เกาะติด COP27 โลกร้อนขึ้น เก็บค่าชดเชยที่ใคร? | Techsauce

เกาะติด COP27 โลกร้อนขึ้น เก็บค่าชดเชยที่ใคร?

หากติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องจากการประชุม COP26 ที่ประเทศสก็อตแลนด์ มีเรื่องที่ชวนให้หวั่นใจ คือ ในปีที่ผ่านมา มีเพียง 26 จาก 193 ประเทศเท่านั้นที่ประกาศว่า ‘จะยกระดับมาตรการด้านภูมิอากาศ’ สะท้อนว่า ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ทะเยอะทะยานมากพอที่จะร่วมลดการปล่อยคาร์บอน  และไม่ได้ยืนกรานว่าจะดำเนินมาตรการใดอย่างเป็นรูปธรรม 

สื่อนิวยอร์กไทมส์ เผยแพร่บทความในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการประชุม COP27 ว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะเริ่มแสดงบทบาทด้านนโยบายภูมิอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะ การเรียกร้องให้ ‘ประเทศที่ร่ำรวย’ จ่ายค่าชดเชยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ (โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขนาดเล็ก) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ

'รัสเซีย - ยูเครน' ศึกแห่งศักดิ์ศรีที่สะเทือนถึงตลาดพลังงานโลก

สถานการณ์เลวร้ายยังเกิดขึ้นมาซ้ำเติมและคร่าชีวิตมนุษย์ จากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง นั่นคือ สงครามระหว่าง รัสเซีย - ยูเครน ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านชีวิตและทรัพย์สินของสองประเทศนี้เท่านั้น แต่ความเสียหายสะเทือนไปถึง การดำรงชีวิต การใช้พลังงาน ทั้งภาคการผลิต การขนส่ง อุตสาหกรรม โดยสหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอำนาจที่กดดันรัสเซียให้ยุติสงครามด้วยสารพัดวิธี หนึ่งในนั้นคือ คว่ำบาตรทางการค้า โดยสั่งห้ามนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานอื่นๆ จากรัสเซีย 

ต่อมาสหภาพยุโรปก็สั่งแบนสินค้าที่เกี่ยวกับพลังงาน เบรกการลงทุนในภาคพลังงานรัสเซีย รวมถึงคุมเข้มเรื่องการส่งสินค้าออกไปยังรัสเซีย รัสเซียจึงสู้กลับด้วยการปิดเส้นทางส่งออกพลังงาน หายนะย้อนศรเข้ายุโรปเต็มๆ เพราะฝั่งยุโรปไม่ได้มีพลังงานใช้เพื่อขับเคลื่อนทุกสิ่งอย่างมากพอที่จะก้าวผ่านหน้าหนาวรอบนี้ไปได้ และเนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่ก็ใช้ได้อย่างจำกัด ถึงจะประหยัดพลังงานสักแค่ไหนก็ตาม เช่น เยอรมนี ที่ปรับแผนการใช้พลังงานโดยกลับไปใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่สหภาพยุโรปหันไปผลักดันให้ประเทศในแอฟริกาพัฒนาแหล่งก๊าซมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รบเร้าให้พัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ผละกระทบจากสงครามนี้เองที่ทำให้แผนการด้านสภาพภูมิอากาศในหลายประเทศของยุโรปถึงคราวชะงักงัน 

International Energy Agency ระบุว่า สงครามครั้งนี้อาจเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ‘พลังงานสะอาด’ เร็วขึ้นก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องเกาะติดการประชุม COP27 เอาไว้ เพื่อดูว่าบรรดาผู้นำจะเห็นความสำคัญของปัญหาสภาพภูมิอากาศ หรือใส่ใจเพียงการแก้ไขปัญหาพลังงานขาดแคลนที่กำลังเกิดขึ้น

โลกร้อนขึ้น ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ‘ค่าชดเชย’?

ประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนจึงออกมาเรียกร้อง ค่าชดเชย จากประเทศที่ร่ำรวย เพราะประเทศที่ร่ำรวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล และยังปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีก๊าซเรือนกระจกสะสมเกินกว่าครึ่งโลก! นับตั้งแต่มีการปล่อยคาร์บอนออกมา

cop26 emissions compensationSource : www.nytimes.com

คำถามที่ตามมาคือ ประเทศใดบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น ประเทศร่ำรวย?

ประเทศร่ำรวยตามนิยามของ UN คือ  23 ประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก ต้องร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอีกกว่า 150 ประเทศ ต้องร่วมกันรับผิดชอบคาร์บอนอีกครึ่งที่เหลือ

หากดูตัวเลขโดยประมาณจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 290 - 580 พันล้านดอลลาร์ (หรือราว 10.3 - 20.6 ล้านล้านบาท)

ในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยสัญญาว่า จะมอบเงินปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 1.425 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว โดยทาง UN ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่า 1 ใน 5 ของเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเสียอีก 

งานนี้ อเมริกาและยุโรปคงกังวลมากหน่อย เพราะค่าชดเชยจะกลายเป็น ‘ความรับผิดชอบที่ไม่มีวันจบสิ้น’

Lyndsay Walsh ที่ปรึกษานโยบายสภาพภูมิอากาศของ Oxfam และผู้ร่วมจัดทำรายงาน THE COST OF DELAY: WHY FINANCE TO ADDRESS LOSS AND DAMAGE MUST BE AGREED AT COP27 กล่าวต่อว่า 

“ไม่ยุติธรรมเลยที่ผู้ก่อมลพิษเก็บเกี่ยวผลกำไรมหาศาล แต่ไม่ได้รับผิดชอบตามสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศถูกทิ้งให้เป็นผู้รับผลกระทบด้านสภาพอากาศ ซึ่งทำลายชีวิต ที่อยู่อาศัย และตำแหน่งงานด้วย”

“เราต้องหยุดความล่าช้านี้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ควรดำเนินการคือเมื่อ 31 ปีที่แล้ว และเวลาถัดไปที่ดีที่สุดก็คือ ตอนนี้”

climate change cop27

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน มีการประชุมครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีระดับสูงเกี่ยวกับ ความทะเยอทะยานที่จะลดการปล่อยคาร์บอนก่อนปี 2030 โดยมีการเรียกร้องให้ เพิ่มการดำเนินงานและสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน  พร้อมกับมีรายงานที่ชัดเจนจาก UN Climate Change ว่า การดำเนินงานเพื่อลดอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีส ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในปัจจุบันของรัฐบาลแห่งชาติจะเพิ่มการปล่อยมลพิษ 10.6% ภายในปี 2030 และทำให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนขึ้น 2.5 องศา ภายในสิ้นศตวรรษนี้

ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ จุดพีคของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างช้าที่สุด ต้องเกิดขึ้นก่อนปี 2025 และต้องลดลง 43% ภายในปี 2030 เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศา

“นี่คือบริบทของโลกที่เราอยู่” Simon Stiell เลขาธิการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ กล่าว “โลกกำลังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่ความพยายามเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศา" 

ตอนท้าย รัฐมนตรีที่ร่วมประชุมโต๊ะกลมเรียกร้องให้ร่วมกันดำเนินงานลดโลกร้อนด้วยความทะเยอะทะยาน ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและมีแผนการเงินที่ยั่งยืน 

........................................................................

อ้างอิง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...