ถอดรหัส 3 โมเดลธุรกิจทุนจีนบุกไทย จะรับมืออย่างไร ให้ธุรกิจไทยอยู่รอด? | Techsauce

ถอดรหัส 3 โมเดลธุรกิจทุนจีนบุกไทย จะรับมืออย่างไร ให้ธุรกิจไทยอยู่รอด?

กระแสทุนจีนกำลังรุกคืบหลายประเทศทั่วโลกไม่เว้นแต่ประเทศไทย นับเป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจากสินค้าและบริการจากแดนมังกรที่แทรกซึมเข้าสู่ทุกซอกมุมของสังคมไทย สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมเม็ดเงินเหล่านี้ถึงไหลเข้ากระเป๋าคนจีนเป็นส่วนใหญ่? บทความนี้จะพาทุกคนเจาะลึกปัจจัยการบุกของสินค้าจีนในไทย พร้อมทั้งหาคำตอบการรับมือของไทยไปพร้อมๆ กันในบทความนี้

ทำไมสินค้าจีนถล่มไทยมากขนาดนี้ ?

การรุกตลาดไทยของทุนจีนอย่างหนักหน่วงไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค หรือแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่นำไปสู่ภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ จนส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น หลายธุรกิจในจึงต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อระบายสินค้าและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรี เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็มีส่วนช่วยเปิดประตูการค้าระหว่างจีนและไทยอย่างกว้างขวาง ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมถึงโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ทำให้ธุรกิจจีนเข้าถึงผู้บริโภคไทยได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

3 ประเภททุนจีนบุกไทยเงินไหลเข้ากระเป๋าจีน

เม็ดเงินทุนจีนไหลทะลักเข้าตั้งธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ไทยนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ากว่า 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้ทุนจีนสามารถบุกไทยมาจากการผลิตสินค้าได้ปริมาณมาก แต่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ทำให้ขายได้ในราคาที่ถูกกว่า และการมีคลังสินค้าในไทย ทำให้ส่งสินค้าได้รวดเร็ว ค่าขนส่งถูกลง เคลมสินค้าได้ง่าย

นอกจากนี้การจดทะเบียนธุรกิจจีนในไทยข้อมูลล่าสุด ณ กรกฎาคม 2567 ชี้ชัด มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลของทุนต่างชาติในไทยแล้วกว่า 131,504 ราย คิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 9.94 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 3.25% และเข้ามายึดส่วนแบ่งตลาดในหลากหลายธุรกิจ

1. ทุนจีนในคราบอีคอมเมิร์ซ

เริ่มต้นจากสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไทยจำนวนมาก ด้วยราคาที่จับต้องได้ในคุณภาพที่ใกล้เคียงกันกับสินค้าไทย และการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน อาทิ Shein, Temu, Shopee, Lazada, TikTok และ Taobao กลายเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้บริโภคไทยสู่สินค้าจีนราคาประหยัดจากโรงงานได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านมือพ่อค้าคนกลาง

2. ร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีน

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติจีน ก็รุกคืบตลาดไทยอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะแบรนด์แฟรนไชส์ชื่อดังที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเช่น  Mixue, Wedrink, Zhengxin Chicken และ Cotti Coffee โดยใช้กลยุทธ์ "ราคาถูก เข้าถึงง่าย ขยายสาขาไว" เล่นกับราคาเริ่มต้นที่ดึงดูดใจ เพียง 15-50 บาท ซึ่งได้เปรียบจากต้นทุนที่ต่ำกว่า บวกกับเป็นโมเดลแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง ทำให้ขยายสาขาได้รวดเร็ว ครอบคลุมหลายพื้นที่และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว 

3. วางระบบระบบนิเวศธุรกิจ ‘ซื้อ ขาย ส่ง’ ผ่านแพลตฟอร์มจีน โดยลูกค้าจีน

แต่ที่น่าจับตามองยิ่งกว่าคือ การสร้าง "ระบบนิเวศ" ของทุนจีนในประเทศไทยเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและชาวจีนที่อาศัยไทยผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่สัญชาติจีนอย่าง Feixiang (ช้างบิน) และ Gokoo (หงอคง) ซึ่งนอกจากจะให้บริการเป็นภาษาจีนแล้ว ยังรวมการรีวิวร้านอาหาร การส่งของ จองโรงแรม รวมถึงการจองตั๋วต่างๆ ล้วนถูกบรรจุไว้ในแพลตฟอร์มเดียว 

ปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่า จึงกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจเลือกแบรนด์จีนเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน กลยุทธ์การสร้างระบบนิเวศแบบครบวงจรนี้ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของทุนจีนที่ไม่ได้มุ่งเพียงแค่การขายสินค้า แต่ต้องการครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดในทุกมิติ 

ผลกระทบสุดโหดจากทุนจีน ‘ผู้บริโภคถูกใจแต่ SME ไทยอาจไม่รอด’

การหลั่งไหลเข้ามาของทุนจีน เปรียบเหมือนดาบสองคมที่อาจส่งผลกระทบในหลายมิติ 

  • ทางเลือกของลูกค้า: ด้านหนึ่งก็ช่วยให้ผู้บริโภคไทยมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น สินค้าราคาถูกช่วยลดภาระค่าครองชีพ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนเติบโต เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในบางภาคส่วน
  • SME ไทยอาจไม่รอด: แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ไทยเผชิญปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ -3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปี 2024 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -1.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.66% ซึ่งเสี่ยงต่อการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินไป สร้างความท้าทายให้กับธุรกิจและ SME ไทยต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่จะดุเดือดขึ้น

ไทยจะรับมือทุนจีนได้อย่างไร? 

แม้รัฐบาลจะพยายามรับมือการรุกคืบของทุนจีนด้วยมาตรการภาษี เช่น การเก็บ VAT 7% จากสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น

โดยคุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO จาก Pay Solutions ได้เสนอแนวทางสำหรับการปรับตัวกับการเข้ามาของทุนจีนทั้งภาครัฐและภาค SMEs เอาไว้ดังต่อไปนี้

ภาครัฐ:

  1. สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทย: เป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นธรรม ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ และลดความเสี่ยงจากการผูกขาด
  2. กำหนดกฎกติกาที่เป็นธรรม: สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านค่าบริการ การเข้าถึงข้อมูล และการสนับสนุนต่างๆ
  3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ: รักษาเม็ดเงินภายในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้
  4. ควบคุมดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติ: ให้ดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายไทย กำกับดูแลการใช้ข้อมูล การกำหนดราคา และการส่งเสริมการขายให้เป็นธรรม เพื่อให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
  5. พัฒนากฎหมายและกฎระเบียบให้ทันสมัย: ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอีคอมเมิร์ซ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายไซเบอร์ เป็นต้น
  6. ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม: สนับสนุน SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้และเทคโนโลยี

ภาค SMEs:

  1. สู้ด้วยคุณภาพ: เน้นคุณภาพสินค้า มาตรฐานชัดเจน เช่น มอก. หรือ อย. สร้างความแตกต่างด้วยการชูวัตถุดิบท้องถิ่นที่แตกต่าง และบริการหลังการขายที่ดีกว่า
  2. สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง: หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เนื่องจากสินค้าจีนไม่เน้นขายแบรนด์ แต่เน้นขายของถูกเป็นหลัก
  3. เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่: มุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา เช่น ตลาดส่งออกในญี่ปุ่น ยุโรป เป็นต้น
  4. สร้างทีมตลาดออนไลน์: มีทีมงานเฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์เพื่อให้เท่าทันเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
  5. หาพันธมิตรทางธุรกิจ: ร่วมมือกับธุรกิจอื่นเพื่อแบ่งปันฐานลูกค้าและทรัพยากรระหว่างธุรกิจ

การรับมือกับการรุกคืบของทุนจีน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ขณะที่ SME ไทยต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าและบริการ สร้างแบรนด์ให้โดดเด่น และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สร้างจุดแข็งให้สินค้าไทยเพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

อ้างอิง: techsauce(1),(2),(3), facebook(1),(2),(3), kasikornresearch(1),(2), bangkokbiznews, moneyandbanking, prachachat, cyzone.cn

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ท่องเที่ยวไทยมีดี แต่ SME ยังไม่พร้อม ?

ธุรกิจท่องเที่ยวจะปรับตัวยังไง เมื่อเจอความท้าทายรุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ การรับมือธุรกิจจีนที่เข้ามารุกตลาด และการสร้างบริการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักเดินทาง...

Responsive image

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ...

Responsive image

รู้จัก “Phygital” การตลาดยุคใหม่แห่งอนาคต ผ่านเทคโนโลยี Immersive Experience ของ Translucia

Techsauce จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ ผ่านหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Translucia บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนา Immersive Experience ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเ...