จีนเร่งปฎิรูปการศึกษาด้วยประดิษฐ์ ดัน Squirrel AI พลิกโฉมวงการศึกษา

จีนเร่งปฎิรูปการศึกษาด้วยประดิษฐ์ ดัน Squirrel AI พลิกโฉมวงการศึกษา

Zhou Yi เป็นเด็กชาวจีนที่ไม่ค่อยเก่งวิชาคณิตศาสตร์เท่าไร เขายังมีความเสี่ยงที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แต่หลังจากที่บริษัท Squirrel AI ได้นำเสนอบริการติวเตอร์ให้กับเขา ซึ่งไม่เหมือนกับบริการติวเตอร์ทั่วไป แทนที่จะเป็นคุณครูทำการติวให้ Squirrel AI ได้ใช้อัลกอริทึมทำการสร้างบทเรียนให้เหมาะสมกับเขา หลังจากที่ Zhou Yi ได้เรียนผ่านระบบ เมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษา คะแนนสอบของเขาเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 62.5% สองปีต่อมาเขาได้คะแนนจากการสอบปลายภาคในระดับมัธยมต้นคะแนนขึ้นมาถึง 85% นี่ทำให้ทัศนคติที่เขามีต่อวิชาคณิตศาสตร์เปลี่ยนไป

"ผมคิดมาตลอดว่าวิชาคณิตศาสตร์นั้นน่ากลัว แต่หลังจากได้ติวกับ Squirrel AI ก็ทำให้ผมตระหนักได้ว่า วิชาคณิตไม่ได้ยากขนาดนั้น มันช่วยทำให้ผมกล้าที่จะเริ่มทำความเข้าใจมันใหม่ในทางที่ต่างออกไป"

Squirrel AI ปฎิรูปการศึกษาด้วยประดิษฐ์

Squirrel AI นำปัญญาประดิษฐ์มาปรับวิธีการเรียนให้ตรงกับรูปแบบการเรียนของผู้เรียน (adaptive learning) โดยนักเรียนจะต้องทำแบบทดสอบเพื่อทำการประเมินหาจุดแข็งและจุดอ่อน จากนั้นระบบจะทำการสอนในเนื้อหาที่เด็กไม่ถนัด หากนักเรียนมีความรู้ของในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบจะติดตามกลับไปที่ชุดความรู้รากที่เด็กมี หลังจากที่นักเรียนได้เข้าใจความรู้นั้นๆ แล้ว ระบบก็จะเริ่มทำการสอนเนื้อหาในปัจจุบันต่อไป

แนวคิดการก่อตั้ง Squirrel AI เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการลดเวลาในการศึกษาในห้องเรียน ลดช่องว่างเรื่องความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงบทเรียนเช่นเดียวกันกับนักเรียนในเมืองใหญ่

ปัจจุบันมีนักเรียนเข้ามาใช้ระบบ 2 ล้านคน โดยมีศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์และออฟไลน์ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการเปิดศูนย์การเรียนรู้ 2,000 สาขา ในปี 2018 มีรายได้ต่อปีกว่า 150 ล้านเหรียญ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ทุ่มงบประมาณในด้านการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนา AI บริษัท Tech giant ยักษ์ใหญ่ Startup และผู้ดำรงตำแหน่งด้านการศึกษาต่างก็กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในด้านนี้ ตอนนี้มีนักเรียนหลายล้านคนที่ใช้ AI ในการเรียนรู้ไม่ว่าจะผ่านโปรแกรมการสอนพิเศษนอกห้องเรียนเช่น Squirrel หรือผ่าน 17 ZuoYe อีกหนึ่ง Startup ด้าน EdTech ของจีน

3 ปัจจัยที่กระตุ้นให้จีนเร่งปฏิรูปการศึกษาด้วยปัญญาประดิษฐ์

  1. การลดหย่อนภาษีและแรงจูงใจอื่นๆ สำหรับการพัฒนา AI เพื่อการศึกษา: ที่ทำการพัฒนาทุกอย่างตั้งแต่การเรียนรู้ของนักเรียน การฝึกอบรมครู ไปจนถึงการจัดการโรงเรียน สำหรับ VCs นี่หมายถึงการลงทุนดังกล่าวเป็นการเดิมพันที่ดี จากการประมาณการครั้งหนึ่งจีนได้เป็นผู้นำในการลงทุนด้านการศึกษา AI มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  2. การแข่งขันด้านวิชาการในจีนเป็นไปอย่างดุเดือด: นักเรียนจำนวนสิบล้านคนต่อปีต้องทำการสอบ Gaokao หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีน โดยคะแนนที่ได้จะเป็นตัวกำหนดว่านักเรียนจะได้ศึกษาต่อหรือไม่
  3. ผู้ประกอบการจีนมีคลังข้อมูลจำนวนมากไว้ในครอบครอง: ทำการฝึกอบรมและปรับอัลกอริทึมของตัวเอง เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากความเห็นของผู้คนต่อประเด็นความปลอดภัยของข้อมูล (data privacy) นั้นค่อนข้างหละหลวมอยู่เมื่อเทียบกับทางฝั่งตะวันตก อีกทั้งผู้ปกครองก็มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาได้เห็นว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ

AI จะมาแทนที่ครู?

ภาพ Yu Wei/Unsplash

ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยคุณครูในการสอนได้ แต่อย่างไร มันก็ยังไม่สามารถมาแทนที่คุณครูได้อยู่ดี โดยเฉพาะในด้านอารมณ์ความรู้สึก อย่างการให้กำลังใจเด็กๆ มันอาจจะเข้ามาช่วยคุณครูในการเรียนการสอนที่สามารถทำซ้ำๆ ทำให้คุณครูมีเวลามากขึ้น และใช้เวลาที่เหลือไปโฟกัสที่นักเรียนแต่ละคน

แนวทางของ Squirrel อาจให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในการปรับปรุงการเรียนรู้แบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้เตรียมนักเรียนให้สามารถปรับตัวในโลกของการทำงานได้

ผู้เชี่ยวชาญยังได้แสดงความกังวลว่า การที่จีนเร่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการศึกษา หากมองในแง่ดี AI สามารถช่วยครูในการดึงศักยภาพของเด็กทั้งในด้านความสนใจส่วนตัวและจุดแข็งให้ออกมาได้ หากมองในอีกแง่ มันอาจยึดติดกับแนวโน้มเทรนด์โลกในด้านการเรียนรู้ และการเข้าระบบการทดสอบตามมาตรฐาน ทำให้คนรุ่นต่อไปไม่พร้อมที่จะปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อเครื่องจักรสามารถทำงานในงานที่ทำซ้ำๆ ได้ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องให้ความสำคัญกับทักษะที่ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การสื่อสาร (Communication) และการแก้ปัญหา (Problem-solving)

พวกเขาจะต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทักษะจำนวนมากจะตกเป็นของระบบอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งหมายความว่าห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 ควรจะนำจุดแข็งและความสนใจของนักเรียนแต่ละคนมาใช้แทนชุดความรู้ และปรับให้เข้ากับตลาดแรงงาน

Joleen Liang หุ้นส่วนและรองประธานอาวุโสของ Squirrel AI Learning กล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg ในประเด็นนี้ว่า "Squirrel AI ไม่ได้สอนเฉพาะในส่วนความรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในโลกของการทำงาน ซึ่งเรากำลังพัฒนาระบบ MCM (Mode of Thinking Capacity and Methodology) เข้าไปในหลักสูตรด้วย อย่างทักษะการการเข้าสังคม, ทักษะความคิดสร้างสรรค์"

"ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่าบุตรหลานจะติดอยู่แต่หน้าจอ หรือจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เพราะจะมีครู (ที่เป็นมนุษย์) คอยให้การช่วยเหลือนักเรียนอยู่ตลอด โดยจะใช้เวลาในการเรียนเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น" Joleen กล่าว

"เมื่อเด็กได้เรียนรู้เนื้อหาที่จำเป็นและแม่นยำจริงๆ ทำให้พวกเขามีเวลาว่างมากขึ้นถึง 80%"

เด็กต้องออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ภาพ Michael Prewett/Unsplash

Chris Dede ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความกังวลในสิ่งที่ Squirrel AI กำลังสร้างว่า “การเรียนรู้ที่ปรับวิธีการให้ตรงกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน (adaptive learning) และการเรียนรู้เฉพาะบุคคล  (personalized learning) นั้นต่างกัน สิ่งที่ Squirrel ทำเป็น adaptive learning คือทำความเข้าใจในสิ่งที่นักเรียนรู้และไม่รู้เท่านั้น แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของสิ่งที่นักเรียนอยากเรียนรู้ หรือเปิดโอกาสให้พวกเขาหาวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดในแบบของตัวเอง"

การเรียนรู้เฉพาะบุคคลนั้น จะให้ความสำคัญไปที่ความสนใจและความต้องการส่วนบุคคลของนักเรียน เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เด็กสามารถพัฒนาในแบบของตัวเองได้

เมื่อเรื่องของการเรียนรู้ได้ออกแบบมาให้เหมาะกับเฉพาะบุคคล ในการเรียนรู้เนื้อหาเดียวกัน นักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันจะได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาต่างกัน นักเรียนอาจได้รับแรงจูงใจที่แตกต่างกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน อีกทั้งเนื้อหาในการเรียนการสอนจะถูกนำเสนอในรูปแบบต่างกัน (เช่น หากใครเรียนรู้ได้ดีผ่านการมอง ก็เรียนผ่านวิดีโอ หรือใครเรียนรู้ได้ดีผ่านการท่องจำ ก็เรียนรู้ผ่านวิดีโอ) และสุดท้ายแล้ว นักเรียนก็จะสามารถกำหนดอนาคตของพวกเขาเองได้ว่า จะเลือกเรียนต่ออาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัย หรือทำอาชีพไหน

นักเรียนต้องเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง ต้องกำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เอง และต้องสร้างความรักในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ซึ่ง Squirrel AI ไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย บริษัททำเพียงช่วยการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะเตรียมนักเรียนเข้าสอบเพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันเท่านั้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2018 กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ผ่านการปฏิรูปหลายครั้งเพื่อลดการสอบลง รวมถึงการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดสำหรับติวเตอร์ รัฐบาลได้เปิดตัวแนวทางที่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาด้านกายภาพ ศีลธรรม ศิลปะ และลดการสอบน้อยลง แม้ว่านักวิจารณ์ชี้นี่ยังไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดในการสอบ gaokao ลดลงก็ตาม แต่เจ้าของแพลตฟอร์มติวเตอร์ก็ยังคงมองโลกในแง่ดีอยู่ และยังมีความตั้งใจที่จะช่วยประเทศค้นหาแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในด้านการศึกษา AI อีกทั้งนี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมวงการศึกษาในระดับโลก

อ้างอิงเนื้อหาข่าวจาก MIT Technology Review, Bloomberg

ภาพหน้าปก NOAH SHELDON


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...