ใบขับขี่ตลอดชีพ-ปัญหาที่ยังหลงเหลือในประเทศไทยกับความเสี่ยงภัยของผู้ขับขี่ในวัยผู้สูงอายุ | Techsauce

ใบขับขี่ตลอดชีพ-ปัญหาที่ยังหลงเหลือในประเทศไทยกับความเสี่ยงภัยของผู้ขับขี่ในวัยผู้สูงอายุ

จากข่าวกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดจะเรียกผู้ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลับมาทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับรถอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามตามมาจากผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

ใบขับขี่ตลอดชีพมีที่มาอย่างไร

การออกใบอนุญาตขับขี่ เดิมเคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทะเบียน กรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) การอนุญาตและการจัดเก็บข้อมูล ยังเป็นรูปแบบทะเบียนกระดาษ ทำให้การออกใบขับขี่จำเป็นต้องมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพเพื่อเป็นการลดปริมาณงานการติดต่อราชการของประชาชน หลังจากนั้นในปี 2531 อำนาจหน้าที่การออกใบอนุญาตขับขี่ ถูกโอนย้ายมายังกรมการขนส่งทางบก และเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตขับขี่ดังเช่นปัจจุบัน 

ประเทศไทยจะอยู่กับใบขับขี่ตลอดชีพไปอีกนานแค่ไหน 

ในปี 2546 มีการยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ โดยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงอายุใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพที่ได้ทำไปก่อนแล้ว และกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเพียงว่าใบอนุญาตขับรถยนต์ที่ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตหรือใบอนุญาตขับรถยนต์ จึงมีผลทำให้ใบขับขี่ตลอดชีพยังใช้ต่อไปได้ ซึ่งหากคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าใบขับขี่ตลอดชีพจะหมดไปเมื่อใด อาจตั้งสมมติฐานว่าผู้มีสิทธิได้สามารถขอรับใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุน้อยที่สุดในปี 2546 คือ 19 ปี เท่ากับว่าปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 36 ปี ดังนั้น ใบขับขี่ตลอดชีพจะยังอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 35-40 ปี 

เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพสะสมจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ประมาณ 12 ล้านใบ แบ่งเป็นใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 6,176,081 ใบ ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ตลอดชีพ จำนวน 5,966,176 ใบ และใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 4,608 ใบ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจำนวนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545–2562 เห็นได้ว่ามีแนวโน้นเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2547 จึงเกิดคำถามว่าข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้มีการปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ และจำนวนที่แท้จริงของใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเท่าใด การที่กรมการขนส่งทางบกสามารถจัดเก็บข้อมูลที่มีความถูกต้องจะช่วยให้ทราบถึงขนาดปัญหาที่จริงของใบขับขี่ตลอดชีพ และสามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

สถิติอุบัติเหตุสะท้อนปัญหาใบขับขี่ตลอดชีพในวัยผู้สูงอายุ

 ประเด็นต่อมาคือ อายุส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรจำแนกตามกลุ่มอายุของปี พ.ศ. 2558-2562 จากข้อมูล 3 ฐาน โดยกรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงที่สุดในช่วงอายุ 15-19 ปี และ 20 – 24 ปี และจะลดลงเมื่ออยู่ในช่วง อายุระหว่าง 25 – 50 ปี แต่เมื่อมีอายุในช่วง 50-79 ปี กลับพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนถึงอายุ 80 ปี ที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดอีกครั้ง ข้อมูลจากกราฟแม้จะไม่ได้สะท้อนถึงสาเหตุในเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงไม่ได้ระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถยนต์หรือไม่ แต่สามารถอนุมานได้ว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ จากงานศึกษา“โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สภาวะในมิติทางการแพทย์ที่อาจส่งผลต่อสมรรถนะร่างกายเพื่อการขับขี่ (Medical conditions likely to affect fitness to drive) หรือมีผลต่อกระบวนการของร่างกายที่ต้องทำงานประสานกันเพื่อการขับขี่ปลอดภัย เกิดจากปัจจัยบางประการที่เป็นสาเหตุความบกพร่องขั้นรุนแรง เช่น การหมดสติอย่างฉับพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดสภาวะดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ การมีใบขับขี่ตลอดชีพจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการขับขี่บนท้องถนน หากผู้ขับขี่มีสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น

การศึกษามาตรการด้านการตรวจสุขภาพในการออกใบอนุญาตขับขี่ของต่างประเทศ

สำหรับแนวทางการป้องกันในเรื่องสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในต่างประเทศ เมื่อพิจารณากระบวนการออกใบขับขี่ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่าภายหลังการทดสอบด้านสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในตอนขอใบขับขี่ครั้งแรก ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้ง (Retest) เมื่อผู้ขับขี่มีอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละประเทศ เช่น สวีเดนจะกำหนดอายุที่ 45 ปี หลังจากนั้นต้องตรวจสอบสมรรถภาพทางกายในทุก 10 ปี ฝรั่งเศสกำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่ 60 ปี และต้องตรวจสอบหลังจากนั้นในทุก 2-5 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางประเทศยังกำหนดในกฎหมายให้ผู้ขับขี่ที่พบว่าตนเอง เจ็บป่วยเป็นโรคที่ต้องห้ามในการขับขี่ มีหน้าที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

ขณะที่กรณีของออสเตรเลีย แม้รัฐจะไม่ได้กำหนดอายุสูงสุดในการขอรับใบขับขี่ไว้ แต่มีมาตรการควบคุมดูแลผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป โดยกระทรวงคมนาคมจะส่งจดหมายแจ้งให้ทราบถึงวิธีการและขั้นตอนในการขอใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบว่ามีอาการหรือมีความผิดปกติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดหรือไม่ และออกเป็นใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะขับขี่รถ (Fit to Drive) ให้ โดยใบรับรองแพทย์จะมีอายุสูงสุด 13 เดือน ซึ่งหากใครที่แพทย์ประเมินว่าไม่สามารถขับขี่รถได้และฝ่าฝืนจะมีโทษปรับถึง 2,400 ดอลล่าร์ออสเตรเลียหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 75,000 บาท

วิเคระห์ผลได้ผลเสียของใบขับขี่ตลอดชีพเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

ในขณะนี้โจทย์สำคัญประการหนึ่งที่กรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนคือ จำนวนของผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ และปัญหาการมีใบขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบัน เพื่อให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม จึงควรดำเนินการทบทวนข้อมูลจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่จริง โดยอาจดำเนินการเชื่อมข้อมูลทางทะเบียนราษฎรกับกรมการปกครองเพื่อตรวจสอบสถานะทางทะเบียนของผู้มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบันว่าคงเหลือเพียงใด หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนใบขับขี่ตลอดชีพมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรผู้ถือใบขับขี่และการเกิดอุบัติเหตุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าใบขับขี่ตลอดชีพไม่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการทบทวนหรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเพียงแต่รอให้ใบอนุญาตเหล่านั้นหมดอายุไป 

แต่ในทางกลับกัน หากผลเปลี่ยนไปและแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนในสังคม ก็มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของปัจเจกบุคคล โดยควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ดังนั้น หากรัฐมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือยกเลิกเรื่องใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดเกณฑ์อายุที่จะยกเลิกใบอนุญาตขับขี่และให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่กลับมาตรวจสอบสมรรถภาพในการขับขี่หากยังต้องการขับขี่รถอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่แบบใหม่ที่ประเภทใบอนุญาตจากตลอดชีพเป็นเป็นชนิด 5 ปีที่มี

ในปัจจุบันแทน ซึ่งเรื่องเกณฑ์อายุควรกำหนดให้เป็นช่วงอายุ 60 - 70 ปี ส่วนหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนในการตรวจสอบสมรรถภาพควรกำหนดไว้ในระเบียบหรือกฎกระทรวงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในเรื่องนี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหม่และยังเป็นประเด็นที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาทุกครั้งที่มีกระแสข่าว แต่หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการลดอุบัติเหตุในการขับขี่ของผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติได้ว่า สังคม Baby Booming ของประเทศไทยมีศักยภาพด้านการขับขี่ปลอดภัยไม่แพ้ชาติใดในโลก

บทความโดย : คุณณภัทร ภัทรพิศาล, คุณฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

“ตั้งคำถามให้เป็น” ทักษะที่ Sam Altman ชี้ว่าสำคัญที่สุดในยุค AI

Sam Altman ซีอีโอ OpenAI ชี้ว่าทักษะสำคัญในยุค AI ไม่ใช่แค่ 'รู้เยอะ' แต่ต้อง 'รู้จักตั้งคำถาม' เพราะการตั้งคำถามที่ดี จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล เชื่อมโยงความคิดและสร้างนวัตกร...

Responsive image

บทเรียนสำคัญ จากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ของ Meta องค์กรควรเรียนรู้อะไร?

เมื่อต้นปี 2024 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ประกาศเตือนพนักงานว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทาย พร้อมย้ำว่าบริษัทจะเข้มงวดกับการประเมินผลงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับพนักงานที่ทำผลงานไม่...

Responsive image

เช็กวัฒนธรรมองค์กรให้ชัวร์ก่อนรับงาน! เคล็ดลับสัมภาษณ์จาก Adam Grant

เวลาสัมภาษณ์งานหลายคนมักถามว่า 'วัฒนธรรมองค์กรของที่นี่เป็นยังไง' แต่คำตอบที่ได้มักจะฟังดูดีเกินจริง เช่น 'เราทำงานเป็นทีม เหมือนครอบครัวและคอยช่วยเหลือกัน' ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่ได้...