Krungthai COMPASS คาด COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ทำท่องเที่ยวในประเทศสูญกว่า 1.1 แสนล้านบาท | Techsauce

Krungthai COMPASS คาด COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ทำท่องเที่ยวในประเทศสูญกว่า 1.1 แสนล้านบาท

ด้วยภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐที่เข้มข้นของภาครัฐ ทำให้มีความกังวลถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ บทความนี้ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ต่อการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมวิเคราะห์ว่าหากสถานการณ์การระบาดดีขึ้น การท่องเที่ยวในจังหวัดใดจะฟื้นตัวได้ก่อน โดยจะเริ่มการวิเคราะห์ผ่านการเปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันกับในช่วงปี 2020 เป็นลำดับแรก

Key Highlights

- สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้น และส่งผลให้โรงแรมหลายแห่งกำลังประสบกับอัตราการเข้าพักที่ต่ำกว่า 10% ในเดือนนี้  

- Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้การระบาดและมาตรการคุมเข้มของภาครัฐใช้เวลาเพียง 2 เดือน แต่กว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวสู่ระดับที่เคยประเมินไว้อาจเป็นช่วงกลางไตรมาส 2 คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียแก่ภาคท่องเที่ยวถึง 1.1 แสนล้านบาท จากตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศที่จะหดตัว 22 ล้านคน

- สำหรับการฟื้นตัว ประเมินว่ากลุ่มจังหวัดที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียง จะฟื้นตัวได้ก่อน อย่างเช่น นครราชสีมา กาญจนบุรี เป็นต้น

สถานการณ์การระบาดและการควบคุมของภาครัฐในเดือนมกราคม 2021 รุนแรงและเข้มข้นกว่าของปี 2020 หรือไม่?

การระบาดรอบใหม่ทำให้ในเดือนมกราคม 2021 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยถึงวันละ 348 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วงเดือนเมษายนปี 2020 ที่มีน้อยกว่า 45 รายต่อวันโดยเฉลี่ย ซึ่งการระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ผู้คนเกิดความกังวลและลดการเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน


นอกจากนี้ ความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบเชิงลบต่อการท่องเที่ยว เช่น การห้ามเดินทางระหว่างจังหวัด มาตรการเคอร์ฟิว การห้ามรับประทานอาหารในร้าน เป็นต้น เราประเมินว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาครัฐให้ผู้เดินทางจาก 28 จังหวัดซึ่งหลายจังหวัดเป็นจังหวัดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต้องกักตัว ณ ที่พักอาศัย มีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2020 ที่มีทั้งการสั่งปิดโรงแรม มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามเดินทางเข้าออก 14 จังหวัด แต่ก็มีความเข้มงวดกว่ามาตรการในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 ผู้เดินทางจาก 8 จังหวัดต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้

เมื่อพิจารณาความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรคผ่านดัชนีความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค หรือ Government Stringency Index ก็จะเห็นได้ว่าดัชนีในเดือนมกราคม 2021 อยู่ที่ 64 มีค่ามากกว่าเดือนมิถุนายน 2020 ที่มีค่าอยู่ที่ 52-63 แต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2020 ที่มีค่าในช่วง 68-76

แล้วกิจกรรมท่องเที่ยวหดตัวไปมากขนาดไหนหลังการระบาดรอบใหม่?

จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และแนวทางการป้องกันของภาครัฐ ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเลื่อนตลอดจนยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคมออกไปก่อน ดัชนีการขอเส้นทางจาก Apple Map ในรูปที่ 3.1 แสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ การขอเส้นทางจาก Apple Map ในช่วงวันที่ 1-8 ม.ค. 2021 หดตัวอย่างรุนแรงคล้ายคลึงกับช่วงที่มีการล๊อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน 2020 แต่ไม่รุนแรงเท่า สำหรับการเดินทางทางอากาศก็มีการหดตัวเช่นเดียวกัน โดยเมื่อพิจารณาความต่างระหว่างจำนวนเที่ยวบินที่จะต้องบินตามตาราง กับจำนวนเที่ยวบินที่ทำการบินจริง จะเห็นจำนวนเที่ยวบินที่บินจริงอยู่ต่ำกว่าจำนวนเที่ยวบินตามตารางอย่างมากตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ โดยในวันที่ 9 มกราคม 2021 จำนวนเที่ยวบินที่บินจริงน้อยกว่าที่วางแผนไว้ถึง 50% (รูปที่ 3.2)

ผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายได้ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขอัตราการเข้าพักแรม (OR) และการจองโรงแรมที่ลดลงอย่างหนักในเดือนมกราคม 2021 หลังจากที่เพิ่งฟื้นตัวจากการล๊อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคมปีที่แล้วที่ค่า OR ค่อยๆฟื้นตัวจาก 5% มาแตะระดับ 34.8% ในเดือนพฤศจิกายน 2020 อย่างไรก็ดี การระบาดครั้งใหม่ทำให้ค่า OR ในจังหวัดท่องเที่ยวหลายจังหวัดกลับมาอยู่ในระดับน้อยกว่า 10% ใกล้เคียงกับช่วงล๊อกดาวน์ในปีที่แล้ว (รูปที่ 4) ซึ่งหลายฝ่ายหวังว่าพอคลายมาตรการควบคุมต่างๆ แล้วผู้คนจะกลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิมโดยเร็ว

พอมาตรการควบคุมต่างๆ ผ่อนคลายลง การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ทันทีหรือไม่?

ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวหลังจากการคลายล๊อกดาวน์ในปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการระบาดและมาตรการควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงที่มีการระบาดและการบังคับใช้มาตรการเท่านั้น แต่กว่าที่จำนวน นักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาได้นั้นต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากเดือนละไม่ถึง 1 ล้านคนในช่วงล๊อกดาวน์ ขึ้นมาแตะระดับ 4.4 ล้านคน และ 10 ล้านคน เมื่อมาตรการเริ่มผ่อนคลายในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และแม้ไม่มีมาตรการที่ควบคุมแล้วก็ตาม แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2020 จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่ระดับ 11-13 ล้านคนก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30-35% โดย จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่งกลับมาสูงที่ระดับ 16 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (-20%YoY) หรือใช้เวลาถึง 3-4 เดือนหลังมาตรการต่างๆ ถูกผ่อนคลายแล้ว

แล้วการระบาดในรอบนี้ กระทบการท่องเที่ยวเป็นมูลค่าเท่าใด?

หากมาตรการควบคุมการระบาดยังคงมีความเข้มข้นในระดับปัจจุบันจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงสองเดือนแรก ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการ และกลับมาอยู่ในระดับที่ไม่มีการระบาดรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปี 2021 ลดลงจากที่เคยประมาณไว้จากข้อสมมุติที่ไม่มีการระบาดรุนแรงที่ 131.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 109.6 ล้านคน (ฟื้นตัวจากปี 20 ที่มีเพียง 91 ล้านคน) คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อภาคท่องเที่ยวประมาณ 1.1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หากมีการบังคับใช้มาตรการควบคุม 3 เดือนจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าเดิม นักท่องเที่ยวในประเทศจะเหลือเพียง 100.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่า ความสูญเสียต่อการท่องเที่ยวกว่า 1.5 แสนล้านบาท แม้ในภาพรวมการท่องเที่ยวจะต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนในการฟื้นตัว แต่เราประเมินว่าการท่องเที่ยวในบางจังหวัดจะฟื้นตัวได้ก่อน

วิเคราะห์การท่องเที่ยวจังหวัดไหนจะฟื้นตัวได้ก่อน?

ในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ จังหวัดที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวได้ยากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ เราประเมินว่าการท่องเที่ยวด้วยการเดินทางด้วยเครื่องบินมีโอกาสที่จะฟื้นตัวช้ากว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ เนื่องจาก 1) นักท่องเที่ยวบางส่วนอาจยังกังวลกับความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการเดินทางด้วยเครื่องบินอยู่ แม้สถานการณ์การ ระบาดจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม 2) ในช่วงที่ความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินยัง ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อาจทำให้จำนวนเที่ยวบินไม่มากเท่าเดิม หรือราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาสูง ซึ่งล้วนกดดันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปด้วยเครื่องบิน

จากข้อสมมติข้างต้น เราจึงวิเคราะห์ว่า (รูปที่ 7) จังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของ ไทยที่จะฟื้นตัวก่อน คือจังหวัดที่มีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวมักเดินทางไปด้วยรถยนต์ อย่างเช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ส่วนจังหวัดที่แม้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สูงนัก (ในที่นี้คือน้อยกว่า 50%) มีโอกาสที่จะฟื้นตัวตามมา ในขณะที่จังหวัดที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าคือ จังหวัดที่รายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชลบุรี ส่วนกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุดคือกลุ่มที่พึ่งพิงรายได้จากต่างชาติเป็นหลัก และนักท่องเที่ยวจำนวน มากต้องเดินทางไปด้วยเครื่องบิน อย่างเช่นจังหวัดกรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต เป็นต้น

แม้การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของไทยโดยรวมจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หากเรายังไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยคาดว่าไทยน่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เมื่อคนไทยบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว ซึ่งคนกลุ่มแรกที่น่าจะได้รับวัคซีนก่อนคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในติดเชื้อหรือเสียชีวิต เช่น บุคลากรทางการแพทย์แถวหน้า ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น โจทย์ที่สำคัญถัดไปคือใครควรเป็นผู้ได้รับวัคซีนลำดับถัดไป หากต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว

ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ Alvin Roth นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า คงเป็นการดีหากการฉีดวัคซีนไม่เป็นเพียงแต่การช่วยคนที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น แต่ก่อนให้เกิด Multiplier Effect ที่เยอะที่สุดที่สามารถเป็นไปได้ กล่าวคือเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นในสังคมมากที่สุด อย่างเช่น หากผู้ที่มีโอกาสเป็น Super Spreader อย่างเช่นผู้ส่งสินค้าได้รับวัคซีนก่อน ก็จะช่วยลดโอกาสการกระจายของเชื้อสู่คนจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจ ในกรณีของไทย นอกจากการฉีดให้กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง และผู้มีโอกาสเป็น Super Spreader แล้ว หากเราต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็วผ่านการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง การพิจารณาฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่และแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้นๆ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าพิจารณา



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...

Responsive image

เริ่มปีใหม่ด้วย Life Audit เปลี่ยนความฝันเป็นแผนที่ชัดเจน

เริ่มต้นปีใหม่ให้มีความหมายด้วย Life Audit กระบวนการ 3 ขั้นตอนที่ช่วยสำรวจความต้องการที่แท้จริงของคุณ พร้อมวางแผนเป้าหมายอย่างมีระบบและได้ผลจริง...