Urban Hazard Studio ฮับส่องข้อมูลน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และโอกาสที่จะเกิด 'ฝนร้อยปี' | Techsauce

Urban Hazard Studio ฮับส่องข้อมูลน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และโอกาสที่จะเกิด 'ฝนร้อยปี'

ยิ่งเกิดภัยพิบัติบ่อย การเก็บข้อมูล (Data) มาวิเคราะห์-คาดการณ์-เตือนภัย ก็ยิ่งจำเป็น ที่ใกล้ตัวคนเมืองก็เช่น สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่ประชาชนหลายเขตเจอน้ำท่วมรอการระบายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไหนจะปัญหาฝุ่นควันที่คนไทยต้องเผชิญ ฯลฯ นำมาสู่การพัฒนาฮับข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม Urban Hazard Studio (www.urbanhazardstudio.com) เพื่อให้คนไทยตระหนักรู้ ดูข้อมูลเป็น และตั้งรับสถานการณืได้โดยไม่ตื่นตระหนก

Urban Hazard Studio

'Urban Hazard Studio' คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

Urban Hazard Studio เป็นแพลตฟอร์มรวมข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม ที่เกิดจากการผนึกกำลังระหว่างสองภาคส่วนที่เตรียมป้องกัน - ตั้งรับผลกระทบจาก Climate Change ด้วยการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคต นั่นคือ


เบื้องหลัง Urban Hazard Studio ใช้เทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของ ESRI ที่สามารถนำข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพแผนที่ ระยะทาง) ป้อนเข้าไปในระบบแล้วให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์เชิงพื้นที่ออกมาว่า บริเวณใดเป็นแหล่งน้ำ พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ป่า บริเวณไหนเป็นที่อยู่อาศัย ด้วยความสามารถดังกล่าว เราจึงใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี GIS ได้หลากหลายด้าน อาทิ การจัดการสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง การจัดการระบบสาธารณูปโภค ด้วยการคำนวณหาพื้นที่บริเวณที่จะใช้งานจากภาพแผนที่ เช่น การวัดระยะทางในการสร้างถนนหรือการกำหนดจุดบนแผนที่สำหรับงานการวางท่อประปา 

Source : esrith.com/blog/arcgis-an-advanced-analytics-platform

อนาคตกรุงเทพฯ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่ ESRI กับ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มองเห็นก่อนใคร

เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 อาจยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยจำนวนมาก และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นก็สามารถส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวจนถึงตอนนี้ได้ 

แต่ใครจะรู้ว่า ภัยน้ำท่วมเป็นความเสี่ยงอันดับแรกของประเทศไทย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างหนัก เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังเผชิญกับสภาพอากาศที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน บางช่วงก็มีฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมสูง หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำขังรอการระบาย แล้วถ้าเกิด ฝนร้อยปี ความเสียหายจะรุนแรงแค่ไหน?

Urban Hazard Studio ดร.การดี เลียวไพโรจน์, รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และนางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์

ทีมเทคซอสได้เข้าฟังเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ถอดโมเดล ‘Urban Hazard Studio’ สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ ‘กรุงเทพฯ’ หากเกิดฝนร้อยปี” โดยมี 3 ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่

  • นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ 
    ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด 
  • ดร.การดี เลียวไพโรจน์ 
    ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” 
  • รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ 
    ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ยกข้อมูลจาก 'ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมหาวิทยาลัยหอการค้า' ที่มีการประเมินความเสียหายภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศไทยจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศ ในปี 2565 โดยคาดว่าเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาภายใต้ MQDC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย เปิดประเด็นถึงสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศไทยว่า

สิ่งที่เป็นปัญหาในบ้านเรา ณ ตอนนี้  คือ ภัยพิบัติทางน้ำและคลื่นความร้อน ซึ่งพอมาดูสถิติความเสี่ยงในด้านภัยพิบัติทำให้เราทราบว่า สัดส่วนประชากรในประเทศไทยซึ่งอยู่ในจุดน่ากังวลว่าจะตกอยู่ในความเสี่ยงด้านภัยพิบัติมีมากถึง 34% คือเกือบ 25 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง  

เจาะลงไปที่ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางน้ำ ดร.การดีระบุชัดว่าเป็นเรื่อง น้ำท่วม และ สึนามิ หลายฝ่ายจึงต้องเร่งทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต จากนั้นเผยตัวเลขความสูญเสียในระดับโลกว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2565 ทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595 ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ยังคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก นั่นคือ 

  • 1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) 
  • 2. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather)  
  • 3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเสี่ยงประสบภัยพิบัติถึง 34% 

เนื่องจาก ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ สนใจและศึกษาวิจัยเรื่องของ ความเป็นอยู่ที่ดี (For all well – being) กอปรกับ ดร.การดี เล็งเห็นผลกระทบจากการคาดการณ์ความเสี่ยงดังกล่าว เช่น สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) ที่จะส่งผลให้ทุกชีวิตต้องเผชิญกับปริมาณฝนหรือคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น หากไม่เตรียมการรับมือ จะนำมาซึ่งผลกระทบและความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ อาทิ การสูญเสียผลผลิตในภาคการเกษตร คุณภาพสินค้าลดลง การส่งออกหยุดชะงัก ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป รวมถึงมูลค่าที่ต้องจ่ายเพื่อฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยต่าง ๆ จึงร่วมกับ ESRI ในการพัฒนา Urban Hazard Studio ขึ้น

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มาร่วมให้ความรู้และเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Urban Hazard Studio ทั้งด้านเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศ

ด้วยความมุ่งหวังที่อยากให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมและร่วมป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งต้องการให้เกิดความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ เกริ่นว่า เริ่มศึกษาภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน เพราะมีโอกาสเกิด ‘ฝนร้อยปี’ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งหลังจากศึกษาและรวบรวมข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล รศ.ดร.เสรีเปิดเผยว่า สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  • 1. น้ำท่วมเมือง (Urban flooding) หรือ น้ำท่วมรอการระบาย เกิดจากการที่ฝนตกหนักในเมืองเกินกว่าความสามารถของระบบระบายน้ำ  
  • 2. น้ำล้นฝั่งจากแม่น้ำ (River flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้น้ำล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน เช่น กรณีเหตุการณ์ในปี 2554, 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา 
  • 3. น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) เกิดขึ้นกับชุมชนหรือเมืองริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร

Urban Hazard Studio

"ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ โดน River Flooding มากสุด คือ ฝนตกทำให้น้ำหลากเข้ามา ตามมาด้วย Urban Flooding คือฝนตกในพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็เรียกกันว่าน้ำท่วมรอการระบาย แล้วก็ Coastal Flooding น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นแล้วดันเข้ามาท่วมพื้นที่

ปีที่แล้ว ผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่า ไม่เคยเจอเหตุการณ์ฝนตกจนน้ำท่วมมากกว่าวันละ 120 มม. ซึ่งมีถึงประมาณ 10 วัน แต่ก่อนฝนตกระดับนี้มีปีละวันสองวัน จึงเป็นประเด็น 'ให้แก้ให้มันหายไป' มันจะหายไปได้ยังไง ไม่มีทางหรอก เพราะพื้นที่นี้อยู่ในที่ต่ำ เราหนีไม่พ้นน้ำท่วมรอการระบาย นอกจากต้องรื้อระบบทั้งหมด แล้วจะเอาเงินจากที่ไหน?

ที่หนักกว่านั้น รศ.ดร.เสรีระบุว่า น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภท มีแนวโน้มของความถี่และความรุนแรงมากขึ้น โดยหลังจากใช้เทคโนโลยี GIS ทำให้เห็นฉากทัศน์ในอนาคตชัดขึ้น จากข้อมูลแผนที่ ข้อมูลตัวเลข ฯลฯ ดังภาพที่ปรากฏด้านล่างนี้

"จากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20 - 30% และปริมาณฝนร้อยปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนักมีโอกาสเพิ่มขึ้น 60 - 80%"

Urban Hazard Studioดังนั้น เหตุการณ์ น้ำท่วมรอการระบาย จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยา ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น 20 - 30% เช่นกัน 

กล่าวคือ ฝน 100 ปีในปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2554 จึง 'มีโอกาส' ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต แต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นทุก 10 ปีแบบเป๊ะๆ

และจากการประเมิน น้ำท่วมชายฝั่ง โดยคณะทำงาน IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) พบว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำ ประมาณ 0.39 ม., 0.73 ม. และ 1.68 ม. ในปี 2573, 2593 และ 2643 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จมน้ำอย่างถาวรหากไม่มีมาตรการรับมือ 

ผลกระทบนอกเหนือจากนี้ รศ.ดร.เสรีให้ข้อมูลเพิ่มว่า ผู้อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังต้องบริโภคน้ำประปากร่อยจากน้ำเค็มที่รุกล้ำ รวมทั้งพืชสวนทุเรียนและกล้วยไม้ใน จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐม ก็จะได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

Urban Hazard Studio อีเอสอาร์ไอนางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Urban Hazard Studio ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS มีส่วนร่วมอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง Climate Change ด้านอื่น ๆ ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก โดยช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ใน 3 เรื่องหลัก คือ 

  1. ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่ 
  2. ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต 
  3. ช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบผ่านการสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เห็นรูปแบบหรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น 

มากกว่านั้น Urban Hazard Studio ยังสามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น ช่วยให้เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถวางแผนรับมือกับปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ หรือใช้ GIS Tool วิเคราะห์มูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ โดยหัวใจสำคัญคือ มีช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมและผลกระทบ รวมทั้งช่วยตัดสินใจในการหาแนวทางตั้งรับ ซึ่งเทคโนโลยี GIS ตอบโจทย์ในการนำเสนอและสร้างเป็นแอปพลิเคชันที่แชร์ให้กับผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูและใช้งานได้หลายด้านแล้ว

สำหรับแผนงานต่อไป นางสาวธนพรกล่าวว่า ESRI และ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มุ่งพัฒนา Urban Hazard Studio ให้สามารถใช้ประเมินภัยคุกคามหรือความเสี่ยงด้านภัยพิบัติอื่น ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ, ภัยแล้ง, ฝุ่น PM2.5 เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งต่อความรู้ให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ เตรียมรับมือต่อไป

กรณีศึกษา : การใช้เทคโนโลยี GIS แก้ปัญหา Climate Change ในฟิลิปปินส์

ในตอนท้ายของการเสวนา นางสาวธนพรเล่ากรณีศึกษาจากการใช้แพลตฟอร์มที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความกังวลเรื่อง ความร้อนในพื้นที่เมือง (Urban Heat) เพราะจากข้อมูลด้านการปล่อยพลังงานความร้อนในปี 1988 - 2019 ในพื้นที่เมือง พบว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 องศา 

หากไม่ทำอะไรเลย ความร้อนในพื้นที่เมืองของประเทศฟิลิปปินส์ ณ ปี 2100 จะเพิ่มขึ้นถึง 5 องศา 

esri thailandการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่สามารถช่วยให้เราค้นพบ Insight จากข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้ | Source : esrith.com/blog/arcgis-an-advanced-analytics-platform

ทางแก้คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อดูดซับคาร์บอน ลดพลังงานความร้อนลง แต่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ใด มากเท่าไร อย่างไร? นางสาวธนพรเล่าต่อว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเป็นเรื่องยากเพราะสามารถส่งกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี GIS จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยวิเคราะห์และชี้เป้าว่า ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหน ในรูปแบบใด และสามารถคำนวณได้ว่า เมื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจุดนั้น ๆ แล้ว จะช่วยลดปริมาณความร้อนลงได้มากเท่าไร 

แนวคิดคือ การใช้ GIS วิเคราะห์ว่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว 'บนอาคาร' ได้ไหม จุดไหนเหมาะที่สุด แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ จากนั้นใช้ GIS สร้างฉากทัศน์ (Scenario) ขึ้น โดยเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการสร้างอาคารในอนาคต ซึ่งต้องมีการพิจารณาหลายๆ ด้านร่วมกัน เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนอาคาร การจัดองค์ประกอบในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม ดังนั้น นอกจากการการวิเคราะห์แล้ว อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังนำ GIS มาช่วยวางแผนการก่อสร้างได้

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี GIS ไม่ได้เป็นแค่การทำแผนที่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้าน Climate Change ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ภาคส่วนได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

โลกยิ่งร้อน คนจะยิ่งจน วิจัยเผยรายได้จะหาย 60% หากไม่รีบแก้

โลกยิ่งร้อน คนยิ่งจน การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์บนนิตยสาร Nature ชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกจะเลวร้ายขึ้นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้รายได้เฉลี่ยทั่วโลกลดลงถึง 19% ใน...

Responsive image

อาเซียนรับกรรม ในบทบาท ‘ถังขยะโลก’ สังเวยชีวิตคนสิ่งแวดล้อม ด้วยการค้าขยะผิดกฎหมาย

ประเทศอาเซียนรับกรรม กลายเป็นถังขยะโลก จากการ ‘ค้าขยะ’ ผิดกฎหมายที่มาจากยุโรป สะท้อนกฎหมายอ่อนแอ ไร้ระบบจัดการขยะแบบยั่งยืน...