SPAC ระดมทุนทางลัดในต่างประเทศ ที่ไม่อาจเกิดได้ในเมืองไทย แชร์มุมมองจาก IB และ VC | Techsauce

SPAC ระดมทุนทางลัดในต่างประเทศ ที่ไม่อาจเกิดได้ในเมืองไทย แชร์มุมมองจาก IB และ VC

 หากใครที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ Startup ในต่างประเทศจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ต้นปี 2021 มักจะมีข่าวคราวของแผนการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC  กันมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้น Techsauce เคยได้อธิบายถึงนิยามพื้นฐานไปแล้ว 

ถ้าพิจารณาจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา ในปี 2020 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเติบโตของบริษัทที่เข้ามาลงทุนควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC (Special Purposes Acquistion Companies) เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐมากขึ้นถึง 131 แห่ง มีดีลเกิดขึ้นกว่า 248 ดีล มูลค่ารวมกว่า 8.3 พันล้านเหรียญ และล่าสุดจนถึงตอนนี้การระดมทุนรูปแบบนี้สามารถระดมทุนได้ถึง 3.83 หมื่นล้านเหรียญเมื่อเทียบกับ 1.98 หมื่นล้านเหรียญในการเสนอขายหุ้นตามวิธีดั้งเดิมแบบ IPO (Initial Public Offering)

หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เราก็ได้เห็น Startup ระดับยูนิคอร์นหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Traveloka, Gojek หรือ Tokopedia ก็มีแนวโน้มที่เข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐผ่านวิธี SPAC เช่นเดียวกัน 

 SPAC

จากกระแสดังกล่าว Techsauce จึงได้จัดห้องสนทนาใน Clubhouse และได้เชิญ 2 ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการลงทุน ทั้งในส่วนของวาณิชธนกิจ คือ คุณคิม -สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร CEO of Asset Pro Management และ ในส่วนของ Venture Capital คุณจอม-กัมปนาท วิมลโนท Head of Investment and Strategic Partnership, Krungsri Finnovate เพื่อที่จะพูดคุยถกประเด็นในเรื่องของ SPAC ว่าทำไมถึงได้ร้อนแรงในหมู่ของ Startup ลักษณะการระดมทุน ข้อควรระวังต่าง ๆ รวมถึงปลายทางว่าจะเข้ามามีบทบาททดแทนการ IPO ได้ในอนาคตหรือไม่ รวมถึงแนวโน้มของประเทศไทยเองก็ตามว่ามีโอกาสที่จะจัดตั้ง SPAC ได้หรือไม่  

SPAC  มองไปก็คล้าย  Venture Capital + Backdoor Listing ?

คุณจอม ได้ปูพื้นเกี่ยวกับ SPAC ว่าเป็นบริษัทประเภท blank-check นั่นก็คือไม่ได้ทำธุรกิจเป็นกิจจะลักษณะ แต่มีจุดประสงค์ชัดเจนเลยว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มาเข้าลงทุนในบริษัทที่ตนเองรู้สึกสนใจและเห็นแนวโน้มการเติบโตโดยเฉพาะ ในจุดนี้ก็จะใกล้เคียงกับกระบวนการของ Venture Capital หรือธุรกิจร่วมเงินลงทุน (VC) เพราะ VC เองก็หาเงินจากนักลงทุนไปลงในบริษัทหรือ Startup เทคโนโลยีที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด 

อย่างไรก็ดี มีข้อแตกต่างอยู่ที่ VC จะระดมทุนจากนักลงทุนภาคเอกชน หรือนักลงทุนสถาบันเจาะจง และจะลงทุนใน Startup หลาย ๆ ตัว ขณะที่บริษัท SPAC จะระดมทุนจากสาธารณะ นำเงินไปพักในตลาดเงิน และจะใช้เวลา 2 ปี ในการตามหาบริษัทที่ดีที่สุดเพียง 1 แห่ง จากนั้นก็จะเลือกควบรวมกิจการตนร่วมกับบริษัทนั้นไปเลย และสิ่งที่นักลงทุนจะได้จากการควบรวมกิจการครั้งนี้คือ หุ้นในราคาที่ถูก และใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ (warrant) 

ขณะเดียวกันคุณคิม ได้เสริมในประเด็นนี้ว่า  SPAC ก็มีกลไกที่ใกล้เคียงกับการจดทะเบียนเข้าตลาดแบบ Backdoor Listing (การซื้อแบบไหลย้อนกลับ) กล่าวคือ SPAC ก็เป็นวิธีที่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พยายามผลักดันพันธมิตรให้เข้าตลาดได้โดยไม่ต้องผ่าน IPO เช่นเดียวกัน

จึงกล่าวได้ว่า SPAC เป็นวิธีทางลัดเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่หน้าตาคล้ายกับ VC กับ Backdoor แต่ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของที่ปรึกษาทางการเงินเมื่อเทียบกับวิธีของ IPO และตกลงราคาซื้อขายในตลาดได้ง่ายครบจบในที่เดียว 

‘ความโปร่งใสยังคงต้องแลกมาด้วยเวลา’ ปัจจัยที่ทำให้ SPAC ยังคงแพ้ IPO

เมื่อชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ SPAC กับวิธี IPO ก็จะเห็นแต่ข้อดีอยู่เต็มไปหมดจนไม่เอะใจเลยว่าทำไมจึงเป็นวิธียอดนิยมในตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งก็จะพบว่า เวลาเพียง 2 ปีนั้นก็อาจสร้างบาดแผลให้กับบริษัท SPAC ได้เช่นกัน

คุณจอมกล่าวว่า ดูเผิน ๆ 2 ปีเหมือนจะเป็นเวลาที่นาน แต่ถ้าลองพิจารณาดี ๆ Startup ที่อยู่ระดับขึ้นหิ้งในตอนนี้มีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวน Startup ทั้งหมด สัดส่วนคู่แข่งจึงมีจำนวนมหาศาล อีกทั้งบริษัทที่ตั้งเพื่อ SPAC หรือที่เรียกว่า Sponsor นั้นใช้เวลาทำความรู้จักกับ Startup น้อยมาก ภายใต้เวลาจำกัดนี้เอง ถ้า Sponsor ไม่มีความเป็นมืออาชีพพอ ตรวจสอบบริษัทที่ทำดีลด้วยไม่ถี่ถ้วนเท่าที่ควร ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง SPAC ตามที่ให้สัญญากับนักลงทุนได้ นอกจากจะเสียความน่าเชื่อถือแล้ว บริษัท SPAC จะต้องนำเงินทุนทั้งหมดที่ได้มาคืนพร้อมกับดอกเบี้ยอีกด้วย ความเสียหายจึงหนักกว่ากรณีของ IPO มาก

ข้อดีอีกประการหนึ่งที่ได้กลายเป็นดาบสองคมคือ ‘ความโปร่งใส’ เพราะกระบวนการควบรวมกิจการของ SPAC นั้นได้ข้ามขั้นตอนการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลไป คุณคิมจึงเน้นย้ำถึงราคาที่ Sponsor และนักลงทุนในบริษัท SPAC ต้องจ่ายคือ ต้องพิจารณาอย่างละเอียดด้วยว่าบริษัทที่ตนจะทำดีลด้วยนั้นมีความเชื่อถือมากแค่ไหน มีโครงสร้างบริษัทอย่างไร งบการเงินหรือส่วนบัญชีเป็นอย่างไร 

จุดอ่อนที่เกิดขึ้นก็คือ กระบวนการนี้ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลออกมาทั้งหมด ความเสี่ยงเรื่องเงินทุนสูญหายจึงอาจตกมาอยู่ที่บริษัท SPAC และนักลงทุนได้ 

ธุรกิจไทยโอกาสได้เข้าตลาดหุ้นแบบ SPAC เหมือนต่างประเทศได้หรือไม่

เราจะสังเกตเห็นว่ากระบวนการควบรวมกิจการของ SPAC นั้นเกิดขึ้นในสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสหรัฐเป็นตลาดที่มีสเถียรภาพสูงและดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้ง Sponsor ที่ตั้ง SPAC ก็มีความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งนักลงทุนรายย่อยมีความรู้ความเข้าใจในระบบการเงินในภาพรวม รับได้กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหากดีล SPAC ไม่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญไปกว่านั้น ก.ล.ต. สหรัฐ (Securities and Exchange Commission, SEC) ออกกฎระเบียบคุ้มครองนักลงทุนว่าถ้ากระบวนการ SPAC อยู่ระหว่างทางการสิ้นสุดดีล นักลงทุนสามารถเปลี่ยนใจขอคืนทุนได้โดยที่ยังคงถือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ (warrant) ได้

เมื่อตัดภาพมาที่บริบทในประเทศไทย คุณคิมได้ให้มุมมองว่า...ยังมีความเป็นไปได้ยาก สืบเนื่องจากระบบบัญชีในแต่ละ Startup ยังไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังประสบปัญหาด้านความโปร่งใส นอกเหนือจากนี้ นักลงทุนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนหุ้นประเภท IPO หรือ SPAC แต่ถ้าหากเกิดดีลขึ้นจริง ก.ล.ต. ในไทยอาจวางกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดไทยให้ได้มากที่สุด 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...