Regenerative คืออะไร? มารู้จักกับแนวทางใหม่ของธุรกิจในอนาคต

ในปัจจุบันเทรนด์ Sustainability เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกพยายามทำเพื่อโลก แต่ในอนาคตแค่ยั่งยืนอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะนอกจากเราจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ ‘ไม่แย่ลงไปกว่านี้’ ก็ยังจำเป็นต้อง ‘ฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่าเดิม’ ซึ่งจะกลายเป็นแนวทางของธุรกิจในยุคต่อไป เรียกว่า Regeneration Paradigm

แนวทางนี้คืออะไร ทำยังไง และสำคัญแค่ไหน มาร่วมหาคำตอบได้ในงาน Techsauce Global Summit 2024 กับเซสชัน The World After Sustainability: What’s the Next Global Agenda โดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands (SB) Thailand และคุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานและ CEO แห่ง SCG 

Regenerative คืออะไร?

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล อธิบายว่า Regenerative เป็นแนวทางใหม่ที่ธุรกิจและสังคมใช้รับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แทนที่จะพยายามรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ แนวคิดนี้มุ่งไปไกลกว่านั้น คือ การฟื้นฟูและปรับปรุงสิ่งที่สูญเสียหรือเสียหายไปแล้ว ซึ่งมีวิวัฒนาการของแนวทางการทำธุรกิจอยู่ทั้งหมด 4 ยุค อาทิ

  • ธุรกิจแบบดั้งเดิม (Conventional): มุ่งเน้นการสร้างผลกำไรเป็นหลัก ปฏิบัติตามกฎระเบียบเท่าที่จำเป็น และอาจมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้างเล็กน้อย
  • ธุรกิจสีเขียว (Green): เริ่มให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดขยะและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable): ไม่เพียงแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมั่นใจได้ว่าการดำเนินธุรกิจจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมุ่งเน้นที่การลดการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล
  • แนวทาง Regenerative: เป็นแนวคิดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก้าวไปไกลกว่าการรักษาสภาพปัจจุบัน แต่เป็นการปรับปรุงและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามลดอันตรายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการซ่อมแซมและปรับปรุงสิ่งที่เสียหายไปแล้ว

Regenerative ยังมีหลักการอยู่ 7 ข้อ ได้แก่

  1. การออกแบบให้อิงธรรมชาติและใช้สถานที่ในการควบคุมกลยุทธ์: กลยุทธ์ควรถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจในธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญในการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของมนุษย์
  2. ความหลากหลายสร้างความยืดหยุ่น: การเน้นความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความหลากหลายทำให้เกิดความยืดหยุ่น ไม่เหมือนกับการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวที่มีความเปราะบาง
  3. โฟกัสที่ศักยภาพแทนปัญหา: แทนที่จะจมอยู่กับปัญหา ควรมองหาศักยภาพในสิ่งอื่นๆ ความสามารถในการมองเห็นศักยภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟู
  4. แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ: ควรจัดการกับสาเหตุหลักของปัญหา แทนที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีนี้จะนำไปสู่แก้ไขที่แท้จริงและเป็นการฟื้นฟู
  5. คิดระยะยาว: ควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในระยะยาวและมั่นใจว่าการวางแผนระยะยาวถูกรวมเข้ามาในกระบวนการนี้ด้วย
  6. ส่งเสริมให้มีการกระจายผลประโยชน์: ควรเข้าใจว่าใครจะได้รับประโยชน์ และมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ถูกต้องจะถูกสร้างขึ้นมา และสิ่งนี้จะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่สามารถกระจาย
  7. การพึ่งพากันเป็นการส่งเสริมชีวิตซึ่งกันและกัน: ตระหนักว่าไม่ว่าสิ่งมีชีวิตประเภทไหนต่างก็เชื่อมโยงและพึ่งพากันและกัน มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศขนาดใหญ่ และการฟื้นฟูจำเป็นต้องรู้จักปรับตัว

คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กล่าวว่า Regenerative มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียส และอาจสูงถึง 2.5 องศา ซึ่งอาจทำให้ป่าไม้กลายเป็นทะเลทรายได้ 

เมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2.5 องศาเซลเซียส และธรรมชาติจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เอง ต้องการการฟื้นฟูจากมนุษย์ ถ้าอุณหภูมิยังเพิ่มขึ้น เราจะต้องพูดถึงการปรับตัวรับมือโลกใหม่แทนการลดคาร์บอน 

ดังนั้น Regenerative จึงมีความสำคัญมากในขณะนี้ เช่น การฟื้นฟูดิน การสร้างการเกษตรแบบฟื้นฟู และการดักจับคาร์บอน 

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และไปสู่จุด Net Negative ซึ่งหมายถึงการลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้มากกว่าที่ปล่อยออกมา หากไม่เร่งดำเนินการ เราจะเข้าใกล้จุดวิกฤตมากขึ้น การฟื้นฟูเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาโลกให้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป และตอนนี้คือเวลาที่ต้องลงมือทำก่อนจะสายเกินไป

เทคโนโลยีจะมีส่วนสนับสนุนแนวทาง Regenerative อย่างไร จากมุมมองของธุรกิจ ?

คุณธรรมศักดิ์ ชี้ว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ตามเป้าหมาย SDG ซึ่ง SCG ตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายนี้อย่างมาก บริษัทมีการดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนแนวทาง Regenerative อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ:

  • ปะการังเทียม (artificial coral): ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สร้างปะการังเทียมจากวัสดุพิเศษที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของปะการังจริง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
  • ดักจับและเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture & conversion of carbon dioxide): ลงทุนใน Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์อย่างพลาสติก เพื่อลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
  • พลาสติกชีวภาพ (bioplastic): พัฒนาพลาสติกชีวภาพจากอ้อย ลดการพึ่งพาพลาสติกจากปิโตรเลียม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (wet and dry process): ส่งเสริมเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและส่งเสริมสุขภาพดิน

นอกจากนี้คุณธรรมศักดิ์ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างยั่งยืน เพราะมันต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน และความร่วมมือจากคู่แข่ง ทั้งนี้ SCG ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero และสร้างการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน

การบรรลุเป้าหมายต้องการการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพราะถ้ามีเพียงบริษัทเดียวที่บรรลุ Net Zero แต่บริษัทอื่น ๆ ไม่ได้ทำ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ SMEs ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การสนับสนุนซึ่งกันและกันจะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศทั้งหมดไปข้างหน้า หากเราไม่ทำร่วมกัน โลกอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป

แนวโน้มในอนาคตของแนวทาง Regenerative และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ?

ดร. ศิริกุล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ผู้คนมักมองว่ามันเป็นเทรนด์หรือเป็นเพียงแค่กระแส แต่ความจริงมันเป็นความจำเป็นมากกว่า ดังนั้น แทนที่จะถามว่ากระแสต่อไปควรเป็นอย่างไร ควรเปลี่ยนเป็น เราควรเริ่มต้นอย่างไร ? เราจะทำมันได้อย่างไร ?

การโฟกัสไปที่เทรนด์ในอนาคตมากเกินไปอาจทำให้เราละเลยสิ่งที่จำเป็นต้องทำในปัจจุบัน ในโลกยุคปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไม่เพียงพออีกต่อไป เราควรมุ่งหวังไปที่ Net Positive ซึ่งหมายถึงการคืนกลับให้โลกมากกว่าที่เราได้ใช้ไป 

แม้การบรรลุ Net Zero นั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่แต่เราก็ต้องพยายามต่อไป เนื่องจากมนุษย์ได้ทำร้ายโลกมาอย่างยาวนานแล้ว การมุ่งสู่ Net Positive จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นในอนาคต โลกกำลังเอาคืนจากการกระทำของมนุษย์ในอดีตที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน 

เราจำเป็นต้องชำระคืนสิ่งที่ได้ทำลายไป 2-3 เท่า ด้วยการคืนกลับสู่โลกให้มากกว่าที่เราได้เอามา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องร่วมมือกับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน เพราะการจัดระเบียบและเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย 

รวมถึงในปัจจุบัน AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการเรียนรู้จากบทเรียนทั่วโลก แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับความคิดของเรา ว่าเราพร้อมที่จะลงมือทำหรือไม่ หากเรามีเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นในมือ แต่ถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการลงมือทำ ทุกอย่างก็จะไม่มีความหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิบัติจริงและสร้างความแตกต่างที่ยั่งยืน

คุณธรรมศักดิ์ กล่าวถึงกลยุทธ์ของ SCG ในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมองว่าเป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาส เขาเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญและเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำของ SCG ที่พัฒนาขึ้นจากชีวมวลที่นำมาแทนถ่านหิน ซึ่งได้มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 1 ล้านตัน  เมื่อมีคุณภาพและราคาเหมาะสม ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์สีเขียว และความสำเร็จนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่คุณธรรมศักดิ์เรียกว่า "การเติบโตสีเขียว"

สำหรับ SCG แล้ว การบรรลุเป้าหมายการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป โดย SCG ได้ริเริ่มโครงการ Saraburi Sandbox ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมือง Net Zero ที่ผลิตปูนซีเมนต์ 70% ของประเทศ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ SCG ได้เรียนรู้และมีความคืบหน้าในการสร้างแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมและส่งเสริมการเติบโตสีเขียว คุณธรรมศักดิ์ยังเน้นว่า SCG เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้

สิ่งที่ผมอยากขอคือ ให้ทุกท่านเปิดใจ และผมเชื่อมั่นว่า หากทุกท่านเปิดใจ ไม่ใช่แค่ SCG เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ แต่เราทุกคนจะก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ฟินแลนด์เปิดตัว Sand Battery ก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ต้นทุนต่ำมาก

ฟินแลนด์เปิดตัว Sand Battery ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้หินบดเก็บพลังงานความร้อนได้ยาวนาน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้กว่า 60% ต้นทุนถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมหลายเท่า เป็นก้าวใหม่ของระบบพ...

Responsive image

พลิกโฉมการเกษตรแอฟริกา! เมื่อ AI กลายเป็น "เพื่อนคู่คิด" เกษตรกรรายย่อย

AI กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในพื้นที่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ "ไร่นา" ของเกษตรกรรายย่อยในทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งเทคโนโลยีกำลังถูกนำมาใช้แก้ปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางอาหาร (Food Sec...

Responsive image

รายงาน Circularity Gap Report 2025 ชี้ยอดรีไซเคิลเพิ่ม แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่เกิด

แม้การรีไซเคิลเพิ่มขึ้น แต่เกือบ 90% ของวัสดุยังกลายเป็นขยะถาวร รายงานปี 2025 ชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจำเป็นต่ออนาคตที่ยั่งยืน...