หลักสูตรใหม่ผลิต วิศวกรด้าน Financial มีวิชา FinTech ด้วยครั้งแรกของไทย กับความร่วมมือของลาดกระบังและนิด้า | Techsauce

หลักสูตรใหม่ผลิต วิศวกรด้าน Financial มีวิชา FinTech ด้วยครั้งแรกของไทย กับความร่วมมือของลาดกระบังและนิด้า

หลังจากที่เราเคยนำเสนอการจัดตั้งหลักสูตรใหม่ด้าน FinTech ในสิงคโปร์เมื่อ 2 ปีก่อน  ล่าสุดเราก็ได้ข่าวของ 2 สถาบันนั่นคือพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังกับนิด้า เตรียมเปิดหลักสูตรเพื่อสร้าง "วิศวกรด้านการเงิน" ครั้งแรกของไทยมีการเรียนการสอนเรื่อง Financial Technology ด้วย โดยนักศึกษาต้องใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี ควบป.ตรีและโทไปในตัว

ภาพ : ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

หลักสูตรนี้มีชื่อเต็มว่า KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering (วิศวกรรมการเงิน) เป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า  ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกที่ผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร โดยนำจุดเด่น และศักยภาพของแต่ละสถาบัน มาบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโครงสร้างหลักสูตรเป็นแบบตรีควบโท 4+1 เป็นหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในช่วงต้นปี ผ่านระบบรับสมัครของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง และเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม 2562

หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน เป็นหลักสูตรที่ผนวก 3 ศาสตร์การเรียนรู้ไว้ด้วยกัน ได้แก่

  • ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Finance Theory)
  • วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ (Methods of Engineering)
  • เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Tools of mathematics)

นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programming)  และทักษะการคิดนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ความรู้การวิเคราะห์เชิงปริมาณร่วมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ากับความรู้ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน เพื่อพัฒนาแบบจำลองต่าง ๆ ที่จะสามารถพยากรณ์การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เพื่อรองรับความต้องการระดมทุน การลงทุน และการบริหารความเสี่ยงของทุกภาคส่วนที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเรียนรู้ถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการระบบการซื้อขายอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (Algorithmic Trading) และการบริหารจัดการกองทุนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในโลกเทคโนโลยีทางการเงิน

ภาพ : รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ทางอาจารย์ผู้ดูแลโครงการกล่าวว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานหลายภาคส่วนทั้งในภาครัฐจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ  และภาคเอกชนโดยเฉพาะในธุรกิจบริการทางการเงิน และสถาบันการเงินแล้ว นอกจากนี้ทางหลักสูตรวิศวกรรมการเงินจะสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน เป็นต้น ตลอดจนความร่วมมือกับ FinTech เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปฝึกงาน และดึงอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบัณฑิต ตั้งแต่การออกแบบรายวิชาในหลักสูตร การเชิญวิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมสอน และการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันกับคณาจารย์และนักศึกษาของหลักสูตร

สำหรับรายละเอียดของหลักสูตรว่าเรียนอะไรบ้างนั้นสามารถดูได้ที่นี่ อ้างอิง : admission premium

ความเห็นกองบรรณาธิการ

ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่ง Exponential Change เลยก็ว่าได้ ธุรกิจไหนที่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ยอมออกจาก Comfort zone มีโอกาสหันกลับมาอีกที มีคู่แข่งที่มาจากภาคธุรกิจอื่นผุดขึ้นมาพร้อมล้มคุณได้ทุกเมื่อ

และเมื่อมองในมุมศักยภาพบุคลากร ก็กลับเป็นว่ายังไม่มีความพร้อม นักศึกษาที่จบมาอาจจะเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในภาคธุรกิจนั้นๆ อย่างกรณีนี้คือ ภาคธุรกิจการเงิน จึงทำให้บุคลากรโตไม่ทันตามความต้องการตลาด

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรหันมาคิดใหม่ ทำใหม่อย่างจริงจัง? สร้างหลักสูตรที่ทันกับความต้องการของตลาดมากขึ้น แน่นอนเรื่องนี้จะโยนให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ภาคเอกชนเอง หน่วยงานที่กำหนดนโยบายของประเทศเอง ก็ต้องกระโดดลงมาในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรด้วย เพราะองค์กรเหล่านี้รู้ว่าต้องการคนแบบไหนมาร่วมงาน เฉกเช่นเดียวกับหลักสูตรนี้ ที่ถือเป็นตัวอย่างที่ควรเริ่มมีมากขึ้น และถือเป็นข่าวดีสำหรับน้องๆ รุ่นนี้ด้วย (ดีใจแทนในฐานะรุ่นพี่วิศวฯ)

ส่วนตัวเชื่อว่ามีผู้ใหญ่หลายท่านที่อยากเปลี่ยนแปลงและทำอะไรใหม่ๆ เพื่อประเทศ เฉกเช่นเดียวกับ Startup มีไอเดียที่ดีแล้ว แต่สุดท้าย การปฏิบัติ (Execution) คือสิ่งสำคัญที่สุด ในที่นี้หมายถึง กระบวนการอนุมัติ การบรรจุหลักสูตร ก็ควรต้องปรับให้รวดเร็วตามด้วยเช่นกัน ไม่งั้นก็เป็นคอขวดอยู่ดี เราหวังว่าเสียงเล็กๆ จากสื่อของเราจะส่งถึงคนที่เกี่ยวข้องและดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...