ถ้าไม่รักษ์โลก ไม่ขอทำงานด้วย วันนี้จะพามาทำความรู้จัก Climate quitting เทรนด์ใหม่คนทำงาน ที่ยอมลาออกถ้าบริษัทไม่มีนโยบายช่วยสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ
ผลสำรวจ Net Positve Employee Barometer ปี 2023 โดย Paul Polman อดีต CEO บริษัท Unilever ที่ศึกษาพนักงานมากกว่า 4,000 คนในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่า 73% ของพนักงานกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 61% ต้องการเห็นบริษัทตระหนักถึงปัญหาและมีจุดยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีเพียง 34% เท่านั้นที่คิดว่าบริษัทตัวเองทำได้ดีเรื่องนี้
นอกจากนั้น พนักงาน 51% ยอมลาออก ถ้าบริษัทไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง ยังมีอีกส่วนหนึ่งด้วยที่ตัดสินใจลาออกแล้ว (35%)
เทรนด์ดังกล่าวเรียกกันว่า Climate quitting เป็นส่วนหนึ่งของการลาออกแบบ Conscious-quitting ซึ่งหมายถึงการที่พนักงานยอมลาออกจากบริษัทด้วยเหตุผลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับเหตุผลเรื่องงานใดๆ
ตอนสมัครงาน กลุ่ม Gen Z และ Millennials มากถึง 77% จะให้ความสำคัญกับแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับกลุ่ม Gen X และผู้ที่มีอายุมากกว่า (69%)
ผลการศึกษาของ KPMG พบว่า หนึ่งในสามของคนทำงานอายุ 18 ถึง 24 ปี ในสหราชอาณาจักรปฏิเสธข้อเสนองาน โดยพิจารณาจากรายงานด้าน ESG ของบริษัท
ภายในปี 2025 หรือใน 1 ปีข้างหน้านี้ 75% ของคนวัยทำงานจะเป็นรุ่น Millennials นั่นหมายความว่าหากบริษัทไม่มีแผนงานด้าน ESG และการลงมือทำจริงที่เห็นผล คงจะไม่สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานดีๆ ไว้ได้
อย่างไรก็ตาม รายงานจาก McKinsey ในปี 2023 ซึ่งสำรวจบริษัทใน 7 อุตสาหกรรมพบว่ามีบริษัทเพียง 19% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับหลักคิดและแนวทางปฏิบัติ ESG และมีเพียงองค์กรในยุโรปเท่านั้นที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ (ด้านสังคมและธรรมาภิบาล) ยกตัวอย่างเช่น Unilever ได้ออกแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 และสนับสนุนการยกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน
การให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น สอดรับกับอำนาจการเปลี่ยนแปลงจากพนักงานที่มีมากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจไม่มีทางเลือกจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกันมากขึ้นตาม
อ้างอิง : cnbc
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด