Fast Fashion กับ Sustainability จะไปด้วยกันได้อย่างไร เมื่อการตลาดมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกบริโภค | Techsauce

Fast Fashion กับ Sustainability จะไปด้วยกันได้อย่างไร เมื่อการตลาดมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกบริโภค

เชื่อว่าทั้งหลายคนที่ต้องอยู่บ้านติดต่อกันหลายเดือนก็คงรู้สึกทั้งเบื่อ เครียด และเซ็งไม่ใช่น้อย พอความเบื่อหน่ายสะสมก่อตัว ทางออกของใคร หลาย ๆ คนก็คงหนีไม่พ้น “การช้อปปิ้งออนไลน์” แค่เพียงจิ้มของใส่ตะกร้า ชำระเงินและรอของมาส่ง ก็เหมือนเป็นกิจกรรมอัดฉีดความสุขได้อย่างไม่รู้ตัว และหมวด “ของมันต้องมี” สำหรับคนเหล่านี้มักจะเป็น เสื้อผ้า น่าแปลกใจที่ว่าต่อให้เราไม่ได้ไปข้างนอก การเห็นโฆษณาขายเสื้อผ้าลดราคาทางโซเชียลมีเดียก็ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะกด CF สักตัวสองตัวเสมอ

แม้ว่าการซื้อเสื้อผ้าจะกลายเป็นงานอดิเรก ช่วยให้เราผ่อนคลายและรู้สึกมั่นใจท่ามกลางความตึงเครียดของโควิด-19 ได้ดี แต่รู้หรือไม่ว่า...กระแสการบริโภคนี้เองกลับบ่มเพาะให้เกิดแฟชั่นที่เรียกว่า “Fast Fashion” ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมระดับต้น ๆ ของโลก และมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาล

ในบทความนี้ Techsauce จะพามาทำความเข้าใจว่าเหตุใด คนถึงรักและนิยมใน Fast Fashion ทั้งที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง โดยที่เรายังสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม

Fast Fashion คือ

เมื่อกระบวนการผลิตเสื้อผ้า 1 ชิ้น ใช้ทรัพยากรมากกว่าที่เห็น

Fast Fashion คือ กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็วฉับไว โดยใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแรงงาน เพื่อที่ให้เสื้อผ้านั้นมีราคาถูก เข้าถึงง่าย และไม่ว่าใครก็มีเสื้อผ้าสวย ๆ สวมใส่ได้ในทุกโอกาส แต่กระนั้นเอง ตลอดทุกขั้นตอนการผลิตได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

ในแง่ของการใช้ทรัพยากร อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตและทำความสะอาดสินค้ามากที่สุดในโลก เนื่องจากเสื้อผ้านั้นทำมาจากเส้นใยฝ้ายเป็นหลัก และกว่าจะผลิตใยฝ้ายออกมาได้ 1 กิโลกรัมนั้น ต้องใช้น้ำถึง 10,000 ลิตร หรือประมาณ 3,000 ลิตรต่อเสื้อผ้า 1 ตัวเลยทีเดียว เช่นเดียวกันนี้ สีที่ใช้ย้อมเสื้อผ้าส่วนใหญ่แล้วยังคงสังเคราะห์ขึ้นมาจากสารเคมีซึ่งทำให้เกิดน้ำเสียคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ  และสร้างมลพิษในแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างมหาสมุทรมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ธุรกิจบางส่วนยังเสาะหาวัตถุดิบที่ต้นทุนถูกกว่าเดิมมาผลิตเอากำไร จึงทำให้เสื้อผ้าในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแต่เส้นใยฝ้ายเท่านั้น ยังผสมพลาสติกสังเคราะห์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “ไมโครไฟเบอร์” ออกมาเป็นชนิดเสื้อผ้าอีกรูปแบบหนึ่งนั่นก็คือ โพลีเอสเตอร์ โดยกระบวนการผลิตเสื้อผ้าชนิดนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.3 พันล้านตันต่อปี หรือ 8% และปริมาณขยะที่ได้จากเสื้อผ้าเหล่านี้ในแต่ละปีนั้นเปรียบได้เหมือนกับขวดพลาสติกจำนวน 50,000 ล้านขวด ซึ่งพลาสติกขนาดเล็กไม่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ และแทรกซึมไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลไปโดยปริยาย

แล้วเมื่อเสื้อผ้าไม่สามารถย่อยสลายได้ ทางเลือกเดียวที่จะกำจัดขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าคือการฝังกลบดิน (landfill)  ซึ่งทิ้งสารตกค้างจำนวนมากไว้ในดิน ส่งผลให้ดินเสียหายและเสื่อมคุณภาพได้

ต้นทุนเสื้อผ้าราคาถูก แลกมาด้วยต้นทุนแรงงานราคาต่ำ

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเสื้อผ้า Fast Fashion ก็ทำให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก แม้ว่าการผลิตเสื้อผ้าได้เติมเต็มตลาดแรงงานให้คนได้ลืมตาอ้าปาก แต่ก็มีรายงานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า แรงงานที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาการกดขี่แรงงานเช่นนี้ได้ปรากฏออกมาในค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐานอย่างมาก และลักษณะงาน ความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อต่อชีวิตแรงงาน

ยกตัวอย่างเช่นประเทศบังคลาเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะสร้างกำไรให้กับประเทศเกือบ 83% เมื่อเทียบกับอัตราส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีโรงงานผลิตประจำอยู่เกินกว่า 4,500 แห่ง อย่างไรก็ดี แรงงานชาวบังคลาเทศกลับได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนด โดยค่าจ้างรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 2,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน 

และไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์ Fast Fashion รายใหญ่ระดับโลก กว่า 83 แบรนด์ อาทิ Zara Nike Gap และ Adidas ยังถูกกล่าวหามีส่วนในการบังคับใช้แรงงานชาติพันธุ์อุยกูร์ทางมณฑลซินเจียงของประเทศจีนในการผลิตสิ่งทอ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโอนย้ายแรงงานที่รัฐบาลจีนสนับสนุน  การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ เพราะชาวอุยกูร์ถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงานโดยปราศจากการยินยอม และชาวอุยกูร์จำนวนมากได้รับบาดเจ็บและมีสภาพความเป็นอยู่อย่างยากลำบากระหว่างการทำงาน แม้ว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ออกมาให้ปฏิเสธแล้ว แต่ก็มีแบรนด์บางส่วนยอมรับว่าได้ปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์อย่างไม่เป็นธรรม 

ฉากหน้าที่ทำให้  Fast Fashion ยังคงมีดีมานด์สูง

 ทำไม Fast Fashion

จนมาถึงตอนนี้ เราต่างก็ทราบกันดีและตระหนักว่า กระแส Fast Fashion นั้นส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต แต่อดปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์เสื้อผ้าดังกล่าวยังคงวนเวียนอยู่ในโลกออนไลน์จนชินตา เหตุใดคนทั่วโลกยังคงนิยมและยอมรับแบรนด์ Fast Fashion ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ราคาที่เข้าถึงได้”  

สังคมเล่าขานกันมาอย่างยาวนานว่า การแต่งกายสามารถบ่งบอกอุปนิสัยผู้แต่ง วัฒนธรรม สถานะทางสังคมได้ เสื้อผ้าจึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันการเผยผิวหนัง หรือเพื่อความสบายคล่องตัวเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ยกระดับบุคลิกภาพ และสถานะ ต่อให้ไม่ว่าเราจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ หรือรูปร่างหน้าตาแบบใด การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้าน ปราณีต หรือว่าตามกระแสหลัก ก็ช่วยให้เราได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกมั่นใจในตนเอง และใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น

เมื่อย้อนกลับไปในอดีต เสื้อผ้าที่ผู้คนต่างมองว่าทันสมัย และตัดเย็บดี ต่างออกแบบและจัดจำหน่ายมาในราคาสูง จึงทำให้คนที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนชนชั้นสูงและฐานะร่ำรวยมากกว่า ด้วยเหตุนี้การมาของ Fast Fashion ได้สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นดั้งเดิม ด้วยแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรให้คนสามารถสวมใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงความหรูหราในราคาที่จับต้องได้ คนส่วนใหญ่ของสังคมจึงเข้าถึงการใส่เสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ มีอิสระ สนุกสนานไปกับการแต่งตัว ต้องมนตร์เสน่ห์ของ Fast Fashion ที่ไม่ว่าซื้อไปกี่ชุด ก็ไม่ต้องเสียเงินมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น แบรนด์ส่วนใหญ่ที่ผลิตเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion เน้นย้ำการตลาดด้วยการวางจำหน่ายคอลเลคชันใหม่ทุก ๆ สัปดาห์ หรือ 52 รอบต่อปี ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่อุตสาหกรรมแฟชั่นดั้งเดิมจะออกเสื้อผ้าอย่างมากที่สุด 2 รอบต่อปีเท่านั้น นั่นก็คือรอบ Spring/Summer และ Fall/Winter

แนวคิดการผลิตอย่างรวดเร็วเช่นนี้จึงเล่นกับจิตใจของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และเปลี่ยนความหมายของเสื้อผ้าจากสิ่งจำเป็น กลายเป็น “ของมันต้องมี” ปลูกฝังความคิดให้เราตื่นเต้นและอยากได้ของใหม่ตลอดเวลา มิฉะนั้นเราอาจพลาดเทรนด์จนรู้สึกผิดและเสียดาย (Fear of Missing Out: FOMO) 

แบรนด์ Fast Fashion กับแนวคิด Sustainability

sustainable fashion

ในช่วงปี 2019 จนถึงช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ได้ทำให้พฤติกรรมการแต่งกายของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เนื่องจากคนได้เห็นผลกระทบจากการบริโภคของ Fast Fashion เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน ภาวะโลกร้อน มลพิษ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ ปี ทั้งหมดนี้จึงมีส่วนให้คนเริ่มเปลี่ยนวิถีการบริโภค มาเป็นค่านิยมแต่งกายตามแฟชั่นอย่างยั่งยืน สวมใส่เสื้อผ้าจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งแรงงานต้องได้รับค่าแรงและการปฏิบัติอย่างยุติธรรม จึงทำให้แบรนด์ Fast Fashion ยักษ์ใหญ่หลายราย ต้องออกมาปรับโมเดลธุรกิจ และแสดงจุดยืนด้านความยั่งยืนออกมาให้ทั่วโลกเห็นว่าตนรักษ์โลก และรับผิดชอบต่อสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือแบรนด์ H&M ที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน โดยเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เปลี่ยนโมเดลการผลิตเสื้อผ้าจากเน้นความรวดเร็วอย่าง Fast Fashion มาปรับใช้โมเดล Circular Fashion System หรือระบบแฟชั่นแบบหมุนเวียน เริ่มต้นจากการเปลี่ยนวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ อีกทั้งออกแบบเสื้อผ้าโดยคิดถึงอายุการใช้งานยาวนานเป็นปัจจัยหลัก ก่อนที่จะมาปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยลดการใช้สารเคมีและน้ำเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ H&M ยังใช้แผนการรีไซเคิล ลดขยะจากเสื้อผ้า โดยส่งเสริมให้ลูกค้านำเสื้อผ้ามารีไซเคิลเพื่อแลกกับข้อเสนอบัตรกำนัลมูลค่า 5 ยูโร โดย Giorgina Waltier ผู้จัดการด้านความยั่งยืนของ H&M ได้กล่าวว่าแบรนด์มีเป้าหมายจะใช้เฉพาะวัสดุที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2030 และมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย Climate Positive ภายในปี 2040 หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นลบ ช่วยสกัดไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศ

ในฝั่งของทรัพยากรมนุษย์ H&M ก็ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการใช้แรงงานอุยกูร์ในการผลิตฝ้ายสำหรับเครื่องแต่งกาย ซึ่งในช่วงต้นปี 2021 H&M ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้แรงงานอุยกูร์ในการผลิตฝ้ายอีก และเป็นหนึ่งในแบรนด์ Fast Fashion ที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่าแบนการใช้ฝ้ายของซินเจียง แม้ว่าในภายหลัง H&M จะนำป้ายไม่สนับสนุนฝ้ายซินเจียงออกจากเว็บไซต์ตน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อวงการแฟชั่น คนทั่วโลกตระหนักถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานท้องถิ่น และใส่ใจถึงต้นกำเนิดของการบริโภคของตนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าความยั่งยืน จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ แต่ความท้าทายในแง่ของผู้บริโภคนั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นสิ่งที่ตัดสินได้ว่า แบรนด์ต้องไปต่ออย่างไร ดังนั้น แบรนด์เอง แม้ว่าจะปรับที่กระบวนการผลิตแล้ว แต่ เรื่องของ การตลาด ที่จูงใจให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย หรือเลือกซื้อสินค้าก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย เพราะสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ควบคู่ไปกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะเป็นได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ในระยะหลังตั้งแต่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท Social Media Influencer ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการทำการตลาดของแบรนด์ กลับมีส่วนสำคัญต่อการชักจูงผู้คนเช่นกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

“ตั้งคำถามให้เป็น” ทักษะที่ Sam Altman ชี้ว่าสำคัญที่สุดในยุค AI

Sam Altman ซีอีโอ OpenAI ชี้ว่าทักษะสำคัญในยุค AI ไม่ใช่แค่ 'รู้เยอะ' แต่ต้อง 'รู้จักตั้งคำถาม' เพราะการตั้งคำถามที่ดี จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล เชื่อมโยงความคิดและสร้างนวัตกร...

Responsive image

บทเรียนสำคัญ จากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ของ Meta องค์กรควรเรียนรู้อะไร?

เมื่อต้นปี 2024 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ประกาศเตือนพนักงานว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทาย พร้อมย้ำว่าบริษัทจะเข้มงวดกับการประเมินผลงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับพนักงานที่ทำผลงานไม่...

Responsive image

เช็กวัฒนธรรมองค์กรให้ชัวร์ก่อนรับงาน! เคล็ดลับสัมภาษณ์จาก Adam Grant

เวลาสัมภาษณ์งานหลายคนมักถามว่า 'วัฒนธรรมองค์กรของที่นี่เป็นยังไง' แต่คำตอบที่ได้มักจะฟังดูดีเกินจริง เช่น 'เราทำงานเป็นทีม เหมือนครอบครัวและคอยช่วยเหลือกัน' ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่ได้...