จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เสมือนเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกทั้งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค จนเกิดเป็น ‘New Normal’ วิถีใหม่ที่ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกจากการสั่งสินค้าเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นกว่า 15% หรือ 6,300 ตันต่อวัน
ในประเทศไทย มีการกำหนดโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกเพื่อ ลด-ละ-เลิกใช้พลาสติก และใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต่อยอดธุรกิจอย่างไร? นี่เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องคิดเพื่อวางแผนปรับตัวธุรกิจเข้าสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการมุ่งเน้น ‘Reduce-Reuse-Recycle’ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ Plastket.com เว็บไซต์ซื้อขายเม็ดพลาสติกออนไลน์ จึงรวบรวมเทรนด์สำหรับผู้ประกอบการพลาสติกในยุค New Normal มาฝากกันในบทความนี้
การใช้เม็ดพลาสติก PCR หรือ Post-Consumer Recycled Resin ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ใช้งานพลาสติก โดยการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและขึ้นรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้งานโดยตรง ปัจจุบัน ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้มีการเสนอกระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมาย ให้สามารถนำเอาพลาสติกรีไซเคิล Recycled PET (rPET) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่อนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยเนื่องจากกังวลถึงการปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ แต่จากผลวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้สามารถนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมารีไซเคิลให้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ จากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย Wood Mackenzie คาดว่าความต้องการใช้ PET recycle หรือเม็ดพลาสติกที่นำมาทำขวดใสใส่น้ำดื่มของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี
โดยพื้นฐานแล้วพลาสติกนับเป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% หากถูกจัดเก็บอย่างถูกต้องก็จะไม่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมากระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ประกอบไปด้วยฟิล์มประกบหลายชั้น ซึ่งประกอบหรือผสมกับวัสดุชนิดอื่นที่ไม่ใช่พลาสติกทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ (Multi-Layer Film) เมื่อการออกมาตรการควบคุมโรคยิ่งทำให้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงยิ่งตอกย้ำเทรนด์ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ‘Mono Material’ ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์หลายชั้นโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการแพกเกจจิ้งสำหรับใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น โดยยูนิลิเวอร์ได้เริ่มนำแพกเกจจิ้งที่ผลิตโดย Polypropylene (PP) ในรูปแบบของ Mono-Material สำหรับบรรจุคนอร์ผงซุปประกอบอาหาร ในประเทศตุรกีเรียบร้อยแล้ว
พลาสติกชีวภาพถูกคิดค้นเพื่อช่วยให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คือ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือจากธรรมชาติ (Biobase) สามารถปลูกหมุนเวียนและทดแทนกันได้โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น (Renewable resource) เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสําปะหลัง โดยมีคุณสมบัติ ทั้งสามารถย่อยสลายตัวได้และย่อยสลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ ซึ่งการนำไปใช้และการจัดการหลังการใช้งานของพลาสติกเหล่านี้จะแตกต่างจากพลาสติกทั่วไปที่สามารถรีไซเคิลได้ ผู้บริโภคจึงควรสังเกตบรรจุภัณฑ์และคัดแยกประเภทขยะอย่างถูกต้อง เพราะหากมีการปะปนของพลาสติกชีวภาพเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะทำให้เกิดความเสียหายได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงของการเกิดโรคระบาดนี้ พลาสติกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการฝ่าฟันวิกฤต เพื่อการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ PLASTKET.COM จึงมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าผลักดันให้เกิด Circular Economy ในประเทศไทยให้เกิดการใช้พลาสติกอย่างถูกต้อง เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการพลาสติกให้สามารถดำเนินธุรกิจตอบรับกับกระแส New Normal เทรนด์โลกที่จะสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสารของ PLASTKET.COM และพลาสติกได้ที่ www.plastket.com , Facebook: www.facebook.com/plastketdotcom
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด