร่เชื้อ Covid-19 รอบสองในไทยได้ 

4. ลดต้นทุนมาตรการกักตัว และเพิ่มจำนวนการรองรับการกักตัวสำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ ตามข้อเสนอการกักตัวสำหรับประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเข้าแรงงานให้ได้มาก ป้องกันและลดแรงจูงใจในการลักลอบเข้าประเทศ ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดจากกลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศ 

บทความโดย: ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์, คุณสิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...