เราอาจเคยได้เห็นภาพจินตนาการของรถยนต์ไร้คนขับจากภาพยนตร์แนวไซไฟ การ์ตูนแห่งโลกอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนนั่งสามารถสั่งการได้ด้วยระบบผู้ช่วยเสมือนอัจฉริยะให้ขับไปยังที่ต่าง ๆ ในตอนนั้นเองมองว่ารถยนต์ประเภทนี้เหมือนของวิเศษที่เหลือเชื่อ จนกระทั่งการมาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี่เอง ได้เสกสรรเรื่องราวในจินตนาการให้ค่อย ๆ เป็นจริงขึ้นมา ทุกวันนี้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติถูกพัฒนาไปไกลกว่าที่คิด เราได้เห็นรถยนต์หลากหลายรุ่นออกมา และคนในประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้งานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นี่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการพัฒนา มาดูกันดีกว่าว่า เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้จะไปได้สุดถึงการไม่มีคนขับเลยได้หรือไม่ และตอนนี้บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อยู่จุดไหนกันแล้วบ้าง โดย SAE International (Society of Automotive Engineers) องค์กรดูแลมาตรฐานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการขนส่งได้จำแนกขีดความสามารถของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไว้ 6 ระดับ โดยสามอันดับแรก ผู้ขับยังต้องควบคุมตัวรถยนต์อยู่ แต่ทว่าตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปนั้น รถยนต์สามารถขับเคลื่อนเองได้อัตโนมัติ
ระดับ 0 No Automation - รถยนต์ไม่มีคุณสมบัติที่คอยอำนวยความสะดวกสบายในการขับรถ อาจจะมีเพียงระบบที่คอยช่วยเหลือคนขับในกรณีฉุกเฉิน เช่น ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ที่จะช่วยเตือนการชนรถ ส่วนนี้จะพบได้ในรถยนต์ทั่วไปที่มีราคาสูง
ระดับ 1 Driver Assistance - รถยนต์จะใช้เซนเซอร์และกล้องในการควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะทางอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ควบคุมความเร็วรถไม่ให้ใกล้กับคันก่อนหน้าจนเกินไป โดยจะพบได้ในรถยนต์ของ Mercedes-Benz ในทศวรรษที่ 1990 ภายหลังในทศวรรษที่ 2000 Honda ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีควบคุมรถยนต์ให้อยู่ในเลนถนน (Lane Keep Assistant)
ระดับ 2 Partial Automation - เป็นขีดความสามารถที่ปรากฎอยู่ในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติยุคปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) ซึ่งผสมผสานเทคโนโลยีระดับที่ 1 เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งควบคุมระยะทางอัตโนมัติ และควบคุมเส้นทางการเดินของรถให้อยู่ในเลน ทั้งนี้ เทคโนโลยี ADAS จะพบได้ในระบบ Autopilotของ Tesla และ ระบบ Cadillac Cruise ของ General Motor
ระดับ 3 Conditional Automation - ครั้งนี้รถยนต์เคลื่อนที่เองได้ในระยะไกล สามารถควบคุมการเลี้ยว เร่งความเร็วและลดความเร็วได้ตามสถานการณ์ โดยอาศัยเรดาร์ เซนเซอร์ และข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภายนอกมาประมวลผลและตัดสินใจทันที แต่ถ้าหากคนนั่งเผชิญเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและเสี่ยงอันตราย ก็สามารถกลับมาควบคุมพวงมาลัยตามเดิมได้ บริษัทที่พัฒนาประสิทธิภาพรถยนต์ให้ได้ระดับ 3 คือ Audi บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ซึ่งปรากฎในรุ่น A8 (2018) Audi ได้เผยว่าใช้หน่วยประมวลผลจาก Intel เพื่อสร้างระบบรถยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง
ระดับ 4 High Automation - รถยนต์ขับเคลื่อนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถควบคุมความเร็ว การเลี้ยวในทางที่คดเคี้ยวมากขึ้น เร่งความเร็ว และสามารถรับรู้เหตุการณ์ไม่ปกติและป้องกันได้อย่างทันท่วงที เช่น มีคนเดินตัดหน้ารถ หรือมีรถคันอื่นวิ่งย้อนศร อย่างไรก็ดี รถยนต์ระดับนี้ยังทำได้ในพื้นที่ที่จำกัด เช่นสภาพแวดล้อมในเมืองที่กำหนดความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 30 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บริษัทที่ผลิตรถยนต์ระดับที่ 4 จึงเป็นไปเพื่อบริการร่วมโดยสาร (Ridesharing) ตัวอย่างเช่น Waymo บริษัทพัฒนารถยนต์ไร้คนขับภายใต้ Google และ Alphabet ได้เปิดตัวบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา และไม่นานมานี้ Volvo ได้จับมือกับ Baidu เพื่อร่วมลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับระดับที่ 4 มาใช้ในตลาดรถยนต์แท็กซี่ไร้คนขับในจีน คาดการณ์ว่าจะส่งมอบรถในปี 2021 นี้
แน่นอนว่าเจ้าใหญ่ในวงการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้ง Tesla, Mercedes-Benz, General Motors, BMW, หรือ Apple เองอาจจะออกรถยนต์ไร้คนขับประสิทธิภาพสูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีกล้องและเรดาร์เพื่อควบคุมการขับเคลื่อนอย่างดีเพียงใด ก็ยังมีข้อกังวลด้านความปลอดภัยจากหลายฝ่าย เพราะรถยนต์เหล่านี้ผ่านสนามมาน้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป คนขับยังคงต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน นอกจากนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับยังคงต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ถึงจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ
อ้างอิงจาก CAR Magazine
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด