'เมืองไม้' ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากไม้ทั้งเมือง เริ่มสร้างที่สต็อกโฮล์ม | Techsauce

'เมืองไม้' ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากไม้ทั้งเมือง เริ่มสร้างที่สต็อกโฮล์ม

ที่สต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน มีเขตอุตสาหกรรมเก่าของเมืองที่เต็มไปด้วยซากโรงงานเก่า และลาดจอดรถ นักพัฒนาเมืองเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ จึงผุดไอเดียที่จะสร้าง ‘เมืองไม้’ ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 

ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบที่จะใช้ไม้ในการสร้างเมืองทั้งเมือง เพราะต้องการ สนับสนุนการใช้วัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้เหล็กและคอนกรีตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก ในกระบวนการผลิต

Annica Ånäs CEO ของ Atrium Ljungberg บริษัทที่พัฒนาโครงการเมืองไม้ กล่าวว่า “พวกเราอยากแสดงให้เห็นว่าวิทยาการความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง” กลยุทธ์หลักของโครงการ คือ การพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่แต่ละส่วนเชื่อมต่อถึงกัน เป็นย่านชุมชนแห่งหนึ่งที่มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ทำให้ผู้คนชื่นชอบและอยากมาอยู่อาศัยที่นี่ แทนที่จะสร้างอาคารเพียงแค่หลังเดียว

‘เมืองไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ มีอะไรบ้าง

สำหรับโครงการเมืองไม้เป้าหมายหลักที่นักพัฒนาวางเอาไว้ คือ การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเก่าให้กลายเป็นย่านชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งในย่านนี้ก็จะประกอบด้วยร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่อยู่อาศัย 2,000 ยูนิต และออฟฟิศกว่า 7,000 แห่ง 

การที่นักพัฒนาวางแผนสร้างออฟฟิศมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัยเนื่องจากบริเวณใกล้เคียงโครงการมีบ้านมากกว่าออฟฟิศอยู่แล้ว และเมืองสต็อกโฮล์มก็มีปัญหาของความไม่สมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยกับสถานที่ทำงาน หลาย ๆ คนอาศัยอยู่ทางตอนใต้ แต่ที่ทำงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง 

การพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นออฟฟิศจะช่วยเพิ่มสมดุลและลดเวลาที่ผู้คนต้องเดินทางไปทำงานได้ นอกจากนี้จะมีการสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ด้วย เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าไปยังใจกลางเมือง ซึ่งแนวคิดเรื่องความสะดวกและการเดินทางเป็นสิ่งที่นักพัฒนาเมืองให้ความสำคัญอย่างมาก โดยตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า ‘เมือง 15 นาที’

เมือง 15 นาที คืออะไร

 

จากเป้าหมายหลักที่โครงการต้องการให้แต่ละส่วนของเมืองเชื่อมต่อถึงกันได้ ทำให้นักพัฒนาต้องการทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองนี้สามารถหาทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ในบริเวณใกล้ ๆ บ้าน จึงกลายมาเป็นแนวคิด ‘เมือง 15 นาที’ ที่มีสถานที่สำคัญที่ผู้คนต้องไปในแต่ละวัน เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน ร้านค้า และสวนสาธารณะ อยู่บริเวณใกล้เคียงสามารถเดินไปได้ในระยะทางสั้น ๆ หรือขี่จักรยานไปก็ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามาก

ใช้ไม้สร้างทั้งเมืองจะยั่งยืนจริงเหรอ ?

หลาย ๆ คนคงเริ่มสงสัยว่าการลดการใช้คอนกรีตและเหล็ก เพราะต้องการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ตัดไม้จำนวนมากมาสร้างเมืองทั้งเมืองมันจะยั่งยืนและดีต่อโลกจริง ๆ เหรอ ? 

บริษัทที่พัฒนาเมืองไม้มีความตั้งใจอย่างมากที่จะผลักดันการใช้วัสดุก่อสร้างที่ทั้งยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

วัสดุที่โครงการเลือกใช้เป็นไม้ชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า Mass Timber Construction เป็นไม้ประเภทที่นำมาใช้เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะ ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งน้ำหนักเบา ขนส่งง่าย ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง เพราะสามารถประกอบขึ้นรูปนอกไซต์ก่อสร้างและส่งตรงไปเพื่อติดตั้งที่หน้างานได้เลย นอกจากนี้ยังแข็งแรงทนทานได้รับมาตราฐานความปลอดภัยเดียวกันกับเหล็กและคอนกรีตอีกด้วย

ไม้ประเภทนี้มาจากป่าแบบสมัยใหม่ (Modern Forestry) ซึ่งเป็นป่าที่มีการจัดการต้นไม้เป็นวัฏจักร ปลูก > ตัด > เติบโต หมายถึงเมื่อปลูกต้นไม้ว่าถึงช่วงอายุที่สามารถเก็บเกี่ยวไปใช้งานได้ ต้นไม้ต้นนั้นก็จะถูกตัด และหลังจากนั้นก็จะมีต้นไม้ต้นใหม่ถูกปลูกขึ้นมาทดแทน ซึ่งทำให้การตัดไม้มาใช้งานไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ในปัจจุบันการใช้ไม้มาทดแทนเหล็กและคอนกรีตก็มี New European Bauhaus (โครงการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป) ร่วมสนับสนุนด้วย เพราะนอกจากลดการปล่อยก๊าซพิษแล้ว ยังพบว่าอาคารไม้ช่วยทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความเครียดและเพิ่มสมาธิ เพราะไม้ช่วยให้อากาศภายในอาคารสะอาดทำให้หายใจได้สะดวก รวมถึงดูดซับก๊าซคาร์บอนในอากาศได้ตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย

นอกจากนี้โครงการเมืองไม้ก็ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวภายในเมือง รวมถึงผลักดัน Eco-System ของเมือง เช่น พลังงานหมุนเวียน การกำจัดของเสีย เป็นต้น โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นสร้างในปี 2025 และคาดว่าจะเสร็จในปี 2027 ซึ่งทีมพัฒนาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ความรู้ใหม่ ๆ จากกระบวนการสร้างโครงการนี้ เพื่อนำไปปรับใช้กับโครงการพัฒนาเมืองยั่งยืนในอนาคตต่อไป

อ้างอิง: cdsmith, fastcompany, news.cision

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mung Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...

Responsive image

AirAsia จับมือ Airbus ผนึกกำลังลดคาร์บอน พัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 'SAF' ในอาเซียน

AirAsia ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำจากยุโรป เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ...

Responsive image

Deloitte ชี้ 85% ของผู้นำ ลงทุนด้านความยั่งยืน สะท้อนความตื่นตัวของภาคธุรกิจ

รายงาน Deloitte’s 2024 CxO Sustainability Report: Signs of a shift in business climate action ฉบับล่าสุดเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการรับรู้ของผู้นำธุรกิจระดับ C-suite ...