5 ตัวเลขที่ควรรู้ก่อน Spotify เปิด IPO ระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ | Techsauce

5 ตัวเลขที่ควรรู้ก่อน Spotify เปิด IPO ระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ

แง้มดูข้อมูลที่น่าสนใจผ่าน 5 ตัวเลข ก่อนที่ Spotify กำลังจะเปิด IPO นำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น NYSE ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง Spotify ก็คาดหวังว่าจะระดมทุนให้ได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Daniel Ek, Spotify CEO / Photo: YOSHIAKI MIURA, JapanTimes

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา Spotify ผู้ให้บริการ Music Streaming ชื่อดัง ยื่นเอกสาร Form F-1 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) เพื่อเตรียมระดมทุนผ่านการเปิด IPO ในตลาดหุ้น NYSE ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อหุ้น "SPOT"

โดยการยื่น IPO ครั้งนี้ เป็นการยื่นในรูปแบบพิเศษ ไม่เหมือนที่บริษัทอื่น ๆ ทำกันมาด้วย โดยเป็นการยื่น IPO แบบ Direct Listing ที่จะไม่มีขั้นตอนอย่างเหมือนการทำ IPO แบบปกติ เช่น ไม่มีกำหนดราคาหุ้นเริ่มต้น, ไม่มีการเดินสายเพื่ออธิบายให้กับนักลงทุนที่สนใจ, ไม่มีช่วงห้ามขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เป็นต้น

เมื่อไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ก็ทำให้การทำ IPO เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Spotify เองก็คาดการณ์ว่าหากระดมทุนได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งไปอยู่ที่ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

โดยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Spotify มีดังนี้

1) 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นี่คือตัวแรกรายได้ของ Spotify ในปี 2017 อ้างอิงข้อมูลจาก Spotify สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงลัมเซมเบิร์ก โดยรายได้ดังกล่าวมาจากผู้สมัครใช้บริการและผู้ลงโฆษณาเป็นหลัก

ซึ่งรายได้ของปี 2017 เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 39 เปอร์เซ็นต์

2) 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขนี้ คือ ตัวเลขขาดทุนสุทธิของ Spotify เมื่อปี 2017 ตามบัญชีของ Spotify ที่ยึดตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Generally Accepted Accounting Principle: U.S. GAAP)

โดยเมื่อดูตัวเลขขาดทุนสุทธิ จะพบว่า 1,200 ล้านดอลลาร์นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงตัวเลขที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้านการเงินหลายตัว ซึ่ง GAAP บังคับว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเลขดังกล่าว ต้องถูกเพิ่มเข้าไปในงบกำไรขาดทุน (Income Statement) ด้วย ถึงแม้บริษัทของคุณจะไม่ได้มีการได้หรือเสียเงินใด ๆ ก็ตามที

ซึ่งในทางปฏิบัติ ถ้าไม่รวมตัวเลขของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินและภาษี จะพบว่า Spotify จะขาดทุนอยู่ที่ 461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3) 159 ล้านราย

นี่คือจำนวนผู้ใช้ Spotify อย่างน้อยหนึ่งครั้งในเดือนธันวาคม 2017 โดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

  • ผู้สมัครใช้บริการแบบฟรี มีอยู่ 92 ล้านราย
  • ผู้สมัครใช้บริการแบบเสียเงิน มีอยู่ 71 ล้านราย

ซึ่งผู้ใช้บริการแค่ช่วงทดลอง 30 วันและไม่ใช้บริการต่อ มีอยู่ประมาณล้านราย

แต่ถึงอย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ใช้ของ Spotify ยังมากกว่าเจ้าอื่น ๆ อยู่ดี

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ก็คือ เอกสารที่ยื่นต่อ SEC มีการอ้างถึง คู่แข่งของ Spotify อย่าง Apple Music อยู่บ่อยครั้ง โดยระบุว่า "เราเชื่อว่าตัวเลข Premium Subscriber จะมีจำนวนเพิ่มเป็นสองเท่าของจำนวน Premium Subscriber ของคู่แข่งอย่าง Apple Music แน่นอน"

ซึ่งในสหรัฐอเมริกา Apple Music นั้นเติบโตเร็วกว่า Spotify อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ Spotify ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จึงต้องรีบเปิด IPO ก่อนที่อาจจะสายเกินไป

4) 80.4 เปอร์เซ็นต์

Spotify ก่อตั้งโดย Daniel Ek และ Martin Lorentzon ในปี 2006 โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2008

ปัจจุบันมีอัตราส่วนผู้ถือหุ้นดังนี้

  • Daniel Ek CEO ถือหุ้นอยู่ 25.7 เปอร์เซนต์
  • Martin Lorentzon Co-Founder ถือหุ้นอยู่ 13.2 เปอร์เซนต์
  • Tencent ถือหุ้นอยู่ 7.5 เปอร์เซนต์
  • กองทุน Tiger Global ถือหุ้นอยู่ 6.9 เปอร์เซนต์
  • Sony Music ถือหุ้นอยู่ 5.7 เปอร์เซนต์

แต่จากเอกสาร Form F-1 ที่ยื่นต่อ SEC ก็ระบุว่า Daniel Ek ที่นั่งเป็น CEO อยู่ในขณะนี้ มีสิทธิ์ในการออกเสียงอยู่ที่ 37.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วน Martin Lorentzon ที่เคยนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2016 มีสิทธิออกเสียงอยู่ที่ 43.1 เปอร์เซ็นต์

เมื่อรวมจำนวนหุ้นก็พบว่า Co-Founder ทั้ง 2 คนมีสิทธิ์ในการออกเสียงในบริษัทรวมอยู่ที่ 80.4 เปอร์เซ็นต์

ทำให้เห็นว่าถึงแม้จะมีผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น แต่ Co-Founder ทั้ง 2 คนก็ยังกุมอำนาจการตัดสินใจของบริษัทไว้อยู่ดี

ส่วนสิทธิ์ในการออกเสียงของผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ก็จะเป็นดังนี้ Tencent 2.4 เปอร์เซ็นต์, กองทุน Tiger Global 2.2 เปอร์เซ็นต์ และ Sony Music 1.8 เปอร์เซ็นต์

5) 79 เปอร์เซ็นต์

ค่าใช้จ่าย (Expense) ที่มากที่สุดของ Spotify นั่นคือ "ค่าลิขสิทธิ์" ที่ต้องจ่ายให้กับค่ายเพลงนั่นเอง

Spotify ระบุถึงรายละเอียดของค่าใช้จ่าย ประกอบไปด้วย 'ค่าลิขสิทธิ์' บวกกับ 'ค่าใช้จ่ายที่มัดจำล่วงหน้า' เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็น 88 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด

ทำให้ Spotify ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายพนักงาน, พัฒนา Product ใหม่ๆ หรือทำการโปรโมท Product ตัวเองเลยด้วยซ้ำไป

ซึ่งค่าลิขสิทธิ์คิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด

โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา Spotify ก็พยายามเจรจากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Universal Music Group, Sony Music Entertainment และ Warner Music Group อีกรอบ เพื่อขอลดค่าลิขสิทธิ์ลงด้วยเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก Fortune (1) และ Fortune (2)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...