ถอดมายาคติ Social Enterprise ทำไม กิจการเพื่อสังคม จึงเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายว่า ‘ต้องเจ๊ง’ ? | Techsauce

ถอดมายาคติ Social Enterprise ทำไม กิจการเพื่อสังคม จึงเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายว่า ‘ต้องเจ๊ง’ ?

ปัจจุบันเรามักจะได้ยินถึงเรื่องของการทำธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสังคม หรือ SE : Social Enterprise กันอย่างแพร่หลาย และมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับการสนันสนุนการทำธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ( Corporate Social Responsibility ) ของบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ ที่เป็นการมักเป็นการนำผลกำไรส่วนเล็กน้อยมาจัดกิจกรรม เพื่อให้เห็นจะต้องมีส่วนที่ตอบแทนกลับคืนสู่สังคม แต่ Social Enterprise จะเป็นการสร้าง Impact ให้สังคมผ่านธุรกิจหลักที่ทำ และมุ่งเน้นการขยายผลที่จะให้เกิดผลกับสังคมในวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง

Social Enterprise

ทุกวันนี้การเกิดขึ้นของธุรกิจดังกล่าว หลายต่อหลายครั้งอาจจะถูกปกคลุมด้วยมายาคติทางสังคม ซึ่งเป็นการสื่อความหมายด้วยความเชื่อทางวัฒนธรรม โดยการทำให้เสมือนว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม สำหรับ Social Enterprise ขึ้นชื่อว่าการทำธุรกิจก็ย่อมต้องมีการทำเพื่อการเกิดผลตอบแทน ที่อาจจะมาในรูปแบบของกำไร แต่แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของธุรกิจดังกล่าว คือ การที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ และปัญหาเหล่านั้นได้หมดไปต่างหาก แต่แน่นอนว่าในเรื่องของเงินทุน ก็เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน ดังนั้นต้องมีการวางโมเดลธุรกิจ เพื่อทำให้สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปพูดคุยกับ นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ประธานคณะผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคตะวันออก และผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม อย่างบริษัท สุขสาธารณะ จำกัด ธุรกิจที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย ซึ่งหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และแนวคิดของการเป็น Social Entrepreneur ที่ทำธุรกิจด้วยการกลับไปมองถึงแก่นหรือแนวคิดพื้นฐานของการทำกิจการเพื่อสังคมด้วย ว่าแท้จริงแล้วการทำธุรกิจนี้เป้าหมายหลัก คือ ความต้องการที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น 

จุดเริ่มต้นของแนวคิดในการตั้ง บริษัท สุขสาธารณะ จำกัด เป็นอย่างไร

ก่อนที่จะตั้งเป็นบริษัท สุขสาธารณะ จำกัด ขึ้นมา ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1999 (พ.ศ.2542) เดิมผมทำระบบข้อมูลให้กับโรงพยาบาลรวมกว่า 80-90 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กในต่างจังหวัด และคลินิกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯอีกประมาณ 300 กว่าแห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เราดูแลคนประมาณ 6 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นระยะเวลารวมกว่า 10 ปี  ดังนั้นจะทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก  จึงได้นำมาวิเคราะห์ และได้เห็นถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของโรค โดยสิ่งที่เราเห็นคือ คนเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคจำพวกโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ กันมากขึ้น และพบในคนอายุที่น้อยลงเพียงอายุแค่ 35-40 ปีเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วโรคเหล่านี้จะพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉะนั้นหมายความว่า เราไม่ได้อยู่ในสังคมผู้สูงอายุ แต่เราอยู่ในสังคมที่มีคนเป็นโรคผู้สูงอายุก่อนวัยอันควร

สำหรับโรคเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วจะเป็นโรคที่ต่อเนื่องกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นคุณแสดงออกมาว่าเป็นโรคอะไร แต่ปัจจุบันจากการที่คนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นก็เป็นธรรมดาว่าไม่มีใครอยากตายตั้งแต่อายุยังน้อยแน่นอน ฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาว่าจะมีคนไข้จำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาสู่การรักษา ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะรักษาอย่างไรก็ไม่มีทางชนะโรคได้อย่างแน่นอน โดยจะมีตัวอย่างให้เห็นที่อเมริกาที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อคนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะอย่างที่บอกว่าโรคเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วจะเป็นต่อเนื่อง เช่น  เมื่อมีความดันสูง ต่อไปจะส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานและไขมัน เมื่อหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ก็ส่งผลให้มีแนวโน้มเป็นมะเร็งต่ออีก สุดท้ายก็จะไปจบที่สมองเสื่อม เป็นโรคสุดท้ายที่รักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้นโรคเรื้อรังเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่องและสะสมไปเรื่อยๆ

สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้คนเป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ หรือถ้าเป็นแล้วจะทำอย่างไร ให้เขาไม่ป่วยต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แทนที่จะมุ่งรักษาเราก็อยากป้องกันมากกว่า ในอดีตการป้องกันโรค หมอมักจะพูดเหมือนกับให้ศีล 5 เสมอว่า ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

หมอจะถูกสอนมาเพื่อให้รักษาโรค ไม่ได้ให้ป้องกันโรค เขาถูกสอนมาให้วินิจฉัยโรคจากอาการ เขาสามารถบอกได้ว่าเราเป็นโรคหรือไม่เป็นโรค แต่บอกไม่ได้ว่า เราสุขภาพดีแค่ไหน นี่คือ ปัญหาของฝั่งผู้ให้บริการทางการแพทย์

ดังนั้นตอนที่ตั้งกิจการเพื่อสังคม อย่างบริษัท สุขสาธารณะ จำกัด ขึ้นมา ผมมีความคิดว่า หากสามารถทำให้กระบวนการในการมองข้อมูล หรือติดตามข้อมูลให้มีความต่อเนื่องและเป็นระยะยาว น่าจะสามารถช่วยบอกคนไข้ได้ว่า เขามีโอกาสที่จะเกิดโรคหรือไม่ เพื่อที่จะทำให้เขาได้มีการป้องกัน  พูดง่ายๆ คือ การใช้ข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง 

จากการเห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นมากมาย สะท้อนถึงแนวโน้มของการเป็นโรคของคนไทย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำต่อหลังจากนั้น คืออะไร 

ต้องบอกว่าจากการที่เรามีข้อมูล ซึ่งมาจากการทำระบบหลังบ้านให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้เรานำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และหาสาเหตุของการที่คนเป็นโรคเรื้อรังกันมากขึ้น และได้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนป่วยกันมากขึ้น นั่นก็คือ อาหาร เราจึงได้ตั้งคำถามให้มีความท้าทายไปอีกว่า แล้วเราควรจะกินอะไรถึงไม่เป็นโรค? ซึ่งก็ไม่มีงานวิจัยมากพอที่จะมาช่วยบอกได้ จึงทำให้ผมคิดว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และคนไทยทุกคนกินข้าว ทำอย่างไรเราจึงจะหาข้าวที่ดีและมีประโยชน์กับคนที่กินได้ หลังจากนั้นผมก็เริ่มมาสนใจเรื่องพันธุ์ข้าว หาความแตกต่างของข้าวแต่ละสายพันธุ์ก็ได้พบว่า ข้าวไทยมีความหลายหลายกว่า 20,000 ชนิด แต่ที่ขายอยู่ในตลาดมีแค่ 10 กว่าชนิด เรามีแค่ข้าวขาว ข้าวกล้อง ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าข้าวพันธุ์อะไร นี่คือสิ่งที่เป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 

หลังจากนั้นผมก็ได้ตั้งทีมวิจัยขึ้นมา ซึ่งได้วิจัยตั้งแต่พันธุ์ข้าว ยีนส์ข้าว ความแตกต่างของโครงสร้างแป้งของข้าว และได้เลือกข้าวสินเหล็ก ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่น้ำตาลต่ำมาทดลองปลูก เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มีขายทั่วไป จะมีก็แค่ในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสนเท่านั้น เมื่อปลูกข้าวได้แล้วผมจึงนำข้าวที่ได้มาทดลองรับประทานเอง พบว่าน้ำหนักตัวของผมลดลงมาเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ออกกำลังกายเลย ทำให้ผมมาตั้งคำถามต่อว่า ผมผอมลงจากอะไร สิ่งที่ค้นพบก็คือ ข้าวบางชนิดมีโครงสร้างแป้งที่แตกต่างกัน โดยเราจะเรียกว่า แป้งทนย่อย ซึ่งจะพบได้ใน ข้าวญี่ปุ่น สังเกตได้เลยว่าคนญี่ปุ่นเขากินข้าวเยอะมาก แต่เขาไม่อ้วน และมีสุขภาพดี จึงทำให้เราเริ่มทำความเข้าใจลงลึกไปอีก จนมีงานวิจัยตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ข้าวไปจนถึงผลกระทบต่อแบคทีเรียในลำไส้ และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมากมาย 

เมื่อเรามีวิทยาศาสตร์เข้าไปอธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถบอกคนไข้ได้ชัดเจน และทำให้เขานำไปปฏิบัติได้ 

นอกจากการนำองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นไปใช้กับคนไข้แล้ว ในแง่ของชาวนา เราได้มีการขยายองค์ความรู้เหล่านี้อย่างไรบ้าง 

เราก็เริ่มขยายงานกับชาวนา ด้วยการชวนพวกเขาให้เปลี่ยนการทำเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยเราให้เมล็ดพันธุ์และแนะนำวิธีปลูกข้าวที่จะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่การปลูกข้าวแบบเกษตรเคมี พวกเขาต้องใช้เมล็ดพันธุ์กว่า 25 กิโลกรัมต่อไร่ในการปลูก เพราะความเชื่อดั้งเดิมในการปลูกข้าว คือ จะต้องใช้เมล็ดข้าวให้มากก็จะได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นวิธีคิดของคนขายเมล็ดพันธุ์ แต่ในทางกลับกันถ้าลองหานวัตกรรมในการปลูกดี ๆ จะพบว่าข้าว 1 ต้น จะแตกกอประมาณ 8-12 กอ ทุกครั้งที่ข้าวแตกกอ 1 รวงเท่ากับ 1 อัน เราเรียกว่า Yield การปลูกกล้าด้วยข้าวต้นเดียว และให้มีระยะห่างจะทำให้จำนวนกอเพิ่มขึ้น ซึ่งที่เราเจอสูงสุดคือ 48 กอ แต่ถ้าปลูกแบบเดิมได้เพียง 12 กอเท่านั้น โดยวิธีการปลูกในแบบของเรา คือ ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลง แต่ได้ yield จากการแตกกอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาสามารถลดต้นทุนในการทำนาได้อย่างมหาศาล และทำให้พวกเขามีรายได้รวมจากการทำนาสูงขึ้นด้วย 

ตอนนั้นสามารถขยายกับกลุ่มชาวนาได้รวดเร็วแค่ไหน และปัจจุบันมีกี่ครัวเรือนที่เข้าร่วม

ตอนที่เริ่มทำเรามีทีมที่เข้าไปหาชาวนาที่มีความสนใจก่อน โดยเริ่มทำกับกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันก็สามารถขยายได้กว่า 200-300 ครัวเรือนในจังหวัดกาฬสินธุ์ สุรินทร์ เชียงใหม่ และเชียงราย ต้องบอกว่าตอนที่เริ่มทำผมไม่สามารถที่จะขยายได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรามีเงินทุนจำกัด แต่ผมใช้วิธีการที่ว่า ผมให้เมล็ดพันธุ์เขา สิ่งที่ผมขอคืนคือเมล็ดพันธุ์ 1.5 เท่าเพื่อมาขยายงานต่อ เพราะผมเชื่อในการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ลงลึก

ยกตัวอย่างที่กาฬสินธุ์ พวกเขาสามารถทำผลผลิตได้มากกว่าที่ผมจะรับซื้อ ดังนั้นผมจึงให้เขาเข้าไปหาเกษตรจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด เพื่อจดทะเบียนการค้า ทำโลโก้และ packaging ซึ่งเมื่อเขาเข้มแข็ง เขาก็ไปต่อข้างหน้าได้ ไม่ได้รอพึ่งเราเพียงอย่างเดียวแล้ว ซึ่งเราก็ช่วยสนันสนุนด้านการให้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นเวลาขาย เพราะสิ่งที่ผมทำทั้งหมด คือ การแก้ปัญหาสังคม ผมมีเงินทุนแค่นี้ แก้ได้แค่นี้ ถ้ามีใครอยากจะนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก และขยายต่อ เมื่อคนกินแล้วมีสุขภาพดีก็จบ ถือว่าเป็นกำไรของเรา

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีคิดของ Social Enterprise ที่จะต้องทำแผนธุรกิจแล้วมีกำไร เป้าหมายคือต้อง เจ๊ง เพราะนั่นหมายความว่าปัญหาหมดไปแล้วและถูกแก้ไขแล้ว ผมก็เอาทักษะไปทำเรื่องอื่น ไม่ใช่ว่าจะต้องคอยไปแข่งหรือปิดกั้น

นอกจากเรื่องของ ‘ข้าว’ แล้วภายใต้ บริษัท สุขสาธารณะ จำกัด จะมี Project อะไรต่อยอดไปอีกบ้าง

จริง ๆ  แล้ว สุขสาธารณะ เรามีอีกด้านหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับระบบไอที โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำไปสู่การทำนายเรื่องสุขภาพ ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างพัฒนาให้สามารถเป็นเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุได้ โดยเราจะนำข้อมูลจาก wearable device มาทำการประมวล เพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่ได้มี show case ขึ้นมา อยู่ในช่วงที่กำลังมีคนสนใจนำไปใช้ เพราะสิ่งที่เราเห็นก็ชัดเจนขึ้นมาก อย่างเช่น ข้อมูลการเต้นของหัวใจที่ Apple watch เก็บข้อมูล สามารถบอกได้วาคนมีแนวโน้มมีความดันสูงหรือมีน้ำตาลสูงหรือไม่ นอนหลับหรือเปล่า โดยที่ไม่ต้องตรวจร่างกาย ดังนั้นข้อมูลจำนวนมากหรือที่สมัยนี้เรียกว่า Big Data  เมื่อเกิดการสะสมในระยะยาวก็ทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อทำนายโรคได้

สิ่งที่สำคัญสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นทำ Social Enterprise คืออะไร

การทำ Social Enterprise เป็นธุรกิจที่ใครก็สามารถทำได้ เพียงแค่มี Passion ที่อยากจะแก้ไขปัญหาสังคมจริง ๆ และต้องมีความอดทน อีกทั้งผมคิดว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องมี คือ การที่คุณต้อง unlearn ไม่ได้สนใจว่าตัวเองเป็นใคร และ relearn เริ่มตั้งต้นเรียนรู้ใหม่ทุกอย่าง นี่เป็นทักษะที่จะทำให้ เมื่อใดก็ตามที่เจอปัญหาใหม่เราก็ใช้ทักษะนี้ไปทำงานได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การมีความรู้ แต่เป็นกระบวนการทักษะที่จะทำให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาทั้งหมด

ผมเชื่อว่าคนที่มาทำ Social Enterprise ไม่ได้มีความพร้อมมาก ยกตัวอย่างตัวผมเองก็ไม่ได้มีความพร้อมทางการเงินมากขนาดนั้น จริงอยู่ว่าผมมีอาชีพ และมีรายได้ แต่ผมไม่มีเงินเก็บมากถึงขนาดที่จะนำมาทุ่มทั้งหมด ฉะนั้น ผมคิดว่า innovation จะเกิดขึ้นตอนที่เรามีทรัพยากรน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้  อย่างตอนที่ผมทำระบบไอทีให้กับโรงพยาบาลชุมชน ผมเขียนโครงการเพื่อไปขอเงินทุนมาทำ และตั้งใจว่าจะทำให้ได้ 10 แห่ง ภายในระยะเวลา 1.5  ปี ด้วยเงินประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยผมได้จ้างทีมงานมาช่วยทำ 5 คน ในการทำระบบซอฟแวร์ให้เสร็จและไปติดตั้ง สุดท้ายใช้เวลาเพียงแค่ 8 เดือนเท่านั้นในการเขียนซอฟแวร์ดังกล่าว  และโรงพยาบาลแรกที่ไปติดตั้งใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งการเขาไปติดตั้งนั้นจะต้องเตรียมการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ Training คนทั้งโรงพยาบาล การ Set up ระบบต่างๆ ทั้งหมดนี้ต้องทำภายในเวลาอันจำกัด จนกระทั่งในปีแรกเราสามารถขยายงานกับโรงพยาบาลได้ทั้งหมด 14 แห่งซึ่งทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกคือ 10 แห่ง หลังจากนั้นเราก็ใช้วิธีนี้ขยายผลไปเรื่อยๆ 

โรงพยาบาลที่เราติดตั้งให้ทั้งหมด เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่ได้มีเงิน แต่เขาเลี้ยงข้าวทีมงานผมและหาที่นอนให้ สุดท้ายแล้วบนความที่ไม่มี แต่ก็อยู่มาได้ 20 ปีแล้ว ตอนทำงานสิ่งเดียวที่ผมบอกทีมงานเสมอ คือ ตราบใดที่เขาใช้ระบบเรา การดูแลคนไข้ทั้งหมดอยู่ในระบบของเรา เมื่อระบบใช้งานไม่ได้ ก็กระทบกับคนไข้ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เขาโทรมา ต้องช่วยเขา เพราะ เราเชื่อเรื่องของการเกื้อหนุน เมื่อเขามีรายได้ ประสิทธิภาพดีขึ้น เขาก็ไม่ทิ้งเรา สุดท้ายก็เป็นระบบ ที่ทำให้อยู่กันมายาวนานขนาดนี้

สิ่งที่อยากจะบอก คือ ถ้าเรามาด้วยทรัพยากรที่มาก อย่างการทำ Start Up ในปัจจุบัน ที่จะมีการ raise fund มีเงินทุนมากมาย ทำให้วิธีคิดจะคนละแบบกัน เพราะของผม คือ ถ้าไม่มีเงินจะทำงานให้สำเร็จได้อย่างไร จริงอยู่ที่มีเงินมันดีกว่า แต่ถ้าไม่มีจะทำให้เราคิดอีกแบบหนึ่ง ต้องเอาตัวรอดให้ได้

จากการที่หมอก้องเกียรติถือเป็นบุคคลแรกๆที่ตัดสินใจทำ Social Enterprise ที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย มีสิ่งที่อยากแนะนำสำหรับคนที่ต้องการทำตรงนี้อย่างไรบ้าง

คำว่า Social Enterprise สำหรับผม คือ การที่คุณต้องหาปัญหาสังคม (Social problem) ที่เราอยากจะแก้ให้ได้ก่อน และเราต้องนำ innovation เข้าไปแก้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันแก้ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มี innovation เลย หลังจากนั้นค่อยใช้วิธีทางธุรกิจให้มันอยู่รอดไปได้ สำหรับผมเองผมจะไม่ใช่คนที่ทำธุรกิจเพื่อไปช่วยสังคม ผมไม่ได้หาเงินเพื่อไปช่วยสังคม ถ้าแบบนี้ผมไม่เรียกว่าเป็น Social Enterprise อย่างโครงการที่ผมทำจะเห็นว่า โครงการแรกที่ทำเรื่องระบบไอที ปัญหาที่มองเห็นคือ โรงพยาบาลชุมชนมีปัญหาด้านการจัดการข้อมูลคนไข้ ดูแลคนไม่ได้ ดังนั้น innovation ของผมคือ ทำระบบไอทีไปให้เขาใช้และใช้อย่างสะดวก ซึ่งผมก็หา business model ให้โครงการของผมอยู่รอดมาได้ 20 ปีแล้ว  ส่วนเรื่องข้าว ผมได้รับโจทย์จากผู้ใหญ่ให้ไปแก้ไขมา 2 เรื่อง คือ ทำให้ชาวนาไม่จนและทำให้คนไม่ป่วย ดังนั้นผมต้องมี innovation เพื่อไปแก้ pain point ดังกล่าว จากที่เล่าไปตั้งแต่ตอนแรกจะเห็นได้ว่าผมเริ่มต้นจากการที่ ต้องมีความรู้ ทำงานวิจัยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาให้ได้ก่อน จากนั้นถึงหา business model มาทำให้มันอยู่ได้ 

ดังนั้นผมมี  3 อย่าง ที่อยากให้ทำความเข้าใจ เพราะหากเข้าใจทั้งหมดก็จะทำให้เห็นภาพเลยว่า ถ้าเป้าหมายทางสังคมที่ต้องการจะทำนั้นมันใหญ่ จะทำให้สามารถตัดสินใจตั้งแต่วันแรกได้เลยว่าจะท้อหรือไม่ แต่ถ้าเรามี Passion ที่จะทำมันจริง ๆ ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

ข้อแรก เมื่อเราได้ pain point มา เห็นแล้วว่าอะไรที่ต้องการแก้ไข จากนั้นตั้ง vision อีก 10 ปีข้างหน้า ว่าเราอยากเห็นอะไรเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้มี mile stone ที่ต้องไปให้ถึง และระหว่างทางมันมีปัญหาแน่นอน แต่เมื่อไรที่มีปัญหาให้กลับไปมองเป้าหมายสุดท้ายว่าเราต้องการเห็นอะไรเปลี่ยน

ข้อสอง ผมคิดว่าถ้าเป้าหมายเรายาวขนาดนี้ เราทำสิ่งนี้เพื่อไปต่ออีกสิ่งหนึ่ง จะสำเร็จก็ต่อเมื่อถึงปลายทาง เพราะสิ่งที่จะมาวุ่นวายกับเราในระหว่างทาง คือ คนที่อยากเข้ามาอยู่ในความสำเร็จของเรา 

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งผมสอนว่า รางวัลเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะเราจะเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้มาก ดังนั้นเวลาทำไปเรื่อย ๆ อย่าไปกังวลว่าทำไมยังไม่เห็นเรา ที่พบได้ยินมาบ่อยๆ คือ มักจะชอบคิดว่าทำไมไม่มีใครเห็นความดีความงามในสิ่งที่เขากำลังทำเลย”

ข้อสุดท้าย ถ้าวันแรกที่เริ่มทำแล้วรู้สึกว่า ตัวเองกำลังเป็นคนเสียสละ ก็ให้เลิกทำเลย มันเสียเวลา เพราะสำหรับ Social Enterprise คุณทำ เพราะอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่ได้ทำเพราะ เป็นคนดี เสียสละ รักสิ่งแวดล้อม 

สำหรับผมแล้ว ผมไม่เยียวยาใคร คำว่า Entrepreneur สำหรับผมคือ นักรบ ดังนั้นคำว่า Social Entrepreneur คือ การที่คุณจะต้องต่อสู้กับปัญหาสังคม ซึ่งมีความซับซ้อนมาก

อย่างเรื่องข้าว ผมเป็นหมอ ไปบอกให้ชาวนาปลูกข้าว แล้วผมรับซื้อ ชาวนามีความสุข ผมเอามาขายในเมือง คนได้ประโยชน์ และผมก็คิดไปถึงว่าชาวนาเองกินแล้วได้ระโยชน์ด้วยหรือไม่ ที่คิดไปถึงตรงนี้ เพราะจุดประสงค์ คือ เราต้องการแก้ปัญหาสังคม เราไม่ได้ต้องการขายข้าว 

ฉะนั้นความท้าทาย คือ ทำอย่างไรที่เราจะแก้ปัญหานี้ได้ และไม่ให้ก่อให้เกิดปัญหาอีกที่หนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้ว สังคม คือ การร้อยเรียงอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหานี้แล้วมันจะจบ สำหรับผม การทำงานในการแก้ปัญหาสังคม จริงๆ แล้ว คือ การฝึกตัวเอง ฝึกให้เราแข็งแกร่งขึ้น ฝึกให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น และเห็นอกเห็นใจตัวเอง เพื่อที่จะไปทำต่อมากกว่า ดังนั้นเมื่อตัดสินใจทำ Social Enterprise แล้วอย่าไปคาดหวังรางวัล 







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...