โมเดลธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน ลองศึกษาจาก ‘Eaton’ บริษัทที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้า | Techsauce

โมเดลธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน ลองศึกษาจาก ‘Eaton’ บริษัทที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้า

ยิ่งเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ การกำหนดแผนลดการปล่อยคาร์บอนและสามารถทำได้ตามเป้านั้น เป็นทั้งความง่ายและยาก ความง่าย คือ องค์กรส่วนใหญ่มักจะมีเงินทุนพร้อมปรับตัวสู่โลกดิจิทัล ส่วนความยาก คือ ขยับตัวลำบากเพราะมีทรัพยากรจำนวนมากจึงยากจะขับเคลื่อนได้ทั้งองคาพยพ อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างองค์กรที่ทำได้ตามแผนการลดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2018 นั่นคือ อีตั้น (Eaton Corporation plc) บริษัทจัดการพลังงานอัจฉริยะสัญชาติอเมริกัน-ไอร์แลนด์ องค์กรระดับโลก (Global Company) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1911 หรือ 112 ปีมาแล้ว และปีนี้ก็จะได้ชื่อว่า เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ครบ 100 ปี

ทิศทางบริษัทในไทย ภายใต้บริษัท Eaton ธุรกิจจัดการพลังงานระดับโลก

Eaton อีตั้น สุภัทรา รามสูต ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด

ด้านการเข้ามาทำธุรกิจในไทย อีตั้นเริ่มกิจการตั้งแต่ปี 1999 ในชื่อ บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี สุภัทรา รามสูต เป็น ผู้จัดการประจำประเทศไทย 

เป้าหมายสำคัญของอีตั้น คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีและการให้บริการด้านการจัดการพลังงาน โดยตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา อีตั้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 16% ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่จะลดการปล่อยลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และปริมาณของก๊าซที่ลดลงจนถึงปัจจุบัน เทียบได้กับจำนวนก๊าซที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ถึง 30,000 คัน

EatonSource : Eaton

การจัดอันดับของ Fortune 500 ประจำปี 2023 'Eaton' ได้อยู่ในอันดับ 163 ด้วยยอดขาย 20.8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7.14 แสนล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ 65% จากยอดขายสุทธิของอีตั้น มาจากการขายสินค้าในกลุ่ม ‘ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ความเสถียรในพลังงานไฟฟ้า และการเพิ่มคุณภาพอากาศ ซึ่งหลังจากนี้ อีตั้นก็จะเน้นหนักในสินค้ากลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายหลักขององค์กร 4 ข้อหลัก ภายในปี 2030 ได้แก่ การสร้างโซลูชันส์ที่ยั่งยืน, การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร, การเข้าไปมีส่วนร่วมกับพนักงานและคอมมูนิตี และการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและโปร่งใส

โมเดลธุรกิจแบบที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในไทย ผู้ประกอบการทำอะไรได้บ้าง?

ไม่นานมานี้ มีวงเสวนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารองค์กรด้านพลังงาน มีการพูดคุยกันในหัวข้อ ‘โมเดลทางธุรกิจที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย’ โดยบุคคลที่ทำให้เห็นว่าไอเดียและวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและการผลักดันธุรกิจสีเขียวให้แพร่หลายในประเทศไทยนั้น ได้แก่ อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน รวิวัฒน์ พนาสันติภาพ นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย สุภัทรา รามสูต ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด และ พีรศุษม์ ธีระโกเมน อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

Eaton(จากซ้าย) พีรศุษม์ ธีระโกเมน อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สุภัทรา รามสูต ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด และ รวิวัฒน์ พนาสันติภาพ นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

สุภัทรา รามสูต ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด

  • กล่าวถึงอีตั้นโดยฉายภาพใหญ่ว่า บริษัทกำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยการช่วยแก้ปัญหาความท้าทายด้านการจัดการพลังงานให้แก่ลูกค้าในกว่า 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอีตั้นเองก็มีสินค้าที่เป็น Low Carbon อยู่แล้ว และมี Main Unit อยู่ที่จังหวัดระยอง

  • อีตั้น เติบโตจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตัวเอง แล้วเผยแพร่ความรู้ให้แก่ลูกค้าในประเทศและในภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมกับการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) เช่น การเข้าซื้อธุรกิจ Powerware แบรนด์เครื่องสำรองไฟ (UPS) ชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสามารถหรือประสิทธิภาพมากขึ้น 

  • โดยปกติแล้ว องค์กรทั่วโลกใช้ UPS แบ็กอัประบบการทำงานต่าง ๆ และใช้จ่ายไฟในกรณีไฟตก แต่หลังจากอีตั้นร่วมทำงานกับไมโครซอฟท์ พัฒนาและวิจัย Active Smart Grid ทำให้ UPS เป็นแหล่งจ่ายไฟกลับไปยังระบบ Grid จึงสามารถสร้างรายได้กลับเข้าสู่บริษัท ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยตรง

EatonSource : Eaton

  • สำหรับ อีตั้น ประเทศไทย ในปี 2030 สุภัทราบอกว่า จะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากกว่า 50% ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าประเทศไทยไม่มีความพร้อม แน่นอนว่า ผู้ลงทุนรวมไปถึงโรงงานของต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากว่า และหากภาคการผลิตสินค้าต่าง ๆ ไม่สามารถทำให้ทุกขั้นตอนเป็น Low Carbon ได้ อาจส่งผลให้ถูกเรียกเก็บภาษีถึง 20% 

EatonEaton's sustainability strategy

  • ในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือ อีตั้น ประเทศไทย ดำเนินการตามกลยุทธ์และแผนแม่บทของบริษัทแม่ โดยชู 4 พันธกิจหลักเพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

    • 1) ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านแหล่งพลังงาน จากแนวโน้มโลกที่ต้องการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากคาร์บอนด้วยพลังงานหมุนเวียน บริษัทจึงนำเสนอแนวคิด Everything as a Grid เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันสามารถรับและจ่ายไฟฟ้าได้สองทิศทาง อีตั้นจึงช่วยลูกค้าและชุมชนวางแนวทางการจ่ายไฟ การกักเก็บ และการบริโภคพลังงานเพื่อให้เจ้าของบ้านและเจ้าของธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

    • 2) สนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยานพาหนะ เพราะการเปลี่ยนจากการพลังงานเชื้อเพลิงมาเป็นไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน และเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีตั้นจึงสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการผลิตเครื่องชาร์จไฟแบบครบวงจร 

    • 3) เข้าสู่โลกดิจิทัล จัดการพลังงานด้วยดิจิทัล การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล คือตัวขับเคลื่อนพื้นฐานสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน อีตั้นจึงพัฒนาซอฟต์แวร์ Brightlayer มาใช้ในการประมวลผลข้อมูล ทำให้เห็นภาพรวมในการใช้พลังงาน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านการจัดการพลังงาน เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น ชาญฉลาดมากขึ้น และยั่งยืนยิ่งกว่าในอนาคต 

    • 4) ออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ อีตั้นเองก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RMU รุ่น Xiria ที่เปิดตัวในปี 2002 ด้วยการผลิตแบบ เทคโนโลยีสุญญากาศปลอดก๊าซ SF6 ซึ่งเป็นก๊าซอันตรายที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และจำหน่ายไปทั่วโลกมากกว่าหนึ่งแสนเครื่อง

อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

  • กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ‘ไฟฟ้ากำลัง’ มักจะล้าหลังและไม่ยั่งยืน ดังนั้น หากองค์กรใดต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ Green Business วิธีที่ทำได้และง่ายที่สุดคือ เลือกใช้สินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน
  • เราต้องการ EV ที่มีราคาจับต้องได้ เมื่อใช้แล้วจะวางแผนการใช้ยานพาหนะได้ดีขึ้น เช่น EV ที่ขับได้ระยะทาง 400 กม. แล้วกลับมาชาร์จที่บ้านได้

  • มีคนไม่เชื่อเรื่อง Climate Change จำนวนมาก ถ้ายังไม่เชื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ลำบาก จึงอยากชวนดูสารคดีเกี่ยวกับโลกของเราที่สร้างขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ เรื่อง Breaking Boundaries: The Science Of Our Planet ทาง Netflix ดูแล้วเราจะเชื่อและจะเข้าใจว่า Climate Change เป็นหนึ่งในหายนะ 9 เรื่องที่เราทำกับโลก และหากเราไม่สามารถลดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาได้ หายนะอีก 8 เรื่องก็จะเป็นไปไม่ได้

  • ทั่วโลกต้องการการลงทุนด้านความยั่งยืน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา แต่ในขณะเดียวกัน ไทยอยู่อันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจาก Climate Change เราจึงต้องเรียกร้องให้อีก 200 ประเทศร่วมทำด้วย ไม่อย่างนั้น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว ภาคบริการ และผู้ประกอบธุรกิจอีกมากมาย อาจมองข้ามไทย หรือย้ายฐานการผลิต เศรษฐกิจประเทศก็จะติดลบ 

  • มีข้อมูลทางสถิติบอกว่า Gen Y พิจารณาและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการลดคาร์บอน ไม่อย่างนั้นไม่ซื้อ ต่อไป การท่องเที่ยวที่ไม่กรีน Gen Y ก็จะไม่เที่ยว ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะขายบริการต่าง ๆ ไม่ได้ 

  • ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเจอกำแพงภาษี CBAM ที่กำหนดไว้ว่าจะโดนเก็บ 20% การที่ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนจึงช่วยลดภาษีได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องคิดเรื่องความยั่งยืนกับความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น และตอบให้ได้ว่า ทำไมผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าของคุณไปใช้

  • เมื่อก่อนจะลงทุนอะไร เป้าหมายคือ ต้องคุ้มทุน แต่เนื่องจากการประเมินความคุ้มทุนจากการลงทุนด้านพลังงานนั้นทำได้ยากว่า ตอนนี้จึงเป็น ‘การลงทุนเพิ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม’ และต้องวัดผลได้ เช่น เพื่อ Carbon Reduction, Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ หรือ Carbon Footprint ขององค์กร

รวิวัฒน์ พนาสันติภาพ นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

  • กล่าวถึง สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ว่ามีสมาชิกอยู่ 45 ราย มียอดขายรวมอยู่ที่ 8,000 พันล้านบาท หากนำงานที่ช่วยลดคาร์บอนมาคำนวณ ถือว่าลดคาร์บอนไปได้เยอะมาก และช่วยให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

  • เรื่องพนักงานสำคัญที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าพนักงานไม่เห็นด้วยว่า โลกร้อน แล้วไม่สนใจที่จะทำ เราก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่กรณีของอีตั้นได้เปรียบตรงที่มีการวิจัยออกสู่ตลาด ในขณะที่บางบริษัทไม่มีงานวิจัย ไม่มีการเก็บข้อมูลฟุตพรินต์ ทั้งการปล่อยคาร์บอน, การบริหารจัดการเรื่องน้ำ 

  • สำหรับองค์กรที่ไม่มีสินค้าของตัวเอง จะช่วยโลกได้ก็ลดด้วยการเลือกสินค้าที่ช่วยลดการใช้พลังงาน หรือจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ก็ได้เช่นกัน แต่คงไม่ใช่ทุกบริษัท เพราะบางบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์ด้านไฟแนนซ์ บางเรื่องยังไม่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคง 

  • ด้าน Energy Efficiency กับ Renewable Energy มีนวัตกรรมที่เป็นกรณีศึกษาจากต่างประเทศจำนวนมาก ไทยก็มีแต่น้อยกว่าเมืองนอก ดังนั้น ถ้ามีผู้ประกอบการด้านนี้เข้ามาในตลาดมากขึ้น ก็น่าจะช่วยผู้ประกอบการที่กำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้เทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ เพราะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง 

  • นอกเหนือจากอุปสรรคด้านนโยบายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังมี 'ตัวเราเอง' เพราะเรามีความคุ้นชิน อยากสะดวกสบาย คนที่มีเงินส่วนหนึ่งยินดีฟุ่มเฟือย โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่อง Green แต่ถ้าบริษัทมี Project Owner ที่เป็น Gen Y ก็จะใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเป็นคนที่อยู่อีกยาวซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบ

  • จากนี้เงินลงทุนจำนวนมากก็จะลงไปที่ Green Bond, Green Fund ส่วนเรื่องเงินกู้ หากพิจารณาวงเงินในอัตราที่เท่ากัน พบว่าการผ่อนโซลาร์มีดอกเบี้ยถูกกว่าผ่อนบ้าน ประเด็นนี้จะทำให้ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่จับต้องได้มากขึ้นและกระจายถึงผู้อยู่อาศัยทั่วไปได้ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บางจาก ได้สินเชื่อรายแรกในไทย 6,500 ล้านบาทเพื่อพัฒนา SAF จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ธนาคารยูโอบี มอบสินเชื่อ 6,500 ล้านบาท สนับสนุนบางจากฯ พัฒนาโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) แห่งแรกในไทย ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 80% เพื่อเป้าหมาย Net Zero 20...

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...