ทำไมถึงต้องเรียนทฤษฎี ? อาจารย์ Clayton Christensen จะตอบให้ | Techsauce

ทำไมถึงต้องเรียนทฤษฎี ? อาจารย์ Clayton Christensen จะตอบให้

ทำไมทฤษฎีถึงน่าเบื่อ อาจจะเป็นเพราะเราไม่เห็นข้อดีของมันก็ได้

=====

ก่อนที่เราจะค้นพบวิธีการบินได้เหมือนทุกวันนี้ คนสมัยก่อนต้องเจ็บตัวกันไม่น้อยเพราะพวกเขาทดลองกันแบบนี้….

หาขนนกมาเยอะๆมาทำเป็นปีก ยืนบนที่สูงๆ กระโดดออกไป แล้วกระพือปีกแรงๆ 

พวกเขาเชื่อว่าถ้าทำตามนี้แล้วจะบินได้เหมือนนก แต่เราคงเดาได้ไม่ยากว่าพวกเขาร่วงลงมาแน่นอน 

นักวิจัยสมัยก่อนใช้ทดลองวิธีนี้เพราะพวกเขาเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ความสามารถที่จะบินได้” กับ “การมีขนนกและปีก” แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าจริงๆแล้วพื้นฐานของ “กลไกที่ทำให้เกิดขึ้นได้” มันเป็นอย่างไรกันแน่

ศาสตราจารย์ Clayton Christensen กล่าวว่า การติดปีกและขนนกเข้าไปก็เหมือนกับที่เราอ่านพวกบทความเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างเช่น “วิธีการรับรองความสำเร็จในการทำเงินล้าน” “เคล็ดลับสี่ประการที่จะทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข” มันน่าอ่านก็จริง แต่มันแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งและซับซ้อนไม่ได้ 

แล้วเราควรแก้ปัญหายากๆด้วยวิธีไหนกันล่ะ 

“ทฤษฎี” ช่วยคุณได้ 

===============

ศาสตราจารย์ Clayton Christensen เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นผู้คิดค้นทฤษฎี Disruptive innovation สมัยยังเป็นอาจารย์หนุ่ม งานเขียนชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกๆในงานวิชาการของเขา 

และมีคนเก่งๆหลายคนที่สนใจงานที่เขาเขียน หนึ่งในนั้นคือ Andy Grove แห่ง Intel 

คุณ Grove ติดต่อ อาจารย์ Christensen ขอให้เขามาอธิบายทฤษฎีให้ฟังหน่อย อาจารย์ก็ตกลงและนั่งเครื่องไปที่ Silicon Valley 

แต่เมื่อพบกัน คุณ Grove ดันบอกว่า “นี่แน่ะ ตอนนี้เรายุ่งมากเลย เราเลยมีเวลาให้คุณแค่สิบนาที ไหนบอกหน่อยว่างานวิจัยของคุณมีความสำคัญกับ Intel ยังไงบ้าง แล้วเราจะได้กลับไปทำงานของเราต่อ”

แต่อาจารย์ Christensen ก็บอกกลับมาว่า “Andy ผมทำไม่ได้หรอก…” 

ถึงอาจารย์ Christensen จะมีความรู้ระดับปริญญาเอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขารอบรู้ทุกเรื่อง เขาไม่สามารถบอกได้หรอกว่าทฤษฎีของเขาสำคัญต่อ Intel อย่างไรบ้าง คนที่จะทราบถึงข้อนั้นก็ต้องเป็นคนของ Intel ดังนั้นเขาจึงอธิบายถึงทฤษฎีก่อน แล้วค่อยมองบริษัทผ่านทฤษฎี 

อาจารย์ Christensen ให้ดูแผนภูมิ Theory of Disruption แล้วอธิบายให้ฟัง 

หลังจากฟังไปสิบนาที คุณ Grove ก็เริ่มรำคาญแล้วบอกว่า “ฟังนะ ผมเข้าใจโมเดลของคุณแล้ว แค่บอกเรามาว่า มันหมายความว่าอย่างไรสำหรับ Intel” 

“Andy ผมก็ยังบอกไม่ได้อยู่ดี ผมจำเป็นต้องอธิบายว่าในแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันออกไปมากๆนั้น กระบวนการนี้เข้ามามีบทบาทอย่างไร เพื่อคุณจะได้เห็นภาพว่ามันทำงานอย่างไร” อาจารย์ตอบกลับ จากนั้นก็อธิบายเรื่อง Nucor โรงงานผลิตเหล็กเล็กๆที่เริ่มด้วยการตีตลาดกลุ่มล่างสุด แล้วค่อยๆขยับขึ้นมาตีตลาดบนทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็เบียดพวกโรงงานใหญ่ๆได้ 

พอเล่าเรื่อง Nucor จบ คุณ Grove ก็บอกว่า “เข้าใจล่ะ” แล้วเริ่มพูดถึงกลุยทธ์ของ Intel ในการทำตลาดโพรเซสเซอร์ที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อตีตลาดล่าง 

อาจารย์ Christensen ปล่อยให้คุณ Grove เป็นคนคิดว่าเขาควรทำอย่างไรในตลาดโพรเซสเซอร์ เพราะนั่นคือธุรกิจของเขา อาจารย์ไม่ได้บอกอีกฝ่ายว่าควรคิดอะไร แต่สอนว่าควรคิดอย่างไรแล้วให้ฝ่ายนั้นตัดสินใจเอง 

===============

ที่ทฤษฎีมันน่าเบื่อคงเป็นเพราะมันไม่ให้คำตอบเราตรงๆ แต่มันบังคับให้เราต้องคิดตาม 

วิธีนี้ช้ากว่าการที่มีคนมาบอกคำตอบให้ฟัง แต่ถ้าเราคิดได้เอง ความรู้จะอยู่กับเราได้นานกว่าและคาดการณ์อนาคตได้ด้วยว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหน 

ในหนังสือ Outliers ของ Malcolm Gladwell ก็มีบทหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ คร่าวๆคือมีเด็กคนหนึ่งพยายามพิสูจน์สูตรคณิตศาสตร์ เด็กคนนั้นพยายามแทนค่าไปเรื่อยๆด้วยตัวเอง จนในที่สุดก็รู้แล้วว่าสูตรนั้นมันทำงานยังไง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กคนนั้นสามารถไปประยุกต์ใช้กับโจทย์แบบอื่นได้ด้วย 

เวลาที่คุณศึกษาทฤษฎีก็ต้องทำแบบเดียวกับที่เด็กคนนั้นทำ คือใช้เวลากับมันซักหน่อย เพื่อพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่ และต้องเลือกพิสูจน์แต่ทฤษฎีที่ดี 

แล้วมันดูยังไงล่ะ อาจารย์ Christensen แนะนำแบบนี้….

ทฤษฎีที่ดีจะเป็นข้อความสำหรับกรณีทั่วๆไปที่ระบุว่าอะไรเป็นสาเหตุของอะไรและทำไม 

ถ้าทฤษฎีไหนใช้ได้กับบางบริษัทหรือบางคน แต่ใช้กับอีกบริษัทหรือคนอื่นไม่ได้ แบบนั้นไม่ใช่ทฤษฎีที่ดี 

ทฤษฎีของอาจารย์ Christensen ถือว่าเป็นทฤษฎีที่ดีเพราะหลังจากที่เขาอธิบายกับ Andy Grove แล้ว เขาก็เอาทฤษฎีเดิม (พูดเรื่องเดิมด้วย) ไปอธิบายให้กับฝ่ายกลาโหมในรัฐบาลในหัวข้อเกี่ยวกับการก่อการร้าย และรัฐบาลก็ได้คำตอบว่าควรเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นแบบไหน 

นี่คือความยอดเยี่ยมของทฤษฎีที่ดี “ทฤษฎีที่ดีจะช่วยให้เราแยกประเภท อธิบาย และช่วยให้เราคาดการณ์ได้” อาจารย์ Christensen กล่าว 

หลังการพูดคุยกับ Andy Grove อาจารย์ Christensen ก็เปลี่ยนวิธีตอบคำถามไปเลย โดยเวลาที่จะตอบคำถาม เขาไม่ตอบตรงๆ แต่จะทบทวนคำถามนั้นกับทฤษฎีเพื่อที่จะได้รู้คำตอบของทฤษฎีก่อนว่าน่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร จากนั้นก็อธิบายว่าสิ่งที่คิดในใจว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับคำถามได้อย่างไร 

แต่ทฤษฎีจะทำงานได้ดีจริงๆเมื่อคุณมีความรู้ในเรื่องที่คุณมีคำถามด้วย ต่อให้ Andy Grove เข้าใจทฤษฎี Theory of Disruption จนอธิบายให้คนอื่นฟังได้ แต่ถ้าเขาไม่มีความรู้เรื่องชิปคอมพิวเตอร์ก็คงเอาทฤษฎีไปใช้ที่ Intel ไม่ได้อยู่ดี

ในยุคที่คาดเดาอะไรได้ยาก ต้องศึกษาทฤษฎีให้ลึกซึ้งและหลากหลาย เพราะปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้เพียงทฤษฎีเดียว อย่างเช่น เรื่องการบินต้องใช้ความรู้หลายอย่าง ทั้งแนวคิดของ Bernoulli (ว่าด้วยเรื่องกลศาสตร์ของการไหล) ความเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงและแรงต้านทานมาประกอบด้วยเพื่อที่จะเข้าใจการบินอย่างแท้จริง

ดังนั้นถึงมันจะน่าเบื่อไปบ้างจนอ่านไปหลับไป แต่ถ้าอยากที่จะคาดการณ์อนาคตได้บ้างก็ควรตั้งใจศึกษามันไว้ อาจารย์ Christensen คิดว่าการศึกษาทฤษฎีมันได้ผลดีกว่าการพยายามเก็บข้อมูลในอดีตให้ได้มากๆเสียอีก 

“แม้ประสบการณ์และข้อมูลอาจเป็นครูที่ดีได้ แต่ก็มีหลายครั้งในชีวิตที่เราไม่สามารถจะเรียนรู้ไปในขณะที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ได้ คุณคงไม่อยากเรียนรู้ว่าจะเป็นคู่สมรสที่ดีได้อย่างไร หรือต้องรอจนกระทั่งลูกคนสุดท้องโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนถึงจะเป็นพ่อแม่มือโปรได้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมทฤษฎีจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง มันสามารถอธิบายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนที่คุณจะพบสิ่งนั้นเสียด้วยซ้ำ” 

-- Clayton Christensen (1952-2020)

===============

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือ How will you measure your life


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...