Zero Plastic Waste เป็นจริงได้อย่างไร บนแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของ IRPC | Techsauce

Zero Plastic Waste เป็นจริงได้อย่างไร บนแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของ IRPC

Zero Plastic Waste (การจัดการขยะพลาสติกจากโรงงานให้เป็นศูนย์) ที่เดินตามหลักการ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) ซึ่งเสริมศักยภาพด้วยการนำระบบดิจิทัลมาสร้างฐานข้อมูล Plastic Waste Platform ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในขาหลักของการขับเคลื่อน Sustainable Development ที่บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC ยังคงยึดถืออย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลของการพัฒนาความยั่งยืนควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจและสังคม

Zero Plastic Waste

IRPC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ปัจจุบันมีโรงกลั่นที่สามารถผลิตน้ำมันได้หลากหลาย และได้โพรพิลีนและแนฟทามาใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีและจำหน่ายในส่วนที่เหลือ ซึ่งการดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาปิโตรเคมีเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าจากความเชี่ยวชาญงานบริการ อาทิ งานบำรุงรักษาโรงงานและเครื่องจักร งานติดตั้งระบบและจัดฝึกอบรมสารสนเทศ งานทดสอบและวิเคราะห์ งานด้านวิศวกรรม และงานด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

สำหรับการผลักดันด้าน Sustainable Development นั้น IRPC ได้จัดตั้งสำนักบริหารความยั่งยืนตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ปัจจุบันรายงานตรงต่อ นพดล ปิ่นสุภา  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งในครั้งนี้ได้มาถ่ายทอดถึงแนวคิดและกระบวนที่ IRPC ต้องการมุ่งไป

การพัฒนาสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) ในมุมมองของ IRPC คืออะไร

ผมคิดว่า SD เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเป็นประโยชน์และสามารถทำให้ยั่งยืนได้ จึงจะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ชั่วครู่แล้วหายไป 

ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือการที่เราจะไปถึงจุดที่ยั่งยืนได้ก็ต้องมาจากสมดุล ซึ่งจริง ๆ keyword สำคัญคือสมดุลจะนำไปสู่ความยั่งยืน เพียงแค่แต่ละองค์กรจะให้ความสำคัญกับอะไร

แต่ที่องค์กรส่วนใหญ่ต่างพูดถึงกันมาก คือมี 3P (People Planet และ Prosperity) เป็น framework  ซึ่งผู้บริหารหรือหน่วยงานทุกที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่จะให้ความสำคัญ และหากรักษาสมดุลทั้ง 3 P ให้เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ซึ่งอาจจะแปลความหมายไปเป็น Economic Environment และ Social ขึ้นกับที่จะเลือกใช้

“ดังนั้นความท้าทายขององค์กรคือจะสร้างความสมดุลอย่างไร เพราะถ้าทำได้ องค์กรก็จะยั่งยืน ซึ่งย่อมทำให้เกิดความสุข เกิดการเติบโตให้กับสังคม และชุมชนที่เราอยู่ โดยเป็นพื้นฐานสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน”

ความสมดุลของ 3P แต่ละด้านสามารถสะท้อนมาได้เป็นอย่างไรบ้าง

People มองว่าทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยคน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับ mindset ของคนในองค์กร มี behavior indicator ที่เราตั้งชื่อว่า IRPC DNA เป็นพฤติกรรมที่วิเคราะห์แล้วว่าคือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้คนมีความพร้อมและมี mindset ที่ดี ต่อการทำประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และองค์กร 

สำหรับ IRPC DNA ประกอบด้วย I (Individual Ownership) คิดและทำเหมือนเจ้าของ R (Result-Oriented) มุ่งผลลัพธ์ P (Promise and Deliver) รักษาสัญญา C (Continuous Improvement) พัฒนาต่อเนื่อง D (Do things together) ทำงานร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า N (No Bias) จริงใจ สื่อสารตรงไปตรงมา และ A (Actively solve the problem) แก้ไขปัญหาเชิงรุก

นอกจากนี้ ยังให้โอกาสคนของเราได้พัฒนาศักยภาพด้วย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินจัดอันดับสมาชิกดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในแง่ส่งเสริมคนเรื่องโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่ม ทั้ง up skill หรือ re-skill รวมถึงให้ทุนการศึกษา 

Planet เราใช้บริษัทที่มีความเป็นนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่เป็นพลาสติกชั้นสูง รวมถึงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของสังคมมนุษย์ เพราะไม่ต้องการแค่ผลิตสินค้าออกมาแล้วขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงว่าจะมีนวัตกรรมอะไรใส่ลงไปเพื่อให้สินค้ามีคุณค่ากับผู้ใช้ด้วย 

รวมถึงมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพยายามใช้ส่วนประกอบทางธรรมชาติมาเสริมในองค์ประกอบเม็ดพลาสติก ยกตัวอย่าง Green ABS เป็นพลาสติกที่ใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติ ใช้ยางพาราเข้ามาผสม หรือแม้แต่ในฐานะที่บริษัทผลิตยางมะตอย ก็ต้องพยายามใส่นวัตกรรมเข้าไปในสินค้าเพื่อให้มีความปลอดภัย และมีคุณค่ากับผู้ใช้ ซึ่งเป็นทิศทางของเรา 

ล่าสุดยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติกจากโรงงานให้เป็นศูนย์ (Zero Plastic Waste) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะนำประเทศสู่สังคมปลอดขยะพลาสติกในทุกห่วงโซ่อุปทานด้วย

Prosperity คือด้วยความที่เป็นองค์กรผลิตสินค้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งมีราคาผันผวนมากจากปัจจัยหลายอย่างเข้ามา ฉะนั้นการไปพึ่งพารายได้ในเชิงธุรกิจที่มีความผันผวน หรือควบคุมไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนต่อองค์กร 

ดังนั้นจึงพยายามเน้นเรื่องความหลากหลายหรือ diversify แหล่งที่มาของรายได้ โดยพยายามพัฒนาสินค้าให้เป็น specialty หรือ high value product มากขึ้น จึงพยายามทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง port ของเราจะสมดุลขึ้น และลดความผันผวนของราคาตลาดโลกมากขึ้น

Zero Plastic Waste

Zero Plastic Waste มีแนวทางอย่างไรบ้าง

บริษัทดำเนินโครงการนำร่อง Zero Plastic Waste โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแบบ Closed Loop โดยเป็นการนำเม็ดพลาสติกไปแปรรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อใช้แล้วมีการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม

ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาสร้างฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานของ IRPC และลูกค้า ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันขยะพลาสติกที่แต่ละโรงงานสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างระบบแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบเบ็ดเสร็จเพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด โดยไม่ปล่อยให้มี Waste Polymer หรือของเสียออกจากกระบวนการผลิตในห่วงโซ่อุปทานครอบคลุุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ให้บรรลุสู่เป้าหมายการนำ ขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

Circular Economy ใกล้ถึงเป้าหมายที่วางไว้เพียงใด

ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเพียงแต่ต้องขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันนี้เริ่มต้นจาก value chain ของเราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกส่งไปให้ลูกค้า ซึ่งนำเม็ดพลาสติกไปขึ้นรูปเป็นสินค้า แต่ในวันนี้เรายังลงไปไม่ถึงผู้ใช้/ผู้บริโภคสินค้าที่เป็นปลายทางหรือหรือ end user 

แม้ว่าวงจรที่เป็น Closed Loop ทำงานได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เรากำลังคุยกันอยู่ว่าหลังจากนี้พวกมีดและช้อมส้อมที่ผสม bio grade ต่าง ๆ จะนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นภาชนะเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งไปตามระบบ แต่หากเราขยายผลออกไปได้ก็จะทำให้วงใหญ่ขึ้น 

ในช่วงแรกเราเพิ่งจะเปิดตัวเรื่องนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว กลายเป็นว่าสินค้าที่เป็น recycle product ขายดีมาก โดยเฉพาะยุโรปที่ให้ความสนใจและตอบสนองกับเรื่องนี้ดีมาก จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของความสมดุลอย่างหนึ่ง 

นั่นคือ นอกจากผลิตสินค้าที่อาศัยคนที่มีนวัตกรรมและความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดี ๆ ออกมาสู่สังคม และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับสิ่งที่ตามมาก็ได้ผลตอบแทนในเชิงธุรกิจด้วย ถ้าเราทำดี ๆ ผมคิดว่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยั่งยืนได้ แต่ถ้าทำด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจจะได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งจะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน 

Zero Plastic Waste

นโยบายด้าน Sustainable Development ของ IRPC จะถูกต่อยอดไปอีกอย่างไร

ผมว่าต้องเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง ถูกฝังเข้าไปในวิถีการทำงานของเราโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราพยายามคือทำอย่างไรจะพัฒนาให้ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ต้องแบ่งปันด้วย จึงไม่ได้ดูเพียงตัวเราอย่างเดียว แต่พยายามขยายผลไปสู่ value chain และคู่ค้าของเราในหลายเรื่องหลายมิติ 

เพราะคิดว่าถ้าทำเรื่อง SD อยู่คนเดียวไม่ใช่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงต้องขยายไปสู่คนรอบข้างด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย จึงเริ่มทำในหลาย ๆ มิติ เช่น ชักชวนและส่งเสริมให้คู้ค่าเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผมคิดว่าพื้นฐานทุกคนอยากทำเรื่อง SD นี้อยู่แล้ว เพียงแต่ความพร้อมที่จะทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องนั้น บางครั้งก็อาจจะมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ผมเชื่อว่าทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

ถ้าดีก็ต้องอยากดีอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะต่างรู้ดีว่าเราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ต้องไปด้วยกัน เพราะถ้าเรายั่งยืนอยู่คนเดียว คนรอบข้างไม่ยั่งยืน นั่นไม่ใช่การยั่งยืนอย่างแท้จริง 

อะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้องค์กรไม่สามารถพัฒนาหรือขับเคลื่อนเรื่อง SD ได้สำเร็จ

ผมคิดว่ายิ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนคนหรือความซับซ้อนในองค์กร มากนั้น โดยธรรมชาติย่อมทำให้การขับเคลื่อนเรื่องอะไรก็ตามอาจจะต้องใช้เวลาและมีความท้าทายค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรเล็ก ๆ ก็คงจะทำอะไรได้ง่ายกว่า 

ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เป็นองค์กรที่เรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็วได้นั้นเป็นความท้าทายของทุกองค์กร เพราะทุกวันนี้การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดได้ฝังเข้าไปในวัฒนธรรมและพฤติกรรมการทำงาน 

แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักปรับตัวด้วย ต้องพร้อมปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ในทุกมิติ เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วก็ทำให้ต้องเปลี่ยนการทำงานใหม่ จากเดิมที่คุยกันเรื่องนี้อาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง กลายเป็นว่าอาจจะต้องคุยกันทุกวัน 

แม้กระทั่งในเรื่องการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เช่น การบริหารความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก จนตอนนี้ราคาผันผวนมาก ก็ต้องพร้อมที่จะปรับย่นระยะเวลาให้เร็วเพื่อรับมือกับสถานการณ์มากขึ้น 

“ผมคิดว่าเรื่องการปรับตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ สุดท้ายแล้วก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ถ้าองค์กรไม่มีเรื่อง adaptability ผมว่าคงอยู่ไม่รอด บางทีรู้แล้วแต่ปรับตัวไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร”






ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บางจาก ได้สินเชื่อรายแรกในไทย 6,500 ล้านบาทเพื่อพัฒนา SAF จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ธนาคารยูโอบี มอบสินเชื่อ 6,500 ล้านบาท สนับสนุนบางจากฯ พัฒนาโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) แห่งแรกในไทย ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 80% เพื่อเป้าหมาย Net Zero 20...

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...