‘AI จะทำลายคุณค่า และคุณภาพของมังงะ’ วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเสียงแตก หลังสำนักพิมพ์ใช้ AI แปลมังงะ ตั้งเป้าลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย | Techsauce

‘AI จะทำลายคุณค่า และคุณภาพของมังงะ’ วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเสียงแตก หลังสำนักพิมพ์ใช้ AI แปลมังงะ ตั้งเป้าลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย

เทคโนโลยี AI แปลมังงะมาแรง สำนักพิมพ์เจ้าดังญี่ปุ่นร่วมลงทุนพัฒนา หวังเทคโนโลยีช่วยลดเวลาและต้นทุนการแปลการ์ตูนญี่ปุ่น เพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรม ด้านสมาคมนักแปลไม่เห็นด้วย ชี้อาจลดคุณค่าและคุณภาพของงาน เสี่ยงทำลาย Soft Power ของประเทศ

สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นลงทุนเทคโนโลยี AI แปลมังงะ

Nikkei Asia รายงาน กลุ่มสำนักพิมพ์ชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง Shueisha, Shogakukan, Kadokawa และ Square Enix บริษัทผู้พัฒนาเกมชื่อดัง ได้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงิน 4.9 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 180 ล้านบาท ในบริษัทสตาร์ทอัพทื่มีชื่อว่า Mantra ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแปลภาษาด้วย AI ตั้งเป้าช่วยลดเวลาการแปลมังงะ

มังงะหรือหนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อว่าแปลยาก เนื่องจากการใช้คำที่มีความเฉพาะตัว  คำแสลง บทสนทนาสั้นๆ มากมาย ทำให้ Mantra พัฒนาเทคโนโลยีการจดจำภาพและโมเดลภาษาขนาดใหญ่ เพื่อจับคู่คำพูดของตัวละคนแต่ละตัวในการ์ตูน

ด้านสำนักพิมพ์ Shogakukan เจ้าของการ์ตูนชื่อดังอย่างยอดนักสืบจิ๋วโคนัน โดราเอมอน และอีกมากมาย หวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการแปลมังงะลงเหลือประมาณสามวันจากปัจจุบันที่ใช้เวลาเจ็ดวัน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีของ Mantra ยังคงมีอัตราผิดพลาดอยู่ที่ 1.6% จึงจำเป็นต้องมีนักแปลมนุษย์ตรวจสอบด้วย

ปัจจุบันบริการแปลมังงะของ Mantra มีให้บริการกว่า 18 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ จีน และโปรตุเกส โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งสำนักพิมพ์และบริษัทแปล และให้บริการแปลมังงะถึง 100,000 หน้า ซึ่งเทียบเท่ากับเล่มละประมาณ 500 เล่มต่อเดือน

เงินลงทุนกว่า 180 ล้านบาทนี้จะถูกใช้ในการจ้างวิศวกรและนักวิจัยด้าน Machine Learning เป็นส่วนใหญ่ Mantra วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนทีมงานเป็นสามเท่าภายในปี 2025 เพื่อพัฒนาให้ระบบมีความแม่นยำในการแปล และขยายบริการไปสู่ธุรกิจนิยาย เกม และวิดีโอต่อไป

AI จะทลายขีดจำกัด ดัน Soft Power ญี่ปุ่นให้โตยิ่งขึ้น

Orange บริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นอีกเจ้าที่พัฒนาระบบ AI แปลมังงะ คาดว่าตลาดมังงะจะมีมูลค่าถึง 42,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 แต่ในจำนวนมังงะมหาศาลกว่า 700,000 เล่มต่อปี มีเพียง 2% เท่านั้นที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการแปลที่ยุ่งยากและยาวนาน และจำนวนนักแปลที่มีจำกัด

นอกจากนั้น การที่มังงะไม่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์เจ้าของต้นฉบับ ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมา สร้างความเสียหายมากถึง 5,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้ Orange พัฒนาเครื่องมือ AI ช่วยแปลขึ้นมา โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มศักยภาพในการแปลมังงะให้เสร็จ 500 เล่มต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ และแปลผลงาน 50,000 ชิ้นภายใน 5 ปี

ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการใช้ AI แปลมังงะ 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมนักแปลแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมการแปล 

โดยชี้ว่า การใช้ AI ไม่สามารถถ่ายทอดความแตกต่าง ทางวัฒนธรรม หรือลักษณะนิสัยของตัวละครได้อย่างเหมาะสม และการใช้เครื่องจักรเพื่อผลิตงานแปลออกมาในเวลาอันสั้นนั้น จะทำให้คุณค่าและคุณภาพของงานลดลงไป และอาจบั่นทอนความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้ นอกจากนั้น การใช้ AI จะทำให้ผู้แปลมังงะมืออาชีพ ผู้ซึ่งมีคุณค่าและอยู่คู่กับวงการมาอย่างยาวนาน ด้วยทักษะประสบการณ์มากมายจะต้องตกงาน 

องค์กรของเรากังวลอย่างยิ่งว่าความคิดริเริ่มของภาครัฐและเอกชนในการใช้ AI สำหรับการแปลและส่งออกมังงะในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อ Soft Power ของญี่ปุ่น

สมาคมฯ กล่าวในแถลงการณ์ และร้องขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งนักวาดการ์ตูน ธุรกิจ (ผู้จัดพิมพ์) รัฐบาล นักแปล องค์กรนักแปล ผู้อ่าน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดหารือกันอย่างรอบคอบเสียก่อน 

อ้างอิง : Nikkei Asia , Japan Today

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เผยกลุ่ม 5 บริษัทยักษ์นำทัพ Virtual Bank ไทย สู่การปฏิวัติการเงินครั้งใหม่

การมาถึงของ Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบการเงินไทย ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในระบบก...

Responsive image

ร้านน้ำผลไม้ปั่นดังทำยังไง ให้คนยอมจ่ายแพงกว่าได้ ถอดบทเรียนจาก 4 E's of Luxury Marketing

บทความนี้ Techsauce จึงชวนทุกคนมาค้นหาคำตอบว่าทำไมคนถึงยอมซื้อน้ำผลไม้จากแบรนด์เหล่านี้กิน และแบรนด์ทำอย่างไรให้ผู้คนยอมจ่ายได้มากขนาดนี้...

Responsive image

รู้จัก GAC รถแห่งเมืองกวางโจวที่เกิดจากการรวมตัวครั้งใหญ่ สู่การบุกตลาด EV ไทย

ในบรรดาผู้เล่นด้านรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เข้ามาแข่งขันในไทย มีหนึ่งแบรนด์ที่ชื่อ GAC ที่รุกตลาด EV บ้านเราแบบครบจบทั้งรถแท็กซี่ รถครอบครัว ไปจนถึงรถระดับพรีเมียม แต่ GAC คือใครมาจากไห...