ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้มอบสินเชื่อภายใต้กรอบการสนับสนุน ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance Framework) จำนวน 6,500 ล้านบาทให้กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย เพื่อใช้ในการพัฒนาก่อสร้างและเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน สำหรับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจปัจจุบันได้ยากครั้งแรกในประเทศไทย
อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 2-3% ของทั่วโลก โดยคาดว่าจะปล่อย 39 กิกะตัน ระหว่างปี 2022-2050 ขณะที่ภาคการขนส่งภาคพื้นดินมีทางเลือกยานพาหนะไฟฟ้า แต่การบินยังต้องใช้เชื้อเพลิงปริมาณมากสำหรับเที่ยวบินระยะไกล เนื่องจากเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนยังไม่รองรับการบินไกล
SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพทดแทนได้ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสูงสุดถึง 80% ปัจจุบัน SAF ถูกใช้เพียง 1% แต่จำเป็นต้องเพิ่มเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
การขยายการใช้ SAF ต้องสร้างโรงงานผลิต 300-400 แห่ง จึงเป็นความท้าทายของสายการบิน ผู้ผลิต และบริษัทพลังงาน ในการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน
นางสาวพนิตสนีย์ ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจลูกค้าองค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธุรกรรมนี้เป็นการยืนยันของยูโอบีในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อกลุ่มบริษัทบางจาก ให้ครอบคลุมในทุกด้าน พร้อมทั้งยืนยันจุดยืนของเราในฐานะธนาคารหลักที่สนับสนุนกลุ่มบริษัทฯ ในด้านกลยุทธ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ของบางจากฯ ซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทย
ภายใต้กรอบการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้ ธนาคารยูโอบี มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านในหลากหลายด้าน สำหรับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจปัจจุบันได้ยาก ซึ่งรวมถึงการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) การใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ (CCUS) และการมีส่วนร่วมในโครงการคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการผลิต SAF ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนในภาคการบินได้” โดยสินเชื่อนี้ได้รับการออกแบบให้มีการจัดสรรคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของบางจากฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับธนาคารยูโอบีในการให้บริการในลักษณะนี้ในประเทศ
นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "โครงการนี้สะท้อนความพยายามของบางจากฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนผ่านธุรกิจของเราไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ความร่วมมือนี้ช่วยให้เราสามารถดำเนินการแผนการลดคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม เราขอขอบคุณธนาคารยูโอบี ในการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้ และความมุ่งมั่นที่จะอยู่เคียงข้างตลอดการเดินทางสู่ความยั่งยืนของเรา"
โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่โซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ โครงการ SAF นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของบางจากฯ ในการก้าวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและนวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Industry)
น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ผลิตจากทรัพยากรที่ยั่งยืนซึ่งสามารถผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่คุณค่าแบบบูรณาการของบางจากฯ (Integrated Value Chain) โดยสามารถจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากสถานีบริการน้ำมันของบางจากฯ ทั่วประเทศและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งนี้ โครงการ SAF จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับบางจากฯ ในฐานะหน่วยงานการค้า/การตลาดหลัก และจำหน่ายให้ลูกค้าอาทิ ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิง สายการบิน และผู้ค้าน้ำมัน อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ บางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกับบริษัท เชลล์ อินเตอร์เนชันแนล อีสเทิร์น เทรดดิ้ง ในประเทศสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บางจากฯ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกการผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วในประเทศไทยผ่านบริษัทย่อย บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งบางจากได้ลงทุน 8,500 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการผลิต SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2/2568 โดยมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ การใช้ SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด