The Post-COVID World: เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหนเมื่อโลกไม่เหมือนเดิม บทวิเคราะห์โดย KKP Research | Techsauce

The Post-COVID World: เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหนเมื่อโลกไม่เหมือนเดิม บทวิเคราะห์โดย KKP Research

Highlight

  • KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยหลังวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งในอดีต การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับไปโตได้ในระดับเดิม สาเหตุเป็นเพราะวิกฤตแต่ละครั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอดีตไม่ทำงานได้เหมือนเก่า

  • หลังวิกฤตโควิด เศรษฐกิจและการค้าโลกจะไม่กลับไปเป็นแบบเก่า ทั้งจากความแพร่หลายของธุรกิจแบบ platform การใช้ automation แทนแรงงานคน รูปแบบของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไป การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศต้นทาง และการใช้นโยบายการเงินแบบรูปแบบใหม่ของธนาคารกลางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

  • เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกและต้องปรับตัวให้ทันใน 3 เรื่องหลัก (1) การปฏิรูปพัฒนากฎระเบียบ ส่งเสริมการแข่งขัน และพัฒนาแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ๆ (2) การกำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พึ่งพาการเติบโตจากภายใน (3) การทบทวนบทบาทนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศ

The Post-COVID World

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยว่า ในปี 2021 นักเศรษฐศาสตร์เริ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจาก GDP ของปี 2020 ที่หดตัวลงไปรุนแรง แต่ตัวเลขที่กลับมาเป็นบวกนี้อาจบดบังความเสี่ยงอีกหลายประการที่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น การระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้เป็นอย่างดี KKP Research ปรับการคาดการณ์สำหรับ GDP ปี 2021 จาก 3.5% เหลือ 2.0% เพื่อสะท้อนการระบาดระลอกใหม่ของประเทศ (ดู KKP Research เศรษฐกิจปีฉลูกับการต่อสู้โควิดระลอกใหม่) 

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ตัวเลขคาดการณ์ GDP ปีต่อปีนี้ อาจไม่ได้สะท้อนความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในโลกหลังโควิด-19  โดยมองว่าการประเมินภาพเศรษฐกิจเฉพาะปี 2021 ปีเดียวไม่ได้ฉายให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยระยะยาวที่ชัดเจน การระบาดของ โควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานขึ้นเช่นนี้จะยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มเคยชินกับรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ ๆ และอาจส่งผลอย่างถาวรต่อเศรษฐกิจ KKP Research ฉบับนี้จึงชวนผู้อ่านมองไปไกลกว่าการฟื้นตัวระยะสั้นของเศรษฐกิจ และวิเคราะห์เทรนด์สำคัญของเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้กลับไปอยู่ในจุดก่อนการระบาดของ โควิด-19 ได้อีกต่อไป 

เมื่อโควิด-19 จบเศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตได้เท่าเดิมหรือไม่ ?

ตั้งแต่ที่มีการระบาดของ โควิด-19 ตลาดหุ้นไทยหดตัวรุนแรงและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ข่าวดีของวัคซีนในช่วงปลายปีที่แล้วทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง แต่ก็กลับมาถูกกระทบจากการระบาดระลอกสองอีกรอบ คำถามที่นักลงทุนคงอยากรู้ คือ หากมองข้ามช็อตไปถึงวันที่การระบาดของโควิด-19 ยุติลง หรือกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว  SET index จะกลับมายืนอยู่เหนือระดับ 1700 เหมือนในช่วงก่อนได้หรือไม่ และเมื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งหรือไม่

เมื่อย้อนดูข้อมูลในอดีต ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่แต่ละครั้ง เศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับมาโตได้เท่าเดิมอีกเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นผลมากจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างถาวรหลังวิกฤตแต่ละครั้ง ในช่วงทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจเติบโตได้จากการขยายตัวของสินเชื่อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้การลงทุนสามารถเติบโตได้ดี แรงส่งนี้หายไปหลังวิกฤตการเงินจากฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 1997 ถัดมาในช่วงทศวรรษ 2000 เศรษฐกิจไทยเติบโตจากการส่งออกหลังการประกาศลอยตัวค่าเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่หลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 (Subprime crisis) การส่งออกเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ในช่วงหลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยหันมาพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2012 ที่นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเริ่มเข้ามาในไทย แต่ในปี 2020 วิกฤติโควิด-19 กำลังทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศแทบเป็นอัมพาต 

คำถามคือ เมื่อวิกฤติครั้งนี้จบลง เศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตได้แบบเดิมได้จริงหรือ ? 

เช่นเดียวกันกับข้อมูลในตลาดหุ้นไทย Return on Equity (ROE) ของบริษัทใน SET ตกต่ำลงตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตปี 2008 จากที่เคยโตได้ 17.4% ในปี 2003-2007 เหลือเพียง 12.1% ในปี 2008 -2013 และ 9.5% ในปี 2014-2019 สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้และทำกำไรของบริษัทไทยเริ่มมีโอกาสน้อยลงเรื่อย ๆ  เมื่อเปรียบเทียบในวันนี้ ดัชนีหุ้นต่างประเทศเติบโตไปไกลกว่าก่อนวิกฤตแล้ว แต่ตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถกลับไปที่จุดเดิม (รูปที่ 2) สองความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ไป คือ กรณีที่ 1 ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น แต่จะสามารถฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปยืนจุดเดิมได้เมื่อการระบาดของ โควิด-19 จบลงและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ หรือ กรณีที่ 2 ตลาดหุ้นไทยอาจกลับไปในระดับเดิมได้เพียงชั่วคราวและจะใช้เวลายาวนานมากกว่าจะสามารถกลับไปในระดับก่อนโควิดได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างถาวรหลัง โควิด-19

KKP Research ประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่ไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบที่สอง นั่นคือ หลังจากนี้ทั้งตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทยอาจไม่กลับไปโตเหมือนก่อนโควิด-19 อย่างถาวรได้อีก หากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ในโลกหลังโควิด-19 

เศรษฐกิจโลกจะไม่ย้อนกลับไปเหมือนก่อนโควิด

โลกจะไม่กลับไปอยู่ในจุดก่อนการระบาดของโควิดอีก เพราะ โควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่ง (accelerator) ของเทรนด์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่เริ่มมีพัฒนาการมาแล้วให้เกิดขึ้นเร็วและกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม อย่างน้อยใน 3 เรื่อง ได้แก่ 

1) การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ การระบาดของ โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิต การล็อคดาวน์และการรักษาระยะห่างในช่วงการระบาดของ โควิด-19 เป็นแรงผลักให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ online platform ในการทำงานและการดำเนินชีวิต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การประชุมและการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แอปพลิเคชั่น และการเติบโตของ e-Commerce  ในฝั่งของผู้ประกอบการ ข้อมูลสำรวจของ World Economic Forum แสดงให้เห็นว่า โควิด-19 เร่งให้ธุรกิจเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำ digital transformation ขององค์กรและระบบ automation เช่น การใช้เครื่องจักรแบบอัตโนมัติแทนที่คน 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการระบาดของ โควิด-19 เงินทุนจำนวนมหาศาลไหลไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สังเกตจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ เห็นได้จากรายจ่ายการลงทุนของบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐ ฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับบริษัทกลุ่มอื่น ๆ ในช่วงวิกฤต โควิด-19 

จากทั้งเหตุผลด้านการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภค (demand side) และการปรับตัวของธุรกิจ (supply side) ส่งผลให้หน้าตาของโลกธุรกิจมีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) ที่มาถึงเร็วขึ้นและกำลังจะเปลี่ยนโลกธุรกิจไปอย่างถาวร

ในกรณีของสหรัฐอเมริกาเรื่องเหล่านี้เริ่มสะท้อนผ่านข้อมูลตลาดหุ้น ข้อมูลมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทใน S&P 500 กว่า 84% เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible asset) เช่น องค์ความรู้ใหม่ ๆ อัลกอริทึม ลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ในโลกอนาคตมูลค่าของเศรษฐกิจอาจไม่ได้ขับเคลื่อนโดย แรงงาน เครื่องจักร ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกต่อไป แต่เป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ หรือ knowledge economy ที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับประเทศได้

2) โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องพึ่งพาคน (automation) ที่มาถึงเร็วขึ้นจากโควิด -19 จะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมโยงด้านการค้าและการผลิตในรูปแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป เพราะ (1) Cost-saving technology ความจำเป็นในการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในด้านค่าจ้างแรงงาน จะลดความสำคัญลง (2) Global supply disruptions การระบาดของ โควิด-19 ยังทำให้ธุรกิจเริ่มมองเห็นจุดอ่อนของการมี global supply chain รูปแบบเดิม การขาดชิ้นส่วนเพียงบางชิ้นจากต่างประเทศเนื่องจาก supply chain disruption ก็สามารถทำให้การผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายหยุดชะงักลงได้ อีกทั้ง (3) Geopolitics รัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักยังสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ธุรกิจกลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศตัวเอง ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะภายใต้บรรยากาศการแข่งขันด้านการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี  ปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้จะเป็นตัวเร่งให้การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (global reshoring) เกิดเร็วขึ้นจากที่เริ่มเห็นแนวโน้มมาก่อนหน้าแล้ว โดยบริษัทในตลาด S&P 500 มีการตั้งฐานการผลิตในไทยลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015  

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าโลกการค้าและการผลิตจะเลิกเชื่อมโยงกันอย่างสิ้นเชิง แต่รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป หากย้อนดูในอดีต รูปแบบของโลกาภิวัตน์ก็มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 9) ตั้งแต่ยุคที่มีการซื้อขายสินค้าอย่างง่าย ๆ จนมาถึงในยุคปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) จากการขนส่งเดินทางที่ทำได้ง่าย ต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมักลงทุนสร้างโรงงานในต่างประเทศที่มีวัตถุดิบและต้นทุนแรงงานถูกกว่า ในโลกยุคหลังจากนี้ไปคงเห็นการเชื่อมโยงในแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาทดแทน เรียกได้ว่าโลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคของ Globalization 4.0 

3) นโยบายการเงินรูปแบบใหม่ วิกฤต โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มีการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ ๆ อย่างแพร่หลาย ธนาคารกลางในหลายประเทศได้ออกนโยบายอย่างเต็มที่เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายจนถึงขอบล่างที่ 0% หรือติดลบ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง รวมถึงออกนโยบายการเงินแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน (unconventional policy) เช่น การเข้าซื้อพันธบัตรของภาครัฐในตลาดรอง การเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน การแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการทำ QE (หรือ นโยบายอื่น ๆ เช่น Yield curve control) ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเหมือนการช่วยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับรัฐบาลในทางอ้อมด้วย เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ฉีกตำราการทำนโยบายการเงินในอดีต ที่บอกว่าธนาคารกลางต้องเป็นอิสระจากภาครัฐและควรพิมพ์เงินอย่างมีวินัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ซึ่งในวันนี้ดูเหมือนว่าความกังวลในส่วนนี้จะเลือนลางหายไป โดยธนาคารกลางส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับผลกระทบของ โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินมากกว่าการยึดติดกับกรอบวินัยการเงินแบบดั้งเดิม

อันที่จริงแล้วนโยบายการเงินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจรอบก่อน ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจและระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์มีส่วนทำให้ที่ระดับหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ในไตรมาส 2 ปี 2020 หนี้ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์สู่ระดับ 265% ต่อ GDP  ระดับหนี้ที่สูงเช่นนี้จะยิ่งสร้างข้อจำกัดให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเมื่อภาวะวิกฤตเริ่มคลี่คลาย จะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงมาก ทำให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติจึงเป็นไปได้ยากและมีต้นทุนที่ต้องแลกมามากขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าธนาคารกลางอาจยังต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไปอีกนาน เพราะต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้การปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยนำไปสู่การสร้างภาระหนี้ที่สูงขึ้นเร็วเกินไปต่อภาคธุรกิจ ครัวเรือน และรัฐบาล จนไปกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเงินได้ ยกเว้นในกรณีที่เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นรุนแรงซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่คาดกว่าจะเป็นแบบนั้นในระยะเวลาอันใกล้  เรียกได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่รูปแบบในการทำนโยบายการเงินเปลี่ยนไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง

เมื่อโลกเปลี่ยนไป…ไทยจะอยู่ตรงไหน ?

แม้การระบาดของ โควิด-19 จะจบลง โลกก็อาจไม่กลับไปยืนในจุดเดิมอีกแล้ว จึงยากที่ไทยจะสามารถกลับไปโตได้เหมือนเดิมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด -19 กำลังจะถูกกระทบจาก 3 เทรนด์ใหญ่ของโลกผ่านหลายช่องทาง

Knowledge Economy เมื่ออุตสาหกรรมเก่าของไทยกำลังจะถูกแทนที่

ในทุก ๆ ครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอุตสาหกรรม เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบก่อน ๆ ย่อมนำไปสู่ธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันธุรกิจแบบเก่าที่จะถูกแทนที่คงต้องล้มหายตายจากไป  ในรอบนี้เองก็เช่นกันโลกประเมินว่าหน้าตาของธุรกิจในยุคหลัง โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปมาก 

KKP Research เชื่อว่าธุรกิจแบบใหม่ ๆ จะเข้ามาทดแทนธุรกิจแบบเก่าของไทยเช่นกัน จากข้อมูล 2 ชุด คือ GDP ซึ่งสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ และSET Market Cap ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ก็จะพบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ในรูปแบบเก่า ขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมหลายประเภทต้องเจอกับความเสี่ยงที่โตต่อไปแบบเดิมได้ยาก (ดู KKP Research เศรษฐกิจไทยกลับไม่ได้ไปไม่ถึง หากไม่พึ่งเทคโนโลยี) หากนโยบายเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและภาคธุรกิจยังไม่มีการปรับตัวอย่างทันท่วงที ธุรกิจ 4 ด้านหลักซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดและมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เสี่ยงถูกกระทบจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาพรวมไม่สามารถกลับมาโตที่ระดับเดิม ได้แก่

1) ธุรกิจยานยนต์แบบเก่าอาจถูกแทนที่ด้วยรถยนต์แบบใช้ไฟฟ้า (electric vehicles) ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นพัฒนาการของรถยนต์ไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางการระบาดของ โควิด-19 ที่หุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้นอย่างมากทั้งในสหรัฐฯ และจีน ทำให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ามีเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก โดยประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่จะเป็นฐานการผลิตสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งน่ากังวลสำหรับประเทศไทยที่มีการทำข้อตกลงทางภาษีที่ไทยทำไว้กับจีนเมื่อปี 2005 ทำให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีอัตราภาษีเป็น 0% ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้ามาทดแทนตลาดรถยนต์แบบเก่าได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด และข้อตกลงทางภาษีนี้ก็อาจทำให้ไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสามารถผลิตจากจีนและส่งมาได้โดยไม่มีภาษีอยู่แล้ว

2) การท่องเที่ยวและการเดินทางอาจไม่กลับมาเติบโตได้เหมือนเก่า นักท่องเที่ยวจีนที่โดยปกติมีสัดส่วนถึง 30% ในวันนี้เริ่มเห็นความเสี่ยงที่จะไม่กลับมาที่ระดับเดิมอีกต่อไปเมื่อทางการจีนมีการประกาศแผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับใหม่ที่เน้นให้คนจีนเที่ยวกันเองในประเทศเพื่อสร้างความเติบโตจากภายใน เป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจไม่ได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคนต่อปี ประกอบกับปัญหาเดิมที่ไทยมีการให้บริการในธุรกิจท่องเที่ยว (เช่น โรงแรม) มากเกินกว่าความต้องการอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงน่าเป็นห่วงแม้จะผ่านพ้นวิกฤต โควิด-19 ไปแล้วก็ตาม

นอกจากนี้การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการเดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือการสัมมนา โดยหันไปใช้การประชุมหรือสัมมนาแบบออนไลน์ (Webinar) เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และคนเริ่มคุ้นชินกับการทำงานจากบ้าน (work from home) ธุรกิจให้เช่าสถานที่สำหรับจัดสัมมนาและทำงาน และการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางที่เกี่ยวกับธุรกิจจะถูกกระทบโดยตรง 

3) ธุรกิจค้าปลีกอาจถูกแทนที่ด้วย E-commerce  ธุรกิจ E-commerce มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าถึง 4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เติบโตขึ้นจากปี 2561 ถึง 6.91% ในช่วงที่ โควิด-19 มีการระบาด คนไทยเริ่มมีพฤติกรรมที่คุ้นชินไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และอาจทำให้การไปเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีความจำเป็นลด จะทำให้การเติบโตของ E-commerce ในไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 หากในอนาคต E-commerce ในไทยสามารถเติบโตได้ดีจนถึงระดับที่สัดส่วนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากและทำกำไรได้มาก ก็เป็นไปได้ว่าธุรกิจค้าปลีกแบบเก่าและ Commercial real estate ที่มีความสำคัญทั้งในแง่รายได้และการจ้างงานจะถูกกระทบรุนแรง

4) รายได้ของภาคการเงินโดยเฉพาะธนาคารจะถูกกดดันจากผู้ให้บริการรูปแบบใหม่และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การเติบโตของ platform economy ที่สำคัญอันหนึ่ง คือ บริษัท technology ที่เริ่มกระโดดเข้ามาแข่งขันให้บริการทางการเงิน เช่น การให้บริการชำระเงินและกู้เงินผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ค่าธรรมเนียมในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ถูกลง และนโยบายการเงินที่ยังต้องผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาระดอกเบี้ยจากปริมาณหนี้ที่ขึ้นไปสูงเป็นประวัติการณ์ ก็จะมากระทบกับภาคธนาคารผ่านกำไรจากดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของธนาคาร

เมื่อคำนวนรวมขนาดของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจเหล่านี้มีขนาดประมาณ 42% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมด และ 41%  ของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก และหากนับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานไปด้วยอีก ผลกระทบก็จะมีขนาดใหญ่กว่าที่ประเมิน แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะถูกแทนที่  คนที่ปรับตัวก็จะสามารถอยู่รอด การจ้างงานก็คงจะไม่หายไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดนี่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าควรถึงเวลาที่ทั้งนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนต้องเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง

การพึ่งพาต่างประเทศไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

ประเทศไทยยังพึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวในระดับสูง จะเริ่มถูกกระทบจากโลกาภิวัตน์รูปแบบเดิมที่เริ่มถึงจุดอิ่มตัว  วิกฤต โควิด-19 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางจากการกระจุกตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติ คือ การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่น่ากังวล คือ เมื่อมองไปข้างหน้าโลกาภิวัตน์รูปแบบเดิมจะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว (peaked globalization) และการค้าโลกเริ่มชะลอตัวลง  เศรษฐกิจไทยที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอานิสงค์ของการค้าโลกในรูปแบบเก่าอาจไม่สามารถเป็นตัวชูโรงให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้แม้จะจบการระบาดของโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม

ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ของวงการการค้าโลก คือ ประเทศจีน ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้รูปแบบของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปในอนาคต นโยบายเศรษฐกิจระยะหลังที่ออกมาล้วนแล้วแต่เป็นการเน้นการเติบโตจากภายในประเทศทั้งสิ้น  โดยเริ่มเห็นสัญญาณการออกไปลงทุนในต่างประเทศของจีนที่ลดลงตั้งแต่ปี 2016 ล่าสุด คือ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีน (China’s five year plan) ที่กลับมาเน้นการเติบโตจากภายในประเทศ ตรงกันข้ามกับไทยที่ในวันนี้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าการลงทุนในไทยไปแล้ว เพราะ เศรษฐกิจในประเทศไม่เติบโตและขาดโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ  หากเศรษฐกิจไทยยังคงเน้นการพึ่งพาภาคต่างประเทศเช่นนี้และยังไม่หันกลับมาส่งเสริมการลงทุน และการบริโภคในประเทศก็คงจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตระยะยาวของไทยอย่างแน่นอน 

ค่าเงินบาทในสงครามค่าเงินรอบใหม่

ในปัจจุบันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เริ่มให้คำแนะนำว่าประเทศกำลังพัฒนาสามารถทำนโยบาย QE หรือการพิมพ์เงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะ จะช่วยให้ภาวะทางการเงินของประเทศดีขึ้น บนเงื่อนไขว่าประเทศต้องมีเสถียรภาพทางการเงินมากพอ มีการสื่อสารกับนักลงทุนชัดเจน และมีการจำกัดขนาดของการทำ QE สะท้อนว่าการทำนโยบายการเงินทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับให้มีการอัดฉีดเงินในขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากแล้วจริง ๆ

การอัดฉีดเงินอย่างมหาศาลจากธนาคารกลางทั่วโลกอาจทำให้ท้ายที่สุดโลกเข้าสู่ยุคของสงครามค่าเงิน (Currency War) โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะกระทบค่าเงินบาทรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สัญญาณจากประเทศที่มีการอัดฉีดเงินในปริมาณมากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา สร้างความกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ธนาคารกลางในหลายประเทศไม่ต้องการให้เงินสกุลตนเองแข็งขึ้นเร็วเกินไป (โดยฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง) ก็มีการตอบสนองผ่านหลายวิธี เช่น การแทรกแซงค่าเงินโดยตรง  หรือแม้กระทั่งการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (QE) เพราะเป็นการช่วยทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยให้ภาครัฐและลดแรงกดดันต่อค่าเงินไปในตัว สถานการณ์เช่นนี้อาจพาโลกเข้าสู่สงครามค่าเงิน (Currency war) 

สภาพแวดล้อมของนโยบายการเงินโลกที่เปลี่ยนไปจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น จาก 2 ปัจจัย (1) ธนาคารกลางของไทยยังไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบ unconventional ไปแล้วด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง เมื่อธนาคารกลางของไทยให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพทางการเงินของประเทศมากกว่าด้านเศรษฐกิจในการดำเนินนโยบายการเงิน จึงทำให้นโยบายการเงินของไทยมีการผ่อนคลายน้อยกว่าในหลายประเทศมาก (2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูง คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ค่าเงินบาทถูกมองว่าเป็น safe haven asset และมีโอกาสน้อยมากที่จะอ่อนค่าลงรุนแรง 

ผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อบาทแข็งค่าต่อเนื่อง คือ ผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าผ่านรายได้ที่ลดลง และผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย แม้ว่าโดยปกติการอัดฉีดเงินเพื่อทำนโยบาย QE อาจไม่ใช่เรื่องเหมาะสมในบริบทของไทยเพราะจะสร้างความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในวินัยทางการเงินและอาจไม่ช่วยให้สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นไปช่วยเหลือคนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุด แต่ในสถานการณ์นี้ที่หลายประเทศหันไปใช้นโยบายการเงินกันขนานใหญ่และส่งผลต่อค่าเงินบาทเช่นนี้ เกิดคำถามว่าไทยยังควรยึดหลักการการทำนโยบายแบบเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทันสมัยมากขึ้น เป็นอีกประเด็นที่ต้องกลับมาช่วยกันคิดและประเมินกันอย่างรอบด้านอีกครั้ง

เปลี่ยนหน้าตาเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด-19

นอกเหนือจากเทรนด์ที่ถูกเร่งจาก โควิด-19 ประเทศไทยยังเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ มาก่อนแล้วตามที่ KKP Research ได้นำเสนอบทความมาตลอดทั้งปี 2020 โครงสร้างเศรษฐกิจหลายด้านของไทยที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว จะมีโอกาสถูกกระทบจากเทรนด์ใหม่ ๆ ได้รุนแรงมากขึ้นอีกหลังโควิด 19  ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ธุรกิจยังอยู่ในรูปแบบเก่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว (ดู KKP Research ทำไมต่างชาติขายหุ้นไทย้ไม่หยุด?, เมื่อคนไทยกว่า 40% เข้าสู่วัยเกษียณ) ค่อนข้างชัดเจนว่าโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนหลังโควิดคงเป็นไปได้ยากหากนโยบายเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในวันนี้นโยบายเศรษฐกิจหลายอย่างของไทยยังคงสนใจในประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกลับไปโตได้แบบเดิม หวังพึ่งพานักท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตเท่าเดิม หวังพึ่งพาการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว และหวังว่าอุตสาหกรรมแบบเดิมจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อในอนาคต สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือ ความหวังของหลายฝ่ายที่จะทำให้ไทยกลับไปโตแบบเดิมยังเป็นไปได้หรือไม่หากในวันนี้รู้แล้วว่าเศรษฐกิจโลกอาจไม่กลับไปโตในรูปแบบเดิมอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องหาหน้าตาแบบใหม่ของเศรษฐกิจไทยในโลกยุคหลังโควิดที่กำลังจะมาถึง 

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรประเมินว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ ใน 3 เรื่องหลัก คือ 

  1. การปฏิรูประเบียบ ส่งเสริมการแข่งขัน และพัฒนาแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ๆ การพัฒนากฎระเบียบให้เอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมลดการกีดกันที่ไม่จำเป็นจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้ง Start up และยังช่วยให้ธุรกิจเดิมมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตามแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในอีกหลายเรื่องที่สามารถรับเอาเทรนด์ใหม่ ๆ มาพัฒนาควบคู่กันไปได้ อาทิ การทำการเกษตรแบบครบวงจร (Agricultural Ecosystem) และการนำเทคโนโลยีมาใช้ (Smart farming)  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness and Medical tourism) หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ที่หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐก็อาจช่วยส่งให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปตามเทรนด์โลกใหม่ได้

  2. การกำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ (Restructure) ที่ชัดเจนและใช้ได้จริง แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่แล้วแต่ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างให้เกิดการเติบโตจากภายในประเทศตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป โดยประเมินว่ายังมีช่องว่างที่ภาครัฐยังจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการเติบโตจากในประเทศได้จากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ

  3. การทบทวนบทบาทนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพียงพอให้เศรษฐกิจในประเทศสามารถเติบโตได้เพื่อทดแทนการกระจุกตัวจากการพึ่งพาต่างประเทศที่มากเกินไป และจะเป็นการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาวได้จริงผ่านการเร่งให้เกิดการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศและการนำเข้า

ติดตามความเสี่ยงระยะสั้น…ตระหนักการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่หากต้องการทำนายทิศทางของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจให้ครบถ้วน สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามความเสี่ยงระยะสั้นและตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ที่มีการระบาดของ โควิด-19 อย่างในปัจจุบัน 

ในปี 2021 ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังมีอยู่สูง จากทั้งการระบาดที่อาจลุกลามไปไกล ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขอาจทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ และประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้งานจริง ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในกรณีเลวร้ายคาดว่า GDP มีโอกาสที่จะโตติดลบอีกครั้งในปีนี้ (ดู KKP Research เศรษฐกิจปีฉลูกับการต่อสู้โควิดระลอกใหม่)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ย้อนกลับไปที่คำถามเริ่มต้นของบทความเศรษฐกิจจะกลับไปโตเท่าเดิม หรือ SET จะกลับไปอยู่ในระดับเดิมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่หลัง โควิด-19 จบไป  ในวันนี้คงตอบได้เพียงขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจและธุรกิจไทยจะสามารถปรับตัวได้มากน้อยและรวดเร็วเพียงใดเพื่อไม่ให้ตกขบวนรถไฟขบวนใหม่ในโลกยุคหลัง โควิด-19  บทความนี้ต้องการชวนให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจมองการเปลี่ยนแปลงให้ครบทุกมิติ และไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับมาตรการรับมือในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังต้องประเมินสถานะของประเทศไทยในระยะยาวด้วยว่าจะโตไปในทิศทางใดท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ 

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ ในวันนี้คงยังไม่สายเกินไปที่จะสร้างเครื่องยนต์ใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย การพูดคุยแนวทางนโยบายต่าง ๆ ควรเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้และควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจเป็นประเทศที่ตกขบวนรถไฟ และถูกประเทศอื่น ๆ แซงหน้าไปโดยไม่หันหลังกลับมา




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Bill Gates แนะนำ 'The Coming Wave' หนังสือ AI ที่ควรอ่าน ทำนายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน

Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft แนะนำหนังสือ "The Coming Wave" เขียนโดย Mustafa Suleyman ซีอีโอของ Microsoft AI ซึ่งเขายกให้เป็นหนังสือ AI ที่สำคัญที่สุดและอยากให้ทุกคนอ่าน เพื่อเต...

Responsive image

The Puzzle Principle เคล็ดลับของไอน์สไตน์ที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น

เรียนรู้หลักการ The Puzzle Principle ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์และแนวคิดจาก Adam Grant ที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เปิดใจกว้าง และทำให้คุณฉลาดขึ้น พร้อมตัวอย่างงานวิจัยที่ยืนยันผลลัพ...

Responsive image

บริหารแบบ Micromanagement ใส่ใจไม่จู้จี้ บทเรียนพลิกธุรกิจจาก Brian Chesky CEO ของ Airbnb

สำรวจว่าแนวทางการบริหารที่ใส่ใจในรายละเอียดของ Chesky ช่วยเปลี่ยน Airbnb ให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกได้อย่างไร และเพราะเหตุใดการ micromanagement ...