SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia | Techsauce

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) คือความหวังในการพาเราบินสู่อนาคตสีเขียว

ท่ามกลางเทรนด์การบังคับใช้ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่กำลังมาแรงทั่วโลก SAF จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการปล่อยคาร์บอน และหลีกเลี่ยงภาระค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบิน และความสามารถในการแข่งขันของสายการบิน

สำหรับประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ SAF จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้เรามีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้าน SAF ในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข

Yap Mun Ching หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของแอร์เอเชีย ได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อเพลิง SAF ผ่านงาน Thai Aviation Sustainability Day โดยชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญคือ ‘ต้นทุนที่สูงลิ่ว’ และ ‘การเตรียมพร้อมของประเทศไทย’

ปัจจุบัน SAF มีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงเจ็ทแบบดั้งเดิมถึง 4 เท่า เป็นภาระหนักอึ้งสำหรับสายการบินที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น แม้ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยวัตถุดิบทางเลือกมากมาย เช่น ตอซังข้าว อ้อย และกากน้ำมันปาล์ม แต่ระบบการรวบรวม และการแปรรูปยังไม่มีประสิทธิภาพ

'ตอซังข้าว' ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายในไทย มีศักยภาพสูงในการผลิต SAF แต่กลับถูกเผาทำลาย ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น PM 2.5 สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และลดการนำเข้าน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิต SAF แม้ประเทศไทยจะมีอาหารริมทางมากมาย แต่ระบบการรวบรวมน้ำมันใช้แล้วกลับไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันใช้แล้วจากต่างประเทศถึง 50% 

เธอเสนอให้รัฐบาลริเริ่มโครงการระดับชาติ เช่น การตั้งจุดรับซื้อน้ำมันตามปั๊มน้ำมัน และให้เงินจูงใจแก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับอันตรายของการใช้น้ำมันปรุงอาหารซ้ำ และส่งเสริมให้ใช้น้ำมันใหม่

นอกจากเรื่องวัตถุดิบทางเลือกแล้ว ข้อกำหนด CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานการชดเชยคาร์บอนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทาย CORSIA เปรียบเสมือน ‘ข้อตกลงลดโลกร้อน’ ของอุตสาหกรรมการบิน โดยสายการบินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด จะต้องชดเชยด้วยการ ‘ซื้อเครดิตคาร์บอน’ หรือใช้ SAF ในสัดส่วนที่กำหนด

Yap Mun Ching ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศหลายรายในไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ CORSIA ซึ่งอาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการถูกปรับ หรือการไม่สามารถบินเข้าประเทศที่บังคับใช้ CORSIA ได้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

จากข้อมูลของแอร์เอเชีย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการชดเชย CORSIA สูงถึง 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2029 ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสายการบินที่ต้องรับผิดชอบถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่ระบบขนส่งสินค้าต้องแบกรับต้นทุนอีก 40%

การลงทุนใน SAF แม้จะมีราคาสูงในระยะแรก แต่ในระยะยาว จะช่วยลดต้นทุนการชดเชย CORSIA ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน SAF เช่น การให้เงินอุดหนุน การลดหย่อนภาษี หรือการลงทุนใน R&D เพื่อลดต้นทุน SAF และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินไทย

เธอยังชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาโครงการคาร์บอนในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ทำให้สายการบินต้องพึ่งพาการซื้อเครดิตคาร์บอนจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการคาร์บอนประเภท Premium T-VER เพื่อสร้างรายได้จากการขายเครดิตคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงการคาร์บอนประเภท nature-based solutions เช่น การปลูกป่า แต่ไทยยังต้องผลักดันอย่างจริงจัง

เพื่อปลดล็อคศักยภาพและคว้าโอกาสเหล่านี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมี 'กลยุทธ์ระดับชาติ' ที่ชัดเจนในการพัฒนา SAF ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการวิจัย การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิต การสร้างแรงจูงใจทางการเงิน การพัฒนาระบบการรวบรวมวัตถุดิบ และที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันผลักดันให้ SAF กลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินไทยสู่ยุคแห่งความยั่งยืน

การสื่อสารกับสาธารณะก็เป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของ SAF และบทบาทของพวกเขาในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้บริการของสายการบินที่ให้ความสำคัญกับ SAF การลดน้ำหนักสัมภาระ การเดินทางในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน หรือการสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริม SAF

อ้างอิง : การบรรยายผ่านงาน Thai Aviation Sustainability Day, การสัมภาษณ์ Yap Mun Ching

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia จับมือ Airbus ผนึกกำลังลดคาร์บอน พัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 'SAF' ในอาเซียน

AirAsia ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำจากยุโรป เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ...

Responsive image

Deloitte ชี้ 85% ของผู้นำ ลงทุนด้านความยั่งยืน สะท้อนความตื่นตัวของภาคธุรกิจ

รายงาน Deloitte’s 2024 CxO Sustainability Report: Signs of a shift in business climate action ฉบับล่าสุดเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการรับรู้ของผู้นำธุรกิจระดับ C-suite ...

Responsive image

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืน

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืนได้...