อ่านเกมธุรกิจ Flash Group ยูนิคอร์นรายแรกของไทย เมื่อสนามแข่งไม่ใช่แค่บริการขนส่ง | Techsauce

อ่านเกมธุรกิจ Flash Group ยูนิคอร์นรายแรกของไทย เมื่อสนามแข่งไม่ใช่แค่บริการขนส่ง

นับเป็นเรื่องราวที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับวงการ Startup ไทย ที่ได้มี unicorn (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญ) รายแรกเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่เป็นคำถามมานานกว่า 10 ปี นั่นคือ Flash Group ผู้ให้บริการ  e-commerce ครบวงจร ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดย คุณคมสันต์ แซ่ลี 

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา Flash Group มีการประกาศปิดดีลใหญ่ รับเงินระดมทุนในรอบ Series D+ ด้วยจำนวนเงิน 40 ล้านเหรียญ และ Series E ด้วยจำนวนเงิน 110 ล้านเหรียญพร้อมกัน รวมเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านเหรียญ จากผู้ลงทุน 2 รอบรวมกว่า  7 รายด้วยกัน ได้แก่ SCB 10X (Series D+ , E)  Chan Wanich Group (Series D+ , E) Krungsri Finnovate (Series E) PTTOR ลงทุนผ่าน Modulus Venture (Series E) Durbell ในเครือ TCP (Series E) Buer Capital Limited  (Series E) และ eWTP Technology & Innovation Fund (Series E) จากการระดมทุนดังกล่าวทำให้มูลค่าธุรกิจ (Valuation) ของ Flash Group เติบโตเกินกว่า 1,000 ล้านเหรียญ พร้อมก้าวขึ้นสู่ Startup ระดับ unicorn ทันที (ติดตามรายละเอียดการระดมทุนทั้งหมดของ Flash Group เพิ่มเติมที่ Techsauce Startup Directory)

Flash Group EcosystemTechsauce Live

หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการ คุณคมสันต์ แซ่ลี ในฐานะประธานกรรมการบริการของ Flash Group ได้ให้สัมภาษณ์สด ๆ ในรายการ  Techsauce Live ถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตหลังจากระดมทุนในครั้งนี้ว่า Flash ได้วาง position ของธุรกิจไว้ว่า เราเป็นผู้ให้บริการ e-commerce ครบวงจร โดยในรอบการระดมทุน Series D+ และ E ทาง Flash มองหานักลงทุนที่จะเป็น Strategic Partner มากขึ้น ที่จะทำให้ส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ 

สำหรับทิศทางของบริษัทในระยะยาวแล้ว ในส่วนของ Flash Express จะพัฒนาต่อยอดนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมให้การบริการมีคุณภาพมากขึ้น  โดยจะต้องปรับปรุงในการบริการลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก  ทั้งในส่วนของการขนส่งให้ตรงเวลา และระบบภายในแอปพลิเคชันที่มีความเสถียร รองรับการใช้งานจำนวนมากได้ หากสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดจุดนี้ได้ จะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการขนส่งสินค้าได้สะดวกสบายและง่ายดาย ต่อไปจะขยายสาขาครอบคลุมแม้ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทยด้วย  

นอกจากนี้ในแง่ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ Flash ได้ขยายธุรกิจเพื่อเติมเต็ม Ecosystem ของ e-commerce ที่จะมุ่งเน้นไปที่การช่วยลดต้นทุน และเพิ่มกำไรให้กับร้านค้าออนไลน์ โดยเพิ่มบริการด้านโลจิสติกส์ (Flash Logistics) ที่ให้บริการรับส่งสินค้าขนาดใหญ่ เพิ่มสถานที่ให้บริการด้านคลังสินค้า (Flash Fulfillment) ดูแลจัดเก็บสินค้าให้ปลอดภัย บริการตัวแทนรับพัสดุ (Flash Home) และลุยในส่วนของการเงินผ่านบริการด้านการเงิน (Flash Money) อีกด้วย และ Flash ก็จะขยายตลาดไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

Flash Group EcosystemWhat's next ? Flash Group 

วิเคราะห์ Flash Group ‘สนามแข่งไม่ใช่แค่บริการขนส่ง’

จากการที่คุณคมสันต์ ได้ให้สัมภาษณ์นั้น ทำให้เราไม่สามารถมอง Flash Group เป็น  Startup ด้านโลจิสติกส์ หรือเป็นเพียงผู้เล่นในอุตสาหกรรมบริการขนส่งด่วนอีกต่อไป เพราะหลังจากที่ก้าวขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์นแล้ว นั่นหมายความว่า Flash ได้มองหาความท้าทายที่มากขึ้นในสนามที่ใหญ่ขึ้น ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมและตลาดที่ให้บริการ ซึ่งแน่นอนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบเคียงยูนิคอร์นรุ่นพี่อย่าง Grab Gojek หรือแม้แต่  Sea Group เองก็ตาม  

เรามาเจาะถึง Ecosystem ของ  e-commerce กันก่อน ซึ่งประกอบไปด้วยบริการขนส่งด่วน โลจิสติกส์ คลังสินค้า supply chain ขนส่งข้ามพรมแดน ตลอดจนบริการทางการเงิน โดยที่เมื่อมาดูของ  Flash Group สตาร์ทอัพที่นิยามตัวเองว่า ผู้ให้บริการ e-commerce ครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ 

การเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรม อย่าง  Flash Express สำหรับส่งสินค้าให้กับลูกค้าโดยแก้ pain point  ด้วยการอำนวยความสะดวกในการรับสินค้าถึงหน้าบ้าน ผ่านบริการ Flash Home โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และ  Flash Logistic การบริการที่จะทำหน้าที่เหมือนกับแพลตฟอร์มเชื่อมโยงการขนส่งให้กับผู้ประกอบการขนส่งแต่ละราย พร้อมการมีศูนย์บริการรับและคัดแยกสินค้าแบบครบวงจร ผ่านธุรกิจส่วนของการให้บริการ อย่าง  Flash Fulfillment บริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นการดำเนินการระบบหลังบ้านของผู้ประกอบการออนไลน์ ที่จะเริ่มจากการนำสินค้าเข้ามาเก็บที่คลัง ตามด้วยขั้นตอนการนำออกมาแพ็คลงบรรจุภัณฑ์ และจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้า 

พร้อมกันนี้ ยังมี Flash Tech ที่จะเป็นหน่วยธุรกิจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ทั้งหมดให้สามารถทำงานง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการเงิน อย่าง Flash Pay ซึ่งเป็นบริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ ผ่านทางสมาร์ทโฟนซึ่งจะผูกไว้กับบัญชีหลักของธนาคารต่าง ๆ หรือบัตรเครดิต ซึ่งตัวอย่างผู้เล่นในตลาดที่เราคุ้ยเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Alipay shopee pay Linepay Truemoney wallet และการต่อยอดจะนำไปสู่  Flash Money บริการปล่อยสินเชื่อบุคคลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมด้วย FlashCreditPay แบ่งชำระเงินผ่าน COD เมื่อรับพัสดุได้ 

อย่างไรก็ตาม หาก Flash ต้องการที่จะเป็นผู้เล่นที่เติบโตไปพร้อมกับ การเติบโตของ e-commerce ซึ่งจะมีการไหลเวียนของสินค้าแบบ Globalization จำเป็นที่จะต้องขยายสู่ การขนส่งข้ามพรมแดน (cross border) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจด้วย ที่จะเข้ามาเติมเต็ม ช่วยขยายช่องทางการกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดต่างแดน พร้อมกับ Flash ได้เช่นกัน 

Partner คือ กุญแจสำคัญของการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ 

อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ลงทุนในการระดมทุนรอบ Series D D+ และ E ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ที่ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเงิน อย่าง Krungsri Finnovate  SCB10x อุตสาหกรรมแพ็คเกจจิ้ง อย่าง  Chan Wanich Group อุตสาหกรรมค้าปลีกอย่าง Durbell และ อุตสาหกรรมพลังงานอย่าง PTTOR ดังนั้นเรามองได้ถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อยอด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมกันได้ ซึ่งสิ่งที่ Flash มีไม่ใช่แค่บริการต่าง ๆ เท่านั้น แต่หมายถึง ข้อมูลจำนวนมหาศาล หรือ  Big Data จากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้  Flash มีปริมาณการขนส่งสินค้าต่อวันอยู่ที่ 2 ล้านชิ้น  

ถามว่า Big Data  จะมีส่วนช่วยในธุรกิจของ Flash อย่างไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากมองในด้าน Operation การคำนวนเส้นทางการขนส่งสินค้า ที่ทำให้ใช้ทรัพยากรทั้งกำลังคน และเวลาน้อยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย AI เพราะถ้ามันสามารถเรียนรู้ตำแหน่งที่อยู่ของลูกค้าในฐานข้อมูลของ Flash ได้มากพอ ก็ย่อมทำให้ Flash เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้อย่างรวดเร็วมากเท่านั้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ Data ที่มีนั้น อย่างในด้านของออเดอร์ที่ลูกค้าส่งสินค้าในแต่ละวันก็จะนำไปสู่การทำ credit scoring เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การให้บริการทางการเงิน (Financial Inclusion) กับฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายที่ขายสินค้าออนไลน์อย่างง่ายดาย ซึ่งจะช่วยขยายการบริการของ Flash ได้ เป็นต้น ยกตัวอย่างการต่อยอดความร่วมมือที่มีผู้ลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น 

SCB 10X ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนใน Flash Group เพื่อต่อยอดธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินร่วมกัน เช่น สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) และโซลูชันด้านการชำระเงิน (Payment Solution) เป็นต้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ก่อนขยายสู่บริการอื่น ๆ ในอนาคต

PTTOR ที่ได้มีการมุ่งเน้นการให้บริการพลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้นเราจึงได้เห็นการต่อยอดในกรณีที่ ฮอนด้า เปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาร่วมให้บริการจัดส่งพัสดุกับ Flash Express โดยยกโมเดล Battery Swapping มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการเติมพลังงานให้กับรถ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก OR ติดตั้งจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งความร่วมมือนี้ ได้ตอบโจทย์นโยบายด้านความยั่งยืน ที่ต้องการลดการปล่อยมลพิษในอากาศผลักดันการใช้พลังงานทางเลือก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แน่นอนว่าหลังจากนี้ เราคงได้เห็นความร่วมมือในเชิงกลยุทธ์กับผู้ลงทุนของ Flash ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการขยายไปตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน ที่จะทำให้การขยายตัวทางธุรกิจจะไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพหลายรายในต่างประเทศที่เข้ามาเติบโตในประเทศไทยเช่นกัน

โมเดลธุรกิจเทียบชั้น Garb จาก Data Game สู่ Money Game 

หลังจากนี้ นอกจาก การสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในประเทศไทยแล้ว แผนการขยายสู่ตลาดต่างประเทศของ Flash ทำให้เราไม่สามารถมองการแข่งขันของสตาร์ทอัพไทยรายนี้เทียบกับผู้เล่น Local ได้อีกต่อไป จากที่เราสังเกตจะเห็นได้ว่า Flash วางหมากไว้ในการก้าวสู่อุตสาหกรรมการเงินอย่างแน่นอน จากหน่วยธุรกิจที่เป็น Flash Money และ Flash Pay พร้อมทั้งมีผู้ลงทุนเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยถึง 2 ราย (SCB และ กรุงศรีฯ) ที่จะมาต่อยอดธุรกิจร่วมกันในเชิงกลยุทธ์ในอนาคต 

ย้อนกลับไปวันแรกที่คุณคมสันต์ ก่อตั้ง Flash ขึ้นมา หากเราสังเกตการย้ำจุดยืนทางธุรกิจที่เขาได้ให้สัมภาษณ์หลาย ๆ สื่อ ว่า Flash ไม่ได้มองแค่ว่าจะเป็นบริการขนส่งด่วน (Express) แต่ Flash คือ ผู้ให้บริการ e-commerce ครบวงจร มาถึงวันนี้ที่เรามองภาพรวมธุรกิจให้ครบทั้งระบบนิเวศน์แล้ว

Flash Express บริการขนส่งด่วนจึงกลายเป็นเพียงประตูด่านแรกเท่านั้น ….

ถามว่าทำไม Techsauce ถึงมีมุมมองเช่นนี้ เพราะเราจะดึงโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพยูคอร์นรุ่นพี่อย่าง Grab และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับเอเชียอย่าง Line มาเทียบอ้างอิงให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้ ล้วนมีธุรกิจ Finance ทั้งสิ้น   

Grab เข้ามาในตลาดในฐานะสตาร์ทอัพที่ให้บริการเรียกรถ บริการส่งอาหาร ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งบริการเหล่านี้ถือเป็น ประตูด่านแรกของ Grab เช่นเดียวกัน ในการที่จะขยายฐานผู้ใช้งาน เร่งการเติบโตด้วย Volume และขยายการผลิตภัณฑ์การให้บริการอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเป็น Super App ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งสินทรัพย์หลักของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็คือ Big Data นั่นเองที่เป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและต่อยอด ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า ผู้ลงทุนใน Grab จะมีสถาบันการเงินหลายแห่งเข้ามาร่วมด้วย เช่น HSBC ,Krungsri Finnovate – MUFG ลงทุนเพื่อร่วมพัฒนาบริการ FinTech แก่ผู้ใช้บริการ คนขับ และร้านค้า และยังมี ธนาคารกสิกรไทย (ลงทุนผ่าน Beacon VC) และในตลาดประเทศไทย เราได้เห็นความร่วมมือ จากการที่เราสามารถเติมเงินใน Grab ผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทยได้ รวมถึงบัตรเครดิตด้วย ดังนั้นจึงทำให้ Grab นำมาสู่การขยายการให้บริการสู่อุตสาหกรรมการเงินในที่สุด  (Grab ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการเป็น Digital Banking เรียบร้อยแล้ว) 

ต่อมา Line บริษัทเทคโนโลยีที่ขยายฐานผู้ใช้ด้วยการมาแบบ App Chat เปิดบริการฟรี สื่อสารได้สะดวก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันทุกคน และปัจจุบัน Line ก็ได้ขยายธุรกิจสู่การเป็น Digital Banking ซึ่งปัจจุบันให้บริการใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงินท้องถิ่นด้วยการเป็น Local Partner รวมถึงก่อนหน้านี้ Line ก็มีผู้ลงทุนเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Mizuho Bank  เช่นกัน  

กลับมาที่ Flash จากตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่ยกมานั้น ก็ทำให้เห็นภาพได้ทั้งกว้างและลึกมากขึ้น ว่าได้ขยายฐานผู้ใช้ผ่านธุรกิจ express ที่จะทำให้ในฐานข้อมูลของ Flash จะมีทั้งผู้ใช้รายย่อย และผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของ e-commerce 

นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การมองตลาด สำหรับคุณคมสันต์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาหลายรูปแบบ และการได้ทำงานในประเทศจีนมาก่อน สิ่งที่เขาเห็นนั้น คือ การนำโมเดลธุรกิจเช่นนั้นมา apply เข้ากับอีกตลาดหนึ่ง นั่นคือ ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับการเริ่มต้น ด้วยความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พฤติกรรมผู้บริโภค และการเข้ามาของ  Big Player ต่างชาติที่มาลงทุนใน e-commerce ซึ่งคุณคมสันต์เองก็เป็นคนไทย มีความเข้าใจในวัฒนธรรม พฤติกรรม และลักษณะพื้นที่เป็นอย่างดี

ดังนั้น เกมธุรกิจนี้ ไม่ได้เป็นเกมที่จะมากำหนด หรือ จำกัดความในอุตสาหกรรมแรกเริ่มของพวกเขาได้ เพราะทั้งหมดนี้ สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด คือ Big Data เพราะ สำหรับบริษัทเทคโนโลยีแล้ว ยิ่ง Data  มากเท่าไหร่ ยิ่งต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเท่านั้น และท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเป็นผู้เล่นใน Financial Game เพียงแต่ จุดเริ่มต้นนั้นจะเริ่มต้นขยายฐานผู้ใช้ในอุตสหกรรมใด หรือ รูปแบบธุรกิจแบบใดเท่านั้นเอง 

สำหรับสตาร์ทอัพ หรือเหล่า  Tech company แล้ว ลักษณะการทำธุรกิจ ก่อนที่จะโฟกัสกำไร สิ่งสำคัญคือ ต้องขยายฐานผู้ใช้ก่อน เพราะอย่าลืมว่าในการทำธุรกิจในยุคเทคโนโลยี Data is the New Oil of the Digital Economy 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...