ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2565 ว่า ปี 2565 เป็นที่พิเศษสำหรับบี.กริม ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยรวม 144 ปี หรือครบ 12 รอบ บริษัทจะมุ่งขยายพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นทิศทางของการใช้พลังงานทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์ วิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมเติบโตเคียงคู่ไปกับประเทศไทยและภูมิภาค
พร้อมเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593) สะท้อนจากโครงการล่าสุดในประเทศคือ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหาร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ บี.กริม เพาเวอร์ในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก และการเข้าซื้อหุ้น 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม
ตอกย้ำด้วย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้รับรองเงินกู้ “สีเขียว” ที่มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Loan Certificate) จาก Climate Bonds Initiative หรือ CBI องค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมแก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DT ในประเทศเวียดนาม จำนวนรวม 160.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นเงินกู้สีเขียวชุดที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามภายหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen ขนาด 257 เมกะวัตต์ในปี 2563
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ตามแผนในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาที่คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในปี 2565 ทั้งที่เป็นโครงการสัมปทานใหม่ (กรีนฟิลด์) และแผนการซื้อกิจการ (M&A) โดยคาดว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4,015 เมกะวัตต์ มุ่งสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573
ในปี 2565 บริษัทจะมีการเติบโตของกำลังการผลิตถึง 23% จาก 2,894 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 3,544 เมกะวัตต์ จากการ COD และแผนการ M&A นอกจากนี้จะมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 55 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ยังมีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยเป้าหมายที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 100 ล้านบาทและคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนด COD ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะช่วยประหยัดอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ขณะที่จะมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซในอนาคต เมื่อเริ่มนำเข้า LNG ด้วย
“เราตั้งเป้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศและร่วมทุนกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งทุกประเทศที่เราเข้าไปไม่เพียงเข้าไปแค่ทำโรงไฟฟ้า และขายไฟฟ้า หรือทำธุรกิจในระยะสั้นๆ แต่เป้าหมายคือ เราต้องการสร้าง บี.กริม ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการใช้เวลา” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานในรอบ 11 เดือน ของปี 2564 ว่าบริษัทมีการลงทุนที่สำคัญ โดยเข้าไปร่วมทุน (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ รวม 4 โครงการ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มอย่างน้อย 510 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศโปแลนด์ โดยมีกำหนด COD ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก การเข้าลงทุน 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม มีกำหนด COD ในปี 2565 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้า SPPs 3 โครงการ ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย 45% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและนิคมอุตสาหกรรมบางปู กำลังการผลิตติดตั้งรวม 360 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม 2564 และการเข้าลงทุนในบริษัท reNIKOLA Holding SDN BHD ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ COD แล้ว 3 โครงการ รวม 88 MW
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ตลอดปี 2564 บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้รับรางวัลระดับประเทศหลากหลาย ซึ่งตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบริษัท โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศคัดเลือกให้ บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ใน “รายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI)” ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนน 94% สำหรับโครงการสำรวจและติดตามพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย (CGR) จัดทำโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ในระดับ “ดีเลิศ” (5ดาว) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสังคม ตลอดจนการยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีในด้านกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมบริษัทได้ดำเนินกิจกรรมที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 บริษัทได้เปิดตัวโครงการสำคัญอย่าง “บวรบี.กริม” (B.Grimm Smart Village) มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนให้เติบโตเข้มแข็ง มีคุณภาพและศักยภาพให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน มีความรักถิ่นฐานบ้านเกิดดำรงชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุข โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้กับบริบทของชุมชน นอกจากการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน บริษัท บี.กริม ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) ใน “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง” มานานกว่า 8 ปี มุ่งเป้าไปที่การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเปรียบเหมือนดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่า เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในภาพรวม
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระราชูปถัมภ์ มอบทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90 ประจำปี 2564 มอบให้แก่นักศึกษาพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อสืบสานตามแนวพระปณิธานตามเจตนารมณ์ทางวิชาชีพพยาบาล และอุดมการณ์ตามรอยสมเด็จย่า ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร “พยาบาล” ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด