InsurTech & Technology: ตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจประกันภัย | Techsauce

InsurTech & Technology: ตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจประกันภัย

บทความนี้เขียนโดย สุเมธ ออศิริวิกรณ์, ทนายความหุ้นส่วน บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด และจเร สิทธิวงศ์, ทนายความ บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด

เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจประกันภัย

โดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจประกันคือการรับประกันรับความเสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต ทรัพย์สิน ร่างกาย สุขภาพ ความรับผิด ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันก็สามารถเอาประกันได้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงหลักการเบื้องหลังของการรับประกันภัยจะพบว่ากว่าที่บริษัทประกันภัยจะออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาได้นั้น ย่อมต้องมีข้อมูลมาเพื่อวิเคราะห์ถึงสถิติความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ประกอบด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่พึ่งพาข้อมูลค่อนข้างมาก ซึ่งในอดีตนั้นการเข้าถึงข้อมูลยังค่อนข้างจำกัด การจะได้ข้อมูลมาอาจต้องไปดำเนินการสำรวจหรือสัมภาษณ์ และเก็บรวบรวมสถิติที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้น บริษัทประกันที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานย่อมมีความได้เปรียบในด้านของข้อมูลที่มีอยู่ในมือ

อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเราอยู่ในโลกของข้อมูล ซึ่งข้อมูลนั้นมาจากช่องทางที่หลากหลายและมีการเชื่อมโยงถึงกันหมด นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลที่อัปเดตแบบปัจจุบัน (Real Time) ด้วย เช่น การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เราใช้มีการเก็บข้อมูลของเราอยู่ตลอดเวลาโดยเป็นผลพวงมาจากสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น Internet of Things ส่งผลให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันหมดแบบ Real Time มากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ Artificial Intelligence (AI)  ก็มีการพัฒนามาจาก Machine Learning จนกลายเป็น Deep Machine Learning ซึ่งมีเป้าหมายในการเรียนรู้วิธีการคิดของมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงส่งผลให้ Big Data Analytics ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในกระบวนการ Product Design ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น เบี้ยประกันภัยจะมีราคาที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากมีการปรับให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวบุคคล (Personalize)

การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนออนไลน์

ในปัจจุบัน ผู้เอาประกันสามารถดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแบบออนไลน์ได้แล้ว  และเทคโนโลยียังช่วยให้ขั้นตอนในการดำเนินการสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีการเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น กล้องติดตามที่ติดอยู่ในรถหรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็จะเกื้อหนุนให้กระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็ว

Technology ช่วยเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการประกันภัย

หนึ่งในสิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงก็คือบทบาทของเทคโนโลยีในการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนทั่วไปในเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัย ในอดีต ผู้คนทั่วไปอาจมองว่าการประกันภัยเป็นสิ่งที่ไกลตัว ซับซ้อน และเข้าใจยาก การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีได้ช่วยเชื่อมโยงบริษัทประกันภัยกับลูกค้าและทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงวัตถุประสงค์หลักของการประกันภัยว่ามิใช่เพียงแค่เพื่อการลดหย่อนภาษี หรือทิ้งเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้คนข้างหลังเมื่อเสียชีวิตไป หากแต่การประกันภัยสามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง การลงทุน และยังสามารถตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันได้ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจหลักการของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมองการประกันภัยในแง่มุมใหม่ เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Telematics ได้เข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกด้านการคำนวณความเสี่ยงในการเดินทางของผู้เอาประกันภัย นำไปสู่การคำนวณเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับการเดินทางดังกล่าว นอกจากนี้ เทคโนโลยีอาจช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้รถและถนนของผู้บริโภคเพื่อกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางและประมวลความเสี่ยงหรือสถิติที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคในการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ กล่าวคือ มีการใช้ข้อมูลที่มีความสำคัญเพื่อกำหนดผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละราย ตัวอย่างเช่น อาชีพที่ทำอยู่ รายได้ แผนการมีครอบครัว จำนวนบุตรที่อยากมี ความสนใจในการใช้ชีวิต เป็นต้น โดยบริษัทประกันภัยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำ Data Analytic และออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยโดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภครายนั้น ๆ ได้

เมื่อผู้บริโภคเข้าใจการประกันภัยมากขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่อาจมองว่าการประกันภัยคือการเสียเงินก้อนใหญ่ให้กับบริษัทประกันภัย มามีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าการประกันภัยเป็นกลไกในการช่วยเหลือตนเองในยามที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจประกันภัย

InsurTech Trends ที่น่าสนใจ

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย ตัวแทน หรือนายหน้า ที่อยู่ในห่วงโซ่การประกันภัย (Value Chain) เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการลงทุนในระบบที่เรียกว่า Hyper Automation ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่าง Machine Learning, AI และ Robotic Process Automation กล่าวคือ เริ่มมีความพยายามที่จะใส่ระบบการดำเนินการแบบอัตโนมัติลงไปในระบบการทำงานในองค์กรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยวัตถุประสงค์หลักคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และขจัดขั้นตอนที่ยุ่งยากและซ้ำซ้อน ซึ่งในการดำเนินการของธุรกิจประกันภัยนั้นมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการพิสูจน์ (Verification Process) ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น 

ทั้งนี้ ระบบ Hyper Automation จะสามารถช่วยขจัดขั้นตอนการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น การประกันภัยการเดินทาง หากเกิดกรณีไฟล์ทดีเลย์หรือว่ากระเป๋าหาย ในอดีตนั้นเราจะต้องดำเนินการด้วยการส่งข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบ ซึ่งในปัจจุบัน เราสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Smart Contract ซึ่งบริษัทประกันสามารถรับทราบ ตรวจสอบข้อมูล และโอนเงินค่าเสียหายเข้าบัญชีของเราได้เลยทันทีโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน

มิติใหม่ของการประกันภัยที่มองในมุมของผู้บริโภคมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า InsurTech หรือ Digital Insurance คือการนำเสนอการประกันภัยในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งอาจเริ่มจากการที่ผู้บริโภคไม่ต้องการที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเกินกว่าความจำเป็นหรือความเสี่ยงภัยที่มี โดยในปัจจุบันมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยค่อนข้างหลากหลายที่คำนึงถึงประเด็นนี้ เช่น ประกันภัยรถยนต์แบบเปิดปิด หรือประกันการโจรกรรมบ้านและทรัพย์สินเฉพาะในตอนที่เจ้าของเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันภัยในลักษณะนี้จะคำนวณเบี้ยประกันภัยเฉพาะเมื่อมีการเปิดใช้ระบบประกันภัยเท่านั้น และผลิตภัณฑ์ประกันภัยอาจครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงแต่มิได้ถูกนำออกใช้ตลอดเวลา และการที่ผู้บริโภคสามารถเปิดใช้ระบบประกันภัยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นจริง ๆ ย่อมทำให้เบี้ยประกันภัยสะท้อนถึงความเสี่ยงและการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง

แนวโน้มการพัฒนาของ InsurTech ในประเทศไทย

ทิศทางการพัฒนา InsurTech ในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มเป็นไปค่อนข้างดี โดยจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับบริษัทประกันภัยและนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จะพบได้ว่านักลงทุนมีมุมมองว่าตลาดประกันภัยของประเทศไทยและทวีปเอเชียยังสามารถเติบโตได้อีก ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราส่วนการเอาประกันภัยต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ ประกอบกับเทรนด์ในบริษัทประกันภัยและ InsurTech ในต่างประเทศที่เริ่มมีรูปแบบการควบรวมกิจการผ่าน SPAC (special purpose acquisition company) ที่ช่วยให้เข้าถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดประกันภัย สำหรับประเทศไทยก็มีการให้การสนับสนุน SME ในการทำ LiVE Exchange ที่เป็นกฎเกณฑ์ล่าสุดที่หน่วยงานกำกับดูแลออกมาเพื่อช่วยเหลือ SME และ Startup ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีเช่นกัน

นอกจากนี้ อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ อาจมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดประกันภัยซึ่งดำเนินธุรกิจที่มีข้อมูลส่วนบุคคลในมือค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบในการประกอบธุรกิจ เช่น Digital Platform หรือ E-Commerce โดยผู้ประกอบการเหล่านี้จะทราบถึงพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และหากผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถประกอบธุรกิจประกันภัยได้ ย่อมสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและออกแบบวิธีการเสนอขายที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ก็มีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่จะกำหนดว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาในลักษณะของบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้า หรือตัวแทนประกันภัย

แง่มุมทางกฎหมายสำหรับคนที่อยากเข้ามาในวงการ InsurTech

ประการแรกซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ต้องมีความชัดเจนในขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่ต้องการจะทำ เช่น ต้องการจะเป็นคนออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือไม่ ซึ่งหากต้องการ ผู้ประกอบการก็อาจจะต้องดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบริษัทประกันภัย ซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลได้ ก็อาจจะต้องพิจารณาทางเลือกที่จะต้องร่วมมือกับบริษัทประกันภัยแทน หรืออาจจะพิจารณาทางเลือกในการดำเนินธุรกิจในลักษณะของผู้ให้บริการทั่วไปที่ไม่ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย หากแต่อำนวยความสะดวกในวงจรการทำประกันภัย เช่น เป็นตัวกลางในการรับเงินจ่ายเงินออนไลน์ หรือเป็นผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องของการลงทุน

ทั้งนี้ ในแต่ละขอบเขตการดำเนินธุรกิจก็อาจจะมีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นที่มาว่าทำไมความแม่นยำชัดเจนในขอบเขตการดำเนินธุรกิจจึงถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจ InsurTech โดยในหลาย ๆ ครั้งจะพบว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่อาจจะอยากดำเนินธุรกิจไปก่อนแล้วค่อยมาคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายทีหลัง ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มประกอบธุรกิจ InsurTech

Insurance & Metaverse

Metaverse ในมุมของประกันก็มีประเด็นที่พึงพิจารณาเช่นเดียวกัน เนื่องจาก Metaverse นั้นโดยหลักการเป็นโลกเสมือนจริง ดังนั้น การที่เราเข้าไปอยู่ใน Metaverse ก็จะเข้าไปอยู่ในรูปแบบของ Avatar ที่เป็นคนเสมือนจริง ซึ่งโดยหลักการแล้วการจะเอาประกันภัยก็ต้องมีส่วนได้เสียในสิ่งที่เอาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือชีวิต ดังนั้น คำถามพื้นฐานที่สำคัญก็คือเราเองมีส่วนได้เสียในสิ่งที่ต้องการจะเอาประกันภัยนั้น ๆ หรือไม่ในโลกของ Metaverse ซึ่งบุคคลทั่วไปย่อมคิดว่าจะต้องมีส่วนได้เสียเพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้น เนื่องจากมีการใช้เงินดิจิทัลซื้อทรัพย์สินมา

อีกประเด็นที่พึงพิจารณาและขบคิดก็คือขอบเขตในการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแล กล่าวคือ หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย เช่น สำนักงาน คปภ. นั้นจะมีอำนาจในการเข้าไปกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยในโลกเสมือนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น โดยหลักการแล้วการประกอบธุรกิจประกันภัยนั้น บริษัทประกันจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย ดังนั้น การขายประกันให้กับคนไทยใน Metaverse ก็ควรต้องได้รับใบอนุญาตด้วย คำถามต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นคือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า Avatar นั้น ๆ เป็นคนไทย หรือกรณีการเปิดสาขาหรือลงทุนประกอบธุรกิจอื่นซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. จะเห็นได้ว่าคำถามเหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังต้องถกเถียงและตกผลึกกันต่อไป

Insurance & Cryptocurrency

อีกคำถามที่สำคัญและได้ยินค่อนข้างบ่อยก็คือ เราสามารถใช้ Cryptocurrency ในการซื้อประกันได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบของประเด็นนี้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลนั่นก็คือ สำนักงาน คปภ. ซึ่งในปัจจุบัน ทางสำนักงาน คปภ. ก็ยังมิได้มีการอนุญาตให้บริษัทประกันรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยในรูปแบบของ Cryptocurrency อย่างไรก็ดี อาจต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตประกอบด้วย เช่น หากทางธนาคารแห่งประเทศไทยออก Digital currency ที่ควบคุมและกำกับโดยภาครัฐเอง ก็อาจทำให้การรับชำระเบี้ยประกันภัยโดย Digital currency นั้นมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมีเทรนด์ในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มุ่งคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่เกิดจากการซื้อ Cryptocurrency ด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทประกันภัยในประเทศไทยอาจพิจารณาแต่เนิ่น ๆ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ด้วย เนื่องจากโดยหลักการแล้วนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยจะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ก่อนเช่นกัน

อีกเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจคือการทำ Asset tokenization ซึ่งปัจจุบันเราเห็นว่าในบางอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนจากนักลงทุนด้วยการออกเหรียญหรือ token โดยเป็นการนำเอาทรัพย์สิน (Asset) มาเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งเมื่อพิจารณาในมุมของบริษัทประกันภัยเองจะพบว่าบริษัทเหล่านี้มีอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก และอาจตั้งอยู่ในที่ดินที่ดีและมีราคาสูง ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่จะนำมาหนุนหลังการออก Token ได้ในอนาคต ทั้งนี้ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายในการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. ด้วยว่าจะมีการสนับสนุนการดำเนินการในลักษณะนี้หรือไม่ในอนาคต ซึ่งในมุมของการหาแหล่งเงินทุนนั้น ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุน จากเดิมที่ต้องระดมทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเพียงอย่างเดียว ซึ่งย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ปลายทางทำให้บริษัทประกันมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น

หน่วยงานกำกับดูและการสนับสนุน InsurTech

ปัจจุบันสำนักงาน คปภ.มีการสนับสนุนในเรื่องของ InsurTech และ Digital Insurance อย่างต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2568) ก็ได้มีการวางกรอบแนวทางที่เป็นการสนับสนุน InsurTech และ Digital Insurance ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในอนาคตอันใกล้ ตลาดประกันภัยอาจได้เห็นกฎเกณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนโอกาสในการประกอบธุรกิจในแนวทางที่ใหม่และทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตลาด InsurTech ของประเทศไทยนั้นมี Ecosystem ที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้สนับสนุน InsurTech โดยออกหลักเกณฑ์ Insurance Sandbox ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยหรือ Startup สามารถส่งโครงการเพื่อทำการทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีได้ โดย Insurance Sandbox นั้นมีตั้งแต่ พ.ศ. 2560 และได้ถูกปรับปรุงมาเป็นระยะ ๆ ให้เหมาะสมต่อสภาพการดำเนินธุรกิจในตลาดประกันภัยและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ

การลงทุนของบริษัทประกันใน InsurTech และ Customers Journey

ในมุมของการลงทุนของบริษัทประกันภัยนั้น อย่างที่ทราบกันว่าโดยหลักแล้วจะถูกกำกับดูแลด้วยกฎการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เนื่องจากสำนักงาน คปภ. มีความจำเป็นที่จะกำกับดูแลการลงทุนของบริษัทประกันภัยให้มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากจนเกินไป ซึ่งนิมิตหมายที่ดีในมุมของการสนับสนุน InsurTech ก็คือการที่สำนักงาน คปภ. ได้ผ่อนปรนให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในบริษัท InsurTech ได้ตั้งแต่ร้อยละ 20 ของบริษัทนั้น ๆ จากเดิมที่ไม่สามารถลงทุนได้เกินกว่าร้อยละ 10

ซึ่งการลงทุนของบริษัทประกันใน InsurTech ย่อมนำมาซึ่งข้อดีหลายประการ เช่น ทำให้บริษัทประกันสามารถพัฒนา Customer Journey ให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยการพิจารณาปรับปรุงช่องทางการติดต่อ เสนอขาย และให้บริการแก่ลูกค้า นอกจากนี้ อาจรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีราคาที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเสริมสร้าง Customer Journey ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นนั้นย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทประกันภัยกับลูกค้า เช่น กรณีที่บริษัทประกันภัยมีการอธิบายรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยในแบบที่เข้าใจง่ายหรือมีภาพ Infographic ประกอบ ตลอดจนอาจมี Chat Bot หรือ Chat Box เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ลูกค้ามีคำถาม สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทประกันภัยในมุมมองของผู้บริโภค

InsurTech ยังสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนบริษัทประกันภัยทั้งในมุมของ Front End กล่าวคือ การขาย เช่น สามารถช่วยลูกค้าในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด ตลอดจนยังสามารถช่วยสนับสนุนบริษัทประกันภัยในมุมของ Back End เช่น การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนออนไลน์ การประเมินความเสี่ยง เป็นต้น

InsurTech และการฉ้อฉลด้านการประกันภัย

ในมุมของการฉ้อฉลด้านการประกันภัย InsurTech ก็สามารถเข้ามาช่วยขจัดปัญหาได้เช่นกัน อย่างที่ทราบกันว่าในปัจจุบันยังไม่มีการแชร์ข้อมูลระหว่างบริษัทประกันอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้เกิดความยากลำบากในการจัดการกับการฉ้อฉลที่อาจเกิดจากลูกค้าหรือคนกลางในการประกันภัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นกรณีการทำประกัน COVID-19 ที่ผ่านมากับหลาย ๆ บริษัท ซึ่งทำให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้สืบเนื่องจากการขาดระบบกลางที่ช่วยในการแชร์ข้อมูล ทั้งนี้ ทางสำนักงาน คปภ. ได้เริ่มมีแนวทางในการสนับสนุนโดยการจัดตั้ง Insurance Bureau System และให้บริษัทประกันภัยรายงานข้อมูลเบื้องต้นของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งยังสามารถอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์สามารถกรอกข้อมูลของตัวเองเพื่อทราบความคุ้มครองปัจจุบันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ตัวเองถืออยู่ด้วย

ข้อคิดสำหรับบริษัทประกันภัย

จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปอีกด้วยผลของเทคโนโลยีและปัจจัยประกอบภายนอกต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทประกันภัยจะต้องให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในส่วนต่าง ๆ ของห่วงโซ่ประกันภัย (Insurance Value Chain) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวย่อมควรต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น ข้อกำหนดในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล และ Cybersecurity 

โดยทั่วไปแล้วคำว่า Disruption นั้นอาจมีความหมายในแง่ลบ อย่างไรก็ดี คำว่า Disruption อันสืบเนื่องจากการเข้ามาของ InsurTech หรือ Digital Technology นั้นสามารถมองในแง่บวกได้เช่นกัน กล่าวคือ เป็น Disruption ที่หากบริษัทประกันให้ความสำคัญและใช้เป็นสิ่งเตือนใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการให้บริการแก่ลูกค้า ก็ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัทประกันภัยเอง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อลูกค้าเข้าใจการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ก็จะเกิดความไว้วางใจและทำให้บริษัทประกันภัยสามารถกลับมาเชื่อมต่อกับลูกค้าได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียน

สุเมธ ออศิริวิกรณ์, ทนายความหุ้นส่วน บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด 

จเร สิทธิวงศ์, ทนายความ บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...