People Department วางโครงสร้างพื้นฐานด้านงานบริหารทรัพยากรบุคคล จนช่วยพลิกวิกฤติขาดแคลนคนทำงานทั้งหน้าบ้าน (ร้านสาขา) และหลังบ้านของบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ในฐานะองค์กรที่แจ้งเกิดแบรนด์อาหารปิ้งย่างอย่าง Bar B Q Plaza ที่ในวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในนายจ้างดีเด่นและยังมีมาตรฐานงาน HR ระดับโลก พร้อมผลักดันกลยุทธ์ Sustainable Happiness ซึ่งต้องสมดุลทั้ง People Profit และ Planet ด้วยหวังลดการใช้ขยะพลาสติก single use ได้ 1.2 ล้านชิ้น ตลอดจนวาง Mindset ให้องค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับ Digitization of Restaurants
บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งเมื่อปี 2515 มีผู้นำองค์กรคือชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นสองต่อจากบิดาคือ ชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่าบริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด และได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในปี 2559
ในวันนี้บริษัทมีเชนร้านอาหารทั้งหมด 5 แบรนด์คือ Bar B Q Plaza/บาร์บีคิวพลาซ่า (ร้านอาหารประเภทปิ้งย่างบนกระทะทองเหลือง) Joom Zap Hut/จุ่มแซ่บฮัท (อาหารต้มลวกแบบชาบูไทย) Charna/ฌานา (ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ) และ Space Q/สเปซคิว (ร้านปิ้งย่างชาบู ภายใต้แนวคิด Social Grill)
อีกทั้งล่าสุดได้ซื้อกิจการ Red Sun/เรดซัน (เชนร้านอาหารเกาหลี 12 สาขาในไทย ที่มาพร้อมสิทธิ์การเปิดและบริการแฟรนไชส์ Red Sun ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้น 3 ประเทศ คือ เกาหลี จีน และกัมพูชา) มาอยู่ภายใต้การดูแลด้วย
โดยทั้ง 5 แบรนด์มีสาขาในประเทศรวมกันทั้งหมด 213 สาขา และมีร้านอาหารในต่างประเทศ 3 ประเทศ รวม 25 สาขา
ชาตยาเล่าถึงที่มาของการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลว่า แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีพนักงานรวมถึงราว 4,000 คน แต่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วเคยอยู่ในสถานะขององค์กรที่ถูกมองข้าม จากทั้งด้วยขนาดธุรกิจที่ยังเป็นเพียงกิจการขนาดเล็ก และยังมีที่ตั้งของบริษัทที่อยู่ย่านชานเมือง ทำให้ไม่เป็นที่ดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพและมี passion เข้ามาร่วมงาน
โดย pain pointญ ที่ไม่สามารถหาบุคลากรมาร่วมงานทั้งในฝั่งสำนักงานและร้านอาหาร ทำให้แม้แต่เวลาที่เปิดรับพนักงานก็จะมีคนสนใจสมัครน้อยมาก เช่นเดียวกับในอดีตมีบ่อยครั้งที่เวลาเปิด Bar B Q Plaza สาขาใหม่มักเป็นร้านสุดท้ายที่พนักงานเต็ม จนต้องไปดึงมาจากสาขาใกล้เคียงไปก่อน
สุดท้ายเพื่อต้องการสร้างให้เป็นองค์กรที่คนอยากมาร่วมงานด้วยและมีความสุข จากความเชื่อว่าหากพนักงานมีความสุขก็จะส่งมอบบริการที่ดีและบริการที่ประทับใจให้แก่ลูกค้า และเมื่อลูกค้ามีความสุขก็จะกลับมาใช้บริการ เกิดเป็นรายได้ให้กับองค์กรที่ต่อเนื่องและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของพนักงานในองค์กรเป็นอย่างมาก
จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่โดยสร้างทีมงานที่เรียกว่า People Department ซึ่งรับผิดชอบทุกอย่างเกี่ยวกับงานด้านบุคลากรและมีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลกรเป็น People Manager ทำให้ปัจจุบันถือว่าบริษัทมีระบบบริหารงานบุคคลที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับองค์กรระดับสากล
โดยชาตยาเล่าว่าเริ่มจากปรับแนวคิดที่มองบุคลากรเป็นลูกค้าภายในองค์กร จึงต้องทำทุกอย่างประหนึ่ง internal marketing department เพราะพนักงานก็มีความสำคัญไม่ต่างกับลูกค้าภายนอก ทางทีม People Department จึงได้วางระบบทั้ง HR business practice ต่าง ๆ รวมถึง Recruitment Process การ Train/Development ตลอดจนการจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น
หลังจากมีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงแล้ว ยังได้พัฒนา People Department ขึ้นไปอีกระดับหรือปรับเปลี่ยนทีมเป็น People plus ซึ่งมีการเพิ่มเรื่องความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เข้าไปในงานด้านบริหารบุคลากรให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างสีสันตลอดกระบวนการ employee journey ที่ครอบคลุมตั้งแต่วันที่ไปประชาสัมพันธ์บริษัทที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กระทั่งแม้แต่การจ่ายโบนัส
ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างให้พนักงานรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และมองว่าเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จของบริษัท ฟู้ดแพชชั่น โดยมองว่าพนักงานทุกคนในองค์กร คือ People Manager มีบทบาทและส่วนร่วมสำคัญในการสร้างบุคคลากรที่มีศักยภาพร่วมกัน และไม่ได้มองว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น แนวความคิดเรื่องของการสร้างคนให้เป็น People Manager จึงถูกแพร่กระจายไปในทุกระดับชั้นขององค์กรได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกโดยเฉพาะในด้านของการสร้างความผูกพันของพนักงานกับองค์กร
“ถ้าฟู้ดแพชชั่นทำได้ภายใน 7-8 ปี จากบริษัทคนไทยที่ธรรมดา ๆ ที่ไม่มีอะไรเลยจนมาถึงจุดนี้ได้ เราก็เชื่อว่าทุกคนทำได้”
หนึ่งในเครื่องหมายที่ยืนยันความพยายามของบริษัทได้ระดับหนึ่ง คือการได้ รางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 (Best Employer Thailand ) สาขา Best Employer-Thailand เป็นปีแรก แล้วตามมาด้วยรางวัลที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ( Best of the Best Employers Thailand 2018) จากการประกาศผลรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นประจำปี จัดโดยบริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เพียงเท่านั้นยังได้รับรางวัลสุดยอดบริษัทดีเด่นด้านบริหารทรัพยากรบุคคลแห่งภูมิภาคเอเชีย 2562 (Best Companies to work for in Asia 2019) จำกัด โดย HR Asia Magazine นิตยสารด้านทรัพยากรบุคคลชั้นนำของทวีปเอเชีย
อย่างไรก็ตามชาตยามองว่ายังมีบางจุดด้านการบริหารคนที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ในเรื่อง reward and recognition ที่ได้คะแนนต่ำจากการทำแบบสอบถามกับพนักงานที่มีพนักงานบางส่วนรู้สึกว่าไม่ได้รับการชื่นชมยกย่องหรือขอบคุณ จึงทำให้บริษัทต้องหาวิธีการแก้ปัญหา
“เราเชื่อว่า People เป็นตัว drive ธุรกิจ ถ้ามีคนเก่งๆ มาทำงานกับเรามากขึ้น ก็จะช่วยเราคิด ช่วยทำ และช่วยเราขาย”
ชาตยาเล่าว่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น ฯ ได้วางแผนธุรกิจ 5 ปีที่ยึดกลยุทธ์ Sustainable Happiness ซึ่งไม่ได้ต้องการให้องค์กรเป็นเพียงธุรกิจที่ดูแลผู้คนให้มีความสุขโดยผ่านมื้ออาหารเป็นสื่อกลางเท่านั้น แต่ใช้ data และ innovation เป็นการยกระดับเพื่อให้องค์กรก้าวข้ามผ่านยุค digital disruption และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยกำหนดให้ทุกกิจกรรมทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านต้องปรับตัวและประยุกต์ผ่านแนวคิดนี้ ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่าง People Profit และ Planet
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นความสุขที่ยั่งยืนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ที่อยู่ในวงจร คือ พนักงาน ลูกค้า ธุรกิจ ขยายไปยังต้นน้ำ คือ เกษตรกร และกลุ่มคนที่อาจจะไม่ใช่ลูกค้าของบริษัทโดยตรง
“มองว่าถ้าสภาพแวดล้อมหรือ Stakeholder ได้รับความสุข ก็ทำให้องค์กรมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหากคนที่เกี่ยวข้องกับเราสุขเพิ่มขึ้น ก็ย่อมจะสนับสนุนเรามากขึ้น ธุรกิจก็แข็งแรงขึ้น และสามารถไปต่อได้เรื่อย ๆ”
อย่างไรก็ตามด้วยแนวคิดที่มองว่าควรเลือกสิ่งที่ใกล้กับธุรกิจและสามารถที่จะทำได้ดี จึงเน้น 4 เรื่องหลักจาก UN Sustainable Development Goal (ทั้งหมด 17 ข้อ) ได้แก่ ข้อ 2 Zero Hunger ข้อ 4 Quality Education ข้อ 8 Decent Work and Economic Growth และ ข้อ 12 Responsible Consumption and Production
โดยชาตยาเล่าว่า ก่อนนี้บริษัทได้ริเริ่มโครงการ Farmer Hub ซึ่งเป็นการทำความร่วมมือกับเกษตรกรที่ปลูกกะหล่ำปลี โดยไปช่วยยกระดับการปลูกและไปสอน เพื่อให้ให้สามารถปลูกกะหล่ำปลีที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เรียกว่า GAP (Good Agricultural Practice) และสนับสนุนเกษตรกรในหลาย ๆ ชุมชนให้มีความรู้และมีรายได้
กระนั้นเพื่อสานต่อ Sustainable Happiness ให้แข็งแกร่งขึ้น ล่าสุดบริษัทจึงออกแบบแนวคิดที่เรียกว่า Wasteless Delivery เพื่อเน้นหนักที่การช่วยลดขยะใน 2 แง่มุม อันดับแรก คือ ลดปริมาณขยะพลาสติกคงค้างโดยการเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ และในอีกแง่มุม คือ หากต้องมีการใช้พลาสติกจะต้องมีการส่งเสริมให้นำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราต้องทำการบ้านกันพอสมควร เพราะฟังก์ชั่นการใช้งานของลูกค้าต้องมาก่อน จึงต้องหา partner ที่มีแนวคิดเหมือนเราและสินค้าของเขามีฟังก์ชั่นที่ดี”
ทั้งนี้ในส่วนของการลดปริมาณขยะพลาสติกคงค้างจึงเลือกทำงานร่วมกับพันธมิตร คือ Duni ซึ่งเป็นผู้ผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยที่สามารถรักษาคุณภาพของอาหารและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถย่อยสลายได้เองในเวลาเพียง 45 วันเท่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการใช้ Single-use plastics ด้วยการใช้พอลิแลคติคแอซิด (PLA) หรือพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาไม่ถึงปี มาทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 100 ปี
ขณะที่ในส่วนของการส่งเสริมให้นำผลิตภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ จึงได้ร่วมกับ บมจ. ทีพีบีไอ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการวน (Won) เข้ามาช่วยออกแบบและพัฒนาถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษ ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล มีความหนาถึง 5 เท่า ในบริการจัดส่งอาหารทุกออร์เดอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคนำถุงพลาสติกกลับมาใช้หมุนเวียนได้ใหม่สูงสุดถึง 30 ครั้ง โดยหลังจากใช้เสร็จแล้ว สามารถสแกน QR Code เพื่อหาจุดทิ้งถุงที่ทางโครงการจัดไว้ได้
“ตั้งเป้าว่าปีนี้ถ้าเราเข้าสู่ธุรกิจ Delivery จะต้องช่วยลดขยะพลาสติก single use ได้ 1.2 ล้านชิ้น”
อีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Sustainable Happiness ก็คือการขับเคลื่อนสู่ Digitization of Restaurants หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ Digital Transformation สำหรับองค์กรด้านธุรกิจอาหาร ซึ่งบริษัท ฟู้ดแพชชั่น ฯ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปัจจุบันมีพนักงานทั้งในส่วนสำนักงานและร้านอาหารรวมให้เกิด Mindset พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านดิจิทัล
ชาตยาเล่าว่าการวางกลยุทธ์ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในเชิง Digitization of Restaurants นอกจากต้องสอดคล้องกับ Business Strategy แล้วยังต้องเป็นที่ยอมรับของลูกค้าด้วย ขณะที่ฝั่งพนักงานเองก็ต้องปรับกระบวนการคิดและทำงานไปพร้อมกัน โดยครอบคลุมทั้งงานหน้าบ้านและหลังบ้าน
ในส่วนของงานหน้าบ้าน คือ ที่ร้านหรือสาขาซึ่งเป็นจุดที่ได้สัมผัสหรือต้อนรับลูกค้า ซึ่งสามารถวางระบบให้เป็นดิจิทัลได้ในตลอดทั้ง customer journey เช่น เริ่มตั้งแต่ตอนต้นว่าลูกค้า search เจอร้านจากที่ไหน ซึ่งในจุดนี้ถือว่าทำได้พอสมควรและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านทาง Digital Communication เช่น โซเชียลมีเดียต่าง ๆ
หลังจากนั้นเมื่อลูกค้ามาถึงหน้าร้านก็จะเป็นเรื่องการรอคิว ซึ่งครั้งหนึ่งบริษัทเคยทดลองพัฒนาเครื่องจองคิวขึ้นเอง แต่กลายเป็นการสร้างความกดดันและเป็น pain ของลูกค้า จึงปรับเปลี่ยนเป็นใช้ทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่าโดยใช้ระบบของ QueQ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นรับจองคิว
เช่นเดียวกับเรื่องบัตรสมาชิกที่มีฐานลูกค้าเป็นล้านคน ที่สมัยก่อนลูกค้าต้องพกบัตรสมาชิกเพื่อใช้สิทธิส่วนลดต่าง ๆ จึงปรับเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของ BarBGon Club แอพพลิเคชั่นแทน นอกจากนี้ยังช่องทาง Line BC (Business Connect) ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเช็คข้อมูลสะสมคะแนนหรือเก็บ e-voucher ต่าง ๆ ผ่าน LINE ได้
ขณะที่ในส่วนหลังบ้านจะเกี่ยวข้องกับกระบวนทำงานภายในต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และ เป็น paperless มากขึ้น เช่น ระบบการอนุมัติ ระบบการสั่งซื้อ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ในเรื่องของการบริหารงานบุคคลก็เป็นแบบ mobile มากขึ้น ด้วยความที่บริษัทมีหลากหลายสาขา และพนักงานมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง เพื่อออกไปทำงานในหลากหลายที่ จึงต้องหาทางออกให้สามารถทำงานร่วมกัน แต่ยังคงไว้ซึ่ง speed & efficiency
รวมถึงยังคงพัฒนาระบบ data warehouse อย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันนี้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้องคกรธุรกิจสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอทั้งรายการส่งเสริมการขายและผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้า หรือที่เรียกว่า personalization ได้มากขึ้น
“เราจะไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมองว่าเราลงทุนไปแล้ว แต่ดีที่สุดคือเราต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะตอนนี้อะไรต่าง ๆ รอบตัวต่างเปลี่ยนไปเร็วมาก”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด