ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง | Techsauce

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Capability) ถือเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ กำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและเร่งการพัฒนาประเทศเป็น Pain Point ระดับชาติที่หลายหน่วยงานต่างก็กำหนดทิศทางพัฒนาบุคลากรตามบทบาทและแนวทางของตนเอง อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) ที่ชู ‘Digital Skill Roadmap’ หน่วยงานภาครัฐที่ตั้งเป้ายกระดับความรู้ เพิ่มทักษะดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ในขณะที่ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เดินหน้าองค์กรด้วยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) โดยใช้ Tech & Data เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ได้จัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อปั้นบุคลากรสาย Tech & Data โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากพัฒนาคนให้ตรงตามความต้องการทางธุรกิจแล้ว ยังมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ออกสู่ Tech & Data Ecosystem   

เพิ่ม Talents สาย ‘Tech & Data’ ภารกิจหลัก ttb spark academy 

ttb spark academy

ไม่นานมานี้ ทีมเทคซอสมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการพัฒนาคนดิจิทัลกับ คุณนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งในมุมมองของคุณนริศ คนดิจิทัลหรือคนในสาย Tech & Data นั้นเป็นที่ต้องการ ‘ตลอดเวลา’ โดยเฉพาะในยุคนี้

“ถ้าดูบุคลากรด้าน Tech & Data ในประเทศไทย ประเมินกันว่ามีประมาณไม่ถึง 200,000 คน เทียบกับเวียดนามที่มีประมาณมากถึง 500,000 คนแล้ว มันสะท้อนถึงความขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และผมว่าเรื่องนี้มันมี Gap (ช่องว่าง) มาก แล้วมันก็เป็น Need ที่บริษัท ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม รวมถึงประเทศต้องการมาก เพราะทุกคนต้องทำ ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’ และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันไม่ใช่แค่ต้องทําในระดับองค์กร แต่มันเป็นเรื่องระดับประเทศ”

แน่นอนว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันต้องการ ‘การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล’ แต่ที่จำเป็นและต้องการยิ่งกว่า คุณนริศย้ำว่าเป็น ‘การพัฒนาคนดิจิทัล’ เพราะการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันต้องอาศัยคนด้าน Tech & Data จำนวนมากมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกดิจิทัลไม่เคยหยุดนิ่ง

“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นเรื่องที่แทบจะต้องทําทุกวัน และมันไม่มีคําว่า สําเร็จ” คุณนริศกล่าว

ฉะนั้น หากลงทุนด้านดิจิทัลแต่กลับขาดคนที่มีทักษะดิจิทัล ก็จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้  ttb จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่เก่งด้าน Tech & Data ซึ่งนอกจากจะเปิดทางให้ร่วมทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกับธนาคารแล้ว การเข้ามาเป็น Talents ขององค์กรหรือเป็น Tech & Data Talents ของประเทศได้ก็ยิ่งดี

Co-create สถาบันการศึกษาควบคู่กับการทำงานจริง 

“ถ้าให้มองย้อนกลับไป 2 รุ่น หรือ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนสมัครเข้ามาเป็น Internship ใน ttb spark academy รวมแล้วเกิน 4,300 คน เราก็คัดเลือกและรับมา 190 คน โดยให้เขามาแล้วได้ทํางานจริง ได้ทํางานที่มีความหมาย มันก็จะมี Meaningful และมัน Make REAL Change ได้จริง ๆ” 

ด้านสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับ ttb คุณนริศยกตัวอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เข้ามา Co-create (ร่วมสร้าง) คนที่มีทักษะด้าน Tech & Data 

“สถาบันการศึกษาอยากให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกงานเร็วขึ้น ได้เจอของจริง เจองานจริงเร็วขึ้น เพื่อสร้างคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดจริง ๆ ตอนนี้เทรนด์จึงไปในลักษณะ Co-create เร็วขึ้น เติมความรู้ (Input) ไวขึ้น โดยแต่ละสถาบันการศึกษาก็อยากรู้ว่า คนที่สถาบันการศึกษาผลิตออกมานั้น ตอบโจทย์ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้จริงมั้ย ฟีดแบ็กจากภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อสถาบันการศึกษาและโปรแกรมต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น ผมว่าหมดยุคเรียน 4 ปีได้ปริญญา ฝึกงานเสร็จค่อยมาทำงานแล้ว”

สำหรับการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมพัฒนาทักษะ ทาง ttb spark academy จะพิจารณาทั้งมุมมอง ตรรกะ และความเข้าใจในการทำธุรกิจ ทักษะการแก้ปัญหา การนำเสนอสิ่งที่เหมาะสมให้ลูกค้า หรือถ้าเป็นด้านเทคนิค (Technical) อาจให้เขียนโค้ดแก้โจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ 

คุณนริศอธิบายเพิ่มว่า นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้ฝึกงานกับ ttb spark academy จะได้เรียนรู้แบบ Skill Based ซึ่งในระยะหลัง น้อง ๆ รุ่นใหม่ที่มาฝึกงานกับ ttb เริ่มฝึกกันเร็วขึ้น เช่น บางแห่งก็ให้นักศึกษาฝึกงานตั้งแต่เรียนปี 1 และใน 5 วันทำการ นักศึกษาอาจไปเรียน 2 วัน ทำงาน 3 วัน โดยผู้เรียนจะได้ร่วมงานกับ Mentors ซึ่งเป็นพี่ ๆ ttb ที่พร้อมให้คำแนะนำรวมกว่า 50 คน และที่สำคัญ จะได้เรียนรู้การทำงานเป็น Value Chain 

“ต้องบอกว่า เราไม่ได้มองเขาเป็นเพียง Internship แต่เราอยากจะให้เขาเป็น Partnership และเป็นเพื่อนร่วมงาน เราจึงไม่ได้ให้เขาทำงานเป็นแผนก แต่ให้ทำงานเป็น ‘Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า)’ คือ น้อง ๆ จะได้เห็นตั้งแต่การเริ่มต้นที่ลูกค้า ลูกค้ามี Pain Point อะไร และมันก็จะจบที่ลูกค้า ว่าสิ่งที่น้อง ๆ Deliver ให้ผลเป็นยังไง ลูกค้าพอใจหรือไม่ แล้วตอนท้ายเราก็จะให้เขามานำเสนอไอเดีย เพื่อดูว่า วันที่เข้ามาและวันที่จบออกไป มีงานอะไรที่เขา Deliver ถึงลูกค้าจริง ๆ”

ttb spark academy

โดยคุณนริศให้นึกภาพวงกลม 3 วง วงแรก คือ วงที่นิสิต นักศึกษามาฝึกงานด้วยฐานความรู้ด้าน Tech & Data ที่ได้จากรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนอีกสองวง พี่ ๆ Mentors จะช่วยเติมและปรับจูนน้อง ๆ ให้สามารถนำวงกลมทั้ง 3 วงมาเจอกันหรือทับซ้อนกันได้อย่างลงตัว 

“วงกลม 3 วง วงแรก คือ ‘ความเข้าใจลูกค้า’ รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร วงที่สอง คือ ‘ความเข้าใจโจทย์ทางธุรกิจ’ รู้ว่าจะตอบโจทย์ลูกค้ายังไง วงที่สาม คือ ‘จะใช้ Tech & Data อะไร’ ช่วยลูกค้า หากปลดล็อกวงแรกและวงที่สองแล้วสามวงมาเจอกันได้ น้อง ๆ ก็จะสามารถ Unlock Potential ได้อีกเยอะมาก” 

คุณนริศบอกเพิ่มว่า การให้ Internship มาร่วมงานและได้เห็นทั้ง Value Chain เป็นจุดเด่นของ ttb spark academy และยังเป็นโอกาสอันดีที่น้อง ๆ จะเห็นการใช้ Tech & Data เพื่อเข้าใจลูกค้า ได้เห็นความต้องการ เห็นปัญหาจริง แก้ปัญหาจริง น้อง ๆ ได้ทำงานที่มีความหมายต่อลูกค้า ได้ประสบการณ์จริง ซึ่งต่างไปจากองค์กรอื่น ๆ ที่ให้ฝึกงานในแผนกใดแผนกหนึ่ง

“ถ้านักศึกษาไม่เจอลูกค้า ไม่เจอโจทย์ทางธุรกิจจริง การฝึกงานก็จะเป็นแค่ Simulation” คุณนริศย้ำ

เน้นการทำงานแบบ Hybrid และคล่องตัวแบบ Agile

ttb spark academy

ผลจากดิจิทัลดิสรัปชันในช่วงโควิด ทำให้เกิดคำถามที่ส่งผลต่อการ (เลือก) ทำงานของคนในปัจจุบัน นั่นคือ ทำงานที่บ้านได้ไหม ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันหรือเปล่า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายองค์กรที่เข้าใจความต้องการของ Workforce มากขึ้นและเปลี่ยนวิธีการทํางาน เช่น ttb เพิ่มความยืดหยุ่นให้ทั้งคนทำงานและนักศึกษาฝึกงาน 

“เราให้ทำงานแบบ Hybrid เพราะมองว่าความยืดหยุ่นจะทําให้เกิดการเรียนรู้เรื่อง Agility (ความคล่องตัว) แต่ถ้าจะทำเรื่องใหญ่ ๆ ต้องมาพบปะพูดคุยกัน แชร์ไอเดียกัน อย่างน้อยอาทิตย์นึงเราต้องเจอกันสักครั้ง น้องก็จะได้ปรับตัวเข้าสู่การทำงานในโลกความเป็นจริง Mentors ก็จะได้รับฟังความต้องการจากน้อง ๆ และเข้าใจเจนใหม่มากขึ้น เท่ากับว่าน้องได้ ‘Train The Trainer’ คือ ช่วยเทรนพี่ ๆ ttb กลับในลักษณะของ Reverse Mentoring”

คุณนริศเปรียบเทียบกับการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับการต่อเลโก้ร่วมกันเป็นตึกสูงหากน้องนักศึกษาต้องต่อเลโก้กันเป็นทีม เพื่อสร้างชิ้นงานขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน น้อง ๆ ต้องเข้าใจถึง blue print และเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำ หากไม่เห็นภาพร่วมกัน ก็จะไม่เห็นว่าสิ่งที่น้องจะนำมาต่อนั้น พอดีกันไหม และคงไม่เห็นว่า ทีมกําลัง Build ส่วนไหนของชิ้นงาน

อย่างไรก็ดี การที่ ttb จัดตั้ง ttb spark academy ไม่ได้ทําเพื่อเพิ่มทักษะ Tech & Data ให้แก่นักศึกษาเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ต้องการ Digital Leadership ให้คนในองค์กร รวมถึงบุคลากรที่เป็น Mentors ด้วย 

ttb spark academy (มุ่ง) ทำอะไรเพื่อ Make REAL Change 

ttb spark academy

ถ้าดูจากการพัฒนาทักษะให้นิสิต นักศึกษาและเห็นผลสำเร็จชัดเจน คุณนริศกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “ปัจจุบันเรามีน้อง ๆ มาทำงานด้วยประมาณ 30 คน จากที่ได้เข้าร่วม ttb spark academy ทั้งหมด 190 คน  เรามองว่านี่เป็นตัวเลขที่โอเค ไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนโลก แต่ว่ามันเป็นทิศทางที่ดีและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” 

ในด้านผลงาน คุณนริศบอกว่า น้อง ๆ นักศึกษาเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของการใช้งาน Mobile Banking โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาใช้เพื่อรู้จัก เข้าใจลูกค้าเฉพาะบุคคล (Personalization) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Personalized Messages เพื่อนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าแต่ละคนน่าจะต้องการในช่วงเวลาต่าง ๆ การบริการแจ้งเตือนลูกค้าว่าใกล้ถึงวันจ่ายบิล / ต่อประกันรถยนต์ หรือในทุกสิ้นปีมีการสรุปชีวิตทางการเงินของลูกค้าในระดับเฉพาะบุคคล เป็นผู้ช่วยประมวลผลด้านต่าง ๆ ผ่านแอป ttb touch พร้อมนำเสนอแคมเปญ และสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า 

เนื่องจาก ttb เชื่อใน การทดลอง และ การลงมือทำจริง เพื่อ Make REAL Change สร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น ดังนั้นไอเดียของน้อง ๆ ที่ Mentors เห็นว่าน่าทำ น่าสร้างสรรค์เพื่อการใช้งานจริง ก็จะได้ลองทำจริงและรับฟีดแบ็กจริง

“เราเชื่อการทำ A/B Testing เพื่อเปรียบเทียบว่า รูปแบบใดให้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือถ้ามันเวิร์ก มันต้องเวิร์กแบบวิทยาศาสตร์ ทำแล้วน้อง ๆ เห็นเลยว่าอันไหนมีคนใช้ อันไหนไม่มีคนใช้ อันไหนยิงแล้วแป้ก หรือถ้าบางอันยากเกินไป คนไม่ใช้ ไม่มี Conversion ก็ต้องรื้อทำใหม่” 

หากพิจารณาว่า ttb spark academy สร้างประโยชน์ให้ใครบ้าง คุณนริศสรุปว่ามี 4 ด้าน

1) นิสิต นักศึกษาได้ทํางานจริง 
2) สถาบันการศึกษาได้ฟีดแบ็กจริงจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตร
3) องค์กรได้คนที่มีทักษะตรงตามความต้องการจริง
4) สร้างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันด้วย Tech & Data Talents ให้กับประเทศได้จริง 

จากนั้นคุณนริศปิดท้ายถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็มาร่วมกันผลักดัน  Tech & Data Ecosystem  ไปด้วยกันได้

“คนเริ่มรู้จัก ttb spark academy ประมาณนึงแล้ว ผมจึงไม่ได้เชิญชวนแค่น้อง ๆ แต่อยากจะเชิญชวนภาครัฐ แล้วก็เอกชน ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม แล้วก็สถาบันการศึกษา มาพัฒนาเพิ่มคนสาย Tech & Data ร่วมกัน เพราะเมืองไทยไม่ได้มีแค่เรื่องท่องเที่ยว เรื่องอาหาร เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า และยังต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอีกมาก มาร่วมสร้างระบบนิเวศดิจิทัลไทยให้แข็งแกร่ง เรื่องนี้ผมว่าต้องช่วยกันทํา ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี ไม่ใช่แข่งกันทํา และในทางกลับกัน ก็จะเป็นโอกาสให้น้อง ๆ ได้เลือกสิ่งที่เหมาะกับเขาที่สุด” 

ดูรายละเอียด ttb spark academy: https://www.ttbspark.com/sparkacademy

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตะลุย Davos ส่อง 5 ประเด็นหลัก ใน World Economic Forum

สำรวจประเด็นสำคัญจากงาน World Economic Forum 2025 ที่ Davos เวทีประชุมระดับโลกที่รวมผู้นำหลากหลายวงการ เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมบทบาทไทยในเวทีนานาชาติ...

Responsive image

สรุป AI อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย Eric Grimson ศาสตราจารย์จาก MIT

ภายในงาน MIT Bangkok Symposium - Unleashing AI: Transforming Industries, Empowering Futures ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. Eric Grimson อธิการบดีฝ่ายวิชาการ จากสถาบันเทคโนโลย...

Responsive image

รู้จักเทรนด์ Brand Chem กลยุทธ์ TikTok 2025 การตลาดที่ต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับผู้บริโภค

สำรวจ TikTok What's Next Report 2025 และแนวคิด Brand Chem ที่เปลี่ยนการตลาดด้วยความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ครีเอเตอร์ และชุมชน TikTok พร้อมเทรนด์สำคัญที่ขับเคลื่อนปี 2025...