TCP Sustainability Forum 2024 ชูเรื่อง 'น้ำ' ทรัพยากรที่ธุรกิจต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด | Techsauce

TCP Sustainability Forum 2024 ชูเรื่อง 'น้ำ' ทรัพยากรที่ธุรกิจต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด

กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเวที 'TCP Sustainability Forum 2024' งานประชุมด้านความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือของพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยงานนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ธีมงานคือ 'Water Resilience in a Changing Climate' โดยชูแนวคิด ‘ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเร็ว’ พร้อมทั้งประกาศเดินหน้า 3 แผนงานเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกและสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายความยั่งยืนในอัตราที่เร็วขึ้น เพราะ 'วิกฤตน้ำ' ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังสร้างความเสียหายต่อผู้คนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก 

TCP Sustainability Forum 2024

TCP Sustainability Forum 2024 ที่จัดขึ้นในธีม Water Resilience  in a Changing Climate จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง 'น้ำกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของภาคธุรกิจ' โดยมีนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมระดมสมอง ยกระดับศักยภาพธุรกิจ ลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดจากการขาดแคลนน้ำและความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำอื่นๆ ในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังเป็นงานที่สนับสนุนให้องค์กรเร่งปรับปรุงการดำเนินการตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเสริมสร้างความสมบูรณ์และยืดหยุ่นของน้ำ รวมถึงตอกย้ำให้ธุรกิจสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่แหล่งน้ำที่มีความเปราะบางร่วมด้วย

สาระสำคัญที่ซีอีโอ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในงาน TCP Sustainability Forum 2024

คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เกริ่นถึงสภาพภูมิอากาศที่ต่างไปจากเดิมว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการตกของฝน การละลายของธารน้ำแข็ง ความรุนแรงของภัยแล้ง ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลแค่อุตสาหกรรม แต่ส่งผลต่อผู้ที่ทำการเกษตร เพิ่มความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติและผลกระทบด้านน้ำ โดยเฉพาะประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานอย่างประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อ GDP ทางเศรษฐกิจของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโลก ในขณะที่โลกมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นทุกปี”

ต่อมาคุณสราวุฒิกล่าวถึงรายงาน Fast Forward ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ปี 2566 เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นด้านการใช้น้ำในอนาคตว่า 

ภายในปี 2573 ปริมาณน้ำสะอาดที่โลกมีอยู่กับความต้องการใช้น้ำจะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40% และสถานการณ์มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งมาตลอด และปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งขยายวงกว้างแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป้าหมายด้านความยั่งยืน นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจไทย ผู้ประกอบการไทย ในการเร่งลงมือทำเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านน้ำ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสำคัญไม่แพ้สถานการณ์ ‘โลกเดือด’

'น้ำ' วาระสำคัญที่ภาคธุรกิจต้อง 'เร่งลงมือทำให้เร็วที่สุด'

TCP Sustainability Forum 2024

Water Resilience หรือ ความยืดหยุ่นด้านทรัพยากรน้ำ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำแบบเฉียบพลัน รุนแรงและไม่แน่นอน ที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่ Climate Change แต่เป็น Climate Crisis เพราะน้ำมีผลกับชีวิตความเป็นอยู่ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคสุขภาพจากการอุปโภคบริโภค ภาคพลังงานที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ภาคเกษตรที่เกี่ยวกับการผลิตอาหาร ภาคการผลิตที่เกี่ยวกับโรงงานผลิตสินค้า และในฐานะที่ TCP เป็นองค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัท”

คุณสราวุฒิบอกว่า กลุ่มธุรกิจ TCP ตระหนักถึงปัญหาด้านน้ำ และในฐานะขององค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต จึงตั้งเป้าหมายที่จะ ส่งคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือ Net Water Positive ภายในปี 2573 โดยกำหนดแนวทางเอาไว้หลากหลายรูปแบบ 

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP มีผลิตภัณฑ์ 6 กลุ่ม รวม 10 แบรนด์ และเกือบทั้งหมดเป็นแบรนด์เครื่องดื่ม ได้แก่

  • กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน - กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ 
  • กลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์ - สปอนเซอร์ 
  • กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงก์ - แมนซั่ม และไฮ่! X DHC 
  • กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม - เพียวริคุ และริคุ 
  • ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน - ซันสแนค 
  • กลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม - เรดบูลรสดั้งเดิม 

ปรับตัวให้เข้ากับ Water Resilience และ Business Resilience ในแบบของ TCP

คุณสราวุฒิกล่าวว่า “หัวใจสำคัญเวลาพูดถึง Water Resilience คือการจะอยู่รอดอย่างไรในวันที่เราเจอวิกฤตน้ำ เป็นเรื่องการรับมือกับอนาคต เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากทรัพยากรน้ำของธุรกิจ เศรษฐกิจ หรือประเทศ มีความยืดหยุ่น ก็จะสามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ดี ซึ่งก็คือ Business Resilience ที่ทำให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายตั้งแต่วันนี้ วันที่เราต้องแข่งกับเวลา และต้องปรับตัวให้เร็วกว่าโลกที่กำลังหมุนไป”

จากนั้นกล่าวต่อถึงเรื่องการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายของกลมธุรกิจ TCP 'ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า' โดยใช้กลยุทธ์ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก 4 ด้าน ดังนี้

  1. Product Excellence การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Unmet Needs) และส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยปัจจุบันทำได้ 72.25% และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ 80% ในปี 2569

  2. Circular Economy การดำเนินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถรีไซเคิล 100% ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันทำได้ 93% อีก 7% คือกลุ่มสแนค และมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะทำได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ยังมีการนำร่องใช้ขวด rPET กับแบรนด์แมนซั่มในปีนี้ พร้อมเดินหน้าเป็นองค์กร Zero Waste to Landfill ทั้งที่โรงงานปราจีนบุรีและสำนักงานใหญ่อย่างต่อเนื่อง

  3. Low Carbon Economy การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% และขณะนี้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 80%

  4. Water Sustainability การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายแล้วในขณะนี้ โดยสามารถคืนน้ำสู่ธรรมชาติสะสมได้ถึง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ตลอดกระบวนการ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 24% เมื่อเทียบกับปี 2562 และบริษัทยังนำมาตรฐานสากลเรื่องการจัดการและดูแลทรัพยากรน้ำอย่าง Alliance Water Stewardship หรือ AWS มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มธุรกิจ TCP จะดูแลและบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและภายนอกโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

คุณสราวุฒิเล่าเพิ่มเกี่ยวกับการดำเนินแผนงานใน 3 ด้านของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อสร้างเป้าหมาย Net Water Positive ให้โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ 

  • 1) ด้านการจัดการน้ำแบบฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศทางน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม หรือดีกว่าเดิม 
  • 2) ด้านการใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% เพื่อนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด และ 
  • 3) ด้านการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์ มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ พร้อมส่งเสริมเรื่อง 'การสร้างคนด้วยการศึกษา' ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืน ทั้งภายในองค์กร ชุมชน และระดับประเทศ

ปิดท้ายด้วยการสรุปความท้าทายด้านน้ำของประเทศไทยว่ามี 2 เรื่อง

  1. การทำความเข้าใจเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ - เข้าใจก่อนว่า ปัญหาอยู่ที่เรื่องอะไรกันแน่
  2. การมองหาหนทางใหม่ๆ ในการปรับตัว รับมือความท้าทายด้านน้ำในปัจจุบันและในอนาคต - ทั้งด้านนโยบายภาครัฐ ชุมชน ครัวเรือน ภาคธุรกิจ รวมถึงทุกคน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รักโลกต้องทำงาน 4 วัน ทั้งปลดล็อกชีวิตสมดุล และลดคาร์บอนปีละ 127 ล้านตัน

จะดีแค่ไหน หากการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น แต่ยังช่วยรักษ์โลกได้อีกด้วย? รายงานล่าสุดเผยว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่เพียงเพิ่มเวลาว่างถึง 50% ...

Responsive image

ปัญหา Jobs Gap กำลังเปลี่ยนโลกแรงงาน อีก 10 ปีข้างหน้า 800 ล้านคนอาจไม่มีงานทำ

สำรวจความท้าทายด้านการจ้างงานในอนาคตเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท พร้อมแนวทางแก้ไขช่องว่างงานกว่า 400 ล้านตำแหน่งทั่วโลกจากการเสวนาในงาน World Economic Forum 2025...

Responsive image

สรุป 35 ความเสี่ยงจาก Global Risks Report 2025 ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เจาะลึก Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum วิเคราะห์ 35 ความเสี่ยงระดับโลกที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี พร้อมแนวโน้มสำคัญในปี 2025, 2027 แ...