ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลมสู่ Park Silom สถาปัตยกรรมเชิง Mixed Use แลนด์มาร์คใหม่กลางเมือง | Techsauce

ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลมสู่ Park Silom สถาปัตยกรรมเชิง Mixed Use แลนด์มาร์คใหม่กลางเมือง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ย่านสีลมเป็นดั่งจุดศูนย์รวมธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา แต่หารู้ไม่ว่า ความเป็นมาของถนนเส้นนี้ ก่อนจะหล่อหลอมมาเป็นย่านสีลมอย่างที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยกัน มีการเปลี่ยนแปลงเช่นไรบ้างผ่านยุคสมัย 

วันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสถาปนิกนักอนุรักษ์ คุณวทัญญู เทพหัตถี ที่จะมาร่วมเล่าถึงประวัติศาสตร์ถนนสีลม และความเป็นมาที่น่าจดจำ ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น   

จุดเริ่มต้น ที่มาของชื่อ “ถนนสีลม” 

ถนนสีลมที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเดิมมีชื่อว่า ถนนขวาง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราวปีพ.ศ. 2404 โดยเป็นถนนที่ถมขึ้นขนานไปตามแนวคลองสีลมที่ขุดเชื่อมการคมนาคมระหว่างคลองบางรักและคลองถนนตรง (คลองริมถนนพระรามที่ 4) ส่วนเหตุที่เรียกชื่อถนนว่าสีลมนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนนัก แต่อาจมีที่มาจากกังหันขนาดใหญ่ซึ่งใช้แรงลมในการสีข้าวก็เป็นได้ 

ยุคสมัยของถนนสีลม 

หากเปรียบถนนสีลมดั่งยุคสมัย สามารถแบ่งออกได้เป็นสามรุ่นที่ชัดเจน ได้แก่:

1.ยุคกำเนิดถนนสีลม (พ.ศ. 2404 – 2435) เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนา 

2.ยุคครอบครัวสีลม  (พ.ศ. 2436 – 2505) เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมเป็นย่านพักอาศัยชั้นดีของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและมีความสงบร่มรื่น ในช่วงเวลานี้ถนนสีลมมีการสัญจรด้วยยานพาหนะรูปแบบต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเจริญของกรุงเทพฯ  

  • สมัยรถรางสายสีลม  (พ.ศ. 2436 – 2450) 
  • สมัยรถเมล์ขาว (พ.ศ. 2451 – 2488) 
  • สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2489 – 2505

3.ยุคถนนสายธุรกิจ (พ.ศ. 2506 – ปัจจุบัน) เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมได้เปลี่ยนจากย่านพักอาศัยมาเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงแรมและคอนโดมิเนียมขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีระบบการขนส่งสมัยใหม่แบบรางเข้ามาถึงพื้นที่ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

  • สมัยหลังถมคลองสีลม (พ.ศ. 2506 – 2524)
  • สมัยตึกสูง (พ.ศ. 2525 – 2541)
  • สมัยรถไฟฟ้า (พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน) 

การเปลี่ยนแปลงของคมนาคมเมืองกรุงฯ  

ย่านถนนสีลม เป็นย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของระบบคมนาคมได้อย่างชัดเจน ผ่านยุคสมัยที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันไป ซึ่งแต่ละยุคล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง โดยสะท้อนผ่านยานพาหนะแสนคลาสสิคที่โลดแล่นอยู่บนถนนสีลมอย่างไม่เคยหลับใหล ตั้งแต่ยุครถรางสายสีลมที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2436 ซึ่งถือเป็นพาหนะขนส่งมวลชนชนิดแรกของไทย ทั้งยังเป็นระบบรถรางไฟฟ้าแห่งแรกในทวีปเอเชียอีกด้วย โดยในระยะเวลาต่อมา ระบบขนส่งมวลชนได้พัฒนามาสู่รถเมล์ขาวของบริษัท นายเลิศ จำกัด ตลอดจนรถเมล์ของขสมก. ตามลำดับ และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 การเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสีลมก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ถนนสีลมสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น จนกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ย่านถนนสีลมก็ยังคงเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมาโดยตลอด 

สถาปัตยกรรมที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย 

ในแง่มุมของงานสถาปัตยกรรมบนถนนสีลมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ “ยุคกำเนิดถนนสีลม” โดยมีบ้านศาลาแดง คฤหาสน์สไตล์นีโอโกธิกรุ่นบุกเบิก บ้านพักแบบบังกาโลเขตร้อนชื้นของมิชชันนารีต่างชาติ และตึกแถวรุ่นแรกสไตล์นีโอคลาสสิค เป็นต้น นอกจากนี้บนถนนสีลมยังมีมรดกสถาปัตยกรมที่มีคุณค่าสูงอีกหลายแห่ง เช่น สุสาน ศาสนสถานรุ่นแรก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นย่านนานาชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมต่างเชื้อชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของถนนสีลมจนถึงทุกวันนี้ 

ต่อมาถึงรุ่นครอบครัวสีลม ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ วังเจ้านาย บ้านพักอาศัยขุนนาง และคหบดีในรูปแบบบ้านไม้สองชั้นสไตล์ฝรั่ง ซึ่งให้แรงบันดาลใจต่อมาสำหรับการสร้างห้องแถวและตึกไม้สองชั้น ตลอดจนสถาปัตยกรรมของโบสถ์คริสต์และโรงเรียนคริสเตียน ไปสู่คลับชาวต่างประเทศและโรงแรมที่พักนักท่องเที่ยวในลำดับต่อมา 

และท้ายสุด ย่านถนนสีลมได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาสู่ถนนสายธุรกิจในราว พ.ศ. 2506 ตราบจนถึงปัจจุบัน จากการกำเนิดของตึกแถวและอาคารพาณิชย์ที่มีความสูงน้อย (Low-rise) จนพัฒนาสู่ตึกสำนักงานและโรงแรมที่มีความสูงมากเพิ่มขึ้น (Medium & High Rise) ทั้งในสไตล์ไทยร่วมสมัย (Thai contemporary) อย่างโรงแรมดุสิตธานี สไตล์ตกแต่งผนังเป็นจังหวะซ้ำๆ (Patterned Façade) อย่างอาคารศรีเฟื่องฟุ้ง  รวมถึงตึกสไตล์ Brutalism อย่างตึกโรงแรมนารายณ์ และตึกยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) อย่างตึกสเตททาวเวอร์ สู่ตึกสูงระฟ้าสไตล์ Modern อย่างตึกมหานครที่เป็นเอกลักษณ์ของเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ ในปัจจุบัน  

เรื่องราว บ้านสิวะดล กับ “น้ำใจ” ต่อชุมชนที่ไม่เคยลืมเลือน 

แม้ถนนสีลม จะผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความทรงจำของสถาปัตยกรรมบ้านหลังเก่า ที่ตราตรึงในจิตใจคนย่านสีลมจากรุ่นสู่รุ่น นั่นก็คือ “บ้านสิวะดล” 

บ้านสิวะดล บ้านไม้ทรงฝรั่งหลังใหญ่ หนึ่งในสัญลักษณ์ของถนนสีลมเมื่อครั้งอดีต สร้างขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อราวพ.ศ 2465 บนที่ดินแปลงใหญ่หลายไร่ อันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างนายเคงเหลียน สีบุญเรืองและพี่สาวคือ คุณยายเพ็ชร์ ตัวบ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากไม้สักขนาดใหญ่ เป็นฝีมือของทีมช่างไม้คนไทยและช่างจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้  บ้านสิวะดลนั้นมีพื้นที่ใช้สอยมากมาย ภายในจึงกั้นแบ่งออกเป็นห้องเล็กตามจำนวนสมาชิกของบ้านที่มีอยู่ประมาณ 20 คน 

เมื่อครั้งอดีต “บ้านสิวะดล” เป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนชาวสีลมยุคเก่า เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีน้ำใจและมิตรภาพที่ดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านประตูรั้วด้านหน้าที่เปิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อวางโอ่งข้าวสารไว้หน้าบ้านภายใต้แนวคิดว่า “ใครใคร่ตัก ตัก” ซึ่งเป็นแนวคิดการแบ่งปันจากคุณยายแก้ว  ภรรยานายเคงเหลียน ซึ่งเปรียบดั่งศูนย์รวมของบ้าน และศูนย์รวมของน้ำใจชุมชนสีลม ที่มอบให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ โดยในช่วงวิกฤตน้ำท่วม บ้านสิวะดลยังได้เปิดรั้วให้ผู้คนมาเก็บปลาช่อนที่วนเวียนอยู่หน้าบ้านอีกด้วย ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องราวน่ารัก ตกทอดผ่านยุคสมัย สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อมา

ภายหลัง ครอบครัวสีบุญเรือง ได้ซื้อที่ดินใกล้เคียงอย่างบ้านศยามานนท์ รวมเป็นที่ดินผืนเดียวกับบ้านสิวะดล ซึ่งในปีพ.ศ. 2515 ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิม เพื่อนำมาสร้างเป็นอาคารสีบุญเรือง ที่นับเป็นตึกที่สูงที่สุดบนถนนสีลมในช่วงเวลานั้น และมีการพัฒนาเป็นอาคารสีบุญเรือง 2 อาคารสิวะดลและอาคารจอดรถสองแห่งในลำดับต่อมา 

ปรากฏการณ์ใหม่แห่งย่านสีลม

ในปัจจุบันพื้นที่ทำเลทองของบ้านสิวะดลตรงใจกลางของย่านสีลมแห่งนี้ ได้ถูกส่งต่อมายังบริษัท นายณ์ เอสเตท ภายใต้การร่วมมือกับไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผืนดินนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนเมือง เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย อันเป็นที่มาของโครงการ พาร์ค สีลม (Park Silom) สถาปัตยกรรมเชิง Mixed Use โดยมีแนวคิดการออกแบบที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และใส่ใจในคุณภาพ ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานให้เช่า ร้านค้าสำหรับชุมชนและพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ยุคใหม่ได้หายใจอย่างเต็มปอดไปพร้อมๆ กับการทำงานอย่างมีความสุข   เพื่อต่อยอดมิตรภาพและการแบ่งปันตามเจตนารมณ์เดิมของบ้านสิวะดลที่คำนึงถึงการให้และการคืนคุณค่าสู่ผู้คนและสังคมเป็นจุดสำคัญ โดยโครงการ พาร์ค สีลม มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2022 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของถนนที่ชื่อว่า “สีลม”  

ติดตามสถานะ และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ พาร์ค สีลม ได้ที่ www.parksilom.com และ Facebook: Park Silom 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...

Responsive image

เริ่มปีใหม่ด้วย Life Audit เปลี่ยนความฝันเป็นแผนที่ชัดเจน

เริ่มต้นปีใหม่ให้มีความหมายด้วย Life Audit กระบวนการ 3 ขั้นตอนที่ช่วยสำรวจความต้องการที่แท้จริงของคุณ พร้อมวางแผนเป้าหมายอย่างมีระบบและได้ผลจริง...