สำหรับ Startup แล้วการจะให้สื่อลงข่าวให้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เหมือนแบรนด์ใหญ่ ที่ขยับตัวนิดหน่อย ก็มีสื่อวิ่งเข้าหาทำข่าว หรือไม่ก็ใช้บริการ PR Agency ดึงสื่อมาโปรโมท แต่สำหรับ Startup ไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อได้ลงข่าว แน่นอนว่าจะทำให้เราตื่นเต้นดีใจ ในทางกลับกันการได้ลงข่าวก็เปรียบเสมือนดาบสองคมอย่างรุนแรงสำหรับ “Startup ในช่วง Early Stage” วันนี้เลยอยากฝาก 2 เรื่องเอาไว้ก่อนที่คุณจะมัวไปโฟกัสกับการติดต่อสื่ออยู่
การที่ Startup ได้ลงข่าวในสื่อต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับ Startup ที่กำลังอยู่ช่วงเริ่มต้น Early Stage เลย แถมอาจเป็นความเสี่ยงและอันตรายกับ Startup รายนั้นด้วยซ้ำ
ทำไมหรือ? ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ถ้าคุณเกิดได้ลงข่าวขึ้นมา แต่ตัวผลิตภัณฑ์ของคุณยังไม่พร้อมเลย เมื่อคนเห็นข่าวของคุณขึ้นมา แล้วเกิดมีคนต้องการลองใช้บริการของคุณ พอมีคนไหลกรูกันเข้ามาใช้ ปรากฏว่าเมื่อ Product ของคุณยังไม่พร้อม ทำให้พวกเขาเข้ามาใช้แล้วก็ไหลออกคือเลิกใช้ทันที ดีไม่ดีพวกเขาเอาไปพูดต่อกับคนอื่น ๆ ภาพลักษณ์ยิ่งเสียเข้าไปอีก
การที่คุณได้ลงข่าวหลายหัว จึงไม่ได้หมายความว่า Product หรือธุรกิจของคุณไปได้ดี ได้รับความสนใจ สิ่งนี้เค้าเรียกว่า จุดชี้วัดแบบผิดๆ หรือที่เรียกว่า Vanity Metric จุดวัดที่พาเอาหลงทาง ช่วงคุณเริ่มต้นทำธุรกิจและพัฒนา Product ใหม่ๆ คุณต้องโฟกัสที่การพัฒนา Product ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ (Problem/Solution FIT) ก่อนให้ได้ แล้วเตรียมการสร้างฐานลูกค้าประจำต่อไป
ไม่ใช่มัววิ่งหาสื่อให้พูดถึง Product อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
อีกกรณีหนึ่งคือ ยิ่งเมื่อ Product ของคุณเป็นผู้ใช้ที่มีความสนใจเฉพาะทาง เช่น นักเล่นหุ้น แม่ค้าที่ชอบขายของออนไลน์ เป็นต้น ในขณะที่ Product ของคุณเริ่มพร้อมแล้ว สื่อหรือคอมมูนิตี้เฉพาะทางสามารถช่วยคุณได้ในการค้นหาผู้ใช้เพิ่ม และสอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้งาน แต่ไม่ควรไปเผยแพร่ยังสื่อทั่วไป หรือสื่ออื่นที่ยังไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ในวงการอื่น ๆ เพราะคุณอาจได้ผู้ใช้ที่ไม่ตรงกลุ่มเข้ามาใช้บริการและให้ความคิดเห็นที่ทำให้คุณสับสนในการพัฒนา Product ได้เลยทีเดียว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้น สมมติว่าคุณกำลังพัฒนาบริการสำหรับนักเล่นหุ้น แต่คุณเลือกโหมในสื่อใหญ่หลายแห่ง (ในแง่การใช้งาน) ที่ก็ยังไม่ค่อยรู้ว่ามีนักเล่นหุ้นมากน้อยแค่ไหน นอกจากคุณอาจไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงแล้ว แต่จะแย่กว่านั้นคือ มีคนลองเข้ามาใช้โดยเฉพาะพวกชอบลองของ ลองแอปใหม่ๆ แต่ก็ไม่ใช่นักเล่นหุ้น เช่นกัน ลองมากดเมนูต่างๆ ไปมา แล้วก็เลิกใช้ไป (ซึ่งปัจจุบันทั้งเว็บและแอปเอง สามารถติดตาม User Flow การกดไปยังเมนูต่างๆ ของ Product ตัวเองได้หมดจาก Tracking Tools อยู่แล้ว) คุณอาจจะสับสนได้ว่าทำไมผู้ใช้ถึงกดไปเมนูนั้น เมนูนี้ แล้วไม่ใช้ต่อ ซึ่งจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้อาจไม่ใช่คนที่สนใจในแอปของคุณแต่แรก ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว แค่อยากลองมาทดสอบเพราะเห็นสื่อกล่าวถึงเฉยๆ
ถ้าเราไปโฟกัสกับการพัฒนา Product เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้อาจทำให้เราหลงทางเลยทีเดียว
นี่ก็เป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากฝากไว้ให้ระวังกันสำหรับ Startup ที่กำลังอาจโฟกัสผิดจุดในช่วงกำลังเริ่มต้นธุรกิจ การให้คนอื่นหรือสื่อพูดถึงคุณย่อมเป็นเรื่องดี แต่นั่นอาจเหมาะกับช่วงที่ Product ของคุณพร้อมระดับหนึ่งแล้ว หรือกำลังเข้าสู่ช่วง Scale Stage
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด