ก้าวย่างสู่อนาคตของ Netflix ในวันที่ยักษ์ใหญ่ Disney กำลังจะมาเขย่าบัลลังก์ | Techsauce

ก้าวย่างสู่อนาคตของ Netflix ในวันที่ยักษ์ใหญ่ Disney กำลังจะมาเขย่าบัลลังก์

สิงหาคม 2017 Netflix ผู้ให้บริการ Streaming Online Video เบอร์หนึ่งของโลก ถูกพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมมือกันมายาวนานอย่าง Disney ประกาศแยกทาง ส่งผลให้ Content ทั้งหมดของ Disney จะถูกถอดออกจาก Netflix ภายในปี 2019 และทาง Disney เองจะเปิดตัวบริการ Streaming Online Video ของตัวเอง นั่นหมายถึงสองยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจสื่อบันเทิงจะเปลี่ยนจากพันธมิตรมาเป็นคู่แข่งกันอย่างเต็มตัวใน Platform เดียวกันนั่นเอง

นี่ย่อมเป็นหมากทางกลยุทธ์ของ Disney ที่สร้างผลกระทบกับ Netflix พอสมควร เนื่องจาก Platform ของ Netflix เองนั้นเรียกได้ว่าก่อร่างสร้างตัวโดยการพึ่งพา Content ของ Disney มาไม่น้อย เพราะ Disney ไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าพ่อแห่งการสร้างสรรค์สื่อภาพยนตร์ใน Hollywood มานาน แต่ยังลงทุนกว้านซื้อเป็นเจ้าของสตูดิโอระดับเบอร์ต้นๆ ของโลกอย่าง Marvel, Pixar, Lucas Film (ผู้ผลิตหนังแฟรนไชส์ Star Wars) และล่าสุด 21st Century Fox

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าการมี Content ที่การันตีชื่อชั้นแบรนด์ Disney อยู่นั้นดึงดูดกลุ่มคนดูให้กับทาง Netflix ได้อย่างมหาศาลแค่ไหน

Netflix กับ 1 ขวบปีที่ไร้ Disney

ถึงกระนั้นก็ดี แม้ในช่วงแรกของการประกาศแยกทางของ Disney จะส่งผลให้หุ้นของ Netflix ปรับตัวลดลง แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 1 ขวบปี ในวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่ามูลค่าทางตลาดของ Netflix ได้พุ่งทะยานแซงหน้า Disney เป็นที่หนึ่งในวงการสื่อบันเทิงไปแล้ว โดยที่ Netflix มีมูลค่าถึง 5.04 ล้านล้านบาท ขณะที่ฝ่ายหลังมีมูลค่าอยู่ที่ 5.03 ล้านล้านบาท

ร่มความประสบความสำเร็จของ Netflix แผ่ขยายจากการเป็นผู้นำในวงการ Streaming Online Video ไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำในวงการสื่อบันเทิงเคียงบ่าเคียงไหล่บรรดายักษ์ใหญ่ที่อยู่ในวงการธุรกิจนี้มานาน ทั้งๆ ที่ Netflix เพิ่งจะมีอายุได้ 20 ปีเท่านั้นเอง

หนึ่งคำถามสำคัญคือแล้ว Netflix จะรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำอย่างไรเมื่อใกล้วันที่ Disney จะเข้ามาร่วมเล่นในตลาด Streaming Online Video อย่างเต็มตัว?

“เราจะไม่เดินตามรอย Netflix” วิสัยทัศน์ในตลาด Streaming Online Video ของ Disney

“เราจะไม่แข่งด้วยเกมของปริมาณ” “เราจะแข่งในเกมของคุณภาพ” “Netflix เดินเกมด้วยปริมาณ เราไม่อยากทำแบบนั้น” นี่คือส่วนหนึ่งของคำพูดจาก Bob Iger ผู้เป็น Chairman และ CEO ของ Disney ที่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า Disney จะไม่พยายามเดินตามรอยเกมแห่งปริมาณของ Netflix อย่างแน่นอน ซึ่ง Netflix มีแผนจะปล่อยผลงานภายในปี 2018 เป็นจำนวนที่มากกว่าผลงานของทุกสตูดิโอใน Hollywood รวมกันเสียอีก

การเคลมจุดแข็งเรื่องคุณภาพของ Disney ถือว่ามีน้ำหนักมากทีเดียว ด้วยความสำเร็จอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ของชื่อเสียงและรายได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวในปัจจุบันโดยเฉพาะการเข้าซื้อ 21st Century Fox ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการเสริมกำลังด้านแบรนด์ Content คุณภาพแล้วยังหมายถึงการเป็นเจ้าของหุ้นเพิ่มเป็น 60% ในบริษัท Streaming Online Video ชั้นนำอีกแบรนด์หนึ่งในอเมริกาอย่าง Hulu

การปรับตัวของ Netflix บริษัทแห่งความเป็น Innovation

Netflix เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ให้บริการเช่า DVD ทางไปรษณีย์ในปี 1997 จนมาถึงปี 2007 เมื่อวงการ DVD เริ่มค่อยๆ เข้าสู่ขาลง Netflix ก็เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการให้บริการแบบ Streaming Online Video ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Innovation ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการชมสื่อบันเทิงของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับโรงภาพยนตร์และเคเบิลทีวีไปอย่างสิ้นเชิง

การปรับตัวของ Netflix ไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็น Platform แต่ยังทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในการสร้าง Original Content เป็นของตัวเอง ทั้งในการสร้างสรรค์เองทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้จับมือร่วมผลิตกับผู้ผลิตอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแต่การเข้าถึงกลุ่มผู้ชมให้มากที่สุดเท่านั้น แต่ Netflix ต้องการตอบสนองคนดูทุกกลุ่มโดยการซอยกลุ่มเป้าหมายให้ละเอียดที่สุด

โดยหนึ่งในไพ่เด็ดสำคัญที่ทาง Netflix นำมาใช้ในการผลิต Content คือการสร้าง Ecosystem ของตัวเอง เปิดให้เหล่าผู้ผลิตสามารถเข้าถึง Data และ Data Analysis ของตัวเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าใจผู้บริโภคอันเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสู่การผลิตที่ประสบความสำเร็จ

กระแสตอบรับของผลงานชุด Netflix Originals อย่าง Orange is the new Black, Black Miror, Stranger Things หรือ House of Cards น่าจะเป็นตัวสะท้อนของหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ Netflix ได้วางรากฐานเพื่อศักยภาพในการแข่งขันที่ยั่งยืนด้วยการสวมหมวกเป็นผู้ผลิตเสียเองเพื่อถือ Licenses Content มากขึ้น  แทนที่จะอาศัย Content จาก Partner ทั้งหมดซึ่งอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างในกรณีของ Disney

ในด้านความแข็งแรงของความเป็น Platform ก็ได้ใช้ประโยชน์จาก Data และเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการอย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่นการใช้ AI มาช่วยประมวลผลสร้างลิสต์แนะนำหนังหรือซีรี่ส์ที่ถูกใจคนดู หรือลงรายละเอียดกับ User Interface แม้กระทั่งกับหน้าปกของหนังเรื่องเดียวกัน AI ก็จะประมวลผลเปลี่ยนปกไปเรื่อยๆ ตามรสนิยมของ user นั้นๆ

Bill Taylor เขียนใน To See the Future of Competition, Look at Netflix ได้อย่างน่าสนใจว่าความสำเร็จในเชิง Innovation ของ Netflix คือการไม่เพียงแต่การใช้ประโยชน์จาก Data และเทคโนโลยีมาช่วยว่าจะให้ผู้บริโภคดู อย่างไร แต่คือการสร้าง Platform ที่สามารถกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภคได้ว่าจะดู อะไร เขาให้คำจำกัดความว่า Big data is powerful, but big data plus big ideas is transformational.

คงต้องดูกันต่อยาวๆ ว่าการแข่งขันระหว่าง Disney ยักษ์ใหญ่อายุเกือบ 100 ปี แห่ง Hollywood ที่เป็นเจ้าของภาพยนตร์ที่ทำเงินมูลค่ารวมกันสูงที่สุดในโลก กับบริษัทเกิดใหม่ 20 ปี แต่พุ่งทะยานมาอยู่แถวหน้าด้วยพลังแห่ง Innovation อย่าง Netflix จะเป็นอย่างไร ซึ่งคงเป็นการแข่งขันที่ให้กรณีศึกษากับทุกธุรกิจได้อย่างมากมาย

อ้างอิงเนื้อหา

TheGuardian, hbrfastcompany ,forbes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...