ถกประเด็นจัดการขยะพลาสติก! ทำอย่างไรได้อีกบ้าง หากมาตรการงดแจกถุงยังไม่ใช่ทางออก | Techsauce

ถกประเด็นจัดการขยะพลาสติก! ทำอย่างไรได้อีกบ้าง หากมาตรการงดแจกถุงยังไม่ใช่ทางออก

คุณคิดว่าจากการที่รัฐบาลออกมาตรการงดแจกถุงพลาสติก สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ  ? 

หากคุณเองยังเป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับมาตรการนี้ ในบทความนี้ Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ธีระชัย ธีระรุจินนท์’ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากว่า 25 ปี ในฐานะของการเป็นผู้ประกอบการ ที่มีความเข้าใจต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน  ในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากถึงการรณรงค์ให้ห้างร้านงดแจกถุงพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คุณเห็นมุมมองอื่น ๆ ที่สามารถคิดเชิงบูรณาการ และเสนอทางออกของปัญหานี้ร่วมกันได้หลากหลายมุมมองมากขึ้น...

พลาสติก-ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก

มีมุมมองอย่างไรต่อการที่หลายคนต่างมองพลาสติกเป็นเหมือนตัวร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

ต้องบอกว่าจริง ๆ  แล้ว พลาสติกเป็นสิ่งที่ได้รับการคิดค้นและออกแบบมาเพื่อให้รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะที่การใช้กระดาษ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเยื่อไม้ ถือเป็นการเข้ารบกวนธรรมชาติโดยตรง หรือแม้กระทั่งถุงผ้าเองก็ตาม ที่ทำมาจากฝ้ายซึ่งไม่รู้ว่าพื้นที่ปลูกฝ้ายทั้งหมดของโลกจะพอใช้ต่อการบริโภคของประชากรหรือไม่ ซึ่งจากเดิมโลกเรามีประชากรอยู่ประมาน 2-3 พันล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6-7 พันล้านคน ดังนั้นการบริโภคต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร หากลองคิดแบบบูรณาการ โดยมองภาพรวมทั้งหมดของวงจรชีวิตจะเห็นได้ว่า เราอาจจะต้องใช้ทรัพยากรอีกมากมายในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองได้อย่างเพียงพอ 

ปัจจุบันการรณรงค์ให้เลิกแจกถุงพลาสติกนั้น จึงเป็นเพียงการคิดแค่ปลายวงจรที่มองเห็นแค่ภาพของ ‘ขยะ’ เท่านั้นเอง แต่ถ้ามองในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางในวงจรของพลาสติกทั้งหมด ก็จะเข้าใจได้ว่าถุงพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการที่เดิมทีวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกมาจากกากของอุตสาหกรรมน้ำมัน  ซึ่งถ้าหากกากเหล่านั้นไม่ถูกนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นพลาสติก ก็จะถูกทำลายไปโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการเผาทิ้งส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยตรง ดังนั้นพลาสติกจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาจากกากอุตสาหกรรมที่ไม่มีราคา ก็กลายเป็นของที่มีค่าขึ้นมา ทำให้การเผากากน้ำมันไม่เกิดขึ้น ถือว่าสามารถชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้ 

***FYI : ในประเด็นของการมองว่าถุงพลาสติกใช้ระยะเวลากว่าหลายร้อยปีในการย่อยสลาย ได้มีการวิจัยของสถาบันวิจัยทางทะเลของฮาวายระบุว่า จริง ๆ แล้วถุงพลาสติกใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 10-20 ปีในการย่อยสลายเท่านั้น***

นอกจากการมองถึงปัญหาของ 'ขยะ' แล้ว มาตรการรณรงค์ให้ห้างร้านงดแจกถุงพลาสติก ส่งผลกระทบในด้านใดอีกบ้าง 

ถ้าไม่พูดถึงส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมถุงพลาสติก การงดใช้ถุงพลาสติกสิ่งที่จะมากระทบโดยตรงเลยก็คือผู้ใช้งาน เพราะจริง ๆ แล้วผู้ประกอบการอยู่ในฐานะ Supplier ที่ป้อนสินค้าให้กับผู้ใช้ ดังนั้นหากมีการตัดสินค้าตัวนี้ออกไป ผู้ใช้งานเดือดร้อน เพราะตั้งแต่มีมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกออกมา สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความวุ่นวายของพื้นที่การขาย โดยคนที่ซื้อของจะจำกัดการซื้อไปโดยปริยาย เพราะธรรมชาติของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ถุง จะถือถุงด้วยสองมือ สองข้าง แต่ทันทีที่คุณใช้ถุงผ้า พฤติกรรมของผู้โภคก็เปลี่ยนไป โดยจะใช้แค่มือเดียว และส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะพกถุงผ้าเพียงแค่ใบเดียว 

ดังนั้น การที่คุณพกถุงผ้าใบเดียว สินค้าที่คุณจะใส่เข้าไปในนั้น คุณก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าคุณจะใส่อะไรเพื่อไม่ให้มันเกินขนาดที่ถุงจะใส่ได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ การซื้อจะลดลง เพราะฉะนั้นภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก และถ้ามองภาพถัดไปคือ สินค้าที่ไม่ได้ถูกหยิบจากชั้นวางลงถุง สินค้าเหล่านี้จะมีปัญหาทันที เพราะจะทำให้เกิดการหยิบสินค้าดังกล่าวยากขึ้น จากการที่ถูกจำกัดพฤติกรรมพื้นที่ในการถือของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้า OTOP น่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว เพราะเหล่านี้จะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมักจะเดินดูเป็นอย่างสุดท้าย เมื่อเห็นว่าน่าสนใจจึงค่อยหยิบ แต่เมื่อมีการจำกัดพฤติกรรมก็จะส่งผลให้ถูกตัดออกทันที

ปัจจุบันปัญหาอย่างเดียวของถุงพลาสติก คือ สภาพของความเป็นขยะ แม้ว่าเราจะมีการคิดค้นสินค้าตัวอื่นขึ้นมาทดแทนมากมายสุดท้ายก็กลายเป็นขยะอยู่ดี หากยังไม่มีการจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกที่ตอบโจทย์ที่สุดคืออะไร

สำหรับผมมองว่า แนวทางการแก้ไขที่ง่ายที่สุด คือ 'การจัดการขยะ' แต่ทำไมบ้านเราถึงเลือกที่จะไม่จัดการขยะ แต่เลือกมาจัดการสินค้าเพียงบางตัว ซึ่งปัญหาคือ เราไม่จัดการว่าให้สิ่งเหล่านั้นมันอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ขยะมันควรอยู่ในส่วนของขยะ แต่กลับไปอยู่ที่อื่น เช่น ทะเล ส่งผลต่อสัตว์น้ำที่กินเข้าไป ซึ่งในท้องปลาที่ตาย เมื่อผ่าออกมาแล้ว สิ่งที่เจอทั้งหมด คือ ขยะหลากหลายรูปแบบมาก ไม่ใช่เพียงแค่ถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียว หลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่ควรทำกันอยู่ เพราะเมื่อมองให้ลึกและรอบด้านจริง ๆ แล้ว บางอย่างไม่สามารถแก้อะไรได้เลย  

การรณรงค์ใช้ถุงผ้ามันก็ช่วยได้ เพราะจะมีช่วงว่างของ Life Cycle ของสินค้าที่เข้ามาทดแทนการใช้ถุงพลาสติกซึ่งอาจจะเว้นระยะของปัญหานี้ไปประมาณ 3-4 เดือน แต่เมื่อมองถึงธรรมชาติพฤติกรรมของคนที่ใช้งาน … ถุงผ้าเป็นสินค้าที่คนจะซักใช้งานไม่กี่หน แล้วก็ทิ้ง ปลายทางก็เหมือนเดิม คือ สภาพความเป็นขยะ แล้วมันจะไปแก้ปัญหาได้อย่างไร ? 

ปัญหาในการจัดการขยะของประเทศไทย เราเลือกที่จะใช้วิธีการ ฝังกลบ (Landfill) ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ดังนั้นในมุมมองของผม วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการขยะ คือ การเผาขยะแบบมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพไม่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม   ไม่ใช่การเผาแบบโบราณที่ไปเผากลางแจ้ง หรือเผาแบบไม่ควบคุมควันพิษ โดยปัจจุบันมี Case Study ที่ทำได้จริงแล้ว คือ สิงคโปร์ ซึ่งเขานำขยะเข้าเตาเผา แล้วบำบัดอากาศก่อนที่จะปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อม (ติดตามบทความของการจัดการขยะ ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขยะไร้การปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมได้โดย คลิกที่นี่)

นอกจากนี้ยังมีอีกแนวทางที่ได้รับการพูดถึงกันเป็นอย่างมาก คือ การทำน้ำมันจากขยะพลาสติก ด้วยการใช้กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่ถุงพลาสติกในห้องอบที่ปราศจากออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของพลาสติกให้เล็กลงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 300-500 องศาเซลเซียส และผ่านกระบวนการจนสามารถแปรสภาพขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีประโยชน์อื่น ๆ ได้ (อ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ของ Brajendra Kuma Sharma นักวิทยาศาสตร์จาก Illinois Sustainable Technology Center ประเทศสหรัฐอเมริกา)

โดยกรณีศึกษาที่ทำได้จริงเคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว เพียงแต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับราคาที่นำมาขายในเชิงพาณิชย์ได้ และภาครัฐบาลอาจจะไม่ได้สนับสนุนอย่างจริงจัง จึงไม่สามารถทำอย่างแพร่หลายได้ 

“แนวทางแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ของเรื่องนี้ คือ การจัดการขยะ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ให้มีการแยกขยะกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อแยกจากบ้าน พอรถขยะมาเก็บ สุดท้ายทุกอย่างก็เทรวมกันอยู่ดี ฉะนั้นในการแก้ปัญหา ถ้าจะออกแบบวิธีการอะไรให้ประสบความสำเร็จ ต้องมองด้วยความเข้าใจพฤติกรรมของคนประเทศ ซึ่งต้องออกแบบให้สามารถทำได้ง่ายๆ ตรงนี้ตอบโจทย์คนในชาติเรามากที่สุด”

***ชวนขบคิด : จากการมองว่า การกำจัดขยะด้วยการฝังกลบ สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีหนึ่งกรณีศึกษาที่ชวนย้อนมองอย่างน่าสนใจ คือ ในอดีต 'สวนจตุจักร' เคยเป็นพื้นที่หนองน้ำ รัฐบาลจึงได้มีการย้ายขยะกองขนาดใหญ่ จากโรงขยะดินแดงมาถมพื้นที่ตรงนั้นให้ และมีการปรับหน้าดินให้กลายเป็นสวนสาธารณะ การตั้งคำถาม คือ ถ้าบอกว่าพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมต้นไม้สามารถขึ้นตรงนั้นได้อย่างไร***

ปัจจุบันหลายผู้ประกอบการได้หันมาใช้ ‘ไบโอพลาสติก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางเลือก มีมุมมองตรงนี้อย่างไรบ้าง

ทางไทยอุตสาหกรรมพลาสติกได้มีการทดลองทำถุงจากไบโอพลาสติกขึ้นแล้ว และสามารถทำได้จริง แต่เมื่อนำออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์กลับไม่มีลูกค้า เหตุผลคือ ต้นทุนการผลิตสูงส่งผลให้ราคาจำหน่ายแพงกว่าถุงพลาสติกชนิดเดิมกว่า 4 เท่า และจากการที่ลูกค้าเราเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป ร้านค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว เมื่อต้นทุนสูงจึงยากที่ผู้ประกอบการจะยอมเพิ่มต้นทุน

และที่สำคัญไปกว่านั้นหากมองในมิติอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องของการย่อยสลาย คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อาหาร โดยปัจจัยลบที่เห็นอย่างแรก คือ เกิดการแย่งพืชอาหารจากคน ไม่ว่าจะเป็นแป้งหรือน้ำตาล และจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มนี้จะพุ่งขึ้น ค่าครองชีพสูงทันที 

อย่างที่สอง ในการเพาะปลูกพืชที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องมีการใช้พื้นที่ และอาจจะส่งผลให้มีการถางป่าเพิ่มแน่นอน โดยปกติแล้วพืชเหล่านี้จะเป็นพืชไร่ที่ต้องการแสงแดดมาก ฉะนั้นจะเกิดลานโล่งกว้างมากมาย เป็นพื้นที่ที่มีพืชคลุมดิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม  เพราะถ้ามีพืชชนิดเดียวในพื้นที่จำนวนมาก ๆ การสะท้อนความร้อนเกิดขึ้นทันที ดังนั้นต้นไม้มีส่วนสำคัญในการดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ ถ้าไม่มีต้นไม้การดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์จะไม่มี ดังนั้นผมมองว่าไบโอพลาสติกจากพืชไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้  แต่ตอบโจทย์ได้อย่างเดียว คือ การย่อยสลาย  อย่างที่สาม ด้านคุณสมบัติการใช้งานซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของไบโอพลาสติก คือ ความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ ที่ยังไม่ได้มีความทนทานมากพอ

ผู้บริโภคไบโอพลาสติกในระดับโลกก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งเท่าที่เห็นยังใช้จริงได้น้อยมาก  ทั้งที่มีการพูดถึง วิจัย และกระตุ้นกันเป็นอย่างมาก แต่ทำไมยังไม่มาสักที เหตุผลมันมีหลายด้าน ต้องมองหลายมิติ

ในส่วนของ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้มีการปรับตัวอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ้าง

ผลกระทบที่บริษัทได้รับจากมาตรการดังกล่าวที่เกิดขึ้น ในภาพใหญ่เชื่อว่าหลายคนคงมองว่าเป็นความยากลำบากของผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์พลาสติก แน่นอนว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นกับบริษัทที่มีลูกค้าเป็นกลุ่ม modern trade เป็นหลัก แต่สำหรับไทยอุตสาหกรรมพลาสติกแล้ว ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรงนี้ เนื่องจากลูกค้าหลัก คือ  กลุ่ม Traditional Trade

ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งขึ้นมาประมาณ 25 ปี แล้ว เราผ่านการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มามากมาย ที่ผ่านมาตลาดเติบโตขึ้นทุกปี จากการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐบาล ทำให้การการใช้บรรจุภัณฑ์ก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยการซื้อของมาบริโภคของประชาชนต้องมีการใช้ถุง บริษัทของเรามีศักยภาพในการขายไม่น้อยกว่า 2,000 ตัน และเติบโตตามการบริโภคของประชาชนมาโดยตลอด 

ในด้านของผลิตภัณฑ์จากการเติบโตของการบริโภค สินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทจึงได้มีการผลิตกล่องกระดาษบรรจุอาหาร เพื่อทดแทนการใช้กล่องโฟม ซึ่งตรงนี้เป็นหนึ่งในวิธีการกระจายความเสี่ยงของบริษัท  

นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านเข้ามา ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการการบริหารจัดการภายในเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด จุดแรกที่ต้องปรับตัว คือ การบริหารจัดการต้นทุน โดยให้ความสำคัญกับการใช้ระบบออโตเมชั่นเข้ามามากขึ้น เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ เรามองกลุ่มลูกค้าของเราเป็นหลักว่าต้องการอะไร เราก็ผลิตสินค้าเหล่านั้นออกมาเพื่อตอบสนองลูกค้าของเรา สถานการณ์ ณ ตอนนี้ เราต้องขายในสิ่งที่ลูกค้าใช้ก่อน ยังไม่ต้องปรับตัวด้วยการทำอะไรขึ้นมาใหม่ เมื่ออยู่ตัว และนโยบายต่าง ๆ ชัดเจนจึงค่อยทำผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราธุรกิจดำเนินให้อยู่รอดและเติบโตได้ ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้า 

ขณะที่การปรับตัวในระยะยาวคงเป็นการรับมือกับ Digital Disruption ที่เข้ามา ซึ่งผมมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอะไร เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นพัฒนามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ เราอยากได้อะไรที่ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น เขาก็พัฒนามาเพื่อให้ตอบโจทย์ หน้าที่ของเราแค่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่มีเท่านั้นเอง เรียนรู้ที่จะใช้มัน ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างมาก  เช่น ในโรงงานของไทยอุตสาหกรรมพลาสติก ก็มีการศึกษาที่จะนำ AI เขามาช่วยในส่วนของสายงานการผลิต เพราะมีผลต่อการบริหารต้นทุน นอกจากนี้เราก็ได้ศึกษาถึงการนำระบบจดจำใบหน้า (Face recognition) เพื่อเอามาควบคุมพนักงาน การบริหารงานภายใน

ท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเป็นแบบไหนก็ตาม เราก็ต้องปรับตัวเพื่อไปต่อ สินค้าทุกชนิดบนโลกนี้ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เสมอ ไม่มีสินค้าตัวไหนหรอกที่ทำมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...