"หยิบยื่นนิยายให้พนักงาน แล้วเขาจะทำให้บริษัทดีขึ้น" Harvard Business Review เผย ถ้าจะพัฒนาด้าน Soft Skills การอ่านนิยายจะได้ผลดีกว่า
นักธุรกิจชั้นนำล้วนเป็นนักอ่าน แต่หนังสือนิยายกลับได้รับความสนใจเพียงน้อยนิดจากพวกเขา
Warren Buffett ใช้เวลาแต่ละวันไปกับการอ่านและแนะนำเราว่าควรอ่านวันละ 500 หน้า เขาเคยแนะนำหนังสือบ้าง แต่ไม่มีเล่มไหนเลยที่เป็นนิยาย
Bill Gates แนะนำหนังสือน่าอ่านทุกปี เขาแนะนำมาแล้ว 94 เล่ม แต่มีเพียง 9 เล่มที่เป็นนิยาย
หนังสือส่วนใหญ่ที่พวกเขาอ่านมักจะอยู่ในกลุ่ม Non-fiction ที่เป็นความรู้ในสายงานของพวกเขา พวกเขาอ่านก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่จะนำมาใช้พัฒนาด้าน Hard Skills
ทุกๆ ปี LinkedIn จะประกาศความสามารถที่เป็นที่ต้องการของบริษัท อย่าง Hard Skills ก็มีถึง 10 อย่าง โดย Blockchain, Cloud Computing, Analytical reasoning, Artificial intelligence และ UX design คือ 5 อันดับแรกที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2020
จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นความสามารถด้านเทคโนโลยี เมื่อเทรนด์ใหญ่มาทางนี้ก็ต้องยอมหลีกทางให้กับคนที่คลุกคลีด้านนี้มาตั้งแต่แรก แล้วคนที่ไม่อยู่ในสายเทคโนโลยีล่ะจะทำยังไง ลองหันไปพัฒนาด้าน Soft Skills ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
มี Soft Skills 5 อย่างที่หลายบริษัทต้องการคือ Creativity, Persuasion, Collaboration, Adaptability และ Emotional Intelligence ความสามารถเหล่านี้เป็นสิ่งที่บริษัทขาดไม่ได้เช่นกัน สมมติถ้าคุณมีคนเก่งแบบ Elon Musk เต็มไปหมด (มี Hard Skills ระดับสูงๆ) แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้เลย (ไม่มี collaboration) บริษัทของคุณก็ไม่สามารถโตได้อยู่ดี
และการอ่านนิยายก็มีประโยชน์เพื่อการนี้ ถึงแม้ว่าจะมีหนังสือ Non-fiction มากมายที่พูดถึงการพัฒนาด้าน Soft Skills อย่างเช่น Emotional Intelligence ของ Daniel Goleman แต่มีงานวิจัยจาก Harvard เผยออกมาว่าถ้าจะพัฒนาด้าน Soft Skills การอ่านนิยายจะได้ผลดีกว่า
สิ่งที่คุณจะเห็นในนิยายคือ ตัวละคร พล็อต และฉากที่เกิดเหตุ ผู้เล่าจะเชื่อมสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวและพาคุณเข้าไปพบเจอกับสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ยาก ถ้าคุณตัดเรื่องอารมณ์ออกไป คุณอาจจะคิดว่าสิ่งที่ตัวละครทำนั้นมันผิด แต่ถ้าคุณรับรู้ความคิด นิสัย อารมณ์ของตัวละครและบริบทที่เกิดขึ้น คุณอาจจะเกิดความคิดว่าสิ่งที่ตัวละครทำนั้นก็มีเหตุผล
แต่หนังสือ Non-fiction จะทำงานอีกแบบหนึ่ง หนังสือกลุ่มนี้จะตัดเรื่องอารมณ์ออกไป พยายามให้คุณคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จากนั้นย่นย่อเรื่องราวต่างๆจนได้ผลลัพธ์เป็นสองแบบ แบบนี้คือถูก แบบนั้นคือผิด ซึ่งเมื่อหนังสือฟันธงมาให้พร้อมกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เราก็มีแนวโน้มที่จะลดการโต้เถียงกับผู้เขียน
ส่วนนิยายจะปล่อยให้คุณใช้ความคิดเอาเอง นิยายเล่มเล็กๆเล่มเดียวก็มีพลังที่ทำให้ได้มุมมองหลายๆมุม
อย่างเช่นนิยายเรื่อง The Country of the Blind ของ H.G.Wells มีคำกล่าวที่ว่า “ในดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา” ซึ่งโดยหลักแล้วมันก็ควรเป็นแบบนั้น แต่ปรากฏว่าในเรื่องกลับตรงกันข้าม กลายเป็นว่าคนตาบอดสามารถเดินตามทางได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนคนตาดีกลับเดินสะดุดอยู่บ่อยๆจนถูกคิดว่าเป็นทารกที่พึ่งเกิด
ความคิดของคนตาบอดกับคนตาดีก็ไม่เหมือนกัน เมื่อฟังพวกเขาถกเถียงกันก็ไม่แปลกที่คุณจะเข้าข้างความคิดแบบคนตาดี แต่ถ้าฟังไปเรื่อยๆ คุณก็อาจจะเริ่มคล้อยตามกับความคิดของคนตาบอดได้ สิ่งที่เถียงกันไม่ใช่เรื่องกายภาพ แต่เป็นความคิดที่มีอคติ
Nancy Kidder ทำงานที่ Books@Work ที่ช่วยแต่ละองค์กรเชื่อมผู้คนให้ทำงานร่วมกันด้วยการใช้หนังสือ เธอเคยให้ผู้คนในองค์กรหนึ่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง Dead Man’s Path ของ Chinua Achebe ซึ่งเป็นเรื่องของ Michael Obi ครูใหญ่ที่ต้องการจะพัฒนาโรงเรียนชนบทให้มีความทันสมัย แต่สุดท้ายก็ต้องเจอกับความล้มเหลว
หลังจากที่ได้พูดคุยกัน Kidder ก็พบว่าผู้เข้าร่วมได้ภาษาใหม่ในการคุยแลกเปลี่ยนเรื่องงาน “ฉันขับเคลื่อนการบริหารด้วยวิธีนี้ แต่ฉันไม่ได้ต้องการจะเป็น Michael Obi ที่นี่หรอก” Kidder กล่าว
ประสบการณ์ของ Kidder บอกว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่อ่านและพูดคุยมีแนวโน้มที่จะเข้าชนกับคำถามยากๆมากขึ้น ผู้เข้าร่วมของเธอจะไตร่ตรองปัญหาอย่างเช่น วิธีการรักษาสมดุลระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและนวัตกรรม ทำไมบางครั้งเราถึงผิดพลาดในการเห็นมุมมองของผู้อื่น เราจะฟังผู้อื่นด้วยความใส่ใจมากขึ้นได้อย่างไร
เป้าหมายของการอ่านหนังสือแบบนี้คือการพัฒนาความเฉียบคมและความไวในการรับรู้ความรู้สึก มันคือการอ่านเพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านอารมณ์ คุณจะไม่ตัดสินอีกฝ่ายในทันทีเพราะนิยายสอนให้คุณรู้ว่าอาจมีเหตุจูงใจบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายตัดสินใจทำแบบนั้น
นี่คือจุดเด่นของนิยาย มันทำให้เราไม่ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูล นักวิจัยจาก University of Toronto พบว่าผู้ที่อ่านเรื่องสั้นจะมีแนวโน้มที่จะด่วนสรุปน้อยกว่า เพราะนิยายต้องการทำให้เราช้าลง มันค่อยๆเพิ่มปริมาณข้อมูลเข้าไป จากนั้นก็เปลี่ยนความคิดของเราขณะที่อ่าน
นิยายสืบสวนสอบสวนให้ความสนุกกับคุณได้เพราะมันคอยให้ข้อมูลคุณทีละนิดๆเพื่อใช้ในการไขคดี มันฝึกให้คุณไม่ด่วนสรุป คุณจะไตร่ตรองไปพร้อมกับตัวละคร คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเมื่ออ่านจบคุณก็จะเพิ่มพูนความสามารถด้าน Critical thinking
หนังสือแนวธุรกิจเป็นที่นิยมเพราะเมื่อเปิดดูคร่าวๆคุณก็จะรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นจะให้คำตอบอะไรกับคุณ ซึ่งเหมาะกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
แต่นิยายจะไม่ให้คำตอบกับคุณง่ายๆ และไม่มีคำตอบง่ายๆอยู่ในนั้น แต่มันจะทำให้คุณได้เห็นมุมมองแต่ละด้านแทน
คุกที่บราซิลมีโปรแกรมให้นักโทษได้อ่านหนังสือเพื่อลดจำนวนวันลงโทษ อ่านหนังสือ 1 เล่ม ลดจำนวนวันลงโทษได้ 4 วัน
หนังสือที่ให้อ่านคือนิยาย วรรณกรรมคลาสสิค ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ แต่นอกจากต้องอ่านแล้วยังต้องเขียนความเรียงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น
เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การลดโทษ แต่คือการเปลี่ยนความคิดของนักโทษ พวกเขาจะได้มุมมองใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆที่ได้จากการอ่านและเขียน พวกเขาจะมองโลกได้กว้างขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในคุก
Marvin Riley ซีอีโอของ EnPro Industries ไม่ลังเลที่จะจัดหานิยายให้พนักงานได้อ่าน เขาได้ร่วมกับ Books@Work เพื่อสร้างองค์กรที่ร่วมมือกันทำงาน ปลอดภัย สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความคิด เมื่อได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน Riley ได้ให้เครดิตกับทาง Books@Work ว่าสามารถเพิ่มความสามารถของการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณอาจจะคิดว่านิยายคือเรื่องแต่ง มันมีเรื่องที่ไม่จริงอยู่ในนั้นและอาจทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ แต่ก็อย่าลืมว่านิยายชั้นดีจะนำเรื่องจริงมาประกอบเป็นเรื่องราว Isaac Asimov เองก็เรียนรู้เรื่องต่างๆจากการอ่านนิยาย และนิยายที่เขาเขียนก็มาจากข้อเท็จจริงต่างๆร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ไม่ใช่การยกเมฆขึ้นมาเขียนแต่อย่างใด
เรารู้ว่าไม่มีสัตว์ในฟาร์มตัวไหนที่สามารถร่วมมือกันจนขับไล่มนุษย์ หรือสร้างโรงสีลมได้ แต่ Animal Farm ก็เผยให้เห็นว่าเนื้อแท้ของผู้นำเผด็จการเป็นอย่างไร ทำไมสัตว์เหล่านั้นถึงไม่ต่อต้าน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง
มันคือการถ่ายทอดความซับซ้อนที่เกิดขึ้นบนโลกโดยใช้เรื่องเล่าเพียงหนึ่งเรื่อง
ข้อมูลอ้างอิง: Harvard Business Review, LinkedIn
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด