ถอดบทเรียนจากความผิดพลาด วิธีรับมือโรคระบาด จนนำมาสู่ภัยคุกคามระดับโลก | Techsauce

ถอดบทเรียนจากความผิดพลาด วิธีรับมือโรคระบาด จนนำมาสู่ภัยคุกคามระดับโลก

เราแทบจะได้ยินเสียงถอนหายใจด้วยความโล่งอกเมื่อผู้คนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีการระบาดใหญ่ครั้งใหม่เข้ามาเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกอีกครั้ง

จากงานวิจัยของ Maureen Miller ผู้ช่วยรองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Conversation ระบุว่า มีวิธีง่าย ๆ ในการลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ นั่นคือ การเฝ้าระวังแบบเชิงรุกและแบบเรียลไทม์ในสภาพแวดล้อมที่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมักเกิดขึ้นได้มากที่สุด

อีกนัยหนึ่งคือ อย่ารอให้ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล แต่ให้เฝ้าสังเกตการณ์ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดแทน

แผนยุทธศาสตร์การป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกทราบมานานแล้วว่า โรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นเป็นปัญหา ในปี 1947 องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วโลกเพื่อตรวจหาภัยคุกคามจากโรคระบาดผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเฝ้าระวังกลุ่มอาการ (Syndromic surveillance) โดยอาศัยรายการตรวจสอบอาการที่เข้าเกณฑ์เพื่อหาสัญญาณความเป็นไปได้ในการเกิดหรือการเกิดซ้ำของโรคระบาดในประชากรผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย ๆ

ยุทธศาสตร์ทางคลินิกนี้อาศัยทั้งผู้ติดเชื้อที่มาโรงพยาบาลในกรณีอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ และหน่วยงานทางการแพทย์ที่มีอิทธิพลและยืนหยัดมากพอที่จะสร้างความเข้าใจและความตระหนักเรื่องโรคระบาดแก่ประชาชน

มีเพียงอุปสรรคเดียว คือ ในตอนที่ผู้ป่วยมาถึงที่โรงพยาบาล นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดได้เกิดขึ้นแล้ว ในกรณีของไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้น มีแนวโน้มที่น่าจะแพร่ระบาดมานานแล้วก่อนที่จะถูกตรวจพบ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งเดียวที่ยุทธศาสตร์ทางคลินิกทำให้เราพลาด

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ

การใช้แนวทางเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นกำลังได้รับความนิยมในโลกของการป้องกันโรคระบาด ซึ่งแนวทางดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่เกิดจากสัตว์ได้กลายมาเป็นไวรัสอันตรายในมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนบ่อยครั้ง

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ เนื่องจากสัตว์ที่เป็น “ตัวกลาง” เช่น ชะมด ลิ่น หรือหมู ไวรัสอาจต้องกลายพันธุ์ก่อนเพื่อให้ตัวไวรัสกระโดดเข้าหาผู้คนได้ในตอนแรก แต่ในตอนสุดท้าย สิ่งที่ทำให้ไวรัสสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบก็คือตัวมนุษย์เอง

ทฤษฎีวิวัฒนาการของไวรัสกำลังแสดงให้เห็นแบบเรียลไทม์ด้วยพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ความเป็นจริงแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้เสนอว่า การแพร่เชื้อจากคนสู่คนซึ่งเกิดหลังจากการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนที่ไม่สามารถตรวจพบได้นั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัสซาร์ส-โควี-2

เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่น อีโบลา ได้รับความสนใจจากชาวโลกเป็นครั้งแรกในยุค 1970 การวิจัยด้านขอบเขตของการแพร่กระจายของโรค ก็ได้อาศัยการตรวจสอบแอนติบอดีและการตรวจเลือดเพื่อหาคนติดเชื้อ การเฝ้าระวังแอนติบอดี้ หรือที่เรียกว่า Serosurvey คือการทดสอบตัวอย่างเลือดจากกลุ่มประชากรเป้าหมายเพื่อระบุจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยจะช่วยตรวจสอบโรคต่าง ๆ เช่น อีโบลา ว่ากำลังแพร่ระบาดทั้งที่ปราศจากการตรวจพบหรือไม่

ผลปรากฏว่า พบแอนติบอดีรักษาอีโบลาในมากกว่า 5% ของผู้ที่ได้รับการทดสอบในไลบีเรียเมื่อปี 1982 หลายสิบปีก่อนการแพร่ระบาดในแอฟริกันตะวันตกในปี 2014 ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของไวรัส โดยไวรัสจากสัตว์นั้น บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานในการที่จะแปรเปลี่ยนเป็นไวรัสอันตราย และแพร่ไปสู่มนุษย์ได้

นอกจากนี้ สิ่งนี้ยังหมายความว่านักวิทยาศาสตร์มีโอกาสที่จะเข้าไปแทรกแซงอีกด้วย

การวัดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

วิธีหนึ่งที่จะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่ไวรัสในสัตว์กำลังปรับตัวให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ คือการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว การตั้งระบบเตือนภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดโดยการตระหนักถึงยุทธศาสตร์นี้ จะสามารถช่วยตรวจหาไวรัสก่อนเกิดการแพร่ระบาด ก่อนที่ไวรัสเหล่านั้นจะกลายเป็นตัวอันตรายต่อมนุษย์ได้ และจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ก็คือจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดโดยตรงนั่นเอง

ทีมของฉันทำงานร่วมกับสือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นในการพัฒนาการทดสอบแอนติบอดีของมนุษย์ เพื่อตรวจสอบหาไวรัสที่เป็นญาติห่าง ๆ กับไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่พบในค้างคาว เราได้สร้างหลักฐานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนผ่านการทำ Serosurvey ขนาดเล็กในปี 2015 ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน พบว่า 3% ของผู้เข้าร่วมวิจัยพักอาศัยอยู่บริเวณที่มีค้างคาว ซึ่งมีเชื้อไวรัสซาร์ส มีผลการตรวจแอนติบอดีไวรัสโคโรนาเป็นบวก ทว่ามีผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ติดเชื้อคนใดให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเลย การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์สเมื่อปี 2003 และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (MERS) เมื่อปี 2012 ทำให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอยู่ในระดับที่สูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิจัยได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ระหว่างปี 2015-2017 ในภูมิภาคที่เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวอันเป็นที่รู้กันว่ามีเชื้อไวรัสซาร์สที่เป็นบ่อเกิดของไวรัสโคโรนา รวมไปถึงไวรัสที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 และไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับไวรัสซาร์ส-โควี-2 มากที่สุดด้วย

มีผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยกว่า 1% ที่มีผลการทดสอบแอนติบอดีเป็นบวก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาติดเชื้อไวรัสซาร์สที่ก่อให้เกิดไวรัสโคโรนามาก่อน และเป็นอีกครั้งที่ไม่มีผู้เข้าร่วมวิจัยคนใดให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบเชิงลบด้านสุขภาพเลย แต่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับที่ใช้ในกรณีอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ในโรงพยาบาล ได้เผยให้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิดยิ่งกว่าเดิม กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมวิจัยอีก 5% ให้สัมภาษณ์ถึงอาการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโรคซาร์สในปีที่ผ่านมา

งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ให้หลักฐานทางชีววิทยาที่จำเป็นในการหาข้อพิสูจน์แนวคิดในการวัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเท่านั้น แต่ระบบเตือนภัยคุกคามจากโรคระบาดยังจับสัญญาณที่มีลักษณะคล้ายกับเชื้อไวรัสซาร์สที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด แล้วยังอาจตรวจพบเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ในระยะแรกได้อีกด้วย

หากมีมาตรการเฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่ ผลการวิจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาสมาชิกในสังคมที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่ไม่สามารถตรวจพบได้ แต่หากไม่มีการกำหนดแผนการ เราก็จะพลาดการรับรู้ถึงสัญญาณนั้นไป

จากการคาดการณ์สู่การเฝ้าระวัง ไปจนถึงการจัดลำดับพันธุกรรม

ความพยายามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นไปที่การค้นพบเชื้อโรคในสัตว์ป่าและการคาดการณ์การแพร่ระบาดก่อนที่ไวรัสในสัตว์จะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนได้ แต่ไม่ได้คาดการณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน รวมถึงไข้หวัดใหญ่ H1N1 เมื่อปี 2009 โรคเมอร์สเมื่อปี 2012 โรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2014 หรือแม้แต่โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองการคาดการณ์ได้ทำแผนผังแสดงจุดที่เป็น “hot spots” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดมากที่สุดจากทั่วโลกการเฝ้าระวังระยะยาวที่จุด “hot spot” เหล่านี้ สามารถตรวจจับสัญญาณการแพร่ระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของจำนวนคนที่มีแอนติบอดี ระดับการเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ในหมู่ผู้ติดเชื้อ เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังโรคในเชิงรุก หากตรวจพบสัญญาณ การแพร่ระบาดก็จะตามมา บุคคลที่มีอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย จะใช้การตรวจคัดกรองด้วยการจัดลำดับพันธุกรรมเพื่อระบุเชื้อและลักษณะของไวรัสตัวใหม่

นี่คือสิ่งที่ เกร็ก เกรย์และทีมของเขาจากมหาวิทยาลัยดุ๊กทำในการวิจัยไวรัสโคโรนาที่ยังไม่ถูกพบในเขตชนบทของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรู้กันว่าเป็นจุด “hot spot” ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน จากการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง 8 คนจาก 301 คนซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคปอดบวมที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อปี 2017-2018 พบว่ามีเชื้อ Canine Coronavirus ที่มักพบในสุนัข และไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน นอกจากนี้ การจัดลำดับจีโนมของไวรัสที่สมบูรณ์ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าไวรัสกระโดดจากสัตว์สู่คนได้เท่านั้น แต่ยังมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบเดียวกันซึ่งทำให้ทั้งเชื้อไวรัสซาร์สและซาร์ส-โควี-2 เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

อย่าพลาดสัญญาณเตือนโรคระบาดครั้งต่อไป

ข่าวดีก็คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเฝ้าระวังโรคที่จุด “hot spot” ทั่วโลกนั้นมีอยู่แล้ว โครงการที่เชื่อมองค์กรต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคระดับภูมิภาค ได้เชื่อมโยงเครือข่ายเฝ้าระวังโรคระดับภูมิภาคจำนวน 6 เครือข่ายใน 28 ประเทศ พวกเขาเป็นผู้ริเริ่ม “การเฝ้าระวังโรคในผู้เข้าร่วมวิจัย” โดยร่วมมือกับชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งในด้านการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในขั้นแรกเริ่ม และด้านการมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุด เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรค

ตัวอย่างเช่น กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ได้จัดตั้งสายด่วนฟรีสำหรับสมาชิกในสังคมเพื่อรายงานการเจ็บป่วยของสัตว์โดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุขแบบเรียลไทม์ แนวทางเช่นนี้ของหน่วยงานภาครัฐเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองการประสานงานด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดก่อนที่จะกลายเป็นโรคระบาด

เมื่อลำดับความสำคัญระดับโลกและระดับท้องถิ่นมีความไม่แน่นอน การพลาดสัญญาณเตือนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในแบบเดิมที่เคยเกิดขึ้นจะต้องไม่เกิดซ้ำอีก

ที่มา: The Conversation 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...