ความยั่งยืน: กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่ | Techsauce

ความยั่งยืน: กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่

สรุปสาระสำคัญจากงาน ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน (Collaborative Partnership for Sustainability)  ในหัวข้อ “ความยั่งยืน: กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่” บรรยายโดยดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ความยั่งยืน

ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยตื่นตัวเป็นอย่างยิ่งกับปัญหาเรื่องความยั่งยืน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดคำถามขึ้นว่าหลังภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไทยควรที่จะเจริญเติบโตด้วยกรรมวิธีและกลยุทธ์แบบใด จึงจะสอดคล้องกับภาพแห่งความยั่งยืนในระดับสากลโลก และในขณะเดียวกันก็ยังต้องเป็นการเสริมสร้างก้าวถัดไปของการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย

จากมุมมองเศรษฐกิจมหภาค การก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงนั้นเป็นสิ่งที่ไทยเราต้องการแก้ไขมาตลอดหลายทศวรรษ  และที่ผ่านมา ผลกระทบต่อความยั่งยืน เช่นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และแรงงาน มักถูกมองว่าเป็น “ปลายน้ำ” ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่การมองและตั้งคำถาม ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอย่างไรให้ไม่กระทบคนรุ่นหลังและโลกของพวกเขา 

แต่ทว่า มุมมองที่มักถูกมองข้าม และน่าสนใจกว่า คือแท้จริงแล้ว ผลกระทบต่อความยั่งยืนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาวะแรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ความหลากหลายทางชีวิภาพ หากมองมุมกลับสิ่งเหล่านี้เองคือหัวใจสำคัญของเส้นทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ และกรรมวิธีการผลิตที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในใจของผู้บริโภคทั่วโลก

แปลว่าปัจจัยความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียง output จากการผลิตเพียงอย่างเดียว มันควรถูกมองให้เป็น input ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วย

ความยั่งยืน

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรสองประเภทหลัก คือ “ทุน” และ “คน”  

ในมุมมองของ “ทุน” ซึ่งนิยามรวมตั้งแต่เงินทุนไปจนถึงวัตถุดิบ ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย และความร่วมมือระดับนานาชาติ เริ่มส่งผลกระทบต่อการบริหารทุนเหล่านี้แล้ว หากไม่ปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นก็จะทำให้ธุรกิจหรือแม้กระทั่งในระดับประเทศทั้งประเทศ ไม่สามารถดึงดูดเงินทุนมาขับเคลื่อนกันไปข้างหน้าได้ดีเท่าที่ควร ทั้งในเชิงการส่งออกและในด้านการระดมทุนจากกองทุนทั่วโลก  ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตด้วยทุนชีวภาพทางเลือก ที่ดีกว่าในอดีตก็เป็นสิ่งที่จะตอบสนองกับความต้องการใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลกอีกด้วย

ในมิติของ “คน” หรือ “แรงงาน” นั้นรวมไปถึงหลักธรรมาภิบาล ต่อพนักงาน ความเท่าเทียมทางเพศ และการสนันสนุนความหลากหลายในองค์กร ซึ่งบางครั้งแม้อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายนัก แต่หากลองไปสังเกตธุรกิจที่โตมาก ๆ ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสายเทคโนโลยีหรือสายที่ต้องการใช้วัดนวัตกรรมในการคิดค้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเติบโตและสร้างตลาดใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่ภาระที่จำต้องทำ แต่ถือเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งต้องมีกระบวนการเปลี่ยนในตลอดห่วงโซ่อุปทาน และใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับภายในองค์กร ออกสู่ภายนอก และควรเป็นส่วนสำคัญของโมเดลธุรกิจ

การจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สัมฤทธิผลในทางปฎิบัติจริงนั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองสิ่ง นั่นก็คือ เทคโนโลยี และนโยบายสาธารณะ การใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และควรจะต้องมีการสนับสนุนหรือมีการตั้งกฎกติกา และการให้รางวัลและลงโทษที่ชัดเจนโดยภาครัฐ 

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละบริษัทต้องหาคำตอบว่าควรจะทำอย่างไรในแต่ละกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสีย การมีเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเก็บหลักฐานอย่างมีมาตรฐาน จะทำให้ภาครัฐสามารถกำกับและสนับสนุนแนวทางที่ดีต่อความยั่งยืนได้อย่างมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงในสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นพันธกิจที่ทุกองค์กรต้องทำเพื่ออนาคตและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รักโลกต้องทำงาน 4 วัน ทั้งปลดล็อกชีวิตสมดุล และลดคาร์บอนปีละ 127 ล้านตัน

จะดีแค่ไหน หากการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น แต่ยังช่วยรักษ์โลกได้อีกด้วย? รายงานล่าสุดเผยว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่เพียงเพิ่มเวลาว่างถึง 50% ...

Responsive image

ปัญหา Jobs Gap กำลังเปลี่ยนโลกแรงงาน อีก 10 ปีข้างหน้า 800 ล้านคนอาจไม่มีงานทำ

สำรวจความท้าทายด้านการจ้างงานในอนาคตเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท พร้อมแนวทางแก้ไขช่องว่างงานกว่า 400 ล้านตำแหน่งทั่วโลกจากการเสวนาในงาน World Economic Forum 2025...

Responsive image

สรุป 35 ความเสี่ยงจาก Global Risks Report 2025 ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เจาะลึก Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum วิเคราะห์ 35 ความเสี่ยงระดับโลกที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี พร้อมแนวโน้มสำคัญในปี 2025, 2027 แ...