กฎหมายเทคโนโลยีและการส่งเสริม Startup ที่น่าจับตาในปี 2022 | Techsauce

กฎหมายเทคโนโลยีและการส่งเสริม Startup ที่น่าจับตาในปี 2022

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่กำลังดำเนินไป ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ทั้งในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ Techsauce ร่วมมือกับ Baker McKenzie นำเสนอคอนเทนต์แบ่งปันความรู้ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญทั้งต่อกับธุรกิจ Startup และ Corporate  ในบทความนี้ Techsauce จะพาผู้อ่านไปติดตามรายละเอียดเบื้องต้นของกฎหมายเทคโนโลยี และกฎหมายที่ส่งเสริม Startup ที่น่าจับตามองในปี 2022 ซึ่งให้ข้อมูลโดยคุณโสมิกา ภคภาสน์วิวัฒน์ และคุณศิรัญญา หรูวรรธนะ ทนายความหุ้นส่วนจาก Baker McKenzie

กฎหมายเทคโนโลยี

กฎหมายควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform Service)

ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2022 ที่จะเข้ามากำกับดูแลควบคุมธุรกิจ Digital Platform Service ที่ทำหน้าที่ในลักษณะสื่อกลางเชื่อมต่อธุรกิจหรือผู้ประกอบการเข้ากับผู้ใช้ หรือกล่าวคือ เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเชื่อมต่อกันบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์

หากร่างกฎหมายนี้มีการประกาศใช้บังคับ แพลตฟอร์มที่ดำเนินงานในลักษณะที่กล่าวไปข้างต้นมีหน้าที่จะต้องไปแจ้งการประกอบธุรกิจกับทางหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA โดยจะต้องไปแจ้งก่อนการให้บริการแพลตฟอร์ม หรือในกรณีที่มีการประกอบธุรกิจอยู่ก่อนที่กฎหมายนี้จะใช้บังคับ จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ  และหลังจากนั้นยังมีหน้าที่นำส่งหนังสือแจ้งขนาดธุรกิจเป็นรายปีให้กับ ETDA ประกาศเงื่อนไขการให้บริการการระงับหรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการตามที่ ETDA กำหนด ภาคธุรกิจจึงควรติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่ช้า 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีความพิเศษที่กำกับดูแลครอบคลุมไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ประกอบกิจการในต่างประเทศ หรือไม่มีบริษัทในประเทศไทย แต่มีการให้บริการในประเทศไทย หากการให้บริการของแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้าลักษณะที่ร่างกฎหมายกำหนด เช่น มีการแสดงผลทั้งหมดหรือบางส่วนบนเว็บไซต์เป็นภาษาไทย มีการกำหนดให้ชำระเงินหรือสามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินไทย มีการจัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย หรือมีลักษณะอื่นใดตามที่ระบุในร่างพระราชกฤษฎีกา

สำหรับช่วงเวลาที่คาดหมายว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเร็วที่สุดคือ ไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่จะใช้ในขั้นตอนการพิจารณาไม่ได้มีกรอบเวลาที่ตายตัว ดังนั้น หากประเด็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายระยะเวลาประกาศใช้ออกไป 

แนวทางการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย

  • ความสำคัญลำดับแรกที่ธุรกิจควรทำเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในกฎหมาย คือจะต้องมีการแจ้งการประกอบธุรกิจกับทาง ETDA และปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น หน้าที่ในการส่งหนังสือแจ้งขนาดธุรกิจรายงานขณะประกอบธุรกิจเป็นรายปี และให้ความร่วมมือเมื่อได้รับคำสั่งตามกฎหมายหรือคำสั่งศาลให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้และกฎหมายอื่น เป็นต้น

  • ในส่วนของการร่างข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms of Use / Terms of Services) ที่ประกาศใช้กับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอาจจะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA จะประกาศกำหนดหรือไม่ เช่น  ข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการอาจจะต้องมีการระบุถึง เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการ หลักเกณฑ์ที่ใช้จัดอันดับหรือการแนะนำรายการสินค้าหรือบริการบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเสนอโฆษณาสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล การเข้าถึงและการใช้งานข้อมูลที่ได้รับจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล การสอบถาม การร้องเรียน และการระงับข้อพิพาท รวมทั้งกรอบระยะเวลา ดำเนินการในการระงับข้อพิพาท และการดำเนินการสำหรับเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา เป็นต้น

  • ทั้งนี้ ทาง ETDA มีอำนาจที่จะออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมได้ เพื่อบังคับใช้สำหรับองค์กรธุรกิจที่ถือเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ ตามที่ ETDA จะประกาศกำหนดซึ่งอาจกำหนดเป็นการเฉพาะรายหรือไม่ก็ได้ 

กฎหมายส่งเสริม Startup ให้สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนได้ในวงกว้าง และสามารถนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดรองได้

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ที่ออกมาสนับสนุน SME และ Startup ที่น่าสนใจ คือ เกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ซึ่งอนุญาตให้บริษัทจำกัดที่เป็น SME และ Startup สามารถระดมทุนได้ในวงจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป คือ เกณฑ์ของก.ล.ต.ที่ออกมาเกี่ยวกับการระดมทุนเพื่อให้ SMEs และ Startup สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนได้ในวงกว้าง และสามารถนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดรอง หรือที่เรียกว่า LiVE Exchange  ซึ่งในส่วนนี้จะเพิ่มโอกาสให้ SME Startup มีช่องทางการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น

การยกเว้นภาษี capital gain (ภาษีที่เก็บจากกำไรจากการขายหุ้น) สำหรับ Startup

ในปีที่ผ่านมา เป็นข่าวดีของคนในวงการ Startup ที่นายกฯ ได้รับข้อเสนอการยกเว้นภาษี capital gain (กล่าวคือภาษีที่เก็บจากกำไรจากการขายหุ้น) ส่วนของประเด็นการประกาศยกเว้น Capital Gain Tax ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะมีการยกเว้นในเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะต้องติดตามในรายละเอียด เช่น จะมีการให้คำนิยามของคำว่า ‘Startup’ ครอบคลุมเพียงใด รวมทั้งระยะเวลาด้วย เช่นหากเป็นบริษัทที่ครอบคลุมว่าเป็น Startup ในตอนต้นแต่ว่าต่อมาขยายกิจการของบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่แล้ว เป็นยูนิคอร์นไปแล้ว หากมีการขายหุ้นในตอนนั้นจะยังได้รับยกเว้นภาษีจากการขายหุ้น (capital gain) อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกฎหมายเกี่ยวกับการยกเว้น Capital Gain Tax ออกมา อย่างน้อยที่สุดจะช่วยให้ Startup ไทยมีโอกาสมากกว่าเดิม กล่าวคือ หนึ่ง จะเป็นการสนับสนุนให้ Startup ตั้งบริษัทในประเทศไทยมาก เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางด้านภาษี และสอง เมื่อประเทศไทยมีข้อดีของการลงทุนก็จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศหันมาลงทุนใน Startup ที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

PDPA กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะประกาศใช้ในปีนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ตามกำหนด คาดว่าน่าจะมีผลในการปรับตัวของผู้ประกอบการพอสมควร เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูล ซึ่งจะมีผลต่อการนำข้อมูลไปใช้ในทางธุรกิจ โดยผู้ประกอบการต้องใช้ข้อมูลโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไปพร้อม ๆ กัน   

จากการที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับทุกประเภทธุรกิจ จึงจะมีความท้าทายว่า ในแต่ละธุรกิจจะมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างไร เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีการใช้ข้อมูลที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย สาธารณสุข การผลิต ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในทางปฏิบัติว่าจะสามารถทำตามกฎหมายได้ครบถ้วน ถูกต้อง สอดคล้องแนวทางปฏิบัติของธุรกิจหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีการทำธุรกิจแบบ B2C ซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากที่ต้องบริหารจัดการ ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการข้อมูลก่อนกฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับ

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ควรต้องคำนึงก็คือ กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลของตนเองหลายประการ เช่น เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตน ขอระงับการใช้ข้อมูล ขอถอนความยินยอมที่เคยได้ให้ไปแล้ว ขอลบข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากอาจเข้ามาขอใช้สิทธิ ดังนั้น ธุรกิจจึงควรต้องเตรียมความพร้อม จัดวางระบบ จัดทีม และต้องมีการบริหารจัดการการเก็บใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหน้าที่ตามกฎหมาย และรองรับการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ การปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท และเมื่อบริษัทมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะพบ ซึ่งทำให้ได้เห็นการไหลเวียนของข้อมูล (Data Flow) และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดในทางธุรกิจต่อไปได้อีก เพราะฉะนั้นสำหรับธุรกิจจึงไม่อยากให้มองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่สามารถมองได้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

แนวทางการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี

หากธุรกิจจับเทรนด์และปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ ก็จะสามารถเพิ่มโอกาส ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการของตนเองได้ด้วย ซึ่งเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากขึ้นในปี 2022 ได้แก่ Non-Fungible Token (NFT) Gaming Artificial Intelligence (AI) Metaverse และ Digital ID

NFT

NFT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานมาจาก Blockchain โดย NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นเหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนกันได้ มีหน่วยข้อมูลเก็บอยู่บน Blockchain และสามารถนำไปผูกกับสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ศิลปะดิจิทัล (digital art) จนเกิดเป็น NFT Art ได้ เพื่อรับรองความถูกต้องแท้จริง และแสดงหลักฐานทางธุรกรรมที่ได้บันทึกไว้บน Blockchain โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลชาวไทยหลายรายก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายศิลปะ NFT (NFT Marketplace) และจัดทำความร่วมมือระหว่างทางแพลตฟอร์มกับศิลปินชาวไทย เพื่อพัฒนาวงการศิลปะดิจิทัลของประเทศไทยและสร้างโอกาสเพิ่มเติมให้แก่ศิลปินชาวไทยในการนำงานศิลปะของตนออกสู่ตลาดโลก 

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการนำ NFT มาใช้กับงานศิลปะดิจิทัล อาจจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทางกฎหมาย เช่น ประเด็นเกี่ยวสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ซื้อจะได้รับในการซื้อขาย NFT และการดำเนินการทางกฎหมายและมาตรการเยียวยาแก่ศิลปิน ในกรณีที่มีการนำงานศิลปะอันละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (ซึ่งอาจปรากฎบ่อยในงานดัดแปลงและ Fan Art) มามิ้นท์ (mint) และขายผ่านแพลตฟอร์ม NFT Marketplace เนื่องจากสร้างและซื้อขาย NFT สามารถทำได้อย่างไร้พรมแดน จึงอาจทำให้เกิดความยากลำบากต่อการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การดำเนินคดี เพราะแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งาน และศิลปิน อาจอยู่คนละประเทศและนอกเหนือการบังคับใช้ของกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ การใช้ NFT ที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงสิทธิหรือการเข้าถึงสินค้าหรือบริการกับผู้ที่ถือ NFT นั้นอาจจะต้องพิจารณาว่าเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ซึ่งอาจถือจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใต้กำกับตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ หากลักษณะของ NFT นั้นเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใต้กำกับ การประกอบธุรกิจ NFT Marketplace จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายดิจิทัล อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่าง ๆ ควรจะติดตามทิศทางในการกำกับดูแล NFT ต่อไป เนื่องจากปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล NFT marketplace ให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของสากล

Gaming

การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมเกมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การเล่นเกมมีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากเพื่อความความบันเทิงส่วนตัว เพราะสามารถสร้างอาชีพ รายได้ และโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้แก่เกมเมอร์ได้หลายช่องทาง ตั้งแต่การเป็น Streamer ที่ถ่ายทอดการเล่นเกมของตนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ผู้ที่สนใจ ซึ่ง Streamer หลายรายอาจเป็น Influencer ในโลกโซเชียลมีเดียด้วย จนไปถึงการที่ผู้เล่น eSport ที่นำการเล่นเกมมาแข่งขันกันในลักษณะเดียวกับการแข่งขันกีฬา โดยที่เกมเมอร์จะได้รับสถานะเป็นนักกีฬาอาชีพ

ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวกับ Gaming

เนื่องจากกระทรวงกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประกาศให้ eSport เป็นกีฬาอาชีพและสนับสนุนการแข่งขัน โดยในวงการเกมไม่ว่าจะเป็นตัวเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Developer อาจมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณา เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเกม (เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์) กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกม กฎหมายเกี่ยวกับการพนัน และกฎหมายเกี่ยวกับเนื้อหา (Content regulation) ตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการเกมอาจจะต้องติดตามต่อไป นอกเหนือจากประเด็นกฎหมายต่าง ๆ แล้วเกมเมอร์ที่สนใจการ Stream หรือเข้าร่วมในการแข่งขัน eSport หรือ Organizer ที่สนใจจัดการแข่งขัน eSports อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าทำสัญญาต่าง ๆ เพื่อที่จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามสัญญานั้นอีกด้วย

ในขณะนี้ โลกของเกมยังได้พัฒนาไปโดยนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาปรับใช้ เกิดเป็น Blockchain-based Gaming หรือเกมบนระบบ Blockchain ที่เกมเมอร์สามารถเล่นเกมและสร้างรายได้เป็นเงิน Cryptocurrency ได้ (Play to Earn) เช่น เกม Axie Infinity ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นจำนวนมากจนได้รับความนิยมในหลายประเทศ อีกทั้งผู้สร้างสรรค์เกมหลายราย เช่น Sandbox ก็ได้นำเทคโนโลยี Blockchain-based Gaming มาต่อยอดกับ NFT โดยกำหนดให้ไอเทมที่ผู้เล่นได้สร้างขึ้นมาผ่านเกม Sandbox มีสถานะเป็น NFT ที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบน NFT Marketplace ได้ การที่ไอเทมในเกมที่มีสถานะเป็น NFT นั้นกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากเกม อาจทำให้ไอเทมในเกมนั้นถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และอาจถูกกำกับโดยกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งแพลตฟอร์มเกมนั้นอาจต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด

AI 

AI หรือ Artificial Intelligence เป็นที่คำคุ้นหูในปัจจุบัน ซึ่ง AI นั้นได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ โดยการประมวลผลของ AI นั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data-Driven) และอาจถูกนำไปใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบและในหลากหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างของลักษณะของการใช้ AI ที่อาจพบเห็นได้ เช่น เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition) และ Chatbot ที่ช่วยในการสนทนากับลูกค้าแบบ real time ซึ่งเข้ามาช่วยในการบริการและบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า การวิเคราะห์แบบพยากรณ์ (Predictive analytics) ที่เข้ามาช่วยในการคัดเลือกสิ่งที่ลูกค้าสนใจ เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการนั้นแก่ลูกค้า หรืออาจนำมาใช้ช่วยในการบริหารจัดการ Supply Chain เป็นต้น ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า AI จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมทั้งสร้างนวัตกรรมต่อไปในอนาคต ในประเทศไทยนั้น อาจเริ่มเห็นการนำ AI มาใช้เป็น Chatbot เพื่อสนทนากับลูกค้าในเบื้องต้น หรือแม้แต่ใช้ AI เข้ามาให้คำแนะนำในการลงทุน 

ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวกับ AI

ในส่วนของประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น AI มีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น เช่น เรื่องความคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาในงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดย AI ความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับ AI และประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น สำหรับความคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา AI นั้น อาจถือได้ว่าเป็น source code ซึ่งจะถูกคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรในบางกรณี สำหรับงานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้ AI เข้ามาช่วยอาจถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ที่ใช้ AI นั้นเข้ามาช่วยในการพัฒนางานชิ้นนั้นขึ้นมา อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะมีประเด็นพิจารณาต่อไปว่างานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดย AI โดยที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชิ้นนั้น จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ 

ความรับผิดจากการกระทำของ AI

ในส่วนของความรับผิดในงานหรือการกระทำของ AI นั้น เช่น ในกรณีที่มีเป็นรถยนต์ไร้คนขับไปชนทรัพย์สินหรือแม้แต่บุคคลอื่นบนท้องถนน หากมองจากมุมของกฎหมายในปัจจุบัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดให้บุคคลที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และในทำนองเดียวกันพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัยก็ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดร่วมกัน หากมองต่อไปในอนาคต เมื่อ AI นั้นสามารถกระทำการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยที่ผู้ประกอบการเองไม่สามารถคาดเดาได้ว่า AI จะกระทำการใด อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นเลย ในส่วนนี้จึงอาจมีต้องมีการพัฒนาทางกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของการพัฒนา AI ต่อไปในอนาคต  นอกจากนี้ ในการพัฒนา AI ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจาก AI นั้นถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูล หากข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลส่วนบุคคล การเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดข้อมูลนั้นก็ควรเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันได้มีการออก AI Ethic Guideline โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเข้ามาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนา AI ซึ่งกล่าวถึงหลักต่าง ๆ เช่น ความโปร่งใส เป็นธรรม ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล เป็นต้น ดังนั้น ในการพัฒนา AI ธุรกิจอาจคำนึงถึงหลักการเหล่านี้ รวมทั้ง ติดตามทิศทางในการกำกับดูแล AI ต่อไป

Metaverse

Metaverse ก็เป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ที่สำคัญในยุคนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างโลกเสมือนจริงที่สามารถจำลองภาพได้แบบ 360 องศา โดยอาศัยเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ซึ่ง Metaverse เป็นการเปิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ศิลปิน Ariana Grande ได้จัดอีเวนท์คอนเสิร์ตบนวิดีโอเกม Fortnite หรือแบรนด์แฟชั่น Luxury อย่าง Gucci เองก็ได้เปิดตัว Gucci Garden เป็น pop-up store บนแพลตฟอร์มเกม Roblox ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกชมและซื้อเครื่องแต่งกายจากทางแบรนด์สำหรับตัวละครของตนในเกมได้ เป็นต้น

ประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจในโลก Metaverse

แม้ Metaverse จะเป็นโลกเสมือนคู่ขนานกับโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลก Metaverse นั้นทุกคนก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อตกลงที่เข้าทำไว้ไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นจึงไม่อาจหลีกเลี่ยนที่จะพิจารณาว่ามีประเด็นทางกฎหมายอะไรบ้างที่ต้องเข้าใจบ้าง เช่น เรื่องการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นยื่นการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า (Trademark) ซึ่งอาจจะต้องทำให้ครอบคลุมถึงรายการสินค้าและบริการ (Class) ในรูปแบบ Virtual  ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ แบรนด์ เช่น Nike Ralph Lauren และ DKNY ได้เริ่มมีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าในรายการสินค้าและบริการ (Class) ที่ครอบคลุมถึงสินค้าและบริการในรูปแบบ Virtual ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมความพร้อมทางกฎหมายสำหรับการเสนอขายสินค้า Virtual Goods และบริการของตนภายในโลก Metaverse จนถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกธุรกิจ แฟชั่น และ E-Commerce และยังมีประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีก ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และการควบคุมหรือกำกับดูแลด้านเนื้อหา (content regulation) บน Metaverse อีกด้วย

Digital ID

สุดท้ายแล้ว อีกเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและได้ถูกนำมาใช้แล้ว ได้แก่ Digital Identity หรือการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาที่หลายคนอาจเคยพบอยู่บ่อย ๆ ในการติดต่อหน่วยงานของรัฐหรือทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความซับซ้อนและอาจต้องใช้เวลา ในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลและแสดงหลักฐานต่าง ๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน โดยระบบ Digital ID นี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดึงข้อมูลจากระบบดิจิทัลมาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เอกสารกระดาษเมื่อมีการทำธุรกรรมออนไลน์ อีกทั้งยังสามารถลดขั้นตอนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน (Verification and Authentication) ผ่านกระบวนการ (Know-Your-Customer: KYC) ได้อีกด้วย  

ปัจจุบัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ได้มีการนำ Digital ID มาใช้เพื่อพัฒนาระบบการส่งข้อมูลระหว่างองค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่อ (seamless user experience) ยิ่งขึ้น อีกทั้งประเทศออสเตรเลียได้มีการพิจารณาใช้เทคโนโลยี Digital ID เพื่อตรวจสอบอายุของผู้เยาว์ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์บางประเภท เช่น เกมการพนันและเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหารุนแรง ซึ่งประเทศไทยเองก็อาจปรับใช้ Digital ID ได้ในการดำเนินการของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ การตรวจคนเข้าเมือง ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ E-Commerce ที่สำคัญได้เช่นกัน 

ในประเทศไทย ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งมีการออกมาตรฐานต่าง ๆ ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และทาง ETDA เองก็ได้มีการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID โดยจัดโครงการ Regulatory Sandbox ที่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์สามารถนำนวัตกรรมของตนเข้าร่วมทดสอบในสนามเสมือนจริงได้ นอกจากนี้  ยังมีร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาตที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการแต่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่ชัดว่าร่างพระราชกฤษฎีกาจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด โดยร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดให้บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีลักษณะตามที่กำหนด ได้แก่ บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider Service) และบริการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity Platform Service) เป็นบริการที่ต้องได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดี การให้บริการ Digital ID ก็ยังมีประเด็นที่ยังควรพิจารณาและให้ความสำคัญ นั่นคือ เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยื่งเมื่อมีการโอนข้อมูลส่วนบุคคลข้ามระหว่างหน่วยงาน การใช้งานจึงจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับแต่ละธุรกรรม


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...